เชียงใหม่ : ฟ้องนายกฯ เหตุฝุ่นเหนือเกินเยียวยา

เชียงใหม่ : ฟ้องนายกฯ เหตุฝุ่นเหนือเกินเยียวยา

ประชาชนเชียงใหม่ มูลนิธิ นิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือ Enlaw ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และอีกหลายจังหวัด ร่วมกันยื่น ฟ้องนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในขณะ นี้ โดยได้เปิดให้มีการลงชื่อผู้ร่วมฟ้องหรือสนับสนุนตั้งแต่วันศุกร์ที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา

การฟ้องคดีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละออง 2.5 ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่มาผ่านมาและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยที่หน่วยงานรัฐทั้งรัฐบาลและหน่วยงานระดับท้องถิ่นต่างไม่ได้มีการรับมืออย่างกระตือรือร้นและมีประสิทธิภาพ

ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญสภาวะอันเลวร้ายและเสี่ยงภัยต่อโรคร้ายทางสุขภาพทั้งในระยะยาวและในระยะเฉพาะหน้า 

แม้ว่าจะมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือ และรวมถึงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งประกาศใช้มาเมื่อ พ.ศ. 2562 อันแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจและการสิ้นไร้ความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างชัดเจน

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือจึงได้ร่วมกัน ฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง, พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการปฏิบัติการตามกฎหมายและนโยบายที่ได้มีการจัดทำไว้เพื่อลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

การฟ้องร้องครั้งนี้มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการได้แก่

1.ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ

3.ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

การฟ้องครั้งนี้ต่างจากเดิม แตกต่างจากที่เคยมีประชาชนฟ้องศาลปกครองแล้วถูกยกฟ้อง

โดยทนายสุมิทชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น  ตัวแทนทนายผู้ยื่นฟ้องครั้งนี้กล่าวว่า กรณีการฟ้องครั้งนี้มีความต่างจากการฟ้องศาลปกครองก่อนหน้า ที่มีการอ้างอิงถึงการฟ้องถึง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย แต่รอบนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างอิงตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามมาตรา9 เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยตรง เมื่อเกิดวิกฤติภัยพิบัติรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน นายกฯสามารถใช้อำนาจ สั่งทุกหน่วยงานที่มีในประเทศไทยให้ดำเนินการในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจโดยของนายกฯ นอกจากนั้นยังมีมาตรา 59 มาตรการอื่นที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องร่วมกับนายกรัฐมนตรีและในการแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ด้วย ซึ่งมองว่าในสถานการณ์นี้ไม่สามารถใช้วิธีปกติได้เพราะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว หยิบมาตรานี้เป็นฐานในการฟ้องคดีนี้ ซึ่งข้อมูลสนับสนุนมีการรวบรวมสถิติสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์วิกฤติช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ศาลฯ พิจารณา

ด้วยคดีนี้เป็นคดีที่มีความฉุกเฉิน เป็นวิกฤติร้ายแรงจึงอยากขอให้ศาลพิจารณารับฟ้องเป็นการเร่งด่วนเพราะเป็นการดำเนินคดีในกรณีฉุกเฉิน ไม่ใช่เป็นคดีที่จะต้องใช้การดำเนินคดีตามปกติ

ขณะที่วันนี้มีรายงาน ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษจังหวัดเชียงใหม่ มีค่าฝุ่นละออง PM2.5เกินมาตรฐาน ที่กำหนดต่อเนื่องกัน โดยวันนี้เป็นวันที่ 79 แล้ว

อย่างไรก็ตามการเดินทางมายื่นฟ้องและให้กำลังใจการยื่นฟ้องในวันนี้มีผู้คนเดินทางมาจากหลายส่วน ทีม TheNorth องศาเหนือ ได้พูดคุยกับบางท่าน ถึงการเเก้ปัญหาฝุ่น และการเดินทางมาในวันนี้

ป้ายเก่าปัญหาเดิมกับการเคลื่อนไหวใหม่

กระดาษภาพวาดรูปปอดที่คุณหมอหม่อง นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นำมาสวมทับถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในการเคลื่อนไหวและให้ภาครัฐสนใจปัญหาต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งคุณหมอเล่ากระดาษแผ่นนี้ ถูกใช้รณรงค์มาก่อนหน้านี้เมื่อ 12 ปีก่อน วันนี้นำกลับใช้ใหม่เพราะเห็นว่ารัฐบาลยังไม่จริงจังมากพอในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

“ ผมคิดว่าสุขภาพประชาชนต้องก่อนเรื่องอื่น…นี่อีกหนทางหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้รัฐสนใจและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเห็นว่าความพยายามของรัฐยังไม่เพียงพอกับความรุนแรง มีหลายสิ่งที่ชี้ประเด็นว่า รัฐละเลย การป้องป้องสุขภาพประชาชน”

วินพล อภิชัญัฐ ชาวเชียงใหม่ และเห็นการเคลื่อนไหวนี้จากโซเชียลมีเดียเช้าวันนี้ตามนัดหมาย 10 โมงเช้า วันที่ 10 เมษายน จึงเดินทางมาร่วมให้กำลังใจตัวแทนผู้ยื่นฟ้องรัฐบาลและขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนควรให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม

เขาเล่าว่า “ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเห็นปัญหานี้มานานแล้ว อยากให้รัฐบาลสนใจเรื่องนี้มากกว่าเรื่องอื่นเป็นพิเศษเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่พวกเราจะหมายถึงลูกหลานเราในอนาคตด้วย รัฐบาลห่วงแต่เรื่องเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อม …จริงๆแล้วรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอยากให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมาเลยว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถติดตามว่าสามารถทำได้จริงไหมเพราะที่ผ่านมามีแต่คำพูด …อย่าคุยโว …และคิดว่าพรรคการเมืองหรือรัฐบาลควรเชิญภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมด้วยอย่างจริงจัง” 

“มันเป็นวิกฤติร่วมกันของภาคเหนือ” นายอนุสรณ์ ไชยวรรณ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดลำพูน ไม่ใช่แค่จังหวัดเชียงใหม่แต่แอ่งเชียงใหม่ลำพูนคือผลกระทบรวม

คนเชียงใหม่และลำพูนได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เมื่อมีผลกระทบร่วมกันแบบนี้จึงทำให้วันนี้จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การเดินทางมาร่วมยื่นฟ้องรัฐบาลในวันนี้เขาเล่าว่า “ ภาคประชาชนต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐมีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มานานแล้ว รัฐบาลเองก็ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ วันนี้วิกฤตมาแล้ว มากกว่า 60 วัน การเคลื่อนไหวในวันนี้อยากจะบอกกับรัฐบาลว่าจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้างอย่างแล้ว”

ลมหายใจท่องเที่ยวเชียงใหม่ในดงฝุ่น  … ช่วงสงกรานต์ปี๋ใหม่เมืองไฮซีซั่นสำคัญที่เอกชนจะได้รายจากการท่องเที่ยวครั้งสำคัญของการหลั่งไหลมาเที่ยวในเชียงใหม่แต่ปีนี้เงื่อนไขสำคัญเรื่องฝุ่นทำให้อากาศท่องเที่ยววูบลงก็ว่าได้

จารุจรรย์ วัฒนลักษณ์ อุปนายกผู้ประกอบการที่พักบูกติก เชียงใหม่ เล่าว่า “ผลที่ตามมาจากปัญหาฝุ่นควัน วันนี้วันที่ 10 เมษาแล้วอีก 3วันจะเข้าเทศกาลสงกรานต์แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่การยกเลิก แต่ไม่มีการจองที่พักเข้ามาเลย แต่ภาคการท่องเที่ยวเราต้องเข้าใจว่าจังหวัดเชียงใหม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก พอไม่มีนักท่องเที่ยวทุกอย่างเงียบหมดผลกระทบต่อเนื่องไปทุกภาคส่วน และการจองห้องพักจำนวนผู้เข้าพัก หายไปเกิน 50% จากปีก่อนหน้า ถามว่าทุกวันนี้มียอดจองไหมมีโทรมาจอแต่คำถามที่ตามมาว่า อากาศเป็นอย่างไรในห้องพักมีเครื่องฟอกอากาศหรือไม่ เหล่านี้เป็นปัจจัย”

ผ่านมา 1 รัฐบาล หรือ 4 ปี ของวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหา มลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งการดำเนินการต้องมีการทบทวนวาระแห่งชาติใหม่

บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนสภาลมหายใจภาคเหนือ เล่าว่า “สิ่งที่กำหนดไว้ในวาระแห่งชาติที่จะต้องทำให้สำเร็จผ่านมา 4 ปีไม่สำเร็จสักเรื่อง คำถามคือรัฐบาลเคยทบทวนหรือไม่ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องทบทวนแผนทุกๆ 2 ปี และสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือชุดมาตรการรายปี เช่น ให้เก็บใบไม้ออกจากป่า บอกให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชน ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่บอกว่าฝุ่นคืออะไรค่าฝุ่นสูงแค่ไหน มันพอเเล้วหรือ …

สิ่งที่พรรคการเมืองชุดใหม่จะต้องให้ความสำคัญคือ เข้าไปดูชุดมาตรการ แล้วรื้อ KPI ของการจัดการปัญหานี้ใหม่หมดมันถึงจะแก้ปัญหาได้ มันต้องรื้อการแก้ รื้อวิธีคิดใหม่หมด

มาตรการที่เคยออกมาว่าให้ผู้ว่าฯมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ 3 เดือน ฟังแล้วเหมือนจะดูดีแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ข้อเท็จจริงของพื้นที่ภาคเหนือ มีป่ามากกว่าพื้นที่ราบ แม่ฮ่องสอนมีป่า 80 % เชียงใหม่มีป่า 70% ตากมีป่า 70% ลำปางมีป่า 70% น่านมีป่า 68% ฉะนั้นในอีกช่วง9เดือนที่เหลือ ผู้ว่าฯ ซิงเกิ้ลคอมมานทำอะไรไม่ได้

เรื่องพวกนี้พรรคการเมืองจะต้องไปศึกษาใหม่หมด แล้วจะต้องสร้างชุดมาตรการของภาคเหนือขึ้นมา ปัจจุบันชุดมาตรการตามวาระแห่งชาติเขียนไว้กว้าง เพื่อรองรับปัญหาของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาภาคเหนือ เสนอให้พรรคการเมืองไปอ่านชุดมาตรการในวาระแห่งชาติแล้วสร้างมาตรการเฉพาะขึ้นมาของภาคเหนือ เฉพาะของภาคอีสาน เฉพาะของภาคกลาง เฉพาะของกรุงเทพฯ อย่ามาเขียนเหมารวม”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ