อัพเดทนัดไต่สวนคดีฟ้องฝุ่นเหนือ

อัพเดทนัดไต่สวนคดีฟ้องฝุ่นเหนือ

22 พฤศจิกายน 2566 ศาลปกครองเชียงใหมานัดไต่สวน เร่งด่วน กรณีภาคประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหา มีแผน-มาตรการ เร่งด่วนแก้ฝุ่นสถานการณ์วิกฤตในภาคเหนือ

โดยเรียกตัวผู้ถูกฟ้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ต่อ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ณ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. เป็นการฟ้องเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้เป็นการนัดไต่สวนครั้งแรก โดยมีผู้ฟ้องคดี 10 คน และตัวแทนผู้ถูกฟ้อง มาร่วมไต่สวนคดี

ภาพจาก ThaiPBS North 

โดยก่อนการเข้าพิจารณาคดี วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความผู้รับดำเนินการในคดี กล่าวว่า ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง โดยวันนี้เป็นการนัดไต่สวนมีผู้ฟ้องคดีทั้งหมด 10 คน ซึ่งในวันนี้ศาลได้เรียกผู้ถูกฟ้องคดีมาชี้แจงเพิ่มเติมในวันนี้ซึ่งการพิจารณาคดีในวันนี้เป็นการพิจารณาคดีแบบพิเศษที่ต่างจากการพิจารณาคดีแบบปกติ โดยในวันนี้มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ประการ ดังนี้

1.ในสถานการณ์เร่งด่วน PM2.5 นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นอำนาจสั่งการในสถานการณ์วิกฤต ต้องมีคำสั่งใดก็ตามให้ค่า PM2.5 ลดลง สั่งให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนช่วยกันในการจัดการปัญหาฝุ่น


2.ตามแผนฝุ่นแห่งชาติฯ เมื่อสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นเกิน 100 ไมโครกรัม เกิน 3 วัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีมาตราการอย่างเร่งด่วนเพื่อสั่งการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต้องทำงานตามแผนฝุ่นแห่งชาติฯ


3.สถานการณ์ฝุ่นที่ใกล้เข้ามาอีกครั้งในปีหน้า นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะต้องมีแผนรับมือ โดยการสั่งแผนจะต้องไม่เป็นไปตามระเบียบราชการแผ่นดิน ต้องเป็นแผนที่ฉุกเฉินและมีส่วนร่วมของประชาชนหลายภาคส่วน

ในแผนฝุ่นแห่งชาติฯ ค่า PM2.5 ยังคงใช้มาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาตรเมตร แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ได้มีการประกาศว่า PM2.5 ใหม่เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาตรเมตร จึงเรียกร้องให้แผนฝุ่นปรับตามมาตรฐานดั่งเดิม

ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 คน เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐตั้งแต่ปี 2562 ยังไม่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ความทุกข์ร้อนและเหตุการณ์วิกฤตฝุ่นในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ จึงได้เน้นย้ำไปยังผู้ถูกฟ้อง โดยเฉพาะมาตรการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น แผนฝุ่นจะต้องมีการปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฝุ่น PM/2.5 อยู่ในระดับ 37.5 มค.ก./ลบ.ม. ที่สำคัญต้องเปิดรับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องคำนึกถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน โดยเฉพาะภาคธุรกิจไปลงทุนข้ามพรมแดน และส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในแผนฝุ่น ขณะเดียวกันการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องมีการออกแบบร่วมกัน กับทุกพื้นที่ ทุกระดับ

ศาลปกครองเชียงใหม่ ใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 3 ชั่วโมง และยังต้องไต่สวนเพิ่มเติมพร้อมกับให้หน่วยงานรัฐส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม

วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความผู้รับดำเนินการในคดี อธิบายเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งยังไม่สิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องรอคำสั่งศาลต่อไป และยังไม่มีการนัดพิจารณาคดีเนื่องจากหน่วยงานรัฐจะต้องส่งเอกสารชี้แจงเพิ่ม ซึ่งในคดีดังกล่าวมีการฟ้องทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นก็คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองสูงสุดว่าจะรับหรือไม่รับในการดำเนินคดี ซึ่งเป็นการแยกคดีเพื่อทำให้การดำเนินงานในชั้นศาลมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

Live : Lanner 

ไล่เรียงทามไลน์ก่อนหน้านี้ ทำไมต้องฟ้องฝุ่น

10 เมษายน  2566 การฟ้องคดีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละออง 2.5 ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่มาผ่านมาและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยที่หน่วยงานรัฐทั้งรัฐบาลและหน่วยงานระดับท้องถิ่นต่างไม่ได้มีการรับมืออย่างกระตือรือร้นและมีประสิทธิภาพ การฟ้องครั้งนี้ต่างจากเดิม แตกต่างจากที่เคยมีประชาชนฟ้องศาลปกครองแล้วถูกยกฟ้อง

สำหรับการฟ้องร้องก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1.ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ

3.ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

19 เมษายน 2566  ความคืบหน้าคดีฝุ่น PM 2.5 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณีศาลไม่รับฟ้อง

ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งรับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 แต่ในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 นั้นศาลไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงมิใช่เป็นผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รวมถึงประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไปฯ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 จึงไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5

18 พฤษภาคม 2566 ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ทั้ง 10 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณีศาลไม่รับฟ้องคกก.กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคกก.กำกับตลาดทุน โดยมีเหตุผลโต้แย้งคำสั่งของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ