“ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง” กับโจทย์สายน้ำนานาชาติ ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์ เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน 

“ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง” กับโจทย์สายน้ำนานาชาติ ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์ เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน 

เสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง”

ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน  ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ภายในงาน “ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง” ได้มีการจัดเสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง” โดย มี ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางหลี่ จิ้น เจียง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ,นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยมี น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ดำเนินรายการ   ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงานได้เชิญสถานเอกอัครราชทูตอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เข้าร่วมฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงด้วย โดยสถานทูตอเมริกันและออสเตรเลียยืนยันว่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีผู้แทนมาร่วม

นางหลี่ จิ้เจียง ผู้แทนสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการเมือง กล่าวว่าในฐานะที่เป็น ผู้แทนสถานทูตจีนเพียงคนเดียวบนเวทีเสวนานี้ อยากพูดถึง วิสัยทัศน์ในการทำงานของจีน ตั้งแต่ต้นน้ำโขงในจีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง จีนกับ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน มีความเชื่อมโยงเป็นเพื่อนมิตรที่ดี 

นางหลี่ จิ้เจียง ผู้แทนสถานทูตจีนประจำประเทศไทย

“ปี 2559 ได้มีการเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang Mekong Cooperation หรือ LMC) วานนี้รัฐมนตรี 6ประเทศ ร่วมประชุมกันที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะมีความร่วมมือกันมากมาย ในฐานะที่มีกลไกร่วมหารือ พัฒนาแบ่งปันกัน ได้รับความร่วมมืออย่างดี ปีที่แล้ว มูลค่าการค้ากับจีน 510.17 แสนล้านดอลาร์ เพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 7 ปีก่อน เทศกาลผลไม้ในลุ่มประเทศน้ำโขง มีการนำเข้าทุเรียน รังนก ลำไย มะพร้าวสดเข้าจีน” ผู้แทนทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าว 

นางหลี่ กล่าวอีกว่า กลไกด้านเกษตร มีการนำเข้าฝึกอบรมความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกว่า 1พันคน ช่วยยกระดับด้านเกษตรแก่ประชาชน โดยไทยเป็นผู้ริเริ่ม LMC และจะเข้ารับตำแหน่งประธาน LMC ในอนาคตด้วย 

“มีการอนุมัติกว่า 70 โครงการ มูลค่า 20 ล้านดอลล่าร์ ผ่านโครงการต่างๆของไทย LMC คือการพัฒนา สำหรับจีนการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับชีวิตประชาชนคือความเร่งด่วนในปัจจุบัน สุดท้ายนี้ขออวยพรให้อนาคตลุ่มประเทศน้ำโขงมีอนาคตที่สดใส เชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือ แม่น้ำ Mother River จะสดใส เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำโขง  และเรื่องภัยแล้ง  มีข่าวที่โทษจีนว่าเขื่อนบนแม่น้ำลานชางทำให้เกิดภัยแล้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับความคิดเห็นของเพื่อนมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง  ทางจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมกันศึกษาด้วยกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) เพื่อหาหลักฐานว่า เป็นผู้ก่อภัยแล้งให้ปลายน้ำไม่ใช่จีน ปริมาณน้ำโขงในส่วนล้านช้าง มี 13.5 % ที่แชร์กับแม่น้ำโขงตอนล่าง พื้นที่บริเวณของแม่น้ำล้านช้าง คือ 20 % ปีที่เกิดภัยแล้ง ที่จีนในยูนนานที่น้ำโขงไหลผ่านก็เกิดภัยแล้งเหมือนกัน  อาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  มีการติดตั้งสถานีวัดน้ำที่ท้ายน้ำในแม่น้ำโขง เราแบ่งปันข้อมูลน้ำกับประเทศตอนล่าง ร่วมทั้งความพยามรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่าง   ตอนนี้เขื่อนของเรามีการปล่อยน้ำในฤดูแล้ง เก็บน้ำในฤดูฝน ฟังทุกท่านแล้วคิดว่า รู้สึกว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ต้องแก้ไขปัญหาด้วย แบ่งปันข้อมูลกัน  เราต่างดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน นางหลี่ กล่าว  

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความหมายสำหรับคนพื้นที่ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ แล้วแม่น้ำโขงอยู่ไกลมาก 

ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ดังนั้นความรู้สึกรู้สากับแม่น้ำโขง จะต้องถามไถ่คนที่ผูกพันกับคนใกล้แม่น้ำให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนไม่ได้ถามไถ่คนใกล้แม่น้ำเลย เวลาเขาทำสัญญาก็เป็นสัญญาที่คนพื้นที่ไม่ได้รู้ ไม่ได้อ่านด้วยเลย มันสะท้อนใจมากว่าการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อนกับคน ที่ได้รับผลกระทบ ในโครงสร้างอำนาจ มันไกลกันเหลือเกิน กว่าจะได้ยินเสียง มันต้องใช้หลายช่องทางมาก ผมสะท้อนใจเวลาได้ฟังจากชาวบ้านว่ามันกระทบมาก ทั้งทางตรงทางอ้อม เราศึกษากันยังไง ถ้ากระทบใครจะดูแลกระบวนการ ผลกระทบบ้าง คนรับผิดรับชอบไม่มี มีแต่การสร้าง ทำสัญญา และอ้างแต่ข้อมูลว่าประเทศเราต้องการไฟฟ้า ปัจจุบันการสร้างเขื่อน ประเทศไหนสร้างก็เป็นอธิปไตยประเทศนั้น กลายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศแบ่งเป็นเสี้ยวๆ แต่ผลกระทบมันกว้างไกลเกินกว่าประเทศนั้นจะดูแล” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย กล่าว 

อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า เกิดคำถามที่ผู้แทนทูตจีนพูดว่าใครจะตรวจสอบการตัดสินใจพัฒนาเหล่านี้ ว่ามีความยุติธรรมไหม มันไม่มีความชัดเจนและไม่ยุติธรรม วันนี้เราได้ยินกับหูว่าความโปร่งใสเรื่องสร้างเขื่อนปากแบงมันไม่มีจริง และการซื้อพลังงานทั้งที่เรามีพลังงานสำรองถึง 69% 

“เมื่อรับผิดชอบไม่ได้ก็ผลักภาระไปสู่อนาคต กลายเป็นว่าเราจะสร้างระบบที่ตรวจสอบร่วมกันไม่ได้ ภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้สึกว่าแม่น้ำเป็นของเราทุกคนมันไกลกว่าอธิปไตยของใครของมัน ในความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ มันต้องกว้างกว่านั้น กว้างกว่าระดับรัฐบาล พี่น้องข้ามพรมแดนได้แลกเปลี่ยนกัน ผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง” อ.สุริชัย กล่าว

อ.สุริชัย กล่าวว่า มีการประชุมเอ็มอาร์ซีครั้งหนึ่งที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีจากจีนมาประชุมด้วย จนมีการตอบสนองข้อมูลจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เป็นครั้งแรกที่จีนได้แสดงท่าทีที่เป็นประโยชน์ในการแชร์ข้อมูล ให้คนแม่น้ำโขงตอนล่าง หลักอธิปไตยเป็นเรื่องหนึ่ง 

“เพราะให้แต่รัฐบาลตัดสินใจ ชาวบ้านไม่มีส่วนตัดสินใจเลย การแชร์ข้อมูลจึงไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีออนไลน์ เราสื่อสารได้หลากหลายมาก เราจะแก้ปัญหาข้อมูลที่ล่าช้ายังไง ชาวบ้านจะยังรอคอยแบบน้ำตาไหลน้อยอกน้อยใจอีกไหม การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตัดสินใจของประเทศลุ่มโขงสำคัญมากกว่าอธิปไตยของแต่ละประเทศ ระบบ MRC-LMC ต้องช่วยรองรับกลไกนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญ ไม่ให้ความสนใจต่อความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์ และให้อำนาจกับเมืองหลวงในการตัดสินใจ ผลประโยชน์ของประเทศ กับผลประโยชน์ของประชาชน น่าจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย กล่าว

นายศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

นายศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้ฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแล้วมีความเห็นในทางเดียวกัน

“เราคิดเห็นแนวเดียวกันกับชาวบ้านว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนมีมากขึ้นอย่างไรแล้วจะทำอย่างไรต่อ ถ้าEIA ชี้ให้เห็นว่าไม่ผ่าน เขื่อนจะไม่ถูกสร้างหรือไม่ คำถามคือกระบวนการทำ EIA มาตรฐานในการจัดทำคืออะไร ถ้ากำหนดนโยบายระยะยาว มันสอดคล้องกับมาตรฐานระดับนานาชาติแค่ไหน ดังนั้นถ้าเราทำประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมทั้งแม่น้ำสายหลัก สายรอง ไปจนถึงอัตราค่าไฟต้นทุนพลังงาน สัญญาแบบ Take or Pay ไทยเรามีรูปแบบสัญญาซื้อไฟฟ้าที่แปลก คือไม่ว่าต้นทุนจะต่ำลงเพียงใด ไฟฟ้าที่ซื้อมาใช้หรือไม่ใช้รัฐจ่ายเงินทุกกรณี เราจะต้องจ่ายในอัตราที่สัญญากำหนด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน ดังนั้นการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมเพียงพอจึงสำคัญต่อการสร้างเขื่อน” นายศุภโชติ กล่าว

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลมีกรรมาธิการ พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาผลกระทบครอบคลุม เราจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปปช. เราจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีแอคชั่นอย่างไรต่อ ถ้านิ่งเฉยก็จะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 187

ศาสตราจารย์ ฟิลิปส์ เฮิร์ช จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์

ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ฟิลิปส์ เฮิร์ช จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ถ้ามองกลับไปยาวๆ การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงหลายร้อยปีเราคาดการณ์ได้ แค่ปัจจุบันเราไม่รู้แล้วว่าระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร 

“เราได้ยินผลกระทบจากเขื่อนมาตลอด การเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดทั้งลุ่มน้ำ ไม่ได้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราได้ยินปัญหาเรื่องประเมินผลกระทบ จากการมีส่วนร่วม ใช้ข้อมูลน้อยมาก ดังนั้น ทำอย่างไรให้กระบวนการศึกษาผลกระทบรอบด้านจริงๆ โดยเฉพาะประเด็นความจำเป็นด้านพลังงานของไทย” ศ.ฟิลลิปส์กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ