กสม. ห่วงผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ขอรัฐฯ เร่งใช้ระเบียบฯ คุ้มครอง ไม่ผลักดันกลับ

กสม. ห่วงผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ขอรัฐฯ เร่งใช้ระเบียบฯ คุ้มครอง ไม่ผลักดันกลับ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์กรณีผู้หนีภัยจากเมียนมา เร่งรัฐบาลไทยดูแล และนำระเบียบคัดกรองคนผู้เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศฯ มาบังคับใช้ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกส่งกลับ

….

วันที่ 12 เม.ย. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ ห่วงใยกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในประเทศไทย ระบุ จับตาสถานการณ์การปะทะตามแนวชายแดนไทยเมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก อย่างต่อเนื่อง ห่วงความปลอดภัยประชาชนไทยและผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในประเทศไทย ย้ำให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล จัดที่พักพิงที่ปลอดภัย อีกทั้งยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนที่จะไม่ส่งผู้หนีภัยกลับประเทศ หากสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยและอาจทำให้ผู้ถูกส่งกลับได้รับอันตรายต่อชีวิต ตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement principle) 

นอกจากนี้ กสม. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็ภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับในทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกส่งกลับตามหลักการ non-refoulement

แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้ 


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ห่วงใยกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในประเทศไทย

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีรายงานการปะทะของกองกำลังต่าง ๆ บริเวณฝั่งตรงข้าม จ. แม่ฮ่องสอน และ จ. ตาก ทำให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบข้ามมาฝั่งไทยเป็นระยะและอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมาได้เกิดการปะทะอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีชาวเมียนมาอพยพหนีภัยเข้ามายังฝั่งไทยจำนวนมาก

กสม. มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและต่อความปลอดภัยของชาวเมียนมาที่หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในประเทศไทย จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้หนีภัยชาวเมียนมาโดยจัดให้อยู่ในที่พักพิงที่ปลอดภัย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยจัดหาอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในระหว่างที่พักพิงในประเทศไทย และขอให้รัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนที่จะไม่ส่งผู้หนีภัยชาวเมียนมากลับประเทศ หากสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยและอาจทำให้ผู้ถูกส่งกลับได้รับอันตรายต่อชีวิต ตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement principle) ซึ่งเป็นพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฎิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนคนไทยที่อาศัยในบริเวณใกล้แนวชายแดนไทย-เมียนมาที่อาจได้รับผลกระทบจากการสู้รบด้วย โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ กสม. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็ภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับในทางปฏิบัติโดยเร็วเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกส่งกลับตามหลักการ non-refoulement

ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบทุกกลุ่มต่อไป 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
12 เมษายน 2566

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ