คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กจะ “ยุบรวม-ยุบเลิก” ด้านกลุ่มการศึกษาทางเลือกจะไปยื่นหนังสือคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็กและศึกษาทางเลือกให้ชุมชนร่วมจัดการ
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ว่าที่ประชุมได้หารือเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ปี 2554-2555 โดยในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในวันที่ 11-12 พ.ค.นี้ จะนำข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่ทางสำนักนโยบายและแผน สพฐ. มอบเป็นการบ้านให้กับ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เพื่อไปจัดทำแผนในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ของตนเอง โดยจะมุ่งเน้นไปที่โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 40 คนลงไปเป็นลำดับแรก ปัจจุบันมีจำนวน 2,545 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนที่มีนักเรียน 0-20 คน จำนวน 581 แห่ง และ 21-40 คน จำนวน 1,964 แห่ง
ทั้งนี้ โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ซึ่งเขตพื้นที่ฯ จะต้องไปจัดทำแผนการบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรม และมีความชัดเจนว่า จะยุบรวม หรือยุบเลิกได้กี่แห่ง และจะให้โรงเรียนใดยังคงมีต่อไป โดย สพฐ.จะให้เวลาในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กตั้งแต่ปี 2554-2555 ซึ่งในปี 2554 จะต้องมีแผน และสพฐ.จะกำกับติดตามดูความคืบหน้าของการบริหารจัดการ พร้อมกันนี้ สพฐ.ถือว่าการบริหารจัดการจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเขตพื้นที่ฯด้วย ซึ่งผอ.เขตพื้นที่ฯ จะไม่ยอมรับคงไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ
ด้านกลุ่มการศึกษาทางเลือกจะไปยื่นหนังสือคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกครั้งในวันที่10 พ.ค. 13.00 น.ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพราะไม่ต้องการให้ยุบแต่ควรหนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาทางเลือก
โดยก่อนหน้านี้ สภาการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ นำโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกพร้อมคณะกรรมการและสมาชิก ได้เคบร่วมกันแถลง ถึงข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
โดยกล่าวถึงภาพรวมของวิกฤติอันมาจากระบบการศึกษา ว่าเริ่มซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยแลงรวดเร็ว เชื่อมกับโลกอันไร้พรมแดน แต่ระบบการศึกษาของไทยมีกฏเกณฑ์มากมาย บุคลากรคิดแต่อยู่ในกรอบ ปรับตัวไม่ทัน ก่อให้เกิดปัญหาตามมามาก โดยเฉพาะระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก และรูปแบบการจัดการแบบเดียวทั้งประเทศจึงขาดความหลากหลาย เด็กผ่านการศึกษาแต่ขาดทักษะชีวิต ขาดคุณธรรม มีมากขึ้น
เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วตลาดงานก็หดตัวลง แนวโน้มผู้สำเร็จการศึกษาอยู่ในภาวะตกงานพร้อมกับแบกภาระหนี้สินจากการกู้เรียนตามนโยบายของรัฐ จึงมีแนวโมพบกับความเครียดและทุกข์ การจะมุ่งหน้ากลับบ้านเกิด ก็อยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะการเรียนในระบบได้ตัดความสัมพันธุ์เด็กออกจากครอบครัวและชุมชนของตนเอง และจากการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ายังไม่สามารถปฏิรูปได้ทั้งด้านโครงสร้าง ไม่ปฏิรูปไปถึงฐานคิดและกระบวนการเรียนรู้ดังที่มุ่งหวังได้ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 ในปัจจุบันอีก
กลุ่มองค์กรที่ดำเนินการด้วยการศึกษาทางเลือกในภาคเหนือ และรวมตัวกันในนาม “สภาการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ” ได้หารือกัน และเห็นว่า หากการปฏิรูปการศึกษา โดยภาครัฐฝ่ายเดียว ไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ทุกคนคาดหวัง จึงรวมตัวกัน และมีข้อเสนอดังนี้
1. ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาร่วมกันปฏิรูปการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษาโดยครอบครัว สถาบันศาสนา ครูภูมิปัญญา และองค์กรชุมชน โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม รัฐต้องลดบทบาทในการจัดด้วยตนเอง แต่กระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปสู่ภาคสังคม รวมทั้งแก้กฏหมายที่เป็นอุปสรรค เอื้อให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างเร่งด่วน
2. ขอให้เปลี่ยนจากการศึกษาแบบเดียว เป็นการศึกษาที่หลากหลาย มีทางเลือก สำหรับทุกคนทุกกลุ่มที่จะกำหนดหลักสูตร การเรียนการสอน มาตรฐานและการวัดผลที่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการ วิถีชิวิตและบริบทของตน โดยได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมเสมอกันทุกประการ
3. ให้มีหลักสูตรประวัติศาสตร์ วัฒนะรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในโรงเรียนและผู้เรียนทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการใช้ภาษาท้องถิ่นได้
4. เอื้ออำนวยให้เด็ก สามารถใช้บัตรนักเรียน นักศึกษาในการติดต่อราชการและการเดินทางได้
5. ให้มีการติดตามการบังคับใช้กฏหมายสำหรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ กรณีเรียนจบการศึกษาแล้ว ไม่ได้รับวุฒิบัตร
6. จัดตั้งกองทุนในรูปแบบองค์กรอิสระสนับสนุนการศึกษาทางเลือก ที่ทุกภาคส่วนในสังคมกำลังดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือก
7. ดำเนินการออกพ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษาทางเลือก
8. กรณีเร่งด่วนรัฐต้องยกเลิกนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก กว่า 2,000 แห่ง โดยการสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางการศึกษาทางเลือก