คุณเล่า เราขยาย : เสียงจากภาพ ชีวิตธรรมดาริมโขง

คุณเล่า เราขยาย : เสียงจากภาพ ชีวิตธรรมดาริมโขง

เพราะในทุกลุ่มน้ำมีวิถีชีวิต มีชุมชน และผู้คน เช่นเดียวกับแม่น้ำโขงในฝั่งไทย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จึงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมตัดสินใจ และศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน

Photo voice เสียงจากภาพ คือเครื่องมือการสื่อสารที่บันทึกและบอกเล่าเรื่องราวในชุมชน ที่ได้ศึกษา สืบค้นและบันทึกรวบรวมข้อมูลในทางวิชาการร่วมกันกับชุมชน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชุมชน ซึ่งการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในทางวิชาการเป็นส่วนสำคัญที่จะยืนยันข้อมูลถึงคุณค่าวิถีชุมชนและทรัพยากรที่จะได้รับผลกระทบหากดำเนินโครงการเขื่อนในลุ่มน้ำโขง

คุณเล่าเราขยาย โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ ชวนปักหมุดลงพื้นที่ฟังและขยายประเด็น ณ บ้านคันท่าเกวียน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อฟังเสียงจากภาพที่บันทึกโดยศิลปินเจ้าของผลงานในชุมชน และสนทนากับ คุณมนตรี จันทะวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และ รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ จากศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อฟังเสียงจากแม่น้ำโขงและผู้คนในชุมชนริมฝั่งโขง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะยืนยันถึงคุณค่าวิถีชุมชนและทรัพยากรที่อาจจะได้รับผลกระทบข้ามพรมแดน หากดำเนินโครงการเขื่อนในลุ่มน้ำโขง กับการเดินทางไปกับ Locals Voice เพื่อฟังเสียงจากท้องถิ่นและขยายการรับรู้ให้มากขึ้น

มหากาพย์การจัดการน้ำในภาคอีสาน ยังเป็นโจทย์ในทุกรัฐบาล ซึ่งเมื่อวันที่ 8-9 กันยายน ที่ผ่านมา จากกรณีที่นายกและคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย คุณเศรษฐาได้กล่าวว่ารัฐบาลนี้ต้องไม่ท่วม ไม่แล้ง เล็งผุดโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล แก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน

ทำให้เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขง ออกมาให้ข้อเสนอแนะว่า จะต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านทั้งนิเวศลุ่มน้ำอีสาน เพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรและรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุม

ซึ่งตอนนี้แม่น้ำโขงและผู้คนต่างกำลังเผชิญความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง โดยการศึกษาเก็บข้อมูลชนิดพันธุปลาที่จับได้ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาของอาสาสมัครชาวบ้านที่เป็นชาวประมงใน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ สำโรง ตามุย ดงนา ปากลา และคันท่าเกวียน ชาวบ้านให้ความเห็นว่าในรอบ 10 ปี การจัดการน้ำของเขื่อนจีนและลาวกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและการจับปลาของชาวบ้าน ทั้ง ในหน้าแล้งระดับน้ำโขงกลับสูงและ ขึ้น ๆ ลง ๆ เกิดสภาวะน้ำโขงใส ส่วนในช่วงฤดูฝนน้ำโขงกลับมีระดับต่ำ เกิดภาวะผิดปกติของการอพยพปลาบางชนิด ส่งผลให้การจับปลาน้อยลง และรายได้น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและผู้คนริมโขง การเก็บข้อมูล หรือบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ อย่างเป็นระบบของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งการจดบันทึก การเก็บภาพถ่าย จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะสื่อสารเรื่องราวการเปลี่ยน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง

รู้จักที่มาโครงการเขื่อนภูงอยและเขื่อนบ้านกุ่ม

หลังชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการจัดเวทีสาธารณะ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกเล่าชีวิตธรรมดาชุมชนริมโขงกับการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ภายในงานมีทั้งการเสวนาวิชาการเวทีสาธารณะ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากศิลปินในชุมชน รวมถึงแลกเปลี่ยนความกังวลต่อโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อปี 2550 ว่าตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงแนวพรมแดนไทย-ลาว ใกล้เคียงกับบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และบ้านกุ่มน้อย เมืองชนะสมบูรณ์ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ซึ่งอาจมีผลกระทบให้น้ำท่วม 4 หมู่บ้าน คือ คันท่าเกวียน ของไทย และใน สปป.ลาว บ้านกุ่มน้อย บ้านคำตื้อ บ้านคันทุ่งไชย รวม 3 หมู่บ้าน และโครงการเขื่อนภูงอย ที่จะตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงห่างจากเมืองปากเซทางท้ายน้ำประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ท้ายน้ำจากพรมแดนไทย-ลาว ที่ปากแม่น้ามูล อ.โขงเจียม ที่อาจส่งผลกระทบข้ามพรมแดนจนถึงเก้าพันโบกได้ ภาพถ่ายจึงเป็นอีกเครื่องมือในการสื่อสารจากชุมชน ซึ่ง มนตรี จันทะวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง อธิบายความเป็นมาของโครงการเขื่อนภูงอย และเขื่อนบ้านกุ่ม ว่า

“เขื่อนพวกนี้เป็นเขื่อนที่มีการวางแผนกันไว้นานแล้ว ซึ่งเป็นเขื่อนที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก สำหรับเขื่อนบ้านกุ่มก็มีการศึกษามาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทั้งทางฝั่งประเทศไทยและประเทศลาว ต่างคนต่างศึกษา และมาปัจจุบันทางลาวก็หยิบศึกษาใหม่ ใช้ชื่อใหม่ว่า “เขื่อนสาละวัน” ซึ่งเป็นเป็นตัวเดียวกันกับ “เขื่อนบ้านกุ่ม” สำหรับ “เขื่อนภูงอย” นั้น เป็นเขื่อนที่จะสร้างอยู่ในประเทศลาวโดยตรง ซึ่งรัฐบาลลาวก็ให้มีการศึกษาเพิ่มเติม แล้วก็เห็นว่ากำลังจะเสร็จแล้วในขณะนี้ ซึ่งจะอยู่ในเขตแดนของประเทศลาวทางด้านท้ายของอำเภอโขงเจียมลงไปประมาณ 50-60 กิโลเมตร เขื่อนสาละวันก็จะตั้งอยู่ในลาว ส่วนเขื่อนบ้านกุ่มจะตั้งอยู่บนเขตแดนไทย-ลาว จะไม่เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา ”

ผลกระทบที่(อาจ)เกิดขึ้นจากเขื่อนในแม่น้ำโขง

จากการศึกษาของกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงพบว่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง สิ่งที่หายไปจากแม่น้ำหลัก ๆ คือปลา และตะกอนที่มากับสายน้ำ เพราะเขื่อนจะเป็นตัวกักตะกอน โดยมีการศึกษาของทาง MRC หรือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่าเขื่อนนั้นเป็นตัวกักตะกอนไว้ ซึ่งตะกอนนับว่าเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับการเกษตรริมโขง รวมทั้งยังเป็นสารอาหารสำคัญของวงจรชีวิตปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ

“จากการศึกษาของผม หลังจากกั้นแม่น้ำไปแล้วสิ่งที่หายไปอย่างมากเลยก็คือ ปลา ซึ่งปลานั้นเขาจะว่ายขึ้นว่ายลง เพื่อที่จะไปแพร่พันธุ์ขยายพันธุ์ แต่วงจรตรงนี้มันโดนตัดจากการมีเขื่อนกั้นแม่น้ำ อีกสิ่งหนึ่งที่หายไปก็คือตะกอน จากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำทำให้สองส่วนนี้หายไปแน่ ๆ และอีกส่วนที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็คือว่า มันจะเปลี่ยนสภาพจากน้ำไหลอย่างที่เราเห็นแม่น้ำโขงไหลอยู่ตอนนี้

กลายเป็นน้ำนิ่ง เขื่อนภูงอยซึ่งอยู่ในลาวถัดลงไป 50-60 กิโลเมตรนั้น จะทำให้เกิดสภาพน้ำนิ่งมาจนถึงที่บ้านคันท่าเกวียนนี้ ในฤดูแล้งน้ำจะนิ่งแทนที่จะไหล เพราะฉะนั้นตัวระบบนิเวศมันจะเปลี่ยนทั้งหมด ส่วนเขื่อนบ้านกุ่ม ที่จะสร้างท้ายแม่น้ำโขงลงไป ก็จะทำให้พื้นที่บริเวณบ้านคันท่าเกวียนท่วมทั้งหมด น้ำจะท่วมไปตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง” มนตรี จันทะวงศ์ กล่าวเสริมจากข้อค้นพบของการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

ด้าน รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ จากศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าถึงความกังวลต่อผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของชาวบ้านริมฝั่งโขง ที่ลงพื้นที่ศึกษา และเก็บข้อมูลกว่า 5 ชุมชนตลอดการทำงานที่ผ่านมา ว่า

“ประเด็นหลัก ๆ เลย เขากังวลเรื่องอาหาร อาหารที่ต้องกินต้องอยู่ทุกวัน อาหารที่ได้จากแม่น้ำโขง เรื่องความมั่นคงของอาหารนั้นสำคัญมาก อันดับต่อมาที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือรายได้ เพราะปลาในแม่น้ำโขงสร้างรายได้ได้ดีมาก ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจะมีจุดรับซื้อปลา และอีกส่วนที่ชาวบ้านกังวลก็คืออนาคตของลูกหลานเขา เพราะมันมีเขื่อนกั้นเป็นระยะ ๆ ถ้าคนอยู่ไกลแม่น้ำโขงก็จะบอกว่านานั่นคือที่ดิน แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงนาก็คือแม่น้ำ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากที่เขาค่อนข้างวิตกกังวล”

หากสายน้ำโขง คือชีพจร ตอนนี้คงอ่อนแรงและเต้นผิดจังหวะ

แม่น้ำโขง ถูกนิยามว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลาย ๆ ประเทศตลอดเส้นทางที่สายน้ำไหลผ่าน เป็นเหมือนลงหายใจของผู้คนตลอดสองฝั่งแม่น้ำ แต่หลายปีที่ผ่านมาระดับน้ำที่ผันผวน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ นับวันยิ่งวิกฤต วิถีชีวิตของคนริมโขงเปลี่ยนไปจนน่าตกใจ ราวกับลมหายใจของแม่น้ำโขงค่อย ๆ แผ่วเบาลง

“หากถามว่าวันนี้ ชีพจรแม่น้ำโขงมันอยู่ในระดับไหน จริง ๆ ชีพจรของแม่น้ำโขงตอนนี้ก็ค่อนข้างอ่อนลง เทียบกับของคน คงเป็นคนที่ชีพจรอ่อนและก็เต้นผิดจังหวะ คำว่าอ่อนก็คือกระแสน้ำที่มันอ่อนลง ตะกอนที่มันไม่ไหลมา เพราะว่าเขื่อนหลายเขื่อนในตอนบนกักตะกอนไว้ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหายไปมากกว่า 5 เท่า นี่คือชีพจรที่อ่อน

ส่วนชีพจรที่เต้นผิดจังหวะ ก็คือระดับน้ำที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งหน้าฝนและก็หน้าแล้ง อันนี้ผิดจังหวะมาตั้งแต่มีเขื่อนและก็เห็นชัดในช่วง 10-15 ปีมานี้ ในฤดูแล้งก็ผิดจังหวะตลอด ในฤดูฝนก็เหมือนกัน อย่างในเดือนสิงหาคม หรือ เดือนกันยายน น้ำโขงควรจะท่วมตลิ่งขึ้นมาเพื่อที่ปลามันจะได้อาศัยบุ่งหรือลำห้วยที่เชื่อมกับแม่น้ำโขง เพื่อไปแพร่พันธุ์ ขยายพันธุ์ของเขา แต่พอมันผิดจังหวะแบบนี้ จังหวะที่ปลาเขาจะได้ผสมพันธุ์วางไข่ มันก็เลยช่วงเวลาไปแล้ว พื้นที่ที่เขาจะใช้สำหรับการขยายพันธุ์มันก็น้อยลง” มนตรี จันทะวงศ์ กล่าว

เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จดบันทึกและบอกเล่า เพื่อส่งเสียงของแม่น้ำโขง

การเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คนธรรมในชุมชมริมโขงต้องลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งการจดบันทึก การฟังเรื่องเล่า การขยายเรื่องเล่า รวมถึงการถ่ายภาพ และก็เล่าผ่านภาพของตัวเอง เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงให้ทุกคนในสังคมได้รับรู้ ซึ่ง รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ กล่าวเสริมว่า

“อาจารย์มองว่าการที่ชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลด้วยตัวเองอย่างเป็นระบบ และมีการเสริมหนุนจากทางนักวิชาการ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหลาย ๆ ภาคส่วน ที่เข้ามามาช่วยชาวบ้าน ให้สามารถเก็บข้อมูลด้วยตัวเองได้ สามารถนำเสนอข้อมูลตัวเองได้ผ่านเทคนิควิธีการต่าง ๆ มันก็สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าตัวเองสามารถทำได้ ทำให้เขามองว่าตัวเองมีศักยภาพ ซึ่งมันฝังอยู่ในตัวชาวบ้าน มันทำให้สิ่งที่ฝังอยู่ในเนื้อในตัวชาวบ้านนั้นได้นำเสนอออกมา

ชาวบ้านจะมีความรู้ที่เรียกว่าความรู้ท้องถิ่น ความรู้พื้นบ้าน เยอะไปหมด และเขาก็มองทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เขาไม่ได้มองเป็นส่วน ๆ เพียงแต่เป็นความรู้ที่รัฐไม่ยอมรับ บางทีมันเป็นความรู้ที่เขามองว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นวิทยาศาสตร์แบบชาวบ้าน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มันทำให้เห็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในมุมมองของคนท้องถิ่น อาจารย์คิดว่ามันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ และจะต้องเอาข้อมูลเหล่านี้ไปวางในโต๊ะเจรจา ไปเสริมความรู้ชุดอื่น ๆ มันจะต้องไปเสริมหนุนกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้ความรู้ของชาวบ้านมีพลัง”

คุณค่า ภูมิปัญญา ชุดความรู้จากชุมชน คนกำหนดนโยบายต้องรับฟัง

“ที่ผ่านมาการตัดสินใจเรื่องเขื่อน หรือโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โขง เลย ชี มูล หรือแม้แต่เขื่อนทุกแห่งในลำน้ำโขงนั้น การจัดการพวกนี้มันมีช่องว่างของชุมชนที่อยู่ข้างล่าง กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ข้างบน มักจะคุยกันกับรัฐบาลเป็นหลัก แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะได้จัดพื้นที่เพื่อคุยกับภาคประชาสังคมหรือประชาชนซึ่งการที่ให้ภาครัฐมาคุยกับชาวบ้านมันก็ต้องผ่านกลไกมากมาย ผ่านการสั่งการลงมา ลักษณะของการสั่งจากข้างบนลงมาข้างล่าง อันนี้มันเป็นช่องว่าง ที่ทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาค ประชาสังคม

ดังนั้น อาจารย์คิดว่าเราจะทำยังไงให้ช่องว่างตรงนี้มันแคบลงหรือทำให้มันหายไป  อย่างการจัดการเขื่อนนั้น อยากให้รัฐบาลมองว่าเจ้าของแม่น้ำไม่ใช่รัฐแต่ฝ่ายเดียว เจ้าของแม่น้ำก็คือภาคประชาชนที่เขาอยู่ เขาเกิด เขาเติบโตที่นี่ เขามีสิทธิ์ที่จะปกป้องแม่น้ำ แม้แต่องค์กรสหประชาชาติ ก็ให้สิทธิ์คนพื้นเมืองในการปกป้องทรัพยากร หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็มีเขียนไว้นะ แต่ทำไมเราไม่ทำให้มันมีผลในทางปฏิบัติ คือมันไม่ใช่เรื่องใหม่นะ เราพูดกันมาตั้งนานตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และถึงแม้จะถูกเขียนใหม่อีกในปี 2550 ก็ยังมีมาตราว่าด้วยการมีส่วนร่วมและก็สิทธิของชุมชนที่จะปกป้องทรัพยากรของตัวเอง

ซึ่งอาจารย์คิดว่าช่องทางของกฎหมายก็น่าจะเอามาช่วยได้ นอกจากช่องทางทางการเมือง ที่ต้องฟังเสียงประชาชนให้มากที่สุด มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็น และก็ปรับศูนย์กลางของการจัดการหรือการตัดสินใจเกี่ยวกับแม่น้ำโขง จากข้างบนลงมาข้างล่างให้มากขึ้น และก็ใช้ข้อมูลให้รอบด้าน เพียงพอ และลึกซึ้งให้มากขึ้น จากภาคส่วนหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะประชาชน ความรู้ของประชาชน น่าจะเป็นทางออก” รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ กล่าว

สิ่งที่ต้องคำนึงและทบทวนเมื่อพิจารณาโครงการใหญ่ ๆ

“ถ้าเปรียบเทียบกับโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ อย่างโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล ยิ่งเป็นรัฐบาลซึ่งเข้ามาใหม่ สิ่งที่ท่านนายกต้องพิจารณาอย่างมากก็คือว่า ให้กลับไปดูว่าโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล พูดกันมา 10-20 ปี มันมีอะไรที่ทำให้มันยังเดินหน้าไม่ได้ มันมีปัญหาอะไร อยากให้รัฐบาลย้อนกลับไปดูจริง ๆ ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นมันเป็นปัญหาเรื่องอะไร

แล้วก็การไปดูไม่ใช่ฟังแต่หน่วยงานราชการ แต่ควรลงไปดูในพื้นที่ในภาคส่วนของพี่น้องชาวบ้านว่า ปัญหาทางระบบของมันคืออะไร และการเดินหน้าต่อมันจะไปได้จริง ๆ หรือเปล่า หรือมันจะมีทางเลือกคนอื่น ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องพวกนี้ได้” มนตรี จันทะวงศ์ กล่าว

แม่น้ำโขง คืออีกหนึ่งพื้นที่ ที่ต้องรองรับโครงการใหญ่ ๆ มากมาย แม้จะมีการศึกษาผลกระทบอย่างจริงจังของภาคประชนและภาคประชาสังคม แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับไม่มีเสียงที่ดังมากพอ ซึ่งเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องปรับมุมมองและกระบวนการคิดอย่างมีส่วนร่วมใหม่ ให้จริงจังมากขึ้น โดย มนตรี จันทะวงศ์ ย้ำถึงการทำงานของภาครัฐกับภาคประชาชนในการพิจารณาโครงการต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม อย่างเขื่อนกันแม่น้ำโขง ว่า

“เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ถึงแม้ว่าจะมีการผลักดันมาจากทางประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเขามีเป้าหมายอยากจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย แต่ว่าไทยเราเองก็มีสิทธิ์ที่จะเลือก มีสิทธิ์ที่จะบอกได้ว่าตอนนี้เราซื้อไฟจากแม่น้ำโขงพอแล้ว เพราะแม่น้ำโขงมันไม่สามารถรองรับเขื่อนมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ซึ่งเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลไทยต้องชัดเจนว่า เขื่อนในแม่น้ำโขงต้องมีการทบทวนผลกระทบของมันที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างจริงจัง

ซึ่งการศึกษาผลกระทบที่ทำกันมาปีต่อปีอาจจะยังไม่พอ เพราะว่าตั้งโจทย์ผิด และก็ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ตั้งแต่กระบวนการตั้งโจทย์ กระบวนการศึกษา และอย่าให้ระเบียบราชการเข้ามาจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิที่จะเข้ามาร่วมศึกษาต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มากขึ้นจากพี่น้องชาวบ้าน โดยหน่วยงานของรัฐบาลเองก็ต้องลงมาทำงานร่วมกัน มันจะทำให้รัฐบาลไทยมีข้อมูลที่หนักแน่น”

การสร้างเขื่อน ที่จะกระทบกับวิถีชีวิต ชุมชนคนริมโขง รวมไปถึงทรัพยากร คือโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาอย่าระเอียดรอบคอบ ซึ่งโจทย์นี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มีฐานข้อมูลจากชุมชนที่จะเป็นตัวช่วยในการผลักดัน และต้นทุนที่ชุมชนมีให้ก็คือชุดข้อมูล หลังจากนี้คำว่าค้านอย่างเดียวคงไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะเราทุกคนจะคุยกันได้บนฐานข้อมูล และรับฟังกันมากขึ้น รัฐจะต้องดูชุดข้อมูลชุมชนไปพร้อม ๆ กับการประกอบการพิจารณาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา ซึ่งอาจจจะทำให้การเดินหน้าของโครงการขนาดใหญ่หลังจากนี้ลดผลกระทบได้ และนี้คือทั้งหมดของ คุณเล่าเราขยาย : เสียงจากภาพ ชีวิตธรรมดาริมโขง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ