วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นี้ถือเป็นวันครบรอบ 10 ปี การหายตัวไปของ “สมบัด สมพอน” หรือ อ้ายสมบัด นักพัฒนาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ด้านการบริการสังคม ปี 2548 ที่หายตัวไปจากสำนักงานปาแดกในกรุงเวียงจันทร์
จนถึงวันนี้การหายตัวไปของสมบัด สมพอน ยังคงเป็นปริศนา ไม่รู้ชะตากรรม มีเพียงความทรงจำ ความหวัง และความคิดถึงของครอบครัวกับคนใกล้ชิดที่ยังคงรอคอยให้สมบัดกลับมา
เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ได้มีการแถลงข่าววาระ 10 ปี การบังคับสูญหายของสมบัด สมพอน ซึ่งมีทั้งครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติร่วมแถลงความคืบหน้าการตามหาตัวเขา และเรียกร้องความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ซึ่งภายในงานแถลงข่าว ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ ได้กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเพิ่มความพยายามในการสอบสวนการสูญหายกรณีของสมบัด สมพอน รวมไปถึงคดีอื่น ๆ เพื่อนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการชดเชยเยียวยาเหยื่อและครอบครัวของผู้สูญหาย โดยย้ำว่า การบังคับให้สูญหายถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ
10 ปีที่ผ่านมา กับความคืบหน้าในการตามหา ‘สมบัด สมพอน’
นับจากเวลา 18.00 น. ของวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ที่สมบัดหายตัวไป จนถึงวันนี้ อึ้ง ชุย เม็ง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของสมบัด สมพอน กล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับคดีของสมบัด ที่ผ่านมาได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ทางฝั่งลาวแค่เพียงว่า ยังคงเสาะหาอยู่ ยังไม่มีข้อมูลอะไรชัดเจน
ทำให้ทุก ๆ ปี เธอจะมาจัดงานระลึกถึงสมบัด สมพอน ที่ประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการหายตัวไปของนายสมบัด เพราะมองว่า การอุ้มหายถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ที่ไม่ควรมีใครต้องถูกกระทำเช่นนี้อีก จึงต้องส่งเสียงให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงกรณีการหายตัวไปของสามีตัวเอง
“จนถึงวันนี้ยังคงมีความหวัง อยากให้สมบัดกลับมาสู่ครอบครัว กลับมากินข้าวด้วยกัน ใช้ชีวิตอย่างธรรมดากับครอบครัว ถึงแม้จะผ่านมา 10 ปี ก็ยังคงคาดหวังอยู่ตลอดเวลา” อึ้ง ชุย เม็ง ภรรยาของสมบัด สมพอน
‘บังคับสูญหาย’ ภาพสะท้อนปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในอาเซียน
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย (WGEID) และอดีตกรรมาธิการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในผู้ร่วมเวที กล่าวถึงกรณีของการบังคับสูญหายของสมบัด สมพอน ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องของสิทธิมนุษยชนในอาเซียนว่า 10 ปีที่ผ่านมา กรณีการสูญหายของสมบัด นอกจากการไม่รู้ความจริง ไม่รู้ชะตากรรมของผู้สูญหาย สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผลกระทบทางด้านจิตใจของเหยื่อและครอบครัว ซึ่งนับวันก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานคนหายของสหประชาชาติได้รับเรื่องเกี่ยวกับคนหายในเอเชีย มากกว่า 36,000 เรื่อง ในจำนวนนี้มีคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่หายไปกว่า 3,000 กรณี ทั้งหมดทางคณะทำงานได้ติดตามส่งคำถามไปยังประเทศต้นทาง แต่น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยได้รับทราบการติดตามตรวจสอบ หรือการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพจากประเทศต่าง ๆ
อย่างในประเทศลาว เท่าที่ได้รับทราบมา สำหรับคนที่สูญหายตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 กรณี ประเทศกัมพูชามีอยู่ 3 กรณี และประเทศไทยมีอยู่ 76 กรณี ซึ่งคณะทำงานเองเชื่อว่า จำนวนที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่านั้น และตัวเลขที่ได้รับทั้งหมดก็น่าจะเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
ที่น่าเป็นห่วง คือ พบว่ามีจำนวนน้อยคนมาก ที่หายไปนานหลายปี แล้วจะกลับมาในสภาพของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ว่าคนที่หายไปจะกลับมาในสภาพใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีค่ามากสำหรับครอบครัว เนื่องจากว่า เวลาที่รู้ชะตากรรมจะทำให้จัดการทรัพย์สินและจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้
สิ่งที่สำคัญสำหรับครอบครัวของผู้สูญหาย คือ เรื่องของสิทธิและการเยียวยาที่เขาพึงจะได้รับ เช่น สิทธิที่จะได้รับทราบความจริง และการเยียวยาบรรเทาความทุกข์ ซึ่งจะมีทั้งแบบที่คิดเป็นค่าสินไหมทดแทน กับการเยียวยาแบบที่ไม่ใช่ค่าสินไหม เช่น การเยียวยาด้านความยุติธรรม การเยียวยาฟื้นฟูทางด้านจิตใจ การชดใช้ในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นต้น
สำหรับการช่วยเหลือติดตามชะตากรรมผู้สูญหายที่ผ่านมาคณะทำงานได้ส่งคำร้องขอที่จะเข้าไปเยี่ยมอย่างเป็นทางการ รวมถึงประเทศลาวและประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศลาวเราส่งคำร้องอย่างเป็นทางการไป เมื่อปี 2013 เนื่องจากการเข้าไปเยือนอย่างเป็นทางการจะทำให้คณะทำงานได้พบกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เสียหาย และชุมชน เพื่อที่คณะทำงานจะได้ให้ความช่วยเหลือ เทคนิคต่าง ๆ ทั้งด้านองค์ความรู้ ข้อเสนอแนะ คำแนะนำต่าง ๆ
แต่ก็น่าเสียดายว่า เรายังไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ ทั้งจากรัฐบาลลาวเอง และหลาย ๆ รัฐบาลในอาเซียน ซึ่งประเทศในอาเซียน มีเพียงประเทศเดียวที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติก็คือ ประเทศกัมพูชา ประเทศอื่นยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ทางคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหายจึงเรียกร้องมาโดยตลอด ว่า ประเทศอาเซียนควรจะรีบเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ เพื่อเป็นการยืนยันรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศที่เคยทำสนธิสัญญาไว้ให้มีความถูกต้องสมบูรณ์
การบังคับสูญหาย สู่การคุกคามครอบครัว ข้อสังเกตของคณะทำงานสหประชาชาติ
อังคณา กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่คณะทำงานกังวลมาโดยตลอดก็คือ การที่ครอบครัวและภาคประชาสังคมที่สนับสุนนครอบครัวของคนหายแทบทุกประเทศรู้สึกไม่ปลอดภัย
ทางคณะทำงานได้รับรายงานเกี่ยวกับเรื่องของการคุกคาม การแก้แค้น หรือการคุมคามในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการคุกคามบนโลกออนไลน์กับครอบครัวของผู้สูญหายด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งให้ครอบครัว เหยื่อ และคนที่ทำงานกับพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่สามารถนำเรื่องร้องเรียนมาถึงคณะทำงานของสหประชาชาติได้
จึงหวังว่าทุกประเทศในอาเซียนจะเปิดใจเคารพเสรีภาพแสดงความคิดเห็นของประชาชน เราเชื่อมั่นความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ กับคณะทำงานจะส่งผลสัมพันธ์กับการคุ้มครองพลเมืองประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ซึ่งคณะทำงานพร้อมในการร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวมีการเผยแพร่แถลงการณ์สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล FIDH (International Federation for Human Rights) รายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights) ก่อนวันครบรอบ 10 ปีของการหายตัวไปของสมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมของลาว เราซึ่งเป็นองค์กรและบุคคลภาคประชาสังคมที่ลงนามข้างท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลลาวตัดสินชะตากรรมและที่อยู่ของเขาอีกครั้ง และมอบความยุติธรรม ความจริง และการชดเชยให้กับ ครอบครัวของเขา. เราเสียใจที่ทางการลาวล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการดำเนินการตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนในการสอบสวนการหายตัวไปของสมบัดอย่างละเอียดถี่ถ้วน และให้การชดใช้ที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วแก่สมบัดและครอบครัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่สมบัด ผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาชุมชนและการเสริมสร้างพลังอำนาจของเยาวชน ถูกลักพาตัวไปจากถนนที่พลุกพล่านในเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) หลายแห่งและกลไกตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนได้แสดงความกังวลซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและ เรียกร้องให้รัฐบาลลาวดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมอย่างร้ายแรงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ 3 คนเรียกร้องให้ทางการลาว “เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าของการสอบสวน [การ] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวของเขา” และขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อระบุชะตากรรมของสมบัดและที่อยู่ [1] ในระหว่างการประชุม Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของลาวในปี 2558 และ 2563 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 11 ประเทศได้เสนอข้อเสนอแนะ 15 ข้อที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาวสอบสวนการหายตัวไปของสมบัด [2] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 หลังจากการตรวจสอบรายงานเบื้องต้นของลาวภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรู้สึกเสียใจที่ “ข้อมูลที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ” ที่รัฐบาลให้ไว้เกี่ยวกับการสืบสวนคดีของสมบัด และ เรียกร้องให้รัฐบาล “เพิ่มความพยายามในการสอบสวนอย่างละเอียด น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และโปร่งใส” ต่อการถูกบังคับให้สูญหายของเขา [3] หลังการเยือนลาวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2562 ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในเรื่องความยากจนขั้นรุนแรงและสิทธิมนุษยชน ฟิลิป อัลสตัน เรียกร้องให้รัฐบาล “อนุญาตให้มีการสอบสวนอย่างมีความหมายในที่สุด” ต่อการหายตัวไปของสมบัด [4] กระบวนการพิเศษสี่ประการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ส่งการสื่อสารสามครั้งไปยังรัฐบาลลาวเพื่อเรียกร้องให้มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของสมบัด และเกี่ยวกับการสืบสวนใด ๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายของเขา ซึ่งครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2564 [5] น่าเสียใจที่การตอบสนองของรัฐบาลลาวต่อการแสดงความกังวลอย่างลึกล้ำของประชาคมระหว่างประเทศนั้นมีลักษณะที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่มีการดำเนินการ ความเพิกเฉย การปกปิด และถ้อยแถลงที่ทำให้เข้าใจผิด และการขาดเจตจำนงทางการเมืองโดยรวมที่จะจัดการกับการบังคับสูญหายของสมบัดอย่างมีประสิทธิภาพ ทางการลาวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศในการสอบสวนการหายตัวไปของสมบัด และนำผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมต่อหน้าศาลพลเรือนทั่วไป รวมถึงภายใต้ ICCPR และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการทารุณกรรมอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ การปฏิบัติหรือการลงโทษที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งลาวเป็นรัฐภาคี ในขณะที่ลาวยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งลงนามในปี 2551 ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศมีข้อผูกมัดที่จะต้องไม่ทำลายวัตถุประสงค์และวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญา ผลกระทบของการบังคับสูญหายต่อญาติของผู้สูญหายมักก่อให้เกิดการทรมาน คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับและโดยไม่สมัครใจได้รับทราบว่าการปฏิเสธอย่างเป็นทางการต่อข้อมูลแก่ญาติของผู้สูญหายเกี่ยวกับความจริงของชะตากรรมของพวกเขาและที่อยู่ของพวกเขา ยิ่งทำให้ญาติสูญหายด้วยการ “ทรมานอย่างต่อเนื่อง” นอกจากนี้ ICPPED ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแน่ใจว่าสมาชิกในครอบครัวได้รับแจ้งเกี่ยวกับความคืบหน้าและผลลัพธ์ของมาตรการที่เหมาะสมทั้งหมดที่ทางการมีหน้าที่ในการค้นหา ระบุตำแหน่ง และปล่อยตัวผู้ที่หายตัวไป ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 ทางการลาวได้พบกับ Shui Meng Ng ภรรยาของสมบัดเพียง 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม 2560 เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ข้อมูลอัปเดตใดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ของสามีของเธอตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าเธอจะร้องขอซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำกล่าวต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายของรัฐบาลเกี่ยวกับคดีของสมบัดมีขึ้นระหว่าง UPR ครั้งที่ 3 ของลาวในเดือนกันยายน 2563 เมื่อตัวแทนรัฐบาลกล่าวเพียงว่าการค้นหาสมบัดเป็น “หน้าที่ของรัฐบาลลาว” ตอนนี้ เรายืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับครอบครัวของสมบัดและเหยื่อรายอื่นๆ ของการบังคับสูญหายในลาวมากกว่าที่เคย เราขอย้ำถึงการเรียกร้องให้ทางการลาวระบุชะตากรรมหรือที่อยู่ของเหยื่อทั้งหมดของการบังคับสูญหายในลาว ระบุตัวผู้กระทำผิดในอาชญากรรมร้ายแรงดังกล่าว และให้การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและการชดใช้ค่าเสียหายอย่างเต็มที่แก่เหยื่อ เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งกระบวนการให้สัตยาบัน ICPPED โดยไม่รั้งรอ ที่มา : https://www.fidh.org/en/region/asia/laos/laos-after-10-years-civil-society-worldwide-is-still-asking-where-is |