ส่องมิติ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ผ่านหนังสารคดี “ชายแดนไม่เงียบ”

ส่องมิติ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ผ่านหนังสารคดี “ชายแดนไม่เงียบ”

เมื่อสายลมข้ามพรมแดนไม่มีวีซ่า เจี๊ยบ น้ำหวาน และชาวบ้าน ต.ขุนน่าน และ ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน  ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย-ลาว พิกัดเมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว เริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำกินอย่างช้า ๆ พวกเธอจึงหวังว่าเรื่องราวของชีวิตพวกเธอจะเป็นจุดเริ่มต้นส่งเสียงสู่สาธารณะ ผ่านหนังสารคดี “Voice of Borderland ชายแดนไม่เงียบ” (A Documentary By Theerayut Weerakham)

เรื่องราวจากชายแดนได้รับความสนใจจากคนกรุงอย่างน่าพอใจ วง Movie & Talk ซึ่งจัดที่ Doc club กลางกรุงเทพมหานคร โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมามีการส่งเสียงต่อยอดจากคนในแววดวงที่เฝ้ามองเรื่องสุขภาพและความเป็นธรรมของคนในชุมชนกับการลงทุนข้ามพรมแดนที่ควรคำนึงถึงมาแลกเปลี่ยนขยายความ

คุณสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

คุณสมพร เพ็งค่ำ ทีมวิจัยโครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา”

คุณเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

คุณธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร คณะทำงานติดตามการรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน

ดำเนินวง โดย ผศ. ดร.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาสกร : หนังเรื่องนี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ?

สมพร : มองในฐานะร่วมผลิตสารคดีเรื่องนี้บอกว่า หนังสารคดี “ชายแดนไม่เงียบ” ทำหน้าที่สื่อสารอยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ ประเด็นแรกสื่อสารให้รู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนที่น่าน เพราะว่าที่ฝั่งลาว มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 1,800 เมกะวัตต์ จะมีมลพิษข้ามพรมแดนมาที่ประเทศไทยหรือไม่ ที่สำคัญชุมชนไม่มีระบบเฝ้าระวังอะไรเลย พอแหล่งกำเนิดมลพิษอยู่ฝั่งประเทศ สปป. ลาว การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การติดตามเฝ้าระวังต่าง ๆ อยู่ภายใต้กฏหมาย สปป.ลาว ทั้งหมด   

มลพิษไม่ต้องใช้วีซ่ามันข้ามมาได้ แต่ว่าฝั่งไทยเรายังไม่ได้มีข้อมูลอะไรเลยซึ่งคิดว่าคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้น่าจะตระหนักแล้วว่า แม้ว่าแหล่งกำเนิดอยู่อีกประเทศ แต่ว่ามันข้ามมาบ้านเราได้ และคนที่รับมลพิษอาจจะไม่ใช่แค่คนชายแดน ซึ่งเราก็เกี่ยวด้วย

ประเด็นที่ 2 เวลาพูดถึงการติดตามหรือการพิสูจน์มลพิษ ไม่ได้แค่เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น คือเรื่องของวิทยาศาสตร์ควรจะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน เราสามารถที่จะตรวจเช็คมันได้

แทนที่ชาวบ้านจะให้อำนาจคนอื่นในการที่จะตัดสินใจแทนเขา เปลี่ยนมาให้ความรู้เขา บอกเขาว่าโรงไฟฟ้ามีโอกาสทำให้เกิดมลพิษตัวไหนบ้าง และตัวมลพิษจะส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร แล้วจะมีวิธีหรือเครื่องมืออะไรในการตรวจวัดและการบันทึกข้อมูล

สิ่งนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักเลยที่น่าจะเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องของการเฝ้าระวังและการตัดสินใจเรื่องความเสี่ยงนี้

ธีระชัย : ในเรื่องพยายามบอกเล่า เรื่องราวความทุกข์ ความกังวล ของคนชายแดน แต่สิ่งที่ยังไม่ได้บอกในเรื่องนี้ คือเรื่องราวความทุกข์ของพี่น้องฝั่งลาว แม้แต่เราเอง นักการทูตหรือคนที่ทำงานให้ สปป.ลาว ก็ลงพื้นที่หรือตรวจสอบอะไรพวกนี้ยากมาก เช่น คนที่อพยพโยกย้ายเขาเป็นอย่างไร เขามีชีวิตอย่างไร และถ้าเป็นสองเสียงที่เอามาประสานกันระหว่างชาวบ้านฝั่งไทยและฝั่งลาวจะได้เห็นว่า ภาพของการข้ามพรมแดนมันไปไกลจริง ๆ ซึ่งไม่รู้จะมีโอกาสทำได้ไหม

แต่อีกประเด็นที่ประทับใจ คือการใช้เครื่องมือของชุมชนจากการสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับข้อกังวลที่เขาได้รับมันสามารถพิสูจน์ได้และเขาสามารถทำเองได้

ทำไมเรื่องโควิด-19 เราถึงตรวจวัดกันเองได้ แต่ทำไมเรื่องคุณภาพทางสิ่งแวดล้อมเราไม่มีเครื่องมือที่ตรวจวัดกันเองได้และยืนยันได้ด้วยผู้เชี่ยวชาญ

สุมิตรชัย : ผมเห็นความกังวลของชาวบ้านที่มันซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตกับการที่เขาต้องไปตรวจวัดสิ่งที่อาจเป็นพิษต่อเขาในอนาคต อาจจะหมายถึงลูกหลานของเขาด้วย มันเป็นความกังวลลึก ๆ ที่มันเงียบอยู่ข้างใน แต่เรารู้สึกได้ยินเสียงมาจากสายตาของเขาที่บอกเล่าออกมา  

อยากเติมสิ่งที่เราไม่เห็นในหนังหลายอย่าง เช่น เขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ในโซนนั้นจะมีม้งกับลัวะที่นั้นในบริบทมันเป็นพื้นที่สงครามมาก่อน ยุคสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ มีอนุสรณ์สถานต่าง ๆ และรัฐตั้งให้เป็นหมู่บ้านความมั่นคง มีโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เพราะฉะนั้นเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนคนอื่นทั่วไป สิทธิ์ที่เขามีไม่ได้เต็มร้อยเท่ามาตรฐานคนทั่วไป

เขาอยู่ในพื้นที่เขตประกาศหรือเขตป่าสงวน พื้นที่ป่าต้นน้ำต่าง ๆ เขาไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน เขาอยู่ภายใต้นโยบายบางอย่างที่รัฐให้เท่าที่ให้ได้ และการพัฒนาอื่น ๆ เราจะไม่เห็นว่าเขามีเท่าไหร่ ไฟฟ้าดับเป็นประจำ อยากสะท้อนว่าเขาก็เป็นกลุ่มเปราะบางกลุ่มนึงของสังคมไทยด้วย

ภาสกร : สถานการณ์การลงทุนข้ามแดนในขณะนี้

ธีระชัย :   คณะทำงานติดตามการรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน ของเราเป็นทั้งองค์กรในประเทศไทยและองค์กรระดับสากลที่มีขอบข่ายการทำงานในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly), เสมสิกขาลัย – เมียนมา (Spirit in Education Movement: SEM), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resources Center Foundation: CRCF), องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers), และ EarthRights International (ERI)

ประเด็นที่เราติดตามกันมา 5-6 ปี มีเคสเกิดขึ้นมากกว่าเดิมประมาณหมื่นล้านแสนล้านดอลล่าสหรัฐ แต่จะลดลงด้วยบางกรณี เช่น ทางฝั่งพม่า ตอนนี้เราเข้าไปตรวจสอบและเข้าไปทำงานฝั่งโน้นไม่ได้ เพราะมีเรื่องสงคราม มีเรื่องรัฐประหาร ซึ่งจะยากในแง่ของการตรวจสอบ บางโครงการก็คือชะลอไป หรือบางโครงการอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธก็จะหยุดไปโดยปริยาย

เหตุผลที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพราะการเติบโตของภาคประชาสังคมของไทยเราเข้มแข็ง มีการประท้วงต่อต้าน การตรวจสอบการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่เรารู้กันมีลักษณะที่อำนาจนิยมสูงหรืออยู่ในสภาวะสงคราม ฝ่ายค้านหรือภาคประชาชนไม่สามารถออกมาประท้วง

การเติบโตทางประชาธิปไตยที่มีกลไกภาคประชาชนไม่เข้มแข็งมากพอก็ทำให้เป็นโอกาสที่โครงการพวกนี้เกิดขึ้นง่ายมาก ๆ จะเห็นว่าที่เราตามอยู่ในลาวมี 11 โครงการ แค่เขื่อนแม่น้ำโขงอย่างเดียวอยู่ในฝั่งลาว 8 โครงการแล้ว

คณะทำงานเราฯ ใช้วิธีการตรวจสอบผ่านองค์กรต่าง ๆ  อย่างเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการตรวจการลงทุนข้ามแดน อาทิ โครงการเขื่อนฮัตจีในพม่า เรื่อยมาจนถึงเขื่อนไซยะบุรี โครงการทวายในพม่า โครงการน้ำตาลในกัมพูชา จนเราเห็นว่าในแง่การตรวจสอบสามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสิทธิฯ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยมีแนวปฏิบัติที่อยากจะตรวจสอบหรือไม่อย่างไร เพราะมันมีข้อท้าทายสำคัญอย่างมากในแง่ของการเข้าไปการตรวจสอบโครงการที่อยู่ต่างประเทศแล้วส่งผลระทบกลับมายังประเทศไทย หรืออาจจะไม่ส่งผลกระทบกลับมายังประเทศไทย แต่นักลงทุนฝั่งไทยเราเองกลับไปลงทุนก็สร้างผลกระทบให้กับเขา

จากที่พูดกับเพื่อน ๆ ภาคประชาชนในภูมิภาคนี้ ข้อดีของการลงทุนที่คนไทยมาลงทุนคือ เขาสามารถที่จะเรียกร้องกลับเข้ามายังฝั่งไทยได้ คือประเทศเขาไม่มีความหวังว่าจะฟ้องศาล หรือใช้กระบวนการยุติธรรม หรือการเรียกร้องอย่างสุจริตมันจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย เพราะบางคนก็ถูกอุ้มหาย ถูกฆ่า และการเข้ามาการทำงานร่วมกับฝั่งไทย NGO ภาคประชาสังคม รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยเขารู้สึกว่ามันมีความหวังมากกว่า

ในแง่การเติบโตของการลงทุนข้ามพรมแดนคงจะมีเรื่อย ๆ ต่อไป ถ้ากลไกในการกำกับดูแลของฝั่งเราและเรื่องของการกำกับดูแลเพื่อนบ้านของเขายังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

เฉลิมศรี :  มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเคยฟ้องคดีที่เรื่องเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว กับอีกกรณีเรื่องโรงงานน้ำตาลที่ไปลงทุนที่กัมพูชา หรือพูดถึงเรื่องเขื่อนที่เพิ่งมีการเซ็นต์สัญญากันไปคือเขื่อนสานะคาม เพราะภาคประชาสังคม ชาวบ้านจ.เลย คัดค้านเขาก็เลยเปลี่ยนชื่อเขื่อนใหม่แล้วก็เขยิบให้ห่างจากชายแดนไทยไป-ลาว จ.เลย ราว 2 กิโลเมตร

ส่วนในเรื่องของ มลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าหงสา สสป.ลาว ยังอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูล ถือว่าที่นี่เริ่มต้นได้รวดเร็ว และไทยเราอาจจะได้รับบทเรียนจากของเคสแม่เมาะ ลำปาง การใช้ช่องทางกฎหมายค่อยข้างนานกว่าจะได้เงินค่าชดเชย

สุมิตรชัย :  ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาในระดับสากลเห็นปัญหาเรื่องผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิมนุษยชนมันเกิดขึ้นจากการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนข้ามพรมแดน หมายความว่า ไม่รู้ว่าคนที่มาลงทุนอาจจะมีหลายสัญชาติมาร่วมหุ้นกันลงทุน พูดง่าย ๆ ว่ามันไม่มีพรมแดนสัญชาติเงินมันไหลไปทั่วโลกได้โดยที่ไม่มีมาตรการในการปิดกั้น

เราอยู่ในยุคเสรีนิยม ทุนนิยมเสรีมันก็เปิดพรมแดนให้ทุนต่าง ๆ เข้าไปลงทุนได้ทั่วโลก

พอหลังจาก 2-3 ทศวรรษ มันเห็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เพราะมาตรฐานสิทธิมนุษยชนหรือมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในประเทศทั่วโลกมันไม่เท่ากัน คือ ค่าแรงถูก กฎหมายกฎเกณฑ์ มาตราคุ้มครองไม่มีหรือน้อย คนก็จะไหลไปประเทศเหล่านี้ เพราะมันง่ายที่จะเข้าไปลงทุนและไปก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ

ฉะนั้นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอีกประเด็นที่ UN หยิบยกขึ้นมาและให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาเรื่องนี้จนกระทั่งออกมาเป็น UN Guiding Principles on Business and Human Rights คือเป็นหลักการเสนอแนะของ UN ภายใต้คณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ออกแนวปฏิบัติตัวนี้มาเพื่อจะโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกเอาหลักการนี้ไปใช้ออกแบบกระบวนการต่าง ๆ ที่จะเฝ้าสังเกตธุรกิจในทั่วโลกไม่ให้มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน

ตัวแนวปฏิบัติมีเสาหลักอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สอง การเคารพสิทธิมนุษยชน สาม การเยียวยา

ข้อ 1 คือการมุ่งเป้าไปที่รัฐว่าคุณต้องออกมาตรการของการคุ้มครอง คุณต้องติดตามหรือดูแลธุรกิจในประเทศคุณให้มีมาตรการต่าง ๆ ในการที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ

ข้อ 2 มุ่งเป้าไปที่ตัวธุรกิจ นั่นหมายความว่าคุณต้องมีนโยบายมีประกาศหรือว่ามีวาระขององค์กรธุรกิจของคุณที่จะทำต้องเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้มาตรการก็ไม่ได้มุ่งหมายไปในเรื่องการบังคับ แต่ทำให้เห็นว่าถ้าบริษัทที่มีแบรนด์ที่เคารพสิทธิมนุษชนจะได้รับการยอมรับ คือเขาพยายามจะใช้วิธีการโน้มน้าวว่าทั่วโลกประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรป หรือประเทศที่เคารพเรื่องนี้ เขาจะสั่งซื้อสินค้าคุณ

ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเราไม่ซื้อของคุณนะ อันนี้จะมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็พยายามจะทำให้ธุรกิจยอมรับและเอาเรื่องนี้ไปใช้กันในการออกแบบธุรกิจ

ข้อ 3 คือกลไกการเยียวยา อันนี้มุ่งไปทั้งรัฐและเอกชนร่วมกัน สร้างกลไกกระบวนการร้องเรียน ร้องทุกข์ต่าง ๆ คือต้องมีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีช่องทางที่จะร้องเข้ามาให้กลไกของรัฐหรือกลไกของทุนสามารถที่จะช่วยเหลือเยียวยา หรือกระทั่งมีการตรวจสอบว่าละเมิดจริงก็ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือ อันนี้คือเสาหลัก 3 เรื่อง

จุดอ่อน คือยังไม่ได้เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ พูดง่าย ๆ คือไม่ได้เป็นกฏหมายระหว่างประเทศ คือไม่มีสภาพบังคับในทางกฏหมาย แต่ในอนาคตผมเชื่อว่า มีแนวโน้มที่อาจจะออกเป็นอนุสัญญาหรือเป็นกติการะหว่างประเทศ เพื่อจะบังคับให้ประเทศทั่วโลกยอมรับกติกานี้

ส่วนประเทศไทยได้รับหลักการ UN Guiding Principles on Business and Human Rights มาแล้วก็มีมติครม. เมื่อ 30 ม.ค. 60 มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมไปร่างแผนชาติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และเผยแพร่และเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการลงทุนในประเทศไทยสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาสู่มาตรฐานสิทธิมนุษชนมากขึ้น

โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ยอมรับเรื่องนี้ และเอามากำหนดเป็นหลักการบางอย่างในการกำกับดูแลทุนที่มาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ออกแนวปฏิบัตินี้ขึ้นมา หรือยอมรับเรื่องนี้ให้อยู่ในแผนธุรกิจของตัวเอง เขาต้องทำเพื่อที่เขาจะได้มีสถานะการติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดคุณภาพของธุรกิจ

มองว่านี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคประชาสังคมจะช่วยกัน เราคงไปมอนิเตอร์ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่เรามอนิเตอร์บริษัทของไทยได้ในการที่จะให้เขาเข้าใจเรื่องนี้

อย่างกรณีโรงไฟฟ้าหงสา บริษัทไทย 80% แหล่งทุนของไทยหมด และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สมมติมีการสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้บริษัทเหล่านี้ชี้แจงข้อมูล เพราะเราเข้าไม่ถึงบริษัท แต่ กลต. ให้เขาเอาข้อมูลออกมาได้

เหมือนกรณี PM 2.5 ที่เชียงใหม่ เมื่อต้นปีคนเชียงใหม่ไปฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ หนึ่งในประเด็นคือเราชี้ไปที่ กลต. ต้องการให้กลต.เปิดเผยข้อมูลที่ไปลงทุนปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านของตลาดที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ศาลบอกว่า กลต.ไม่เกี่ยว กลต.ไม่ได้อยู่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม กลต.ไม่ได้ดูแลเรื่องทรัพยากร อาจจะเพราะยังต้องทำความเข้าใจประเด็นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตนจึงได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด หวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะเข้าใจสั่งให้ กลต. เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อจะชี้แจงคดีต่าง ๆ ได้

อันนี้อาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราอาจจะช่วยติดตามธุรกิจให้สามารถยอมรับ และเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

ภาสกร : บทบาทเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม หรือ NGO ระหว่างประเทศ ต่อประเด็นเรื่องธุรกิจและสิทธิมุนษยชน

ธีระชัย : หลายโครงการที่มีนักลงทุนไทยในต่างประเทศ เรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันกับภาคประชาชนหรือองค์กรระหว่างประเทศว่าตอนเขาทำธุรกิจอยู่ที่นั้น มันมีลักษณะการเข้าไปลงทุนแบบไหนตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการ ช่วงดำเนินโครงการ และช่วงหลังจากดำเนินโครงการไปแล้ว หรือแม้กระทั่งการถอนการลงทุนไป

มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งเรามีกฏหมายกำกับไหม เรามีการติดตามจากภาครัฐหรือกลไกการตรวจสอบอะไรบ้าง

ซึ่งที่ผ่านมาอย่างเรื่องโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นโครงการตั้งต้นที่นำไปสู่การรับหลักการเรื่องธุรกิจกับสิทธิและมนุษชน เพราะว่าในข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังจากตรวจสอบเสร็จก็พูดถึงว่าให้ไทยต้องรับหลักการนี้ เพื่อที่จะมีแนวทางไปตรวจสอบบริษัทลูกหรือบริษัทที่อยู่ในเครือของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

ก่อนที่จะนำไปสู่การตรวจสอบกับ กสม.  เรามีการเก็บข้อมูลจากฝั่งพม่า ทำวิจัยร่วมกันเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการและนำข้อมูลเหล่านี้ไปฟ้องกับกสม. ซึ่งหน่วยงานที่ฟ้องเป็นองค์กรทางฝั่งไทย แต่ว่าองค์กรฝั่งพม่ามาร่วมให้ข้อมูลด้วย หรือมีโครงการที่อยู่ในส่วนของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นเรื่องโครงการถนนที่ตัดจากประเทศไทย เข้าไปตัวโครงการทวาย รัฐบาลไทยให้เงินลงทุน 4.5 พันล้าน ไปทำถนนนี้แต่ยังไม่เสร็จเพราะเขาสู้รบกันอยู่ ซึ่งเราก็พาชาวบ้านที่เป็นคนกะเหรี่ยงฝั่งโน้นเข้ามาพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐไทย มีการเก็บข้อมูลและรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไร และเขาต้องการอะไร เราก็พาชาวบ้านมาคุยกับกรมคุ้มครองสิทธิ อย่างน้อยเขามั่นใจได้ว่าหน่วยงานฝั่งไทยก็เปิดช่องให้เขาได้พูดคุยและพูดถึงปัญหาตัวเองได้ ซึ่งนี้เป็นการทำงานรวมกันทั้งงานวิจัย ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้กลไกต่าง ๆ ในฝั่งไทย หรือบางทีก็ใช้ทางฝั่งพม่าด้วย

อีกอันที่จะช่วยให้เห็นความซับซ้อนของการลงทุนที่ไม่ได้เป็นการลงทุนโดยตรงอย่างเวลาบริษัทนี้เข้าไปลงทุนต่างประเทศเขาจะไม่ลงทุนด้วยตัวเองเขาจะตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมายและภาษี

เราก็จะใช้วิธีการสืบสวนไปดูว่า เงินพวกนี้มันไหลไปไหนบ้างและใครให้การสนับสนุน หลาย ๆ โครงการ เราก็ใช้วิธีการนี้ โดยการทำงานกับองค์กรระดับนานาชาติที่เขาติดตามว่ามันมีธนาคารหรือว่าสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ซึ่งเมื่อเราพบว่ามีสถาบันการเงินหรือบริษัทใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มในประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เราก็จะใช้กลไกพวกนี้ในการไปร้องทุกข์กับพวกเขาอย่างเรื่องเขื่อนไซยะบุรี  

สมพร :  เวลาที่ทำงานเรื่องของข้ามแดน ถ้าเราเปรียบเทียบนักลงทุนไทยไปลงทุนในพม่าในลาวและกัมพูชา 3 ประเทศนี้มันทำงานยากง่ายต่างกันเลย อย่างเรายกเคสทวาย หรือกรณีโรงงานน้ำตาลที่พม่า หรือทำงานกับชาวบ้านที่กัมพูชา ทำงานวิจัยร่วมกันต่าง ๆ ในการเปิดประชุมสัมมนาวิจัย หรือชาวบ้านฝั่งโน้นมาประชุมกับฝั่งเราหรือเราข้ามไปประชุมกับฝั่งนั้นได้ แต่ สปป.ลาว นี้ยากมาก แม้มีการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาแต่นักวิจัยฝั่ง สปป.ลาว ก็ยังออกมาพูดให้ข้อมูลกับสาธารณะโดยตรงได้ยาก

ยุคนึงกรรมสิทธิเราข้ามไปพม่าได้ ไปกัมพูชาได้ ชาวบ้านที่กัมพูชามาประชุมที่กรรมการสิทธิ์แห่งประเทศไทยว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไร แต่ตอนนี้นักกฎหมายกรรมการสิทธิบอกว่า ข้ามไปตรวจสอบไม่ได้ และกรณีบริษัทจดทะเบียนใน สปป.ลาว การที่จะไปขอเอกสารต่าง ๆ เขาบอกต้องผ่านรัฐบาล สปป.ลาว อันนี้จะเป็นความยากลำบากในการที่จะตรวจสอบ

ในขณะที่เรามีกรรมการสิทธิอาเซียน เราก็หวังว่า เราจะชงลูกจากประเทศไทย ในฐานะที่เรารับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น ปรากฏว่า สปป.ลาว ไม่มีกรรมการสิทธิ ตัวกรรมสิทธิอาเซียนก็จะลอยอยู่แบบนี้ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบหรือสั่งการในประเทศต่าง ๆ นี่คือสถานการณ์ของเครือข่ายในอาเซียน ฉะนั้นในภาคประชาชนเองเราก็มีความพยายามในการที่จะทำงาน เราเริ่มจากเครือข่ายในประเทศไทย โดยสถานการณ์ สปป.ลาว ที่มีความพิเศษต่างจากพม่า กัมพูชา หรือประเทศอื่น ๆ เราจึงเริ่มต้นจากงานวิจัย แล้วเราเก็บหลักฐานของเราภายใต้ระบบเฝ้าระวัง พอเดินจากงานวิจัยแล้วมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กรรมการสิทธิจะเป็นตัวเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐกับ เอกชน และเชื่อมไปที่ทางฝั่ง สปป.ลาว

ฉะนั้นในภาคประชาชนเองเราก็มีความพยายามในการที่จะทำงาน เราเริ่มจากเครือข่ายในประเทศไทย โดยสถานการณ์ สปป.ลาว ที่มีความพิเศษต่างจากพม่า กัมพูชา หรือประเทศอื่น ๆ เราจึงเริ่มต้นจากงานวิจัย แล้วเราเก็บหลักฐานของเราภายใต้ระบบเฝ้าระวัง พอเดินจากงานวิจัยแล้วมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กรรมการสิทธิจะเป็นตัวเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐกับ เอกชน และเชื่อมไปที่ทางฝั่ง สปป.ลาว

สุมิตรชัย : อยากสะท้อนว่ารัฐไทยไม่เคยสรุปบทเรียนตั้งแต่แม่เมาะเป็นต้นมา  

ถ้าเป็นเอกชนเป้าหมายคือ ผลกำไร ถ้าเป็นรัฐ เป้าหมายคือ การบริการประชาชนเป็นหลัก กำไรขาดทุนมันไม่สำคัญเท่า แต่ว่าเราผลักภาระของการบริการประชาชนไปให้เอกชนทำ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้ทั้งหมด และแนวโน้มก็จะผลักแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

แน่นอนว่าไปอยู่ในมือของเอกชน สิ่งสำคัญที่สุดคือผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นเขาต้องคำนึงถึงผลกำไร  อะไรที่กระทบต่อผลกำไรของเขา เขาก็จะป้องกันตัวเองทุกอย่างเพื่อที่จะไม่ต้องทำสิ่งนั้น

รัฐรับแผนเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หน้าที่หลักคือต้องคุ้มครอง ต่อให้รัฐจะผลักภาระเหล่านี้ไปให้กับเอกชนทำแค่ไหนก็ต้องมีเส้นขีดที่กำกับไว้ว่าเส้นนี้เอกชนข้ามไม่ได้

เช่น ชีวิตของประชาชนหรือว่าความปลอดภัยของประชาชน หรือว่าสุขภาพของประชาชนคือเส้นเอกชนที่คุณจะต้องตั้งกำแพงกับเขาว่าตรงนี้ข้ามไม่ได้ ถ้าคุณข้ามมาเมื่อไหร่ รัฐจะจัดการคุณ คิดว่าอันนี้คือสิ่งที่สำคัญที่รัฐจะต้องมีความชัดเจนและตนคิดว่ามันขึ้นอยู่กับประชาชนด้วยในการที่จะส่งสัญญาณเรื่องเหล่านี้ผ่านการใช้สิทธิใช้เสียงของเราทางการเมือง เช่น นโยบายของพรรคต่าง ๆ ที่พูดหาเสียงต่อสิ่งเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

นอกจากกระบวนการเคลื่อนไหวกระบวนการภาคประชาสังคมที่ทำงานอย่างเต็มที่ที่เราเล่ามาทั้งหมด ต้องเผชิญกับความยากของการทำงานมากมายที่เกิดขึ้น

พลังของประชาชน Active citizen ต้องออกมาส่งเสียง

ตอนนี้อาเซียนเองมีบทบาทน้อยลงไปมาก และมีความขัดแย้งกันสูงไม่ว่าจะเป็นประเด็นเมียนมาใน 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็กลายเป็นสูญญากาศของการหยิบเอาเรื่องปัญหาอาเซียนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ตนมองว่าอันนี้เป็นเรื่องนึงที่สำคัญ ถ้าประเทศไทยขยับจะมีประเทศอื่นทั้งฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซียมาช่วยในการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น ถ้าไทยไม่ส่งเสียงทุกคนก็จะเฉย ๆ แล้วมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เสียงของภาคประชาชนต้องขยับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ