ฟังเสียงคนท้องถิ่น : ชีวิตธรรมดาชุมชนริมโขงกับการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อน

ฟังเสียงคนท้องถิ่น : ชีวิตธรรมดาชุมชนริมโขงกับการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อน

11 กันยายน 66 เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง องค์การแม่น้ำนานาชาติ ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS จัดเวทีสาธารณะ “ชีวิตธรรมดาชุมชนริมโขง กับการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขง” พร้อมด้วยนิทรรศการและเรื่องเล่าจากภาพ ข้อค้นพบจากงานศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปี ของทรัพยากรแม่น้ำโขง ณ ห้องสมุด ชั้น 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นิทรรศการและเรื่องเล่าเสียงจากภาพ “ชีวิตชุมชนแม่น้ำโขง”

“จุดประสงค์หลักวันนี้ เราจะบอกเล่าเรื่องราวว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่สนับสนุน นำโดย คุณมนตรี จันทวงศ์กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงกับชาวบ้าน 5 ชุมชน ริมแม่น้ำโขงจะบอกเล่าผลการศึกษาจากชาวบ้านเอง และงานนี้จะมีการเล่า “เสียงจากภาพ” ซึ่งหมายถึงเสียงที่เราจะพูดคุยเกี่ยวกับภาพที่ถ่ายออกไป เพราะโดยทั่วไปเราจะถ่ายภาพเพื่อความสนุกสนานและแบ่งปันในสื่อสังคมออนไลน์ วันนี้เราจะบอกว่าแต่ละภาพมีความหมายและความสำคัญอย่างไร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาริมโขงถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ” รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับและเปิดเวทีสาธารณะ “ชีวิตธรรมดาชุมชนริมโขง กับการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขง” พร้อมบอกที่มานิทรรศการเสียงจากภาพ Photo voice จากศิลปินเจ้าของภาพถ่ายจากชุมชนริมน้ำโขงที่จัดแสดงในงาน

“ภาพนี้เป็นช่วงฤดูปลาน้ำขึ้นค่ะ ชาวบ้านจะรอหว่านแห มันจะเป็นจุดปลาขึ้น ชื่อว่า “ดอนกินปลา” ในภาพคือโซนลาว เป็นจุดหว่านแหของคนแถวนั้นค่ะ ไม่สามารถที่จะหว่านตรงไหนก็ได้ เวลาน้ำไหลแรง ๆ ก็จะมองเห็นปลา พอเห็นปลาก็จะหว่านพร้อมกันทีละ 3 คน คนที่ยืนบนสุดจะดูน้ำ ดูปลา ในภาพคนจะต่อคิวกัน หว่านแล้วก็จะเอาปลาขึ้นมา เพราะว่าข้างล่างมันเรียบค่ะ มีหลายแต่ว่าถ้าเป็นที่แคบก็จะหว่านได้ที่เดียว เลยต้องต่อคิวกันอยู่นี่เขาก็จะอยู่ทั้งวันทั้งคืนค่ะ ช่วงปลาขึ้นนานมาก ๆ จะได้ปลาทั้งกระสอบเลย” นี่เป็นคำบรรยายผลงาน “ภาพ : ฤดูกาลปลาขึ้น” ณ บ้านคันท่าเกวียน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เมื่อ 30 พฤษภาคม 2566 โดย จันจิรา นาป่ง หนึ่งในศิลปินเจ้าของผลงานภาพถ่าย คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านที่วันนี้เธอและคนในชุมชนเดินทางกว่า 140 กิโลเมตร มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวผ่านภาพซึ่งบันทึกไว้ด้วยมือถือเมื่อครั้งน้ำลด

“ผมเลือกภาพนี้ คือภาพนี้พูดง่าย ๆ คือ เป็นตู้เย็นข้างบ้าน เพราะในนั้นจะมีของกินแม้แต้ผักสด ๆ ก็อยู่ที่นี่ เป็นแหล่งเพาะพันธ์ของสัตว์น้ำ เวลาน้ำท่วมบุ่งนี้ก็จะมีสัตว์น้ำมาอาศัย แต่ถ้าวันหนึ่งบุ่งนี้หายไป คนในหมู่บ้านจะไปอาศัยอะไร ผมก็นึกไม่ออก และคิดว่าพันธ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็จะหายไป โดยเราจะหาไม่เจออีกต่อไป ซึ่งที่บ้านดงนามีบุ่งจำนวนมาก ซึ่งผมเลือกบุ่งนี้มาเพื่อจะสื่อสารไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับประเทศ ผมอยากให้รู้ว่าชาวบ้านเล็ก ๆ ในริมน้ำโขงก็มีจิตใจหวงแหนทรัพยากรตรงนี้ ถ้าเราไม่มีจุดนี้เราจะอยู่อย่างไร เพราะเราจะลงน้ำก็ไม่ได้จะขึ้นโคกก็ไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่เขตอุทยาน” พร้อม พิมพ์วงค์ ผู้ใหญ่บ้านดงนา ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี อธิบายถึงความสำคัญของผลงาน “ภาพ : บุ่งกุง” ที่บันทึกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ให้ปลามาวางไข่จนกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนในหมู่บ้าน พร้อมแสดงความกังวลใจหากดำเนินโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

คนธรรมดากับศึกษาข้อมูลและบันทึกความรู้

รายงานการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรของชุมชนและแม่น้ำโขง จากโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก เอกสารประกอบเวทีสาธารณะ “ชีวิตคนธรรมดาริมโขง กับการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขง” ซึ่งจัดเตรียมโดย กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ระบุว่า โครงการศึกษาฯ ครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกับชุมชนใน 5 หมู่บ้านของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ หมู่บ้านสำโรง อ.โพธิ์ไทร,บ้านดงนา อ.ศรีเมืองใหม่ ,บ้านปากลา บ้านคันท่าเกวียนและบ้านตามุย อ.โขงเจียม ร่วมกับเครือข่ายคนฮักน้ำของและกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ในการเก็บข้อมูลทรัพยากรโดยชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

เพื่อประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนที่ได้พึ่งพาแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตจนถึงปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทรัพยากรในแม่น้ำโขง ควบคู่ไปกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก ทั้งที่สร้างมาแล้ว และเขื่อนที่มีแผนจะดำเนินการในพื้นที่ของชุมชน คือ “เขื่อนบ้านกุ่ม” หรือ “เขื่อนสาละวัน” และนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนที่มีการศึกษา

โดยระยะเวลาของโครงการศึกษาฯ ในช่วงแรกระหว่างเดือนมกราคมถึง กันยายน 2566 โดยใช้กระบวนการหลักคือ การประชุมกลุ่มย่อย ประเด็นหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชริมโขง การจับปลา การใช้ประโยชน์จากป่า การท่องเที่ยวชุมชน และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การทำบันทึกการจับปลารายวัน การทำแผนที่นิเวศย่อย การสำรวจระบบนิเวศย่อยแม่น้ำโขง การสำรวจป่าชุมชน การบันทึกภาพและการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเหล่านี้เป็นความร่วมมือในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาสื่อสารและขยายการรับรู้ให้เสียงจากชุมชนถูกได้ยินในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

เสวนาโต๊ะกลม กระจกหกด้านกับสถานการณ์เขื่อนแม่น้ำโขง

นอกจากการเสวนาวิชาการเวทีสาธารณะ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากศิลปินในชุมชน ยังมีเวทีเสวนาโต๊ะกลม “กระจกหกด้านกับสถานการณ์เขื่อนแม่น้ำโขง ปัญหาและผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศแม่น้ำโขง” แลกเปลี่ยนสอบถามข้อมูล และความกังวลใจต่อความเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนบนสายน้ำโขง ระหว่างชาวบ้าน นักวิชาการ และหน่วยงานเพื่อนำไปสู่แนวทางการมีส่วนร่วมรับฟังและตัดสินใจอย่างรอบด้านด้วยข้อมูล โดยมีตัวแทนแลกเปลี่ยน ได้แก่ สอน จำปาดอก บ้านสำโรง ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี, ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ธนะรัชน์  สุภาพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี, ฉวี วงศ์ประสิทธิพร สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.),บุญเลิศ แสงระวี ผู้ช่วยหัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสรินธร (กธอ.ฟ), ไพรินทร์ เสาะสาย องค์การแม่น้ำนานาชาติ, อำนาจ ไตรจักร์ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน, กมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ,นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตวุฒิสมาชิกสภา และดําเนินรายการโดย คุณสุชัย เจริญมุขยนันท อุบลคอนเนก เป็นอีกโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันโดยเฉพาะจากหน่วยงานและชุมชน เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรลุ่มน้ำโขง

“การยกอำนาจให้กับประชาชน ผมคิดว่าปัญหาที่สำคัญในสังคมไทยขณะนี้คือประชาชนไม่มีอำนาจ มันกลายเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องน้ำนี่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะครับ  สิ่งที่ได้ฟังจากชาวบ้านพบว่า ปัญหาการจัดการน้ำเป็นสิ่งที่จะทำอันตรายต่อพี่น้องประชาชน

ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินอยู่ 3 เรื่อง 1 คือเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งต้องนี้มันไม่ใช่แค่วิกฤตินะครับ แต่เป็นเรื่องความมั่นคง ซึ่ง UN ก็ประกาศแล้วว่าภัยพิบัติไม่ใช่วิกฤติด้านสิ่งแวดแล้ว แต่เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะท่วมหรือแล้ง  แล้วเราจะเจอแน่ ๆ ซึ่งตอนนนี้เราเจอท่วมแล้ว และปลายปีนี้เราจะเจอแล้งครับ 2 คือเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งที่ชาวบ้านพูดนั้นคือความมั่นคงด้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นปลา พืชผัก ธัญญาหารต่าง ๆ ความอุดมสมบูรณ์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องพอเพียงนะครับ แต่เป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตธรรมดาของคนธรรมดา แต่ทีนี้ในบ้านเรามีเทวดาเยอะเหลือเกิน เทวาที่เป็นชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง แล้วพยายามที่จะมาทำลายชีวิตธรรมดาของคนธรรมดา

ผมมาอยู่อุบล 40 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2521 น้ำท่วมครั้งแรก อยู่จนถึงตอนนี้อายุ 72 แล้วครับ พบว่าคนอุบลนี่เป็นคนลุ่มน้ำนะครับ ซึ่งจริง ๆ ความเป็นคนลุ่มน้ำ คนที่มีมิติชีวิตทางสังคมอยู่กับลุ่มน้ำของคนอุบลนั้น มันแตกต่างจากคนภาคกลางนะ เอาง่าย ๆ คนภาคกลางปลูกข้าวปีหนึ่ง 2-3 ครั้ง แต่คนอีสานปลูกข้าวได้แค่ครั้งเดียว ถ้าน้ำท่วมมาก็หมดทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือสิ่งที่มันไม่เหมือนกัน ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ซึ่งมันคือความมั่นคงในชีวิต ทั้งของชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งคนอุบลไม่ได้ปลูกข้าวอย่างเดียว นี่มันคือความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอาหาร ด้านชีวิต และจิตวิญญาณของคนอีสาน” นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตวุฒิสมาชิกสภา กล่าว

1 นาที เสียงนี้ พูดแทนแม่น้ำโขง

นอกจากวงเสวนา ณ ห้องสมุด ชั้น 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายในงานยังมีการเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมบริเวณด้านหน้าอาคารเพื่อสร้างการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมกับนักศึกษา เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี และผู้ที่สนใจ ให้ได้ส่งเสียงผ่านรถแห่สตูดิโอ Locals voice ฟังเสียงคนท้องถิ่นที่จะสะท้อนถึงแม่น้ำโขงและผู้ที่เกี่ยวข้องกับหลากหลายกิจกรรมเพื่อให้เสียงคนท้องถิ่นถูกได้ยินมากขึ้น ทั้ง การถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ออนไลน์ ปักหมุด C-site สัมผัสประสบการณ์มุมมองภาพ 360 องศากับ VIPA และการส่งเสียงสนทนาโดยใช้เวลา 1 นาที บอกเล่าสถานการณ์สำคัญ ความผูกพันกับแม่น้ำโขง เพื่อให้คนที่อยู่ไกลออกไปได้รับรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส พร้อมทั้งโหวตเลือกอนาคตแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาที่อาจจะเกิดขึ้น

(ภาพฉากทัศน์ ลิงค์โหวต/ ลิงค์ word crowd  )

Locals Voice” ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น

Thai PBS โดยฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ยังร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้ง สถาบันการศึกษา เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น เครือข่ายสื่อพลเมือง และภาคประชาสังคมในพื้นที่ จัดกิจกรรม เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้และเข้ามามีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคมให้ได้สะท้อนเสียงอย่างมีความหมาย ซึ่งในภาคอีสานยังเดินทางในอีก 3 พิกัด ระหว่างวันที่ 13- 17 กันยายน ดังนี้

13 กันยายน 2566 สวนเอ็นอ้านาเทิง พื้นที่เรียนรู้คนสามวัย บ้านดู่ ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

14-15 กันยายน 2566 ตลาดปรีย์ทม ป่าชุมชนบ้านแสลงพันธ์ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์

16-17 กันยายน 2566    มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

เพื่อขยายและส่งต่อให้ทุกเสียงถูกได้ยิน ด้วยการบันทึกและส่งต่อเรื่องราวจากท้องถิ่นผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ