ETOs Watch ร้องยูเอ็นฯ แก้ผลกระทบลงทุนข้ามแดน ต้องมุ่งการมีส่วนร่วมของชุมชน

ETOs Watch ร้องยูเอ็นฯ แก้ผลกระทบลงทุนข้ามแดน ต้องมุ่งการมีส่วนร่วมของชุมชน

9 มิ.ย. 2563 คณะทำงานติดตามการลงทุนและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNBHR) เพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมของชุมชนชายขอบที่เสี่ยงภัย และกระตุ้นให้มีความใส่ใจเป็นพิเศษต่อพันธกรณีข้ามพรมแดนของนักลงทุน รวมทั้งนักลงทุนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และการปฏิบัติตามหลักพันธกรณีตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน

จดหมายเปิดผนึกนี้ได้นำเสนอในการประชุมสหประชาชาติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในวันนี้ (9 มิ.ย. 2563) ในหัวข้อ Present and Future of National Action Plans in Asia through the Eyes of Four Business and Human Rights Champions โดยเนื้อหาในจดหมายระบุถึงปัญหาการลงทุนข้ามพรมแดนของภาคเอกชนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบว่าการลงทุนและการดำเนินธุรกิจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน รวมถึงประชาชนในประเทศไทยหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น กรณีของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการสร้างถนนเชื่อมจากทวาย เหมืองถ่านหินบานชองในเมียนมา เขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนสปป.ลาว และการปลูกอ้อยในกัมพูชา

ที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ตัวแทนองค์กรเอกชน และชาวบ้านจากประเทศเพื่อนบ้านได้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐในประเทศไทยและบริษัทเจ้าของโครงการ และมีการยื่นฟ้องต่อศาลในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้เกิดการรับผิดชอบและเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อคนท้องถิ่น

ภาพ: ชาวบ้านทวาย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมคุ้มครองสิทธิ เมื่อปี 2562 

คณะทำงานฯ ระบุข้อเรียกร้องสำคัญว่า ควรมีการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบเพื่อให้เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการชดเชยและการเยียวยาอย่างเป็นธรรมและยุติธรรม สนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการสอบสวนการลงทุนข้ามพรมแดน รวมทั้งการลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ผลักดันให้มีภาคธุรกิจและนักลงทุนปฏิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบที่เหมาะสม มีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงเรียกร้องเปิดช่องทางการสนับสนุนการฟ้องคดีแบบกลุ่มและการฟ้องคดีข้ามพรมแดน เพื่อเป็นกลไกที่จะเข้าถึงการเยียวยาอย่างเป็นผล โดยศาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 24 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องขจัดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการเยียวยาใด ๆ ทั้งในทางสาระบัญญัติ ขั้นตอนปฏิบัติ และในเชิงปฏิบัติ

รวมถึงเรียกร้องบริษัทให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการปรึกษาหารือกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมากขึ้น โดยนักลงทุนควรทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนก่อนจะตัดสินใจดำเนินโครงการใด ๆ นอกจากนั้น ภาคธุรกิจต้องจัดทำกลไกรับข้อร้องทุกข์ในระดับบริษัท

รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีข้ามพรมแดนของภาคธุรกิจ โดยควรมีข้อบทเกี่ยวกับระเบียบที่กำหนดให้ต้องตรวจสอบตามพันธกรณีข้ามพรมแดน รวมทั้งกำหนดให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดการตรวจสอบที่เหมาะสมร่วมในกลไกรับข้อร้องทุกข์จากภายนอกหรือที่ได้รับการผลักดันจากชุมชน

ภาพ: พื้นที่ทวาย

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยได้มีมติประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (แผน NAP) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี 2562-2565 เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ อันเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แผน NAP จึงมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ เป็นหลัก

นางนารีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดัน และนำแผนดังกล่าวไปผลักดันเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เกิดปฏิบัติการอย่างจริงจังมากขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด

ขณะนี้มี 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่องในการผลักดันกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้มีความเข้าใจ เช่น พะเยา สุโขทัย สงขลา ฯลฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักกับหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และมีแผนที่จะประสานงานเพื่อผลักดันประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือมาตลอดตั้งแต่กระบวนการเตรียมการแผน NAP แล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนการส่งเสริมภาคธุรกิจด้วยการส่งเสริมการทำ BHR AWARD เพื่อมอบให้กับภาคธุรกิจที่มีปฏิบัติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่เป็นตัวอย่างที่ดี

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนคณะทำงานฯ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นลักษณะการสมัครใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและธุรกิจจึงยังไม่แน่ใจจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังใช้กระบวน SLAPP ด้วยการฟ้องร้องคดีกับชุมชนและนักปกป้องสิทธิมากกว่า 20 คดี ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ การผลักดันให้บังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองสิทธิและการทำธุรกิจไปพร้อมกัน ยังเห็นว่าการคุ้มครองสิทธิกับการทำธุรกิจที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงการปกป้องสิทธิของประชาชนที่แท้จริง สุดท้ายกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้แผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้เกิดการคุ้มครองและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนได้แท้จริง

อนึ่ง คณะทำงานติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch) เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาและสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยเฉพาะสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการลงทุนทางตรงของหน่วยงานของรัฐหรือของเอกชน

ภาพ: พื้นที่ทวาย

00000

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

9 มิถุนายน 2563

เรียน: คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG),
สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP),
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO),
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF),
องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN  Women) และ
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP)

จาก : คณะทำงานติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETO Watch Coalition)[i]

การประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ตเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2563 เพื่ออภิปรายถึงปัญหาท้าทายและโอกาสในการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รับผิดชอบในภูมิภาค เป็นการพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบและเชื่อมโยงกับวิกฤตดังกล่าว และอภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องมองว่าวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสเพื่อสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง และฟื้นฟูระบบให้ดีขึ้น ในนามของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คณะทำงานติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETO Watch) ขอส่งจดหมายนี้ถึงคณะทำงาน UNWG ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และผู้จัดงาน เพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบที่เสี่ยงภัย และขอกระตุ้นให้มีความใส่ใจเป็นพิเศษต่อพันธกรณีข้ามพรมแดนของนักลงทุน รวมทั้งนักลงทุนไทยในต่างแดน และการปฏิบัติตามหลักพันธกรณีของพวกเขา

ในระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของคณะทำงาน UNWG เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ของไทย เครือข่ายฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนหลายประการ[ii] ในนามของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนของไทยในต่างแดน รวมทั้งกรณีของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการสร้างถนนเชื่อมจากทวาย เหมืองถ่านหินบานชองในเมียนมา เขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาว และการปลูกอ้อยในกัมพูชา คณะทำงานฯ ได้เข้าร่วมประชุมในเวทีธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายครั้ง และสะท้อนความเห็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งจากเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านธุรกิจของนักลงทุนไทยในต่างแดน และที่สำคัญ คณะทำงานฯเรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบเพื่อให้เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการชดเชยและการเยียวยาอย่างเป็นธรรมและยุติธรรม 

หลายประเทศในอาเซียน มีความกังวลอย่างต่อเนื่องต่อปัญหาการขาดความรับผิด เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยนักลงทุนจากไทยในต่างแดน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของการลงทุนเหล่านี้ มักรวมถึงการทำลายอาชีพ การยึดครองที่ดินในวงกว้าง และการไล่รื้อ นับแต่ปี 2557 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนของไทยในต่างแดน ได้ร้องเรียนและแสวงหาการเยียวยา มีการฟ้องคดีและดำเนินการในช่องทางอื่น รวมทั้งผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย (กสม.) กสม.มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการลงทุนของไทยในต่างแดน และจัดทำข้อเสนอแนะตามแนวทางของพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ที่มีผลบังคับใช้ต่อทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ ผลจากการตรวจสอบ ทำให้กสม.จัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อเสนอต่อรัฐบาลไทย เพื่อประกันให้มีการปฏิบัติตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP) คณะทำงานฯ เรียกร้องให้มีการสนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการสอบสวนการลงทุนข้ามพรมแดน รวมทั้งการลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน

คณะทำงานฯ เข้าร่วมจัดทำร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย และให้ความเห็นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในหัวข้อปัญหาเร่งด่วนที่ 4 ว่าด้วยการลงทุนข้ามพรมแดนและหน่วยงานข้ามชาติ จากการมีส่วนร่วมของเราส่งผลให้แผนปฏิบัติการนี้กำหนดเป็นมาตรการเร่งด่วน 4 ข้อ รวมทั้งการลงทุนข้ามพรมแดนและการลงทุนของไทยในต่างแดน โดยมีข้อเสนอแนะให้นักลงทุนไทยที่ดำเนินงานในประเทศเพื่อนบ้าน ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีระบบตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนอย่างเป็นองค์รวมและมีส่วนร่วม ด้วยเหตุดังกล่าว  พวกเราจึงเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามแผนนี้อย่างเข้มแข็ง และให้กำหนดระบบตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อติดตามว่านักลงทุนได้ปฏิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยกำหนดให้มีการมีส่วนร่วมและระบบตรวจสอบซึ่งองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบมีบทบาทด้วย

ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ยื่นข้อร้องเรียนหลายประการ ทั้งปัญหาการยึดครองที่ดินอย่างกว้างขวาง การบังคับให้อพยพโยกย้าย และผลกระทบต่ออาชีพเนื่องจากการลงทุนของไทย มีการฟ้องคดีข้ามพรมแดนเพื่อให้สามารถเข้าถึงการเยียวยาในประเทศของตน (ประเทศไทย) ชุมชนชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการยึดครองที่ดินในวงกว้าง เพื่อจัดทำเป็นแปลงปลูกอ้อยของบริษัทจากไทย ได้ฟ้องคดีต่อศาลในไทย แต่โชคร้ายที่ศาลไม่รับฟ้องคดีที่ฟ้องแบบกลุ่มนี้ และเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นในประเทศอื่น รวมทั้งผู้เสียหายไม่เข้าใจภาษาไทย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการแจ้งข้อมูลให้กับผู้ฟ้องกลุ่มทั้งหมด อย่างไรก็ดี การฟ้องคดีนี้ทำให้เป็นบรรทัดฐานด้านลบต่อการฟ้องคดีแบบกลุ่มในคดีข้ามพรมแดนในอนาคต การลงทุนจากไทยในต่างแดนถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุดังกล่าว คณะทำงานฯ จึงเรียกร้องให้มีการสนับสนุนการฟ้องคดีแบบกลุ่มและการฟ้องคดีข้ามพรมแดน เพื่อเป็นกลไกที่จะเข้าถึงการเยียวยาอย่างเป็นผล โดยศาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 24 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ[iii] ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องขจัดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการเยียวยาใด ๆ ทั้งในทางสาระบัญญัติ ขั้นตอนปฏิบัติ และในเชิงปฏิบัติ

หน่วยงานธุรกิจ/นักลงทุนมีหน้าที่ให้การชดเชยต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนให้ชุมชนได้รับค่าชดเชยและการเยียวยาที่จำเป็น ตลอดทั้งกระบวนการเยียวยา พวกเราขอเรียกร้องบริษัทให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการปรึกษาหารือกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมากขึ้น นักลงทุนควรทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนจะตัดสินใจดำเนินโครงการใด ๆ นอกจากนั้น ภาคธุรกิจต้องจัดทำกลไกรับข้อร้องทุกข์ในระดับบริษัท เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ สามารถแสดงข้อกังวล และเพื่อสนับสนุนให้พวกเขามีส่วนร่วมในกลไกรับข้อร้องทุกข์จากภายนอกหรือที่ได้รับการผลักดันจากชุมชน 

ประการสุดท้าย จำเป็นต้องมีการจัดทำความตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับพันธกรณีข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นประเด็นที่ขาดหายไปในหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน พวกเราเรียกร้องให้มีการยอมรับมาตรฐานที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายมากขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีข้ามพรมแดนของภาคธุรกิจ โดยควรมีข้อบทเกี่ยวกับระเบียบที่กำหนดให้ต้องตรวจสอบตามพันธกรณีข้ามพรมแดน รวมทั้งกำหนดให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดการตรวจสอบที่เหมาะสม 

เราหวังว่าจะได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานแห่งสหประชาชาติ เพื่อประกันให้พันธกรณีข้ามพรมแดนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจและสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ขอแสดงความนับถือ

ส.รัตนมณี พลกล้า ในนามของคณะทำงานติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน

**************

คณะทำงานติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาและสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (กลุ่มประเทศ CLMV) โดยเฉพาะสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการลงทุนทางตรงของหน่วยงานของรัฐหรือของเอกชน ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะส่งผลกระทบต่อการข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยอย่างไร 


[i] https://etowatch.com/

[ii] https://earthrights.org/media/thailand-must-act-on-its-commitments-to-business-and-human-rights-for-thai-investments-abroad/

[iii] http://docstore.ohchr.org/SelfServices/FilesHandler.ashx?enc=4slQ6QSmlBEDzFEovLCuW1a0Szab0oXTdImnsJZZVQcIMOuuG4TpS9jwIhCJcXiuZ1yrkMD/Sj8YF%2BSXo4mYx7Y/3L3zvM2zSUbw6ujlnCawQrJx3hlK8Odka6DUwG3

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ