รางวัลนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส : บทพิสูจน์ Active citizen ผู้ร่วมสร้างสังคม

รางวัลนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส : บทพิสูจน์ Active citizen ผู้ร่วมสร้างสังคม

Thai PBS ร่วมกับ เครือข่ายสื่อพลเมือง สื่อสาธารณะท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และเครือข่ายสภาผู้ชมผู้ฟังจากทั่วประเทศ จัดงาน “ประชุมใหญ่เครือข่ายสื่อสาธารณะไทย” แลกเปลี่ยนแนวทางดำเนินการเพื่อสร้างระบบนิเวศการสื่อสารสาธารณะที่ยั่งยืน แลกเปลี่ยนแนวทางดำเนินการ สร้างระบบนิเวศการสื่อสารสาธารณะที่ยั่งยืนซึ่งร่วมขยับกันต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงขวบปีที่ 15 ของไทยพีบีเอส

และระหว่างทางมีหลายเครือข่ายที่ยกระดับศักยภาพการสื่อสารไปหลายลักษณะรวมถึงการนำร่องเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีการทดลอง Sandbox เมื่อปี 2565 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาค ภายใต้การฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตภาคพลเมือง ตามหลักสูตรบ่มเพาะสำหรับเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นเพื่อทดลองให้เกิดการเรียนรู้ SE Model เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 6 Node มาร่วมแบ่งปันถึงข้อค้นพบจากการลงมือทำเพื่อให้ทุกท่านได้เรียนรู้และเห็นจังหวะก้าวไปพร้อม ๆ กัน ทั้ง อุบลคอนเน็ค ลำลอง เชียงรายสนทนา เชียงใหม่เหน็ด The Region และ The Move และมีวิทยากรร่วมให้ความเห็นแลกเปลี่ยน 2 ท่าน คือ คุณนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และ รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบาย

พร้อมกันได้มีการจัดพิธีมอบรางวัล Citizen Journalist Awards 2023 รวมทั้งมีเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยน และเติมเต็มแนวทางที่จะดำเนินการร่วมกันกับเครือข่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก้าวสู่ “จักรวาลสื่อสาธารณะ” ระบบนิเวศการสื่อสารสาธารณะ ที่เครือข่ายสื่อฯ ต่างเป็นระบบนิเวศซึ่งกันและกัน เพื่อการสื่อสารสาธารณะที่ยั่งยืน

และการมอบรางวัล Citizen Journalist Awards 2023 ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นรางวัลที่จะมอบให้แก่ผลงานของนักข่าวพลเมือง ที่สร้างคุณค่าและคุณลักษณะสำคัญทางวารสารศาสตร์ภาคพลเมือง  โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัล C-Site Award 3 ประเภท และรางวัล Citizen Journalist Awards 6 ด้าน คือ ด้านสันติภาพ, ด้านวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อ, ด้านภัยพิบัติ, ด้านสิทธิชุมชน ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า  และผลกระทบเชิงนโยบาย,ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร และด้านการแสดงออกถึงสิทธิความเป็นพลเมือง โดย รางวัลสำหรับนักข่าวพลเมือง มี 2 ประเภท คือ C-SITE Awards และ Citizen Journalist Awards

สำหรับนักข่าวพลเมืองผู้ใช้พลังการสื่อสาร ปักหมุด จุดประเด็นบนแอปพลิเคชัน C-site ในรอบปี 2566 จำนวน 5 รางวัล ใน 3 ประเภท ได้แก่ 1.รางวัลประเภท C-SITE  POPULAR NEWS ที่มียอดผู้ชมเข้าอ่านเนื้อหามากที่สุด 2.รางวัลประเภท C-SITE  ACTIVE USER ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน C-SITE อย่างสม่ำเสมอ และ 3.รางวัลประเภท C-SITE  FELLOWSHIP เพื่อนร่วมทางสื่อสาธารณะในสถานการณ์วิกฤตของสังคม ซึ่งหลายครั้งเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญความยากลำบากหรือเหตุการณ์เฉพาะกิจ   เช่น โควิด-19 หรือ ภัยพิบัติน้ำท่วม ก็จะมีการสื่อสารเพื่อจุดประเด็นให้ข้อมูล และติดตามอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การระดมความช่วยเหลือ คลี่คลายสถานการณ์ และหาทางออกร่วมกัน ผ่านการสื่อสารกับ C-site  มี 3 รางวัล ซึ่งล้วนเป็นพิกัดที่เข้าถึงยาก

ขอชื่นชมยินดี กับนักข่าวพลเมืองที่ได้รับรางวัล C-Site Awards และ Citizen Journalist Awards จากไทยพีบีเอส ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกและมอบรางวัลในงาน Open House 15 ธันวาคม 2566 หลังปรากฏเนื้อหาและตัวตนอยู่ในพื้นที่สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสมาถึง 15 ปี 

นับเป็นเวลายาวนานพอที่พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่ามี Active Citizen มือสมัครใจที่พร้อมจะร่วมเติมเต็มข้อมูล บอกเล่าแง่มุมและเรื่องราวในสังคม  ผ่านการลงมือสื่อสารด้วยจิตสาธารณะอย่างแท้จริง และนี่คือส่วนหนึ่งที่ไทยพีบีเอสอยากแสดงเจตจำนงว่าเราอยากให้สังคมเติบโตขึ้นมาโดยมีกลุ่มคนที่เรียกว่า Active citizen  เป็นผู้ร่วมสร้างสังคม

ที่มาของรางวัล

สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ

รางวัลนักข่าวพลเมือง ทางผู้จัดและคณะกรรมการคุยกันว่า  เราคงไม่ได้มองการคัดเลือกว่าใครดีเด่นกว่าใคร  เพราะผมว่าเราเห็นเจตจำนงของการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองหรือสื่อพลเมือง ว่าเป็นจิตอาสา ทำเพื่อสังคม เพื่อสาธารณะ แม้จะเผชิญคลื่นลม มีทั้งคำถามในช่วงเริ่มต้น ที่สังคมเริ่มเปิดและมีพลเมืองจำนวนมากที่เข้ามาร่วมสื่อสาร ซึ่งมีคำถามตามมามากมาย   เป็นหนึ่งโจทย์ที่ทำให้เราคิดถึงว่า ถ้าเราจะทำให้สังคมรู้จักนักข่าวพลเมือง  เข้าใจนักข่าวพลเมืองในแบบไทยพีบีเอส เราอยากจะทำให้สังคมเห็นมุมไหน นี่คือเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงเกิดคิดเรื่องมอบรางวัลขึ้น ซึ่งเป็นการมอบรางวัลที่มีคนรับรางวัลประมาณ 30 ท่าน เสียดายว่าเราอาจจะพานักข่าวพลเมืองทุกท่านที่สมควรได้รับรางวัลมาอยู่บนเวทีนี้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถือว่าคนที่มาวันนี้ เป็นตัวแทนของทุกคนที่ไม่ได้มา ถึงแม้จะมาแต่ไม่ได้ขึ้นมารับรางวัล  ผมถือว่านี่คือส่วนหนึ่งที่ไทยพีบีเอสอยากแสดงเจตจำนงว่าเราอยากให้สังคมเติบโตขึ้นมาโดยมีกลุ่มที่เรียกว่า Active citizen  เป็นผู้ร่วมสร้างสังคมนี้” สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ขยายภาพการทำงานและที่มาของการมอบรางวัลในครั้งนี้

ผลการคัดเลืองรางวัลนักข่าวพลเมือง  2 ประเภทมีดังนี้

ประเภท 1 รางวัล C-Site Awards มี 5 รางวัล ได้แก่

รางวัล C-SITE  POPULAR NEWS หมุดข่าวที่มียอดรับชมมากที่สุด คือ คุณนที นิลกลัด นที นิลกลัด  นักข่าวพลเมือง จ.ชัยภูมิ ที่เริ่มต้นรู้จัก Csite ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ด้วยตนเอง และทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวจากท้องถิ่น ทั้งรายงานน้ำท่วมชัยภูมิต่อเนื่องตั้งแต่ปี 64 และเรื่องราวจากท้องถิ่น วิถีชีวิต กิจกรรมชุมชน ผ่านแฟนเพจ PR News จ.ชัยภูมิซึ่งปักหมุดข่าวมากับ C-Site อย่างต่อเนื่อง และมีหมุดข่าวที่มีผู้รับชมมากกว่า 10,000 ครั้งจำนวนมาก

รางวัล C-SITE  ACTIVE USER ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน C-SITE อย่างสม่ำเสมอ  ได้แก่ คุณอนันต์ อนันต์วัฒนกิจ ผู้ซึ่งนอกจากจะปักหมุดข่าวรายงานเรื่องใกล้ตัวของตนเองแล้ว ยังแชร์  คอมเม้นท์ พูดคุย สร้าง engagement ในระบบอย่างต่อเนื่อง

รางวัล  ประเภท C-SITE  FELLOWSHIP เพื่อนร่วมทางสื่อสาธารณะในสถานการณ์วิกฤตของสังคม มี 3 รางวัล  เป็นการคัดเลือกผู้ที่ปักหมุด C-Site  และร่วมช่วยเหลือด้านการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ได้แก่ คุณดวงใจ เที่ยงดีฤทธิ์    คุณชัยวัฒน์ ธรรมไชย    และคุณไวนี สะอุ และกลุ่มนักรบผ้าถุง

คุณดวงใจ เที่ยงดีฤทธิ์  นักข่าวพลเมืองอีสานตุ้มโฮม  เป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานภาคอีสาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และ ร่วมสื่อสารกับไทยพีบีเอสตั้งแต่ปี 2553 และใช้กระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการทำงานกับเด็กเยาวชนในพื้นที่

ปี 2565 หลังอีสานเผชิญพายุโนรูทำให้ลุ่มน้ำมูลพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ น้ำท่วมหนัก เธอรายงานสถานการณ์พายุ ระดับน้ำท่วม และระดมความช่วยเหลือผ่านการสื่อสารสาธารณะกับการปักหมุด C-site จนนำไปสู่การระดมสิ่งของจำเป็นของภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือพื้นที่ ต.บัวน้อย อ.กันทรารมย์ ซึ่งถูกน้ำท่วมทั้งหมด ต้องส่งของทางอากาศผ่าน ฮ. และบรรทุกลงเรือ และเธอคืออีกคนที่รายงานข่าวบนเรือโดยครอบครัว ลูกและสามี ร่วมรายงานเหตุการณ์ตลอด 1 เดือน

คุณชัยวัฒน์ ธรรมไชย (ดรีม) แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนระดับมัธยม มาอบรมร่วมกับไทยพีบีเอส ในโครงการอนาคตประเทศไทย ปี 2560 และสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และสนใจสื่อสารประเด็นบ้านเกิด โดยเฉพาะมิติการท่องเที่ยวชุมชนเวียงสา จ.น่าน และขณะเรียนครูที่ จ.ลำปางก็ได้เสนอเนื้อหามุมมองของครูรุ่นใหม่  ในสถานการณ์วิกฤติหลายครั้ง ดรีมจะร่วมสื่อสารเพื่อหาทางแก้ไข เช่นสถานการณ์โควิด-19 เหตุการณ์น้ำท่วม และสถานการณ์ฝุ่น นอกจากรายงานข่าวแล้วยังพยายามประสานความช่วยเหลือไปยังประชาชนในพื้นที่เวียงสา เช่น หน้ากากอนามัยในช่วงฤดูฝุ่นและโควิดเป็นต้น   

คุณไวนี สะอุ และกลุ่มนักรบผ้าถุง  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านมุสลิม ที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ตั้งแต่สมัยโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กลับมารวมตัวอีกครั้ง เพื่อปกป้องบ้านเกิดหลังรัฐบาล คสช. ผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มนักรบผ้าถุงได้สื่อสารและจัดทำเมนูอาหารเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน และแบ่งปันไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งต่อกำลังใจ พร้อมดุอาร์(ขอพร) จากพระเจ้า ให้ทุกคนและชาวคลองเตยปลอดภัยจากโควิด-19  ปัจจุบันกลุ่มนักรบผ้าถุงมีการเปิดพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของคนในกลุ่มให้เป็นนักเล่าเรื่อง และสื่อสารเรื่องราวของตัวเอง รวมถึงการจัดนิทรรศการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนกับคนในหาดใหญ่ และเมืองเก่าสงขลา

ประเภท 2 รางวัล Citizen Journalist Award  2023  มี 6 ด้าน ได้แก่

1.รางวัลด้านการแสดงออกถึงสิทธิความเป็นพลเมือง มี 4 รางวัล คือ

1.1 ผลงานเรื่อง“ชาวเลเกาะเหลา ปัญหาสิทธิ์สถานะที่ยังเข้าไม่ถึง จ.ระนอง” ผลงานของ คุณวิทวัส เทพสง นักข่าวพลเมืองเครือข่ายชาวเล จ.พังงา ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการด้วย

“ผมเติบโตขึ้นด้วยการมีสิทธิแต่เป็นสิทธิที่หายไป เหมือนกับเราไม่มีตัวตนอยู่ในสังคม เราเลยลุกขึ้นมาสื่อสารจนตอนนี้จากสิทธินั้นก็กลายเป็นเรื่องของชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมของประเทศไทย และสามารถลุกขึ้นมาร่วมพัฒนาประเทศได้เหมือนกับคนอื่น ๆ” ความในใจจากคุณวิทวัสหลังได้รับรางวัล

คุณวิทวัส เป็นครือข่ายชาวเลอันดามัน ที่ติดตามสถานการณ์สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คอยรายงานความคืบหน้าของกระบวนการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชาติอยู่ตลอด รวมถึงรายงานประเด็นการจัดการตัวเองของเครือข่ายชาวเล ในพื้นที่นักข่าวพลเมืองมาตั้งแต่ยุคแรกๆ การสื่อสารอย่างต่อเนื่องทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล บางส่วนเข้าถึงสิทธิและรัฐสวัสดิการ รวมถึงการจัดทำแผนที่ชุมชนที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากการทำงานสื่อสารประเด็นชาติพันธุ์ รวมถึงประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐ หรือกลุ่มทุนในพื้นที่ท่องเที่ยว ทำให้ปัจจุบัน หลายพื้นที่ได้รับการแก้ปัญหาข้อพิพาทและการผลักดันในเกิดพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล

1.2 ผลงานเรื่อง “คนไทยไร้สัญชาติ จ.ระนอง กลุ่มแรกเข้าถึงวัคซีน” โดยคุณรสิตา ซุ่ยยัง นักข่าวพลเมือง จ.ระนองที่ติดตามการแก้ปัญหาเรื่องคนไร้รัฐ หรือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น มีการลงพื้นที่ติดตามปัญหา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ  สำหรับข่าวชิ้นนี้ คุณรสิตาระบุว่า ต้องการสื่อสารปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่สู่สาธารณะ ต้องการให้คนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนองได้รับบัตรประชาชนเพิ่มขึ้น และได้เข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเรื่องที่อยู่ที่ทำกิน การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ในข่าวชิ้นดังกล่าว โดยหลังการได้นำเสนอข่าวผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพราะเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดระนอง   ได้มีผู้นำคลิปข่าวประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำให้คนในพื้นที่จังหวัดระนองที่เป็นคนไร้สัญชาติได้รับวัคซีนจำนวน 130คน คนละ 2 โดส  รวม 260 โดส

1.3 ผลงานเรื่อง “สอนภาษาไทยผู้ใหญ่บนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน” โดย คุณอดิศักดิ์ ปู่หล้า หรือครูเคน เป็นครูโรงเรียนบ้านเลโคะ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในพื้นที่ดอยสูง ของอ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เด็กที่นั่นเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ขาดโอกาสและไม่กล้าแสดงออก  คุณครูพยายามใช้การผลิตคลิปข่าวพลเมือง เพื่อใช้ในการสื่อสารทั้งภายในโรงเรียนรวมถึงการสื่อสารสาธารณะเป็นเครื่องมือให้เด็กนักเรียนกล้าแสดงออก สามารถที่จะทำประโยชน์ในชุมชนได้  ให้เด็กฝึกพูดคุยกับผู้ใหญ่ผ่านการผลิตสื่อในประเด็นอย่างง่าย เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน หรือการสื่อสารกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนกับวิธีของชุมชน เช่นการดำนาของวิถีชาติติพันธ์ ซึ่งตลอด 4-5ปีที่ผ่านมา ครูเคนและเยาวชนบ้านเลโคะ สื่อสารเรื่องราวข่าวพลเมืองมาไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง

สำหรับชิ้นงาน “สอนภาษาให้กับผู้ใหญ่ชาติพันธ์” เป็นโครงการที่โรงเรียนทำสนับสนุนงานของสมเด็จพระเทพฯ ในขณะนั้น ที่เป็นการส่งเสริมทักษะการสื่อสารของชนเผ่า  การสอนภาษาไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการกล้าแสดงออกแต่เป็นการฝึกให้ชนเผ่าได้สามารถสื่อสารกับสังคมโดยเฉพาะช่วงเวลาที่จะต้องเดินทางไปรักษาสุขภาพในอนามัยหรือโรงพยาบาล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะโต้ตอบระหว่างหมอกับตัวเขาเองได้หลังจากผลงานชิ้นนี้นำเสนอน้องนักเรียนได้ความชื่นชมจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เห็นเยาวชนทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมเป็นเครื่องมือที่ใช้ลดช่องว่างทางภาษาระหว่างคนในชุมชนเด็กและผู้ใหญ่

1.4 ผลงานเรื่อง “ชุมชนเหล่านาดี12 เตรียมศูนย์กักตัว จ.ขอนแก่น”  โดยคุณณัฐวุฒิ กรมภักดี นักข่าวพลเมือง จากเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ที่ร่วมสื่อสารในประเด็นสิทธิคนเมือง ผู้ยากไร้ คนไร้บ้าน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สนใจในประเด็นคุณภาพชีวิตของคนทุกข์คนยาก โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน คนจนเมือง จ.ขอนแก่น นอกจากจะใช้การสื่อสารผ่านหน้าจอ ThaiPBS  ยังใช้ทักษะการสื่อสารทั้งตัวเองและสมาชิกบ้านโฮมแสนสุข เปิดเพจเพื่อจ้างงานชื่อ Okas โอกาส จนทำให้คนไร้บ้านสามารถมีความมั่นใจร่วมเป็นนักสื่อสารถ่ายภาพเป็นสื่อบุคคลที่บอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้

2.รางวัลด้านสิทธิชุมชน ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และผลกระทบเชิงนโยบาย มี 5 รางวัล

2.1 ผลงานเรื่อง “เสียงจากคนริมโขง บ้านตามุย” โดย คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมืองจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการด้วย

“ขอบคุณในสิ่งที่เราได้สื่อสาร ขอบคุณไทยพีบีเอสด้วยที่ได้เปิดพื้นที่ให้เรา เปิดจิตวิญญาณที่เราเกิดมาแล้วเรารู้สึกว่ามันอยู่ในตัวตนของเรา อยากสื่อสารเรื่องเล่า เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแม่น้ำ เกี่ยวกับดินเกี่ยวกับน้ำ เกี่ยวกับหินและสรรพสิ่งผ่านนักข่าวพลเมืองที่ผ่านมา และปัจจุบันก็ยังเล่าอยู่อาจจะผ่านเพจของตัวเอง อาจจะไม่ได้ผ่านนักข่าวพลเมืองเหมือนเดิมแต่เราก็มีหลายแพลตฟอร์มที่ใช้ แต่สิ่งที่เราเป็นความเป็นที่เราอยู่ก็คือจิตวิญญาณ ที่เราจะอยู่และสื่อสาร ขอขอบคุณไทยพีบีเอสที่ร่วมกันขับเคลื่อนมาและสร้างกัลยาณมิตรที่ดีของเราเสมอมา”

คำปิ่นเป็นอีกคนนึงที่ติดตามประเด็นน้ำโขงและสื่อสารอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 นับจากมีการสื่อสารเรื่องสถานการณ์แม่น้ำโขง ซึ่งเปลี่ยนแปลงรุนแรงในรอบ 10 ปี คำปิ่นบันทึกเหตุการณ์ และสื่อสารความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นคนแรก ๆ ผ่านวิถีชาวบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยอธิบายรูปธรรมผลกระทบ ผ่านวิถีพรานปลา วิถีคนปลูกผักริมโขง และรายได้ของคนในชุมชน พร้อมออกเดินทางไปประชุมร่วม MRC ที่เวียดนาม ก็ยังทำข่าวพลเมืองสื่อสารกลับมา นั่นเป็นส่วนสำคัญให้สังคมได้รับรู้ความเคลื่อนไหวและสถานการณ์แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนช่วงปี 2560 เเป็นต้นมา ซึ่งคุณคำปิ่่นยังสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่ดินทำกินของชาวบ้าน ประเด็นสัญชาติของชาวบ้านริมโขง สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณคำปิ่น ยกระดับการสื่อสารจากข่าวพลเมือง 3 นาทีสู่สารคดีเรื่องโขงรุ่นสุดท้าย จนได้รับรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และนั่นนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ที่ต้องหาทางออกทางรอด ขณะที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปจนชาวบ้านมีศูนย์เรียนรู้ โฮงเฮียนฮักแม่น้ำโขงที่เกิดจากการสนับสนุนจากภายนอกและสร้างความเข้มแข็งภายใน

2.2 ผลงานเรื่อง “ขยายพื้นที่ติดตั้งถังน้ำดับไฟป่า จ.เชียงใหม่” โดยบัญชา มุแฮ  หรือดีปุนุ ชนเผ่าปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน ที่จะชวนเยาวชนในพื้นที่ผลิตสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องการดูแลป่า และทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดประเด็นที่เชื่อมโยงพื้นที่ตนเองกับสาธารณะ  เนื้อหาที่ดีปุนุสื่อสารคือวิถีชีวิตคนปกาเกอะญอที่ดูแลป่าโดยใช้ภูมิปัญญา จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษคุ้มครองวิถีกะเหรี่ยงตามมติครม. ได้ทำคลิปเล่าเรื่องราวของไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีหนึ่งที่เป็นระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนบนพื้นที่สูง พร้อมกับเล่าเรื่องราวการดูแลป่า เช่น นวตกรรมถังน้ำดับไฟ จุดเฝ้าระวังไฟป่า เครื่องวัดคุณภาพอากาศ การทำแนวกันไฟ และดับไฟป่า เพื่อให้คนเข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียน และเข้าใจคนในพื้นที่ป่าว่าพวกเขามีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพร้อมๆไปกับการดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน  เทคนิคการเล่าเรื่องของดีปุนุและทีมงานมีความเรียล และออกแบบการเล่าเรื่องได้อย่างสนุกและน่าติดตาม

2.3 ผลงานเรื่อง “น้ำเสียผุดในสวนทุเรียน ทำยืนต้นตาย” โดยภาราดร ชนะสุนทร นักข่าวพลเมืองจังหวัดระยอง

คุณภาราดร เป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดินจังหวัดระยอง ที่มีการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝังกลบขยะอุตสาหกรรม เรื่องน้ำเน่าเสียหรือกลิ่นเหม็น เรื่องปัญหาน้ำผิวดินที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม  นอกจากจะสื่อสารข้อมูลกับ Thai PBS แล้ว ยังส่งเรื่องร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้างครั้ง มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ รวมถึงยังสื่อสารถึงปัญหาที่พบบ่อยๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมละปัญหาลักลอบฝังกบลกากอุตสาหกรรมอยู่บ่อยครั้ง

2.4 ผลงานเรื่อง “20 ปี เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เสียงชุมชนที่ (ไม่) ถูกได้ยิน” โดยเดชา คำเบ้าเมือง นักข่าวพลเมือง จังหวัดอุดรธานี  คุณเดชา เป็นอีกท่านที่ยืนหยัดชันเจน เรื่องการสื่อสารเพื่อปกป้องทรัพยากรสิทธิชุมชน ตั้งแต่ตอนทำวิทยุชุมชน และข่าวพลเมือง ปี 2553-2566 โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการในอีสานต้นบน ลุ่มน้ำลำพะเนียง ลุ่มน้ำโขง เหมืองแร่โปแตซสกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ ด่านขุนทดโคราช เหมืองหินดงมะไฟ เหมืองแร่เมืองเลย ซึ่งเกี่ยวโยงกันในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งคุณเดชาไม่เพียงแต่ทำข่าวพลเมือง แต่ยังสื่อสารผ่านงานเขียน และเปิดช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสื่อสารโดยเฉพาะ

เนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีการต่อสู้มาอย่างยาวนาน และล่าสุดยังไม่มีการดำเนินการเหมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสื่อสารสถานการณ์ในพื้นที่สู่สังคมวงกว้าง ในหลายมิติ ทั้งการให้ความรู้ การสื่อสารความเคลื่อนไหว และการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในสังคมอย่างผลงานชิ้นล่าสุดที่เป็นงานเขียน ซึ่งมียอดผู้อ่านในปี 2565 มากที่สุดในเว็บไซต์ The Citizenplus  

2.5 ผลงานเรื่อง “ผลักดันให้ลุ่มน้ำอิงขึ้นทะเบียนสู่การเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” โดยพิศณุกรณ์ ดีแก้ว นักข่าวพลเมืองจังหวัดเชียงราย ที่พยายามสื่อสารในประเด็นแม่น้ำอิง แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม การตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและโครงการผันน้ำในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต่อสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยแม่น้ำในอนุภูมิภาคนี้  โดยวิธีการสื่อสารจะอธิบายถึงความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ เพ่ื่อมุ่งให้ขึ้นทะเบียนสู่การเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตามอนุสัญญาแรมซาร์ไซต์ ซึ่งสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงและเครือข่ายภาคประชาสังคม ต้องการปกป้องและคุ้มครองป่าริมน้ำอิงตอนล่าง โดยผลักดันการขึ้นทะเบียนป่าริมน้ำอิงตอนล่าง ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

 3.รางวัลด้านวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อ มี 3 รางวัล

 3.1 ผลงานเรื่อง “ยกไซปลาขี้ตัง” วิถีประมงชายฝั่งบ้านหัวเขา จ.สงขลา โดย คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการด้วย

จากชาวบ้านที่ปกป้องการรุกพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชุมชน สู่นักข่าวพลเมืองที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาตร์และวิถีความเชื่อของชุมชน มาสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ถึงความเป็นมา และความสำคัญของพื้นที่เมืองสงขลาฝั่งเขาแดง ทำให้คนหันมาสนใจพื้นที่เมืองเก่าสงขลา ฝั่งหัวเขามากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่มีการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน สู่การเดินหน้าตรวจสอบและนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุทธิธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นจังหวะในการที่การสื่อสารช่วยให้คนภายนอกรู้จักพื้นที่ในแง่มุมความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์

“จากการที่น้องๆ ไทยพีบีเอส เข้าไปช่วยสื่อสารต่อเนื่องกับผม ทำให้จังหวัดสงขลา ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีสื่อนำเสนอออกไป ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายให้ความสำคัญมากขึ้น และขอขอบคุณไทยพีบีเอสอีกครั้งที่เข้าไปช่วยเรื่องซากเรือประมงเล็กที่จับมาแล้ว เอาไปจอดไว้ที่กลางทะเลสาบสงขลาและไม่มีที่ทิ้ง ตรงนี้อนาคตอาจทำให้ทะเลสาบสงขลาของเราตื้นเขินได้และจะเกิดวิกฤตกับเรื่องการทำอาชีพประมงของพี่น้องในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อยากให้สื่อช่วยติดตามตรงนี้อีกนิดครับ”

3.2 ผลงานเรื่อง “เครือข่ายชาวเลอันดามันเดินหน้ากิจกรรมปลาแลกข้าว” โดยคุณชาญวิทย์ สายวัน

คนทำงานภาคประชาสังคม ที่ติดตามประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย สู่นักสื่อสารที่ช่วยผลักดันประเด็นวิถี วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ให้สังคมภายนอกรับรู้และเข้าใจในสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญประเด็นที่คุณชาญวิทย์สื่อสารจะ ติดตามประเด็นวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และความเป็นอยู่ของคนตัวเล็กตัวน้อย ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมถึงสารถึงวิถีและอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อให้สังคมภายนอกเข้าใจวิถีความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ และพัฒนาฝีมือสู่การผลิตในรูปแบบสารคดี

3.3 นักเรียนอินเตอร์โรงเรียนบ้านแสนสุข โดย คุณขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

 คุณขวัญชิตสื่อสารในประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาติพันธุ์กวย ซึ่งมีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น แต่มีคนที่รู้จักน้อยลง ให้การใช้ภาษานั้นยังคงมีอยู่ คุณขวัญชิตทำให้ภาษากูยยังถูกได้ยิน รับรู้ ถูกบันทึกในดิจิทัลแพลตฟอร์ม เกิดนักสื่อสารเรื่องราวจากชายแดน  มีประเด็นจากชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปหยิบเรื่องวราวมาเล่า คุณขวัญชิตยังขยายประเด็นของกลุ่มคนชาติพันธุ์ให้คนมองเห็น ทั้งโรงเรียนชายแดน วัฒนธรรม ให้คนในชุมชนภาคภูมิใจ ที่จะบอกเล่าเรื่องราวตัวเองที่เป็นภาษาเฉพาะ

4. รางวัลด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร มี 5 รางวัล

4.1 ผลงานเรื่อง แก้สัญญาณไม่เสถียรด้วย ห้องเรียน ไม่เรียลไทม์ จ.เชียงใหม่ โดยอนวัช นันทะเสน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการด้วย

“ผมครูท็อปครับ อนุวัช นันทะเสน ผมเป็นคุณครูที่หลงไหลการออกแบบห้องเรียนร่วมกับชุมชนครับ ชุมชนที่ผมอยู่เป็นชุมชนที่พหุวัฒนธรรม ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งครับ ว่าการศึกษาไม่ใช่การแยกส่วนแต่เป็นการเชื่อมต่อให้ผู้คนได้รู้จักตนเอง สิ่งนี้คือ New Normal Education สำหรับผม” ครูท็อป เป็นครูคนหนึ่งที่สร้างห้องเรียนบันดาลใจ Feel Trip ในช่วงแรก ๆ ของสถานการณ์โควิด-19 เมื่อการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอสำหรับการศึกษาของเด็ก ๆ ในยุคนี้ การสร้างกิจกรรม เล็ก ๆ สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน เกิดนวัตกรรมทางการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกลและเป็นไปตามความต้องการตอบบริบทของผู้เรียนจากโมเดเล ห้องเรียน ไม่เรียลไทม์ ครูหลายคนในโรงเรียนยอมรับและเปิดใจที่ใช้สื่อสารเรียนการสอนแบบนี้ตาม เป็นวิถีใหม่ของการศึกษาในสถานการณ์วิกฤติที่ตอบโจทย์บริบทของพื้นที่และอยู่ที่ว่าจะออกแบบอย่างไร เห็น ‘ชีวิตวิถีใหม่’ ในแง่การศึกษา รัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาส่งเสริมหรือหนุนเสริม กิจกรรมของครู ให้ครูได้ทดลองการเรียนรู้กับเด็กในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน

4.2 ผลงานเรื่อง “กิจการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในชุมชน” โดย อุบัยดิลเลาะห์ หาแว

จากกลุ่มที่ทำงานอาสาสมัคร สู่การเป็นนักสื่อสารเพื่อบอกเล่าความเคลื่อนไหวของชุมชน รวมถึงการสนับสนุนให้คนในชุมชนมีงานทำจากโครงการพัฒนาทักษะอาชีพในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้ง จ.สงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้  ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด การทำงานอาสาสมัคร เพื่อพัฒนากลุ่มเปราะบาง ทำให้หลายชุมชนเกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นและช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

4.3 ผลงานเรื่องการเล่นกระดานโต้คลื่น ณ ชายหาดบ้านสวนกง โดยวรรณวิศา จันทร์หอม

นักวิจัยชุมชนที่เลือกทำงานสื่อสารประเด็นของท้องถิ่นที่กำลังเผชิญปัญหาโครงการพัฒนาจากภาครัฐ โดยใช้การสื่อสารเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ที่คนในชุมชนร่วมกันดูแลรักษาและออกแบบการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน   งานเก็บข้อมูลชุมชน และการนำข้อมูลด้านศักยภาพของชุมชนออกมาสื่อสาร ในประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่ได้พูดถึง ทำให้ชุมชนมีหลากหลายมิติ มากกว่าแค่ด้านการต่อสู้คัดค้านโครงการรัฐ ขณะเดียวกันก็ทำให้ชุมชนมีทิศทางในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนได้

 4.4 ผลงานเรื่อง “สุรินทร์น้ำท่วมหนัก เสียหายนับแสนไร่” โดยสภาเกษตรกรภาคอีสาน  เป็นอีกเรื่องราวที่นักข่าวพลเมืองเกษตรกรแห่งชาติ โดยเฉพาะในภาคอีสานสื่อสารมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบในราคาผลผลิตและน้ำท่วมมาจนปัจจุบัน คุณธงชัย พูดเพราะ เป็นหนึ่งในนักข่าวพลเมืองที่สื่อสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งนวัตกรรมการเกษตร ความเดือดร้อน และวิถีชีวิตเกษตรกร  ทำให้เรื่องราวของเกษตรกรถูกสื่อสารและมองเห็นมากขึ้น เช่น กรณีน้ำท่วมนาข้าวที่ จ.สุรินทร์ ชาวบ้านต้องลอยน้ำเกี่ยวข้าว แม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สามารถเป็นภาพแทนสถานการณ์ขณะนั้นได้ หรืออีกกรณี ปี 2565 เกษตรกรขาดแคลนอาหารสัตว์ ก็ติดตามสถานการณ์และมีความช่วยเหลือในพื้นที่ทั้งสุรินทร์และศรีสะเกษ

4.5 ผลงานเรื่อง ชาวบ้านเพนียด จ.ลพบุรี ค้านสร้างกังหันลมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยคุณสนอง แท่นสูงเนิน นักสื่อสารในจังหวัดลพบุรี ที่รายงานข่าวในประเด็นที่หลากหลาย ในจังหวัดลพบุรี ทั้งจากหน่วยงานราชการ และจากประขาขนในพื้นที่ มีเนื้อหาที่น่าสนใจในแบบท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลิงลพบุรี ของดีประจำจังหวัด และกิจกรรมภายในจังหวัด มีการเชิญชวนให้ได้เยือนจังหวัดลพบุรีผ่านการสื่อสาร ร่วมถึงการเคลื่อนไหวการคัดค้านการสร้างกังหันลม ในพื้นที่เขาเพนียด

5. รางวัลด้านสันติภาพ  มี 3 รางวัล ได้แก่

 5.1 ผลงานเรื่อง “หนังสือแห่งความหวัง” สันติภาพและความเป็นธรรมชายแดนใต้” โดยคุณ โซรยา จามจุรี และกลุ่ม CIVIC WOMEN จังหวัดปัตตานี   เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการด้วย

“ขอขอบคุณไทยพีบีเอส ที่ได้มอบรางวัลให้กับ CIVIC WOMAN เราก็เป็นนักข่าวพลเมือง ได้สัก 10 ปี ก็ส่งผลงานมาเรื่อย ๆ เพื่อที่จะให้เสียงของผู้หญิง ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง ตอนนี้ก็เกือบ 20 ปี 4 มกราคมจะถึงนี้ก็ 20 ปี ฉะนั้นเราจำเป็นต้องให้เสียงเหล่านี้ ส่งเสียงจนกว่าจะเกิดสันติภาพ โดยเฉพาะผู้หญิงหลายคนที่อยู่ในเรื่องเล่าของเรา เรียกได้ว่าเป็นเหยื่อจากสถานการณ์ความรุนแรงแต่เราสามารถที่จะเสริมพลังให้ผู้หญิงเหล่านี้ส่งเสียงจากเดิมที่เอื้อนเอ่ยอะไรไม่ได้เลย เอาแต่ร้องห่มร้องไห้ เราทำให้เขาพูดได้และบอกเล่าว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไร และก้าวข้ามได้อย่างไร และเขาอยากมีบทบาทเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างไร”

กลุ่ม CIVIC WOMEN และคุณโซรยาติดตามประเด็นและทำงานร่วมกับกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ เพื่อให้เกิดการสื่อสารเรื่องราวสันติภาพและความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ชายแดนใต้  จากประเด็นการสื่อสารที่ผ่านมา ทำให้มีการนำเสนอเรื่องราวและประสบการณ์ของกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ที่รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวให้กับพื้นที่ ทั้งกลุ่มเปราะบาง และครอบครัวผู้สูญเสีย รวมถึงการต่อยอดเนื้อหาสันติภาพในพื้นที่บอกเล่าผ่านหนังและงานเขียน

5.2 ผลงานเรื่อง “แบ่งปันยุคโควิด” โดย คุณสันติ ศรีมันตะ   

คุณสันติเป็นนักข่าวพลเมืองที่สื่อสารต่อเนื่องในประเด็นชุมชน เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทำความเข้าใจ ในประเด็นข้อขัดแย้งต่าง ๆ และประเด็นที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของปัญหา เช่น กรณีโรงงานน้ำตาลบ้านน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ที่สื่อสารต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้ชาวบ้านและเอกชนได้สื่อสารมุมมองของตนเอง หรือล่าสุด โรงงานน้ำตาล จ.ร้อยเอ็ด โดยสื่อสารทั้งคุณค่า วิถีชีวิต ความเชื่อ ความเคลื่อนไหวชาวบ้าน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจมากขึ้น ล่าสุดสื่อสารประเด็นปลาแลกข้าว ที่เกษตรกรชาวยโสธรน้ำข้าวสารไปแลกปลากับชาวประมงภาคใต้ ตอนโควิด-19

5.3 “ทำอาหารฮาลาล ช่วยชาวมุสลิมที่ถูกน้ำท่วมในชุมชนช้างคลาน” โดยคุณชุมพล ศรีสมบัติ ทีมงานสื่อมุสลิม เชียงใหม่ ที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการอยู่ร่วมกับแบบพหุวัฒนธรรม ทั้งต่างเชื้อชาติและศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจและให้คนเคารพในความแตกต่างและอยู่ร่วมกันได้  การสื่อสารของคุณชุมพลนอกจากจะเล่าเรื่องวิถีของคนมุสลิมแล้ว ยังเล่าให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนพหุวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เป็นการสร้างความเข้าใจในสังคมว่าคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และช่วยเหลือดูแลกันได้ อย่างช่วงสถานการณ์น้ำท่วม หรือโควิด19 พี่น้องมุสลิมย่านช้างคลานก็ได้ระดมอาหารไปช่วยเหลือพี่น้องพุทธ คริสต์ ที่อยู่ย่านเดียวกันที่ต้องกักตัว และเป็นแรงบันดาลใจให้กับมุสลิมรุ่นใหม่ ผ่านการอบรมเติมความรู้เรื่องการสื่อสาร และสร้างนักสื่อสารรุ่นใหม่ ที่มาช่วยสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม

 6.รางวัลด้านภัยพิบัติ มี 5 รางวัล

 6.1 ผลงานเรื่อง “เมือบ้านเฮากับกู้ชีพนครสาเกต” โดยคุณกิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการด้วย

“ผมเป็นนักข่าวพลเมือง และดูแลพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องภัยบัติในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้สื่อข่าวด้วย ให้ข่าวด้วย เป็นทั้งผู้ปฎิบัติงานเรื่องภัยพิบัติทุกด้านทุกแขนง ปัจจุบันนี้ นอกจากจะทำเรื่องของข่าวแล้ว ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐและภาคเอกชน ในเรื่องของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ของฝากจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยนะครับ ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่มีภัยพิบัติค่อนข้างหลากหลาย 1 ปี มี 12 เดือน มีภัยพิบัติเกือบทุกเดือน จะส่งข่าวให้พี่น้องประเทศไทยได้รับรู้ข่าวภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง ขอบคุณครับ”

การสื่อสารเรื่องภัยพิบัติของคุณกิติศักดิ์เพื่อบอกเล่าสถานการณ์ ควบคู่กับการให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวขณะเผชิญเหตุอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมามีการระดมความช่วยเหลือไปยังพื้นที่เดือดร้อน และนอกจากพื้นที่นักข่าวพลเมือง คุณกิติศักดิ์ ยังสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อขยายประเด็นและรับมือภัยพิบัติในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงมีรูปแบบการสื่อสารที่น่าสนใจ กรณีการรับผู้ป่วยโควิด-19 ไปกักตัว จ.ร้อยเอ็ด ทำให้่เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น

6.2 ผลงานเรื่อง “ชาวบ้านกุ่มยกธงขาว…วอนกรมชลประทานเห็นใจชาวบ้านน้ำท่วม” โดยคุณสันติ โฉมยงค์ จ.พระนครศรีอยุธยา

คุณสันติ เป็นนักข่าวพลเมืองที่สื่อสารประเด็นที่หลากหลาย มีเนื้อหาและมุมมองที่แตกต่าง  เช่นเรื่องการศึกษา สื่อสารประเด็นเกี่ยวกับเด็กที่หลุดออกจะระบบการศึกษา สื่อสารประเด็นเรื่องของแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก ไปจนถึงการรายงานข่าวอุทกภัย ในช่วงเดือนฤดูน้ำหลากที่ชาวบ้านในพื้นที่มักได้รับความเดือดร้อน  โดยในช่วงอุทกภัยเมื่อปี 2565 ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่เป็นหน่วยแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกของคุณสันติ  ได้มีการลงพื้นที่ช่วยเหลือที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ไม่สามารถออกไปโรงพยาบาลได้  คุณสันติได้รายงานข่าวสารมาเรื่อยๆ ทำให้หน่วยงานแพทย์แแผนไทยจังหวัดมีการสนับสนุนและลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อสื่อสารผ่านทางสื่อสาธารณะ การเข้าถึงข้อมูลของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จึงกว้างขวางมากขึ้น ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อื่นๆ ของ จ.พระนครศรีอยุธยา

6.3 ผลงานเรื่อง “อาสาฟื้นฟูชุมชน หลังน้ำท่วมน่าน” โดย คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน จากมูลนิธิกระจกเงาที่ทำงานเรื่องของภัยพิบัติ และสื่อสารเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเตรียมตัว เผชิญเหตุ และพื้นฟู พร้อมกับเสนอเรื่องภัยบัติเป็นวาระสำคัญ  คุณณัฐพล และมูลนิธิกระจกเงา เป็นกลุ่มแรกๆที่ทำงานเรื่องภัยพิบัติควบคู่กับการสื่อสารความเข้าใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว ที่จังหวัดเชียงราย  มีการถ่ายทอดประสบการณ์ภัยพิบัติไปสู่เพื่อนบ้านในเมียนมา ในการแลกเปลี่ยนบทเรียน การฟื้นฟู โครงสร้างๆต่างๆเพื่อเตรียมรับแผ่นดินไหว นอกจากนี้แล้วช่วงน้ำท่วมต่างๆ หรือเกิดภัยพิบัติ ทางทีมก็จะไปลงพื้นที่รายงานให้เกิดความช่วยเหลือทั้ง การเตรียมรับ การเผชิญเหตุและฟื้นฟู ทั้งเรื่องน้ำท่วม การอพยพคนเปราะบาง ล้างบ้านหลังน้ำลด จนขยับมาเรื่องของฝุ่นควันไฟป่า โดรนเพื่อดูทิศทางไฟ เพื่อประเมินแนวไฟ ทิศทางลม จะทำให้คนเข้าไปดับไฟมีความปลอดภัยมากขึ้น   

6.4 ผลงานเรื่อง “ปันน้ำใจจากพังงา” ช่วยพี่น้องประสบภัยน้ำท่วม จ.พัทลุง โดยคุณอภิชัย ช่วยสมบูรณ์

นักข่าวพลเมืองเครือข่ายทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง ที่สื่อสารและติดตามประเด็นภัยพิบัติภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมถึงภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง  จากการสื่อสารในชุมชนและก่อตั้งทดลองนำร่องทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง และยังคงสื่อสารเตือนภัยน้ำท่วมและภิบัติภัยต่างๆ ต่อเนื่อง และต่อยอดด้วยการจัดตั้งศูนย์ระดมอาหาร และสิ่งของใช้จำเป็นเพื่อส่งต่อช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ

6.4 ผลงานเรื่อง “ครัวกลางอาสาดูแลชุมชน” โดย คุณไมตรี จงไกรจักร

จากผู้ประสบภัยสินามิ สู่การถอดบทเรียนรับมือภัยพิบัติ พร้อมขยับประเด็นโมเดลการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน ผ่านการทำงานในมูลนิธิชุมชนไท  คุณไมตรีเป็นผู้มีประสบการณ์ด้ายภัยพิบัติดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายด้านภัยพิบัติทั่วประเทศ พร้อมใช้ทักษะและประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน สื่อสารประเด็นและการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง   อย่างสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการจัดระบบอาสมัคร และระบบครัวกลาง เพื่อให้ชุมชนได้ช่วยเหลือ และบริหารจัดการให้เกิดขึ้นภายในชุมชน  เปลี่ยนจากผู้รับ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยามเกิดภัยพิบัติ

จากใจชาวไทยพีบีเอส

คุณเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาศูนย์ ThaiPBS Word ตัวแทนคณะกรรมการผู้คัดสรรผลงาน

“ถ้ามองย้อนกลับไป ในปี 2551 หรือ 15 ปีที่แล้ว ถือว่าเครือข่ายนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอสของเรามาไกลมากเลย เดินทางมาไกลมาก ฝ่าฟันอุปสรรคมาเยอะพอสมควร ผมยังจำได้ตอนที่เราริเริ่มให้มีนักข่าวพลเมืองเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก็ต้องสารภาพตรง ๆ ว่ามีข้อกังขา ว่านักข่าวที่เขาเป็นชาวบ้านจะทำข่าวเป็นหรือ นักข่าวที่เขาไม่เคยทำข่าวมาก่อน เขาจะรู้เรื่องการเขียนข่าวแค่ไหนอย่างไร ก็มีข้อสงสัยอยู่  แต่ว่าเราก็เชื่อมั่น เพราะว่าเรารู้จักคนในพื้นที่เป็นอย่างดี กาลเวลา 15 ปีที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์เป็นอย่างดี ว่าจริง ๆ แล้วคนที่อยู่ในพื้นที่มีความรู้ มีความเข้าใจประเด็น ปัญหาความท้าทายในพื้นที่ของเขา ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน อำเภอ ตำบล จังหวัดทั้งหลาย มากกว่านักข่าวที่อยู่ส่วนกลาง ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ หลาย ๆ  เรื่อง หรือเกือบทุกเรื่องที่ปรากฏในนามของนักข่าวพลเมือง มันมีความลึกซึ้ง สะท้อนภาพที่แท้จริง ได้บ่งบอกถึงสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ อย่างนักข่าวที่มาจากในเมือง ในกรุงเทพ จะไม่มีทางเข้าใจเลย ผมถือว่านี่เป็นเครื่องบ่งชี้ชัดเจนว่านักข่าวพลเมืองของเราต้องถือว่าเป็นเจนเนอเรชั่นแรก สิ่งที่เรียกกันว่าผู้ที่ใช้ UGC : User-generated Content เพราะยุคแรก ๆ ที่ทุกท่านทำ 10-20 ปีมาแล้ว ยุคนั้น Social Media ยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป ท่านก็เป็นคนกลุ่มแรกเลยที่ เป็นผู้ใช้และผลิตเนื้อหามาให้กับทางไทยพีบีเอส ยิ่งได้ดูผลงานที่ปรากฏในงาน ยิ่งเป็นการยืนยันว่ามีพัฒนาการ มีสิ่งที่ทำแล้วเห็นชัดเจน มีบทบาทของนักข่าวพลเมือง มีความสำคัญมากขึ้น

จริง ๆ แล้ว การทำข่าวในลักษณะของนักข่าวพลเมืองไม่มีอะไรที่มันดีกว่า ไม่ดีกว่า หรือว่ายอดเยี่ยมกว่า ด้วยซ้ำไปในทางปฏิบัติ เพราะทุกเรื่องที่ถูกส่งเข้ามามันสะท้อนอะไรบ้างอย่างที่มีความพิเศษในตัวอยู่ เป็นสิ่งที่คนในเมืองไม่มีทางมองเห็นได้เลย

ขอบคุณทุกท่านที่ยังอยู่ในเครือข่ายนักข่าวพลเมืองของเราอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอดและหวังว่าท่านจะมีบทบาททางด้านนี้ต่อไป ยิ่งในยุคนี้มันมีข้อมูลข่าวสารที่ไร้สาระเป็นข่าวลวงข่าวหลอกเต็มไปหมดเลย เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ เกิดความคิดเห็นที่มันแตกแยก เกลียดชังกัน เพราะฉะนั้นบทบาทนักข่าวพลเมืองสำคัญมากครับ ในการหยิบเรื่องราวที่มีสาระขึ้นมาในระดับชุมชน กลายเป็นประเด็นที่คนมาพูดคุยกันจริง ๆ ที่มีสาระมากกว่าในเรื่องที่ไม่มีสาระแต่ว่าเป็นเรื่องที่ชาวบ้านชอบมาคุยกัน ก็อยากให้กำลังใจในการทำหน้าที่บทบาทตรงนี้ต่อไป ขอบคุณครับ”

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ สสท.

 “ขอกล่าวคำว่า ขอบคุณจากใจของพวกเราชาวไทยพีบีเอสทุกคน เพราะทุกคนในที่นี้ที่เป็นนักข่าวพลเมือง คือ ของจริง และผู้ที่เติมเต็มให้กับความเป็นสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอสกำเนิดขึ้นมาไม่ใช่เพียงเพื่อนำเสนอสิ่งที่สังคมวางใจได้เท่านั้น แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่หย่อนไปกว่ากัน คือ ทำหน้าที่สร้างเสริมพลังพลเมืองที่สร้างสรรค์ และตรงนี้ที่เรายังอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะพลังและแรงสนับสนุน และบทบาทจากนักข่าวพลเมืองทุกท่าน   ดิฉันนั่งมองทุกท่านทำงานอยู่ในช่วง 5-6 ปี ที่บริหารงานที่นี่ ดิฉันยอมรับเลยค่ะ ว่าทุกท่านเป็นแถวหน้าในการเปลี่ยนผ่านความเป็นนักข่าวพลเมือง เมื่อก่อนหน้านี้แล้วมาเป็นจนตอนนี้ ทำให้ดิฉันและทีมงานน้อง ๆ ทุกคน ของสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ เรามีความมั่นใจว่าสิ่งที่เราชวนกันทำชวนกันคิด จับมือกันต่อ มันจะสำเร็จลงได้ ขอบคุณทุกท่านจากใจจริง และร่วมเดินไปด้วยกันต่อในปีที่ 16 17 18 ของไทยพีบีเอสต่อไปเรื่อย ๆ ขอบคุณค่ะ”

 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.

ไทยพีบีเอสมีจุดเด่น ที่สื่ออื่นในประเทศไทยไม่มีแต่ไทยพีบีเอสมี ประการที่ 1 มีนักข่าวพลเมือง ประการที่ 2 เรามีสื่อสาธารณะท้องถิ่น ที่วันนี้เราพูดเรื่องสื่อสาธารณะท้องถิ่นเยอะ เราไม่ได้มีสื่อสาธารณะเพียงแห่งเดียวที่ไทยพีบีเอสที่นี่ แต่เรากำลังจะกระจายตัวที่จะยึดเอาหลักการของสื่อสาธารณะอยู่ในทุกภูมิภาค   และประการที่ 3 ไทยพีบีเอสมีสภาผู้ชมผู้ฟัง  ทั้ง 3 สิ่งที่สำคัญ คนที่บริหารจัดการ ก็คือ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วม

ผมคิดว่าสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมทำงานหนัก เพราะเรามีใจตรงกัน คือว่าคนในท้องถิ่นมีของดี มีภูมิปัญญาและอยากบอกคนอื่น ทำไมเราต้องทนดูสื่อจากส่วนกลางที่พูดแต่เรื่องส่วนกลางและผู้มีอำนาจ

ท้องถิ่นมีของดีเยอะ นักข่าวพลเมือง และสื่อสาธารณะท้องถิ่นก็อยากจะบอกเล่าปัญหาและสิ่งที่พบเจอในท้องถิ่นให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย และขณะเดียวกันเมื่อเราเห็นปัญหา เราก็อยากจะผลักดันให้ไปเป็นวาระแห่งชาติจะได้ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างของประเทศที่มันมีความเหลื่อมล้ำ มันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเราทุกคนในห้องนี้ ซึ่งรวมถึงไทยพีบีเอสด้วย

ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะแห่งเดียวในประเทศไทย ที่หลุดพ้นจากอำนาจทางการเมือง อำนาจรัฐและหลุดพ้นจากอำนาจทุน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหรือผู้ให้สปอนเซอร์ หรือนายทุนผู้ให้การโฆษณา และไทยพีบีเอสมีจุดยืนอีก 1 จุด คือว่า คนเล็กคนน้อย คนด้อยโอกาสที่ถูกทิ้งไป เพราะสื่อพาณิชย์เขาอาจจะสนใจ แต่เขาทำไม่ได้ เพราะคนด้อยโอกาสขาดอำนาจซื้อ ภาษาเศรษฐศาสตร์ เขาเรียกว่า เป็นความล้มเหลวทางการตลาด เมื่อขาดอำนาจซื้อ สื่อพาณิชย์เขาก็จำเป็นที่เขาจะต้องทำอย่างอื่นที่เขาโฆษณาได้

ไทยพีบีเอสก็มีจุดยืนตรงนี้ จุดยืนของพวกเราอยู่ในห้องนี้ ทั้งสื่อพลเมือง ทั้งสื่อสาธารณะท้องถิ่น ทั้งสภาผู้ชมและไทยพีบีเอส มันเข้ากันพอดีใช่ไหมครับ เราจึงทำงานร่วมกัน เรากำลังแตกตัวจากสื่อสาธารณะแห่งเดียวในประเทศไทยเป็นสื่อสาธารณะท้องถิ่น สื่อสาธารณะท้องถิ่นก็มาจากนโยบายของกรรมการนโยบาย ได้พยายามให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมทั้งกรรมการบริหาร ทั้งพนักงาน ทั้งสภาผู้ชมและเครือข่าย เราได้พยายามให้แต่ละฝ่ายได้ช่วยกันกำหนดว่านโยบายไทยพีบีเอสเป็นอย่างไร หลังจากฟังทั้งหมดแล้ว ทุกคนบอกต้องกระจายอำนาจ ต้องสร้างสื่อสาธารณะให้มากกว่านี้ เลยได้นโยบายออกมาว่า เราควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและกระจายรูปแบบสื่อสาธารณะในท้องถิ่นเข้าไปสนับสนุน เพราะฉะนั้นงานเครือข่ายจึงสำคัญและเป็นงานหนักมาก  และในปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากปีที่แล้ว วันนี้ได้ฟังดู เราเห็นความคืบหน้ามากเลย ในสื่อสาธารณะท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตามมันมีความท้าทายที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นบางอย่าง

ความท้าทายประการแรก คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ  ไทยพีบีเอสส่วนกลางที่เดินได้ทุกวันนี้ เพราะเราน่าเชื่อถือ เวลาที่คนเขาไม่มั่นใจในข่าวอะไรก็ตามเขาเปิดไทยพีบีเอส เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่มั่นใจอะไรก็ตาม ต้องเช็คกับสื่อพลเมืองได้ นักข่าวพลเมืองได้ เช็คกับสื่อสาธารณะท้องถิ่นได้ เช็คกับสภาผู้ชมได้ เราต้องเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ ภายใต้สถานการณ์ข่าวปลอมเต็มบ้านเต็มเมือง มีแต่ความเห็นสร้างความแตกแยกเยอะแยะ เพราะฉะนั้นเราน่าจะเป็นหลักในเรื่องนี้ได้ ในยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่เราควรจะเป็นสื่อน่าเชื่อที่สุด

ประการที่สอง คือ สื่อสาธารณะท้องถิ่นจะจับมือกับนักข่าวพลเมืองอย่างไร และจับมือกับสภาผู้ชมอย่างไร ถ้าทุกคนมาผูกพันอยู่กับไทยพีบีเอสส่วนกลางงานก็จะได้แค่นั้น แต่ถ้าเราแตกตัวและทำงานร่วมกันอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ อันนี้เป็นโมเดลที่ท้าทาย ผมก็ดีใจว่าวันนี้ ทุกคนทั้งหลายที่ร่วมมือกันระหว่างสื่อสาธารณะท้องถิ่น ร่วมกับนักข่าวพลเมือง และมีสภาผู้ชมอยู่ด้วย ถ้ารูปแบบเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่าฝันจะเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ที่จะทำให้เราเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือที่สุด ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนกรรมการนโยบาย ก็ขอบคุณฝ่ายบริหารและขอบคุณสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมที่ได้จัดงานในวันนี้และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”

หลักคิดและแนวทางคัดสรรผลงานจากคณะกรรมการฯ

เนื่องจากการมอบรางวัลนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส จัดเป็นครั้งที่ 1 ในรอบ 15 ปี การคัดเลือกและตัดสินเบ็ดเสร็จในผลงานและคุณค่าที่นักข่าวพลเมืองอีกเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมทำงานจึงพยายามหาแนวทางที่จะใช้ยึดโยงและกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ต่อการริเริ่มมอบรางวัลนักข่าวพลเมืองในครั้งนี้  โดย

1.เปิดให้สาธารณะร่วมเสนอผลงานเข้าร่วมชิงรางวัลผ่านแคมเปญ “ตามหานักข่าวพลเมืองผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งพบว่า มีผู้เสนอผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 74 ผลงาน

2.ระยะเวลาของการเผยแพร่ผลงาน เนื่องจากงานข่าวพลเมืองมีมายาวนาน การมอบรางวัลครั้งนี้เราจึงขอกำหนดระยะเวลาของผลงานที่เผยแพร่อยู่ในช่วงปี 2561 – 2565

3.การกำหนดกลุ่มประเด็นเพื่อนำมาสู่รางวัล 6 ด้าน พวกเรามองย้อนไปนับจากผลงานชิ้นแรกเมื่อปี 2551 ว่ามีเนื้อหาลักษณะใดบ้างที่ส่งเข้ามา สามารถจัดให้เป็นกลุ่มประเด็น และนำมาสู่รางวัลใน 6 ด้าน

4.การตั้งหลักเกณฑ์พิจารณาด้วยการยึดหลัก “วารสารศาสตร์ภาคพลเมือง”  โดยมีกลุ่มนักวิชาการทีศึกษาวิจัยงานของนักข่าวพลเมือง ให้หลักคิดว่าแม้งานของนักข่าวพลเมืองจะผูกโยงอยู่กับเจ้าตัวที่เป็นเจ้าของประเด็น  แต่การพิจารณามอบรางวัลไม่ได้ยึดอยู่ที่ “ตัวบุคคล” เป็นหลัก แต่มองที่ “ตัวผลงาน” ที่มีคุณค่าสอดคล้องกับวารสารศาสตร์ภาคพลเมือง

5. เกณฑ์พิจารณา  รางวัล  Citizen Journalist Award  นักข่าวพลเมืองผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงใน 3 เกณฑ์คือ

5.1  คุณค่าทางวารสารศาสตร์พลเมือง

1.เป็นเนื้อหาที่สามารถเปิดประเด็นและสร้างพื้นที่การสื่อสารได้
2.เนื้อหาสามารถเชื่อมโยง/เชื่อมร้อยบุคคล กลุ่มและผู้คนในระดับต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจและการเปลี่ยนแปลง สามารถหยิบยกประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ แต่สื่ออื่นไม่ได้ให้ความสนใจ  
3.เนื้อหาสะท้อนถึงความเข้าใจประเด็นและมีการนำเสนอข้อมูลอย่างลึกซึ้ง

5.2. มีการนำเสนอที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น 4 ระดับคือ บุคคล ชุมชน ท้องถิ่น/จังหวัด/ภูมิภาค และระดับนโยบาย โดยพิจารณาจากรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงที่มีหลายลักษณะ เช่นการสื่อสารนั้น สร้างการรับรู้ ยอมรับ สร้างการมีส่วนร่วม เสริมพลังชุมชน(ชุมชนเข็มแข็ง ชุมชนเกิดความร่วมไม้ร่วมมือ ชุมชนจัดการตนเอง เศรษฐกิจชุมชน เกิดกติกาชุมชน ฯลฯ)   ขยับปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง เป็นกระแส มีส่วนขยับไปถึงกฎหมาย ไปถึงการจัดการ ไปจนถึงการสร้างนวัตกรรม  

5.3.รูปแบบการนำเสนอ ที่สร้างสรรค์การเล่าเรื่องได้น่าสนใจ 
ผู้นำเสนอสามารถที่จะแสดงถึงศักยภาพในการนำเสนอและเข้าถึงข้อมูลในประเด็นที่ท้าทายได้ มีรูปแบบการนำเสนอที่มีความสร้างสรรค์ เป็นอิสระ และสอดคล้องกับเป้าหมายของการสื่อสาร (เล่าเรื่องfree from การใช้ภาษาถิ่น)โดยคณะกรรมการได้พิจารณาคัดสรรและให้คะแนนผลงานที่ผ่านเกณฑ์อย่างโดดเด่น และรวมคะแนนเป็น Popular Vote

6.เกณฑ์ พิจารณารางวัล C-Site Award  สำหรับ Active Citizen ผู้ใช้เครื่องมือแอปพลิเคชัน C-site เราจึงบนำสถิติจาก C-Site ร่วมพิจารณา และคัดสรรผลงานจากนักข่าวพลเมืองผู้ใช้ C-Site ร่วมรายงานข่าวใกล้ตัวในช่วงปี 2566 และในสถานการณ์วิกฤติ

รายชื่อคณะกรรมการ 
คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ           ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ส.ส.ท.ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์
คุณเทพชัย  หย่อง                ที่ปรึกษา ThaiPBS Worlds
รศ. ดร.ภัทรา บุรารักษ์        สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่  คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ม.พะเยา
รศ.มัทนา เจริญวงศ์             คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ม.ศิลปากร
อาจารย์อังคณา พรมรักษา   ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและสื่อสารองค์กร
ดร.สมัชชา นิลปัทม์              คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี
ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่            คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ