“ตันหยงสตาร์” เมืองท่าโบราณที่อุดมด้วยวัฒนธรรม สู่หมุดหมายใหม่ท่องเที่ยวเมืองตรัง

“ตันหยงสตาร์” เมืองท่าโบราณที่อุดมด้วยวัฒนธรรม สู่หมุดหมายใหม่ท่องเที่ยวเมืองตรัง

ท่าเรือประมงแหลมหยงสตาร์

จากงาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าท่าข้าม – หยงสตาร์ – ทุ่งยาว” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ ในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าจังหวัดตรัง ให้กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง และเป็นการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์เมืองเก่า และสืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ให้คงอยู่ คู่กับจังหวัดตรังต่อไป และเพื่อกระจายรายได้สู่ฐานราก ที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 ส.ค. 66)

นอกจากร้านค้าท้องถิ่นที่ร่วมออกบูธ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การสาธิตอาหารพื้นถิ่น หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือการแสดงขบวนแห่ตามประเพณีโบราณของพี่น้องชาวไทยมุสลิมชุมชนหยงสตาร์ – ท่าข้าม ที่แบ่งขบวนเป็น 3 ชุด คือ ขบวนแห่ประเพณีขอขนม ประเพณีแห่แขก และขบวนแห่กลองมาลายู ที่ปัจจุบันหาชมได้ยากแล้ว

การแสดงขบวนแห่งของชาวตันหยงสตาร์

ประเพณีขอขนม

เป็นประเพณีสืบทอดกันมาของชาวมุสลิมชุมชนบ้านตันหยงสตาร์ ที่มีขึ้นในค่ำคืน ก่อนวันฮารีรายา (วันตรุษอีดิลฟิตตรี และวันตรุษอีดิลอัฎฮา) เนื่องจากในอดีตเมื่อใกล้ถึงวันตรุษพี่น้องมุสลิมแทบทุก ๆ บ้านจะทำขนมพื้นบ้านหลากหลายชนิด พอตกตอนพลบค่ำ เหล่าผู้ชายในหมู่บ้านจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มขบวน เดินตระเวนขอขนมไปตามบ้านต่าง ๆ ใน ระหว่างเคลื่อนขบวนก็มีการร้องรำทำเพลงกันเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง

ประเพณีแห่แขก (เข้าสุนัต)

การเข้าสุนัตของมุสลิมบ้านตันหยงสตาร์ ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ก่อนตัดแขก 1 วัน (ตัดแขกคือพิธีขลิบปลายอวัยวะเพศชายของเด็กในศาสนาอิสลาม) จะมีการทำบุญเลี้ยงแขก โดยในช่วงตอนเย็นจะมีการระแขก หรือแห่แขก โดยนำเด็กที่จะ ตัดมาแต่งหน้าตา สวมเสื้อผ้าตามแบบมาลายูพร้อมประดับประดาให้เด็กอย่างสวยงาม แล้วทำการแห่เป็นขบวน โดยอาจให้นั่งคล่อมคอผู้ใหญ่ นั่งบนรถยนต์ หรืออาจจะสร้างเป็นเกี้ยว (คานหาม) ซึ่งมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วเคลื่อนขบวนแห่ไปตามหมู่บ้าน

ขบวนแห่กลองมาลายู

เป็นวงมโหรีของชุมชนตันหยงสตาร์ที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิม ประกอบด้วย กลอง มาลายู ไวโอลิน หรือปี่ชวา โหม่ง กรับ ฉิ่ง ใช้สำหรับบรรเลงเพลงเดินนำหน้าขบวนในงาน ประเพณี หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น ขบวนแห่ขันหมาก ขบวนแห่แขก ขบวนของนม และรองแง็งตันหยงสตาร์ เป็นศิลปะพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะทั้งความไพเราะ ของจังหวะดนตรี และท่าทางของการร่ายรำ ที่ยังคงสืบทอดมาสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีแห่แขก (เข้าสุนัต)
นักดนตรีเตรีมขบวนแห่กลองมาลายู

นอกจากขบวนแห่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาวชุมชนตันหยงสตาร์แล้ว เรื่องอาหารการกินก็ยังบ่งบอกตัวตนของความเป็นคนตันหยงสตาร์ได้ดี ทั้งรสมือแม่ครัวจนถึงวัตถุดิบและเครื่องปรุง ที่บ่งบอกถึงต้นทุนของชุมชนในเรื่องฐานทรัพยากร

กิจกรรมการแข่งขันประกอบอาหารพื้นถิ่น จำนวน 3 เมนู ได้แก่ แกงไก่ตายาย แกงหอยโล่ ยำลอเน๊าะ (ยำปลิงทะเล) ในงานสืบสานตำนานตันหยงสตาร์ (เมืองท่าโบราณ) ที่ผ่านมา เป็นการประชันฝีมือของชาวตันหยงสตาร์ ทั้งหมด 9 ราย แบ่งเมนูในการทำอาหารพื้นบ้าน โดยแต่ละเมนูมีผู้เข้าแข่งขันเมนูละ 3 ราย ได้เตรียมวัตถุดิบและความพร้อมกันมาเต็มที่ ซึ่งมีบรรดาญาติ ๆ ก็คอยมาร่วมเชียร์และให้กำลังใจ ในการแข่งขันครั้งนี้มีการกำหนดเวลาในการปรุงอาหารไม่เกิน 2 ชม. และทางคณะกรรมการจะตัดสินด้วยเกณฑ์ความอร่อย รสชาติอาหาร วัตถุดิบ ความสะอาด ความสวยงามการตกแต่งจาน และความพร้อมของผู้เข้าแข่งขัน

เมนูไก่ตายาย

“รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลอีกครั้งเคยเข้าร่วมแข่งขันมาก่อนหน้านี้แล้วก็ชนะทุกครั้งและวันนี้ชนะอีกถือว่าไม่อายคนแล้ว ในส่วนของเคล็ดลับ จะเน้นใช้ไก่บ้าน ต้องดูเนื้อที่อย่าให้แก่เกิน น้ำหนักประมาณกิโลครึ่ง (0.5 กก.) กำลังดี โดยวิธีทำจะนำมาย่างก่อน แล้วนำมาผสมกับเครื่องเทศ แล้วทำแกง (ปรุง) ประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อเนื้อไก่กับเครื่องแกงเข้ากัน ก็จะได้รสชาติที่อร่อย เนื้อไก่ก็จะนิ่ม”

ป้าสุดา ชายทุ่ย อายุ 64 ปี ผู้ชนะการแข่งขันมนูแกงไก่ตายาย เล่าถึงเคล็ดลับส่วนตัวที่ตนใช้สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ หลังเคยลงแข่งขันแล้ว 3 ครั้งก็ชนะเลิศทั้ง 3 ครั้ง สำหรับเมนูไก่ตายาย เกิดจากยุคก่อนที่ชาวบ้านจะใช้เป็นเมนูสำหรับแก้บนต่อบรรพบุรุษ แต่มาถึงยุคปัจจุบันจะเป็นมนูที่หากินได้ในงานแต่ง งานบุญ หรืองานจัดเลี้ยงต่าง ๆ ในพื้นที่

เมนูแกงหอยโล่

ด้านป้ากฤติยา ยอดศรี อายุ 70 ปี อดีตข้าราชการ ผู้ชนะการแข่งขันเมนูแกงหอยโล่ เล่าว่า “รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้มาเข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับแกงหอยโล่ที่ทำให้ตัวเองได้รับรางวัลนั้นเนื่องจากเครื่องมือจะตำเอง และเป็นอาหารพื้นถิ่นของที่นี่ ทำกินบ่อย ๆ จนทำให้ถนัดมือ ซึ่งหอยโล่หรือหอยจุ๊บแจง หอยปากแดง ชาวบ้านที่ออกไปหาหอยจะนำมาขายตามตลาด กิโลกรัมละ 180 บาท ส่วนใหญ่ก็จะนำมาแกงกะทิ มีรสชาติกลมกล่อมหวานมันอร่อย ของรสชาติเครื่องแกงกะทิ และความสดของหอย”

ป้าวรรณี เทศนอก ผู้ชนะในเมนูยำลอเน๊าะ

อีกเมนูที่ค่อนข้างหากินได้ยากอย่างเมนูยำลอเน๊าะ หรือยำปลิงทะเล ที่ครั้งนี้ ป้าวรรณี เทศนอก อายุ 64 ปี ผู้ชนะในเมนูนี้เล่าว่า

“รู้สึกดีใจ รสชาติของเราจะมีรสชาติเปรี้ยว เผ็ด เค็ม และเนื้อกรุป ๆ ของปลิงทะเล โดยยำลอเน๊าะนี้ เราจะเน้นใช้ปลิงทะเล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ลอเน๊าะ จะมีมากในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งหาทานได้ยาก ใช้เนื้อปลิงทะเลทุกส่วน พร้อมด้วยส่วนผสมที่ใช้จะเน้นใช้สมุนไพรล้วน ๆ ซึ่งเวลาในการทำยำก็ค่อนข้างเตรียมหลายขั้นตอนเหมือนกัน”

หากมองจากเทรนด์ท่องเที่ยวในปัจจุบันการที่ชุมชนตันหยงสตาร์ หยิบเรื่องอาหารและวิถีวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายของชุมชน น่าจะตอบโจทย์ได้ดีในระดับหนึ่ง รอเพียงแค่ระบบนิเวศรอบ ๆ ข้าง ที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ ได้มีโอกาสรู้จักและเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองท่าโบราณ แห่งนี้สักครั้ง

เนื้อหาอ้างอิง

เนื้อเรื่องและภาพประกอบโดย : จำนง ศรีนคร
บรรณาธิการโดย : แลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ