ไม่รับฟ้อง ไม่รับคำขอท้ายคำฟ้อง : อุทธรณ์คดีฝุ่นเชียงใหม่

ไม่รับฟ้อง ไม่รับคำขอท้ายคำฟ้อง : อุทธรณ์คดีฝุ่นเชียงใหม่

ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเป็นที่สุด “ไม่รับฟ้อง-การปฏิบัติหน้าที่ กตล.-กตท.ไม่ได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย” กรณีเครือข่ายประชาชนภาคเหนืออุทธรณ์ให้ “กตล.-กตท.” เป็น 2 ใน 4 ผู้ถูกฟ้อง “คดีฝุ่นเชียงใหม่” รวมทั้งไม่รับคำขอท้ายคำฟ้อง “ให้เปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่ทำให้เกิดฝุ่นข้ามพรมแดน”ส่วน “นายก-บอร์ดสิ่งแวดล้อมชาติ” 2 ผู้ถูกฟ้องที่เหลือ “จะดำเนินกระบวนการพิจารณาแบบเร่งด่วนต่อไป” 

“บทเรียนจริงของการพยายามนำแว่นของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) เข้ามา แก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ” ความเห็นทนายความ

“คือความท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรม” นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม-1 ในผู้ร่วมฟ้องคดีให้ความเห็น

(ภาพ : ประชาไท)

วันนี้ (5 ม.ค. 2567) เวลาประมาณ 10:30 น. ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 1949/2566 ในกรณีที่ประชาชนภาคเหนืออุทธรณ์ให้ศาลรับคำฟ้อง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในกรณีที่เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ได้ยื่นฟ้อง 4 หน่วยงาน คือ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (1-4 ตามลำดับ) เมื่อ 10 เม.ย. 2566 เนื่องจากหน่วยงานทั้งหมดที่กล่าวมาละเลยไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ แก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้องเพียงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 แต่ไม่รับฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 ทำให้เครือข่ายฯ ยื่นอุทธรณ์เมื่อ 18 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นว่าไม่รับฟ้องทั้ง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หรือตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน รวมถึงปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจที่ก่อ หรืออาจมลภาวะทางอากาศ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงาน จึงมิได้เป็นผลโดยตรงต่อความเดือดร้อนเสียหายในคดีฝุ่น PM2.5

“ไม่รับฟ้อง” 

“ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่ และภาคเหนือเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนต่อเนื่องมานานหลายปี ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง และอาจร้ายแรงถึงขั้นมะเร็งปอด หากปล่อยทิ้งไว้ไม่แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คนเชียงใหม่อาจต้องทนอยู่กับปัญหานี้กันต่อไปอีกยาวนาน

วันนี้ศาลปกครองสูงสุดนัดผู้ฟ้องคดีฟังคำสั่งศาลในประเด็นที่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ละเลยการดำเนินการจัดทำรายงานเพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการ นโยบาย หรือคำสั่งในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันต่อสถานการณ์ และป้องกันปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนได้รับการดูแล และช่วยเหลือจากผลกระทบดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบาย หรืออกมาตรการให้ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญในการแก้ไข และช่วยลดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ

ศาลเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียของผู้ฟ้องคดี ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากผลของการละเลยของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ผู้ฟ้องจึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องต่อศาล

ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้อง ในกรณีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน” ชนกนันทน์ นันตะวัน ผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ก Nuii Chanok

“ไม่รับคำขอท้ายคำฟ้อง” 

“คำขอท้ายคำฟ้อง กรณีอุทธรณ์ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขวิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2562-2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2562 

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการเเห่งชาติดังกล่าว แผนดังกล่าวเป็นกรอบนโยบายที่กำหนดแผนการทำงานในกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากการประกอบธุรกิจ ป้องกัน บรรเทา หรือแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการประกอบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมเเนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และกำหนดให้แก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีอำนาจครอบคลุมวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการดังกล่าวด้วย เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสิทธิมมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร พืชเกษตรเชิงเดี่ยว ที่มีการเผาก่อให้เกิดฝุ่นควัน กรณีนี้ศาลไม่อาจรับฟังได้

กรณีศาลปกครองชั้นต้น (เชียงใหม่) ไม่รับคำฟ้องดังกล่าว และคำขอท้ายคำฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น คำพิพากษาของศาลปกครองในส่วนนี้ถือเป็นที่สุด

ส่วนในประเด็นการฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ศาลจะได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาแบบเร่งด่วนต่อไป” ชนกนันทน์ เปิดเผย

มุมมองจากทนายความ 

“ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่ได้มีการแก้ที่ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 4 แก้ตัว 56-1 One Report ในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน 

ถึงแม้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะอยู่ในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน National Action Plan on Business and Human. Rights: NAP ว่าเป็นกรอบให้หน่วยงานปฏิบัติ แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่แผน ยังไม่ได้เป็นกฏหมาย 

เพราะฉะนั้นก็ยังไม่มีผลให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 และถือว่า ถึงที่สุดสำหรับผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี และผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็มีการไต่สวน และยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อไป

ความพยายามในการยื่นฟ้อง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เป็นสิ่งที่เกิดจากการนำแว่นของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) เข้ามา เนื่องจากการแก้ปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือ หรือของประเทศไทยไม่สามารถกระทำได้ด้วยกฎหมายเพียงฉบับเดียว ในทางข้อเท็จจริงธุรกิจทางการเกษตร หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากในการปัญหามลพิษข้ามพรมแดน และบทบาทของหน่วยงานในกำกับอย่าง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีบทบาทสำคัญในการที่จะเข้ามาช่วยเปิดเผยข้อมูล และช่วยควบคุมการทำธุรกิจอย่างเล็งเห็นถึงธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม”

กรกนก วัฒนภูมิ ทนายความในคดีประชาชนฟ้อง 4 หน่วยงานละเลยแก้ปัญหาฝุ่นเหนือ เปิดเผยต่อสำนักข่าว Lanner วันนี้ (5 ม.ค. 2567) หลังศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1949/2566 หรือคดีฝุ่นเชียงใหม่

“กฎหมายปัจจุบันที่ประเทศไทยมีในเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศยังมีเพียง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยยังไม่มีกฎหมายอื่นใดที่จะเข้ามาแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนัก” วัชราวลี คำบุญเรือง ตัวแทนทนายความ กล่าว ประชาไท รายงาน

มุมมองจากนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม

“ปัญหาฝุ่นควัน และปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือ และเชียงใหม่เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายของประเทสไทยยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน ตอนนี้ยังมีการใช้แค่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพียงฉบับเดียว ซึ่งยังครอบคลุมปัญหามลพิษที่ประชาชนต้องเผชิญ 

ปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือเชื่อมโยงฝุ่นควันในเขตอุตสาหกรรมแปลงใหญ่ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในทุกปีจะมีการเผาและส่งปัญหาฝุ่นควันข้ามจังหวัด ข้ามพรมแดนมาสร้างปัญหามลภาวะทางอากาศ การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชเศรษฐกิจที่มีการใช้ไฟเกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะกรรมการหรือหน่อยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจด้านการเกษตร ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะมาควบคุมดูแลภาคธุรกิจโดยตรง” ชนกนันทน์ กล่าว ประชาไท รายงาน

ที่มา https://greennews.agency/?p=36657

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ