กสม.ลงพื้นที่ ‘นามูล-ดูนสาด’ ดูละเมิดสิทธิ์กรณีขุดเจาะปิโตรเลียม กอ.รมน.ตามติดเพียบ

กสม.ลงพื้นที่ ‘นามูล-ดูนสาด’ ดูละเมิดสิทธิ์กรณีขุดเจาะปิโตรเลียม กอ.รมน.ตามติดเพียบ

20162903204137.jpg

29 มี.ค. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ภาคอีสาน จัดเวที ‘กสม.พบประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ ที่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 29-30 มี.ค. 2559 เพื่อพบปะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา นำไปประมวล วิเคราะห์สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรวบรวมจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 2559) ในช่วงเช้าคณะของ กสม.ได้ลงพื้นที่รับฟังสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านกรณีการเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียม บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โดยลงสำรวจบริเวณหลุมขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก หลุมดงมูล 5 (DM5) แปลงสำรวจ หมายเลข L 27/43 ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ที่ ต.กรุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ 

20162903204200.jpg

จากนั้น ได้เดินทางไปที่วัดนามูลพุทธาวาส อ.กระนวน เพื่อพูดคุยถึงผลกระทบและสถานการณ์คุกคามสิทธิมนุษยชนในพื้นที่กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด รวมทั้งชาวบ้านมาจากกรณีบ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กรณีโครงการโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ และกรณีปัญหาอื่นๆ ที่เข้าร่วมเกือบ 100 คน นอกจากนี้กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ กสม.ด้วย

20162903204223.jpg

ที่นี้ ในส่วนข้อเสนอกรณีการเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียม บ้านนามูล มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ขอให้ กสม.ตรวจสอบและพิสูจน์ผลกระทบจากโครงการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียม หลุมเจาะ DM 5 และให้หยุดทบทวนโครงการโรงแยกก๊าซ และแนววางท่อก๊าซ โครงการพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล 

รวมทั้งกรณีคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท และคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในมาตรา 47 วรรคสี่ ซึ่งมุ่งผลักดันโครงการและลิดรอนสิทธิ์ประชาชน

2.ตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กรณีการใช้อำนาจทางปกครองข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อพนักงานของรัฐรายหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เข้าร่วมหรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูนสาด ในการคัดค้านการดำเนินการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม

3.กลุ่มเรารักแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ ต.หนองใหญ่ ต.โคกเครือ อ.หนองกุงศรี และ ต.พิมูล อ.ห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอให้ตรวจสอบโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก ฐานเจาะ DME-A, DME-B, DME-C, DME-D, DME-E, DME-F, DME-G, KK-A และ KK-B แปลงสำรวจหมายเลข L27/43 จ.กาฬสินธุ์ และตรวจสอบการเข้ามาดำเนินการจัดเวทีชี้แจงของ กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์

20162903204244.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างการลงพื้นที่ และการพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง และกอ.รมน. เข้ามาสังเกตการณ์ และถ่ายวีดีโอบันทึกภาพชาวบ้าน ทำให้ผู้ร่วมประชุมไม่พอใจ ขณะที่ เตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วยก็มองว่าเรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิ์เช่นกัน

ที่  01/2559

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

วันที่  28 มีนาคม 2559

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบโครงการโรงแยกก๊าซ และแนววางท่อก๊าซ โครงการพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล

เรียน  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เนื่องจาก เรากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตามที่ทางกลุ่มฯได้คัดค้านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เรื่อยมา เพราะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบโครงการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียมฐานดงมูล 5 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L27/43 จังหวัดกาฬสินธุ์ ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ขณะที่บริษัทเอกชนก็เดินหน้าโครงการเรื่อยมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูลดูนสาด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด ได้เฝ้าติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน พบว่า มีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ ชาวบ้านได้กลิ่นเหม็นในระหว่างการขุดเจาะและเผาทดสอบโดยไม่มีกระบวนการพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือว่าจะไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และผลผลิตทางการเกษตรชาวบ้านเสียหายไร้มาตรการตรวจสอบ  นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการติดตามควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ กลุ่มฯทราบว่า ทางบริษัทเอกชนกำลังจะดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล ซึ่งจะมีการสร้างโรงแยกก๊าซ และแนววางท่อ ซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชน ประกอบกับรัฐบาลได้ออกคำสั่ง ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ตามนโยบายการเร่งจัดหาพลังงานโดยการสำรวจปิโตรเลียมและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาดต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้พลังงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความจำเป็นเร่งด่วนของคณะปกครองโดยเผด็จการ เพื่อประโยชน์ต่อการเอื้อผู้ลงทุนอย่างถึงที่สุด ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในมาตรา 47 วรรคสี่ อันมีผลให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติให้มีการดำเนินโครงการใดๆก็ตามได้ก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงยิ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ว่า โครงการดังกล่าวจะเดินหน้าโครงการโดย ไม่ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างรอบด้าน เกิดความสูญเสียต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในอนาคต ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง

กลุ่มฯ จึงขอให้ คุณเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(สิทธิชุมชน) ดำเนินการตรวจสอบและพิสูจน์ผลกระทบจากโครงการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียม หลุมเจาะ DM 5 และให้หยุดทบทวนโครงการโรงแยกก๊าซ และแนววางท่อก๊าซ โครงการพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล 

ด้วยความเคารพอย่างสูง
                        
ลงชื่อ
 (                                      )
          ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

 

ที่  02/2559

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

วันที่  28 มีนาคม 2559

เรื่อง      ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กรณี มีคำลั่งขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กับ นางสาวเฉลิมพร ศรีกงพาน 

เรียน  นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สิทธิพลเมือง)

เนื่องจาก เรากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตามที่ทางกลุ่มฯ ได้คัดค้านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เรื่อยมา เพราะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบโครงการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียมฐานดงมูล 5 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L27/43 จังหวัดกาฬสินธุ์ ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งดำเนินการตามสิทธิของประชาชนที่มีสิทธิในการรวมกลุ่มแสดงออกอย่างสันติ แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ใช้อำนาจทางปกครองข่มขู่ คุกคาม ประชาชน ที่สนับสนุนกลุ่มฯ โดย ในวันที่ 3 กรกฎาคม 255 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรณีดังกล่าวข้างต้น และขอให้แจ้งผลการดำเนินการให้จังหวัดขอนแก่นทราบ เพื่อรายงานให้หน่วยงานความมั่นคงทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ กรณีนางเฉลิมพร ศรีกงพาน ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ มีพฤติการณ์เข้าร่วมหรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล ดูนสาด ในการคัดค้านการดำเนินการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แหล่งดงมูล หลุมเจาะสำรวจ DM-5 และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวดิน และกรณีการเดินทางไปร่วมเวทีสัมมนา “เท่ากันแต่ไม่เท่าเทียม ความเป็นธรรมทางสังคมในศตวรรษที่ 21” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25-26 มิ.ย.58 และให้รายงานผลให้ทราบโดยด่วน จากนั้น วันที่ 21 สิงหาคม 2558 นายอำเภอศรีธาตุ มีหนังสือถึงนายก อบต.หนองนกเขียน ขอให้รวบรวมเอกสารหลักฐานทางราชการที่เกี่ยวข้องของนางเฉลิมพร ศรีกงพาน ว่าในวันที่ 4-6, 14, 19, 21-26 มกราคม 2558 และวันที่ 8, 25,26 มิถุนายน 2558 ได้ขออนุญาตไปราชการอะไร ที่ไหน อย่างไร จากผู้อำนาจหรือไม่

แต่หลังจาก นางสาว เฉลิมพร ศรีกงพาน ได้เข้าชี้แจ้ง และนายก อบต.หนองนกเขียน ได้ดำเนินชี้แจงไปยังผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่พบเหตุที่นำไปสู่การสอบวินัย หรือเอาผิดแต่ประการใด ก็ได้มีคำสั่งให้ นางสาว เฉลิมพร ศรีกงพาน เข้าชี้แจงอีกครั้ง โดยมีการตั้งคำถามที่ละเมิดสิทธิพลเมือง ของนางสาว เฉลิมพร ศรีกงพาน

กลุ่มฯ เห็นว่าพฤติกรรมการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กรณี มีคำลั่งขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นางสาวเฉลิมพร ศรีกงพาน ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เข้าร่วมหรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล ดูนสาด ในการคัดค้านการดำเนินการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แหล่งดงมูล หลุมเจาะสำรวจ DM-5 และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวดินนั้น เป็นการใช้อำนาจทางปกครองข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิมนุษยชน ของนางสาวเฉลิมพร ศรีกงพาน อย่างร้ายแรง เพราะแม้ว่านางสาวเฉลิมพร ศรีกงพาน จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาก็ไม่สามารถใช้อำนาจทางปกครอง ละเมิดสิทธิพลเมือง ละเมิดความเป็นมนุษย์ของประชาชน อีกทั้งการเข้าร่วมกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล ดูนสาด และการสนับสนุนกลุ่มดาวดิน ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่ถือเป็นสิทธิพลเมือง ที่ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และแสดงออกอย่างสันติ ดังนั้น การกล่าวหาว่า เป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล ดูนสาด และการสนับสนุนกลุ่มดาวดิน กระทั่งนำไปสู่การตรวจสอบที่มีท่าทีมุ่งไปการตั้งกรรมการสอบวินัย จึงเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

กลุ่มฯ จึงขอให้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สิทธิพลเมือง) ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่

ด้วยความเคารพอย่างสูง

                        
ลงชื่อ
(                                      )
ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

 

ที่    01/2559

กลุ่มเรารักแผ่นดิน

วันที่  28 มีนาคม 2559

เรื่อง      ขอให้ตรวจสอบโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก ฐานเจาะ DME-A, DME-B, DME-C, DME-D, DME-E, DME-F, DME-G, KK-A และ KK-B แปลงสำรวจหมายเลข L27/43 จังหวัดกาฬสินธุ์ และตรวจสอบการเข้ามาดำเนินการจัดเวทีชี้แจงของ กอ.รมนจังหวัดกาฬสินธุ์
เรียน      กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สิทธิชุมชน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย     รายชื่อประชาชนที่คัดค้านโครงการโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก ฐานเจาะ DME-A, DME-B, DME-C, DME-D, DME-E, DME-F, DME-G, KK-A และ KK-B แปลงสำรวจหมายเลข L27/43 จังหวัดกาฬสินธุ์ ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด

เนื่องจาก เรากลุ่มเรารักแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ ตำบลหนองใหญ่ ต.โคกเครือ อำเภอหนองกุงศรี และ ต.พิมูล อ.ห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก ฐานเจาะ DME-A, DME-B, DME-C, DME-D, DME-E, DME-F, DME-G, KK-A และ KK-B แปลงสำรวจหมายเลข L27/43 จังหวัดกาฬสินธุ์ ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แต่กลับพบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียมอย่างรอบด้าน และกระบวนการให้ข้อมูลไม่ได้สร้างความเข้าใจให้ชุมชนว่าการประชุมเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่กลับมุ่งเน้นการแจกของ เช่น กระเป๋า กรรไกรตัดเล็บ เพื่อแลกกับลายเซ็นจากชาวบ้านเท่านั้น ด้วยความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ประชาชนจึงได้รวมตัวกันเดินทางไปศึกษาผลกระทบจากพื้นที่ที่มีการขุดเจาะปิโตรเลียม พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ และผลผลิตทางการเกษตร ของประชาชนจริง และนอกจากนั้นเรายังพบว่า โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก ฐานเจาะ DME-A, DME-B, DME-C, DME-D, DME-E, DME-F, DME-G, KK-A และ KK-B นั้น อยู่ใกล้กับชุมชนเพียง 500 เมตร และอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพียง 200 เมตร อีกทั้งพื้นที่โครงการดังกล่าวยังทับซ้อนกับพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของประชาชน หากรัฐยังคงปล่อยให้บริษัทเอกชนดำเนินโครงการต่อไป นั้นหมายถึงการเดินหน้าทำลายวิถีชีวิตของประชาชน

แต่เมื่อชาวบ้านเดินทางไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพบว่า กลับมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงติดตามคุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาร้องเรียน นอกจากนั้น กอ.รมนจังหวัดกาฬสินธุ์ กลับเข้ามาเป็นรับผิดชอบจัดเวทีชี้แจงโครงการแทนบริษัทเอกชน และมีท่าทีคุกคามประชาชนที่ตั้งถามไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

ดังนั้น กลุ่มเรารักแผ่นดิน ขอยื่นรายชื่อประชาชนในพื้นที่ ตำบลหนองใหญ่ ต.โคกเครือ อำเภอหนองกุงศรี และ ต.พิมูล อ.ห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน     คน คัดค้าน โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก ฐานเจาะ DME-A, DME-B, DME-C, DME-D, DME-E, DME-F, DME-G, KK-A และ KK-B แปลงสำรวจหมายเลข L27/43 จังหวัดกาฬสินธุ์ ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ให้กับ คุณเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(สิทธิชุมชน) เพื่อให้ตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการดังกล่าวเพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง และตรวจสอบการเข้ามาดำเนินการจัดเวทีชี้แจงของ กอ.รมนจังหวัดกาฬสินธุ์

ด้วยความเคารพอย่างสูง

(                                       )
กลุ่มเรารักแผ่นดิน

 

ที่มาภาพ: กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ