กอ.รมน.ภาค 4 พบนักสิทธิฯ ชายแดนใต้ หาความร่วมมือตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ‘รายงานสถานการณ์การทรมานฯ’

กอ.รมน.ภาค 4 พบนักสิทธิฯ ชายแดนใต้ หาความร่วมมือตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ‘รายงานสถานการณ์การทรมานฯ’

20161505234931.jpg

15 พ.ค. 2559 ที่ จ.ปัตตานี ได้มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนคณะจัดทำรายงานรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557-2558 และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมด้วยตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการดำเนินการต่อเนื่องจากการเผยแพร่รายงานและการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน ที่เผยแพร่ปี 2559

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับกลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี จัดกิจกรรมเปิดตัวรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557-2558 ซึ่งทำให้โฆษก กอ.รมน.ต้องออกมาชี้แจงถึงการทำหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ในวันถัดมา (11 ก.พ. 2559) 

20161505235111.jpg

คลิกดู: รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557-2558

ผู้แทนกอ.รมน.ภาค 4 ได้ให้ข้อมูลว่าการนำเสนอรายงานโดยระบุเพียงว่าเป็นการสัมภาษณ์จากบุคคลเพียงคนเดียวที่อ้างว่าถูกกระทำการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมนำมารวบรวมและรายงานต่อสาธารณะ สร้างความเสียหายต่อหน่วยงานทั้งในประเทศและในทางระหว่างประเทศ เป็นการกล่าวอ้างข้อมูลฝ่ายเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบอีกทั้งไม่มีการสอบถามจากพยานอื่น ๆ แต่อย่างใด 

อีกทั้งรายงานไม่ได้ระบุรายชื่อ สถานที่ วันเวลาที่อ้างอิง ทำให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนไม่สามารถติดตามดำเนินการได้ ในรายงานมีการบรรยายผลกระทบจากการทรมานทั้งทางด้านจิตใจต่อบุคคล ชุมชนและสังคม โดยทาง กอ.รมน.ได้รับเรื่องร้องเรียนเดือนมกราคม 2559 และกำลังดำเนินการตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบ แต่รายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะไปเสียก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทำให้เกิดความเสียหายไปมากมาย

ทางคณะจัดทำรายงานได้ให้ข้อมูลว่า รายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายตามวัตถุประสงค์ของ UN Voluntary Fund for Torture Victim  ที่ให้ทุนในการทำงาน โดยเป็นการขอตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปี พ.ศ.2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 21 ราย รวม 54 ราย 

วิธีการดำเนินการคือการสอบถามตามแบบสอบถาม Proxy Medical Evaluation เพื่อบันทึกผลกระทบจากการทรมานทางด้านร่างกายและจิตใจ ตามหลักการ Istanbul Protocol เนื่องจากการทรมานนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ปิดลับ เหตุร้องเรียนเกิดขึ้นระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น การควบคุมตัวบุคคลเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และข้อจำกัดในการเข้าถึงบุคคลในสถานที่ควบคุมตัว ทั้งโดยญาติ บุคคลภายนอก หรือแพทย์ ทนายความ หน่วยงานที่เป็นอิสระ เป็นต้น
 
การพูดคุยได้ข้อสรุปว่า 1.การทรมานเป็นข้อห้ามไม่ว่าจะสถานการณ์ใดใด  2.วัตถุประสงค์ของการเผยแพร่รายงานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการนำไปสู่การป้องกันและการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน 3.ประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายกรณีนั้นทางกอ.รมน.รับข้อเสนอของคณะจัดทำรายงานฯ ว่าจะจัดตั้งคณะทำงานทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนให้สอดคล้องกับหลักการสอบสวนสากลที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจสภาพจิตใจและความปลอดภัยของผู้เสียหายจากการทรมานด้วย ทั้งนี้คณะจัดทำรายงานได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมของผู้เสียหายจำนวน 4 รายใน 54 ราย และอีก 2 รายที่เกิดขึ้นใหม่ให้ทางกอ.รมน.ที่รับผิดชอบตรวจสอบแล้ว

4.ทางกอ.รมน.ภาค 4 มีมาตรการหลายด้านที่ทางหน่วยงานฯ ได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อการป้องกันการทรมานและขอความร่วมมือให้จัดส่งเรื่องร้องเรียนเพื่อการตรวจสอบก่อนการเผยแพร่สาธารณะ 5.นัดพบเพื่อติดตามความก้าวหน้าต่อไปในวาระหน้าซึ่งมีการมอบหมายเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนระหว่างกันเพื่อการประสานงานในกรณีมีเร่งด่วนด้วย โดยทางคณะจัดทำรายงานฯ ได้ขอให้ทางราชการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนและผู้เสียหายที่ร้องเรียนเรื่องการทรมานด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ