กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจากเมืองเลย ร่วมรับรางวัล ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ’ หนุนปกป้องบ้านเจ้าของ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจากเมืองเลย ร่วมรับรางวัล ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ’ หนุนปกป้องบ้านเจ้าของ

20160803014232.jpg

วันนี้ (7 มี.ค. 2559) ตัวแทนผู้หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย นำโดย ระนอง กองแสน เดินทางมารับมอบเกียรติบัตร ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ประจำปี 2559 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน สร้างขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนสังคมไทย จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในงานสัมมนาวันสตรีสากล ประจำปี 2559 ซึ่งมีนักสิทธิมนุษยชนเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศต่างๆ และสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วม

อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวในการปาฐกถา ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน : การขับเคลื่อนในสังคมไทย ถึงบทบาทของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องความยุติธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนซึ่งมีมาโดยตลอด และต้องเผชิญความเสี่ยงเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งยังถูกท้าทายจากขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ทั้งยังต้องเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูก มีภาระมากกว่านักสิทธิมนุษยชนชาย 

อังคณา กล่าวว่า การมอบรางวัลนี้เป็นความพยายามที่จะขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น พวกเขาเหล่านี้บางคนเป็นคนเล็กที่อาศัยอยู่ในชนบท หลายครั้งถูกคุกคาม แต่ยังทำงานหนักเพื่อหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย และความถูกต้อง แม้ที่ผ่านมารัฐไทยโดยกระทรวงยุติธรรมพยายามหาแนวทางในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยให้ลงทะเบียนรายชื่อเพื่อการติดตามคุ้มครอง แต่การเปิดรายชื่ออาจมีเสี่ยงถูกคุกคามมากขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่แน่ใจในแนวทางดังกล่าว และขณะนี้พวกเธอยังคงต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิร่วมกัน ไม่ใช่เพียงยกย่องเชิดชูสิ่งที่พวกเธอทำ แต่เพื่อหามาตรการในการคุ้มครอง และส่งเสริมการทำงานของพวกเธอในประเทศไทยต่อไป

ด้านระนอง กองแสง ตัวแทนผู้หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2549 ที่มีการเปิดทำเหมืองทองขึ้นในพื้นที่ ช่วงแรกๆ ที่รู้นั้นรู้สึกดีใจเพราะคิดว่าจะมีงานทำ  แต่พอเหมืองเปิดกลับมีเสียงเครื่องจักรตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ได้เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านต้องตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

ที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย ทั้งจากการขู่ฆ่าแกนนำชาวบ้าน 8 คน นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องถูกฟ้องคดีความจากการลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของตัวเองกว่า 20 คดี มีการเรียกค่าเสียหายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ตอนนี้บริษัทเหมืองกำลังขอขยายพื้นที่ไปยังภูเหล็ก แต่ปัญหาเดิมยังไม่ได้แก้ไข และมีการปิดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

ระนอง ยังเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ซึ่งมีการจับตัวกลุ่มชาวบ้านทั้งผู้หญิงผู้ชายไว้ตั้งแต่ 4 ทุ่มยันตี 4 เพื่อเปิดทางให้มีการขนแร่ ในครั้งนั้นมีชาวถูกทำร้ายบาดเจ็บจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถประสานหน่วยงานรัฐใดๆ ให้เข้ามาให้ความช่วยเหลือได้

“มันไม่เหมือนอยู่ในบ้านเรา มันประเทศอะไรไม่รู้ มีเสียงปืน เสียงระเบิดดังปัง ปัง” ระนองกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระนองกล่าวว่ากลุ่มคนรักบ้านเกิดยังคงยืนยันไม่ย่อท้อต่อการเผชิญหน้าที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเดินหน้าปกป้องทรัพยากรของชุมชน พร้อมขอมอบรางวัลของ กสม.นี้ ให้กับกลุ่มคนรักบ้านเกิดทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย เอ็นจีโอ นักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และนักกิจกรรมที่ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน 

“โดนคดีแค่ไหนก็ไม่ถอย เราจะสู้เพื่อลูกหลานเรา สู้เพื่อชุมชน เพื่อสิทธิของเรา” ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านกล่าว

นอกจากนั้นระนองยังได้เรียกร้องถึงการมีสิทธิชุมชน สิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักพิงให้กับประชาชนที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเองด้วย

คลิปอ่านคำประกาศของตัวแทนกลุ่มคนรักบ้านเกิด

 

การประกาศเกียรติยศสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน-กสม.

ระนอง กองแสง ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวความรู้สึกต่อการต่อสู้ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ทั้งการคุกคามและคดีความ.ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ รับมอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในงานสัมมนา วันสตรีสากล ประจำปี 2559 วันนี้ (7 มี.ค.2559) .ร่วมกับสตรีนักต่อสู่อีก 1 กลุ่มและ 2 คน คือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยที่หายตัวไป กลุ่มหญิงสู้ชีวิต (LOL) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้หญิงที่กลับจากต่างประเทศที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ข้ามชาติ หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และอัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ Bangkok Post

Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Sunday, March 6, 2016

 

ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เข้ารับรางวัล ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ร่วมกับสตรีนักต่อสู่อีก 1 กลุ่มและ 2 คน คือ กลุ่มหญิงสู้ชีวิต (LOL) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้หญิงที่กลับจากต่างประเทศที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ข้ามชาติ หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งทำงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์

มึนอ หรือ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวกระเหรียงบางกลอยที่หายตัวไป ตั้งแต่เมื่อกลางเดือน  เม.ย.2557 และอัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ซึ่งรายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน

เสียง ‘สตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’

“ความยุติธรรมจะเยียวยาผู้เสียหายได้ คือได้คำพิพากษา จำเลยได้รับการลงโทษ และผู้เสียหายได้รับการชดเชยที่แท้จริงและมีประสิทธิภาพ” ตัวแทนกลุ่มหญิงสู้ชีวิตกล่าว 

ตัวแทนกลุ่มหญิงสู้ชีวิต กล่าวฝากถึงกรณีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีกองทุน มีแหล่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายฯ แต่กลับไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เท่าที่ควร ตรงนี้ต้องอาศัยความจริงจัง จริงใจ และการบริการอย่างเท่าเทียม แจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายฯ ได้ทราบด้วย 

ส่วนกระบวนการยุติธรรมนั้นดูเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะจากการทำงานมาตั้งแต่ ปี 2549 ผู้เสียหายฯ ได้แต่คำพิพากษามานอนกอด แต่ไม่ได้รับการชดเชย และไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ บางกรณีเอเยนยังลอยนวลอยู่ในชุมชน ทั้งนี้มีเสนอด้วยว่าหากอายัติ ยึดทรัพย์ผู้ต้องหาแล้วไม่มีอะไรมาชดเชยให้กับผู้เสียหาย สามารถนำหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยในชั้นศาลมาจัดสรรชดเชยผู้เสียหายได้หรือไม่ 

“อยากให้ถ้ามีปัญหาอะไร อยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุย มาเจอกัน เจรจากันให้เข้าใจ เรื่องเล็กๆ ก็ไม่อยากให้เลยผ่าน เพราะอาจมีปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในปัญหาเล็ก และปัญหาใหญ่อาจเป็นปัญหาเล็กก็ได้ ส่วนกระบวนการยุติธรรมที่เป็นปัญหาอย่างกรณีบิลลี่ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีกต่อไป อยากให้บิลลี่เป็นบุคคลสูญหายคนสุดท้าย” มึนอ ภรรยาบิลลี่ กล่าว

ด้านอัจฉรา อัชฌยกชาติ กล่าวว่า ทุกคนต้องเผชิญความกลัว ความอาย ความวิตกกังวลหลายอย่าง ทั้งครอบครัว ชุมชม กฎหมาย ต้องก้าวข้ามในการต่อสู้ไม่ว่าหญิงหรือชาย อีกทั้งยังได้ให้กำลังในทุกคนที่กำลังต่อสู้ การไม่ยอมจำนนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องมองเห็นเป้าหมาย มองเห็นความหวังว่าก้าวเล็กๆ จะรวมเป็นก้าวใหญ่ๆ ได้อย่างไรบ้าง การล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้เป็นสิ่งสำคัญมาก

“การพูด การโวยวาย คือการป้องกันปัญหา สิ่งที่พูดคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ให้กับชุมชน ต่อปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก็ต้องทำมันต่อไป” อัจฉรา กล่าว

20160803014207.jpg

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ลุ้นอัยการสั่งฟ้องคดีเพิ่ม

ในวันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ พร้อมพรทิพย์ หงส์ชัยและตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดเลย เพื่อรับทราบคำสั่งอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ จากกรณีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้แจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกภูซำป่าบอนซึ่งเป็นพื้นทีสัมปทานของบริษัทฯ 

สืบเนื่องจาก เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 เวลาประมาณ 14.00 น. ก่อนการจัดงานรำลึกครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (15 พ.ค. 2557) ที่ชาวบ้านถูกชายฉกรรจ์กว่า 300 คน เข้าปิดล้อมและทำร้ายถึงในหมู่บ้านเพื่อคุ้มกันให้มีการขนแร่ออกไปจากพื้นที่ ชาวบ้านได้ขึ้นไปที่ภูซำป่าบอนเพื่อไปปักธงเขียว และเอาปูนขาวไปแปรอักษร คำว่า ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 16.00 น. ชาวบ้านได้ลงมาจากภูและเจอคนงานเหมืองที่รอถ่ายรูปชาวบ้านเอาไว้ 

อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวได้หมดอายุการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า ตั้งแต่ 30 ก.ค. 2555

ต่อมาเวลา 10.15 น. ทางสำนักงานอัยการได้แจ้งต่อนายสุรพันธ์ และนางพรทิพย์ว่าขอเลื่อนการฟังคำสั่งส่งฟ้องต่อศาลไปเป็นวันที่ 29 มี.ค. 2559 เนื่องจากอัยการยังตรวจสำนวนไม่แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ในวันที่ 10-11 มี.ค.นี้ สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จะเดินทางไปที่ศาลจังหวัดแม่สอดเพื่อนัดสืบพยายาน ในคดีที่ถูกบริษัทเหมืองมองฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

20160803014315.jpg
ภาพ: งานศิลปะที่ทำขึ้นในวันครบรอบ 1 ปี ของเหตุการณ์ค่ำคืนวันที่ 15 ที่ภูซำป่าบอน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ