กสม.ถกปม ‘กฎหมาย-วิธีปฏิบัติ’ กรณีจับ 14 นศ.-นักกิจกรรม ขึ้นศาลทหาร

กสม.ถกปม ‘กฎหมาย-วิธีปฏิบัติ’ กรณีจับ 14 นศ.-นักกิจกรรม ขึ้นศาลทหาร

20150807211734.jpg

ตัวแทน คสช.ยันทหารไม่เกี่ยวจับกุมนักศึกษา ไม่มีคุกคามชาวบ้าน-ครอบครัว สภาทนายความแจงกรณีตรวจค้นรถทีมทนายความของนักศึกษา “กิตติศักดิ์” ชี้ กสม.ควรช่วยสังคม ให้ความชัดเจนใช้ คำสั่งที่ 3/2558 แนะ คสช.แสดงหลักฐานมัดตัวผู้อยู่เบื้องหลัง-แยกแยะนักศึกษาให้ชัด

8 ก.ค. 2558 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) การประชุมของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. เพื่อตรวจสอบกรณีการจับกุมนักศึกษานักกิจกรรม สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังรวมตัวต่อต้านการรัฐประหาร โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นประธานการประชุม

ภายหลังจากช่วงเช้าวันนี้ (8 ก.ค.2558) เมื่อเวลาประมาณ 05.40 น. นักศึกษานักกิจกรรม สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว หลังศาลมีคำสั่งไม่อนุญาติให้ฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ฝากขังต่อ โดยมีผู้ไปรอรับอย่างคับคั่ง (คลิกอ่านข่าว)

20150807210944.jpg

ที่มาภาพ: ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวมี พ.อ.นุรัช กองแก้ว รอง ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญ เป็นผู้แทนจาก คสช. สมพร มูสิก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมประชุม อีกทั้งยังมี อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.เข้าร่วมสังเกตุการณ์การประชุมด้วย ขณะที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 มีหนังสือแจ้งมายังอนุกรรมการฯ ว่าติดภารกิจ จึงไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมได้ 

 

ตัวแทน คสช.ยันทหารไม่เกี่ยวจับกุมนักศึกษา ไม่มีคุกคามชาวบ้าน-ครอบครัว

พ.อ.นุรัช ในฐานะผู้แทน คสช.ยืนยันต่อคณะอนุกรรมการฯ และผู้ร่วมประชุมว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักศึกษา เพราะเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังไม่ทราบการปฏิบัติที่แน่ชัดว่าในเหตุการณ์การจับกุมนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในพื้นที่หรือไม่

ต่อคำถามถึง การจับกุมนักศึกษาว่าทหารเป็นผู้ชี้ตัวหรือไม่ ผู้แทน คสช. ระบุว่า การชี้ตัวนักศึกษาเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ และย้ำว่า คสช.ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนกรณีการคุกคามโดยการสะกดรอยตาม หรือกรณีที่มีการอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของนักศึกษา รวมถึงการเข้าไปคุกคามชาวบ้านในพื้นที่ถามหาความเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักศึกษา พ.อ.นุรัช ระบุว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นทหาร และไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ หากมีการแต่งกายปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ทหารก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย

เมื่อผู้ร่วมประชุมสอบถามว่า ทำไมกรณีนักศึกษาซึ่งเป็นความผิดเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ผู้แทน คสช.ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้เพราะเป็นเรื่องทางนโยบาย ส่วนการจับกุมด้วยข้อหาตามมาตรา 116 นั้นยืนยันว่า คสช.ศึกษากฎหมายมาก่อน สามารถส่งเอกสารสอบถามไปยัง คสช.ได้ 

 

สภาทนายความแจงกรณีตรวจค้นรถทีมทนายความของนักศึกษา

สมพร ผู้แทนจากสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีที่ 1 ใน 14 นักศึกษา ต้องการใช้สิทธิสอบใบอนุญาตทนายความ (ตั๋วทนาย) โดยได้ทำเรื่องถึงสภาทนายความให้นำตัวออกมาจากที่คุมขังไปเข้าสอบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางสภาทนายความได้พิจารณาแล้วและมีมติว่า ผู้ร้องได้ถูกคุมตัวและอยู่ระหว่าการดำเนินคดีจึงไม่ได้ไปรับตัว อีกทั้งไม่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสอบให้ที่เรือนจำ

ต่อคำถามกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจค้นรถของทีมทนายความของนักศึกษานั้น สมพร ระบุว่าทนายกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่ทนายสิทธิมนุษยชนของสภาทนาย แต่อาจเป็นทนายที่ทำคดีสิทธิ และไม่ได้ทำเรื่องร้องมายังสภาทนาย ทั้งนี้มีความเห็นว่าควรให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย พร้อมกล่าวถึงการถูกคุกคามว่า ทางสภาทนายความมีนโยบายพิทักษ์สิทธิของทนายความตามหลักวิชาชีพ ซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะมีการนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ แล้วจะมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการ 

ส่วนเรื่องทนายขอแรง กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามีทนายความอยู่แล้วหากเจ้าหน้าที่ขอทนายเพิ่มจากสภาทนายความก็จะผิดมารยาท อย่างไรก็ตามสภาทนายความยังสามารถจัดหาทนายให้ได้หากพนักงานสอบสวนขอมาและผู้ถูกกล่าวหายินยอม
 

“กิตติศักดิ์” ชี้ กสม.ควรช่วยสังคม ให้ความชัดเจนการใช้คำสั่งที่ 3/2558

กิตติศักดิ์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ กล่าวตั้งคำถามถึงการดำเนินการกับผู้ชุมนุมเกิน 5 คน ว่าต้องใช้กฎหมายใด เนื่องจากหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีประกาส คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่อมา 1 เม.ย. 2558 มีการประกาศเลิกกฎอัยการศึกและมี คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 กำหนดห้ามชุมนุมโดยระวางโทษลดลง อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวไม่มีเจตนาให้ใช้ศาลทหาร 
 
ส่วน ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารนั้นก็ควรถูกทำให้สิ้นผลไป เหลือแต่ คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 

กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการชุมนุมเกิน 5 คน ควรต้องขึ้นศาลยุติธรรมปกติ แต่กลุ่มนักศึกษาได้ถูกกล่าวหาใน 2 ความผิด คือฝ่ายฝืนคำสั่ง คสช.เรื่องการชุมนุม และความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งต้องขึ้นศาลทหาร ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557  ทำให้เกิดความสับสน ตรงนี้มองว่าเป็นปัญหาแนวปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีแนวปฏิบัติที่ดี ทำให้เลือกใช้แนวทางที่ให้อำนาจมากเพื่อให้รวดเร็วในการดำเนินการ 

กิตติศักดิ์ระบุว่าตรงนี้ กสม.ควรเป็นผู้ให้ความชัดเจนต่อสังคม โดยเสนอทบทวนคำสั่งที่ 3/2558 ให้การตัดสินลงโทษกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ เพื่อให้การแสดงความเห็นต่างได้รับความคุ้มครอง แต่หากเป็นการประทุษร้ายต่อสังคมและผู้อื่น ใช้อำนาจเถื่อน มีการว่างจ้าง หรือกรณีที่ขัดความมั่นคง ค่อยดำเนินการกล่าวหาตามมาตรา 116 เพราะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ การชุมนุมของชาวบ้านเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ก็อาจกลายเป็นความผิดตามคำสั่งนี้ได้ 

 

แนะ คสช.แสดงหลักฐานผู้อยู่เบื้องหลัง-แยกแยะนักศึกษาให้ชัด

กิตติศักดิ์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ กล่าวในส่วนการดำเนินคดีต่อกลุ่ม 14 นักศึกษานักกิจกรรมว่า จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ฝ่ายความมั่นคงได้รับการยืนยันว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังที่หวังจะก่อให้เกิดความรุนแรง และรัฐบาลก็ยืนยันในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น คสช.ควรแสดงหลักฐานและดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลัง ส่วนกรณีของนักศึกษากลุ่มนี้ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือ เป็นผู้ให้ความร่วมมือ หรือแสดงความเห็นโดยสุจริต 

หากเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตก็ควรได้รับความคุ้มครองตามระบอบปกติ คือสามารถปล่อยได้เลย ตำรวจสามารถทำบันทึกว่าไม่เกี่ยวข้องและไม่มีการดำเนินคดีต่อ ซึ่งตนเองเข้าใจว่าเป็นไปตามแนวทางนี้ เพราะศาลทหารก็พิจารณาไม่ฝากขังต่อ เนื่องจากยังไม่ปรากฎหลักฐานตามข้อกล่าวหาที่ทางราชการได้ยืนยัน ทั้งนี้การกล่าวหาลอยๆ อาจกระทบกับเรื่องความมั่นคงได้ แต่หากมีหลักฐานมัดตัวว่าจงใจก่อเหตุก็ให้ดำเนินดคดีต่อ ไม่ให้เป็นการกล่าวหาลอยๆ 

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่มักพูดเรื่องกฎหมายตั้งเป็นกฎหมาย ไม่ให้มีการยกเว้นเฉพาะกับ 14 คนนี้ เพราะจะกลายเป็น 2 มาตรฐานนั้น ก็ควรทำให้ชัดเจนว่าการแสดงความเห็นต่างนั้นต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ

 

“ไกรศักดิ์” แนะ คสช.เปิดโอกาสให้ประชาชนพูด-แสดงความเห็นบ้าง

ไกรศักดิ์ กล่าวว่า การจับกุม 14 นักศึกษานักกิจกรรมในคดีความมั่นคง นอกจากสะท้อนปัญหาของกฏหมาย ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรม และ คสช.ยังไม่เข้าใจปัญหาความซับซ้อนของสังคม โดยผู้มีอำนาจฟังข้อมูลจากคนแค่บางคนบางกลุ่มซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย 

ไกรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน เร่งดำเนินโครงการต่างๆ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อน แม้พบว่าโครงการนั้นได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงต้องมีคนอย่างกลุ่มดาวดินที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในการเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐาน และพวกเขาต้องออกมาประท้วงเพราะอยากเห็นความเป็นธรรม

นอกจากนี้ ไกรศักดิ์ ให้ความเห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการยึดอำนาจอย่างสันติวิธีมากที่สุดเมื่อเทียบกับชุดก่อนๆ และเห็นถึงความตั้งใจที่จะรักษาความสงบ อย่างไรก็ตาม คสช.ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดและแสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่เช่นนั้น คสช.ก็จะประสบกับความล้มเหลว

 

“นพ.นิรันดร์” แนะ คสช.ใช้การพูดคุย-หลักสิทธิมนุษยชน อย่ามุ่งใช้แต่อำนาจ

นพ.นิรันดร์ กล่าวยืนยันว่า กสม.ไม่ได้ต้องการจับผิดการทำงาน แต่เป็นการหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะนำข้อสรุปจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาและครั้งนี้ทำเป็นหนังสือส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คสช. รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการต่อไป

ส่วนการประชุมในครั้ง สรุปได้ 3 ประเด็นคือ 1.คสช.และรัฐบาล ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ได้ให้การรับรองไว้ และขณะนี้ความเห็นต่างนั้นอยู่ในขอบเขตของสันติวิธี อีกทั้งยังมีกรณีของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการจัดการทรัพยากรของชาวบ้านในหลายพื้นที่ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้อำนาจเด็ดขาด แต่ควรใช้วิธีทางการเมืองด้วยการพูดคุยและหลักสิทธิมนุษยชน 

2.การใช้มาตรา 116 และการอ้างคำสั่ง คสช. รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายใดๆ ต้องอ้างอิงหลักนิติรัฐ นิติธรรม ควรยึดหลักความเป็นธรรมและความถูกต้องไม่ควรอาศัยแต่อำนาจ

และ 3.กรณี 1 ใน 14 นักศึกษานักกิจกรรมซึ่งเป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในการจับกุม เสนอให้มีการดูแลเรื่องการตรวจรักษา เพื่อให้ภาพลักษณ์ของ คสช.ดีขึ้น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชาวบ้าน 4 พื้นที่แจง กสม. ย้ำ ‘ดาวดิน’ มาช่วยแก้ปัญหา แต่รัฐมาให้ยุติการเคลื่อนไหว
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ