สปอยสารคดี “อิแมคัวะ” –ออกเดินทางตามฝันเพื่อกลับมาตั้งหลักให้บ้านเกิด

สปอยสารคดี “อิแมคัวะ” –ออกเดินทางตามฝันเพื่อกลับมาตั้งหลักให้บ้านเกิด

อาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม นี้แล้ว ที่สารคดีคุณภาพจาก ThaiPBS เรื่องล่าสุดจะออนแอร์  “อิแมคัวะ เส้นทางเติมฝัน ฉัน พี่ชาย”  คือสารคดีการเดินทางของ 2 พี่น้องจากดอยเลาวู ที่แสวงหามุมมองใหม่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และใช้โอกาสของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก เพื่อสานฝันสร้างตัวเองเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อสร้างอนาคตให้ชุมชนและคนรอบข้าง

ด้วยเราต่างอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ สังคมที่สลับซับซ้อน และอนาคตที่เปราะบางทั้งจากเศรษฐกิจและโควิดรุมเร้า  หนุ่มสาวจำนวนมาก ตัดสินใจกลับไปหาหลังพิง ลงหลักปักฐาน หวังสร้างอนาคตที่บ้านเกิด หลายคนอาจกำลังลองผิดลองถูก แต่ก็มีอีกหลายคนลงมือทำอย่างมุ่งมั่น และความสำเร็จกำลังผลิบาน  พวกเขา มีวิธีคิด วิธีทำ เงื่อนไข และความรู้อะไรที่สามารถเป็นแนวทางและช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่กำลังมีความฝันเดียวกันได้บ้าง  “อิแมคัวะ เส้นทางเติมฝัน ฉัน ….. พี่ชาย” พยายามจะสะท้อนสิ่งเหล่านี้

แต่ก่อนที่จะได้รับชม  เราเมาท์มอยสปอยกันก่อนกับ ตัวแทนคนเดินเรื่อง และทีมผลิตกันแบบยั่วๆ  จังหวะที่น้องๆ บุกกรุงมาร่วมงาน “เมื่อ Gen  ฉัน เปลี่ยนเมือง” กันดีกว่า  คุยกับ วุฒิ สราวุฒิ ภรสุจริตกุล  และ พริกขี้หนู  ชุติมล ภมรสุจริตกุล    ศรีปิง  จันจิรา แก้วบัว ตัวแทนคนต้นเรื่อง  และ  แนน ปฏิญญา ปัญญายศ   ตัวแทนทีมผลิตสื่อพลเมือง   ชวนคุยโดย พี่ฟักแฟง วิภาพร วัฒนวิทย์ จาก ไทยพีบีเอส

ฟักแฟง : เป็นสารคดีเกี่ยวกับการเดินทาง  วุฒิกับพริกต้องเดินทางไปหลายที่ไหมคะ   ?

วุฒิ : ประมาณ 6-7 แห่งทั่วประเทศครับ  มีทีมงานคือพี่แนนไปด้วย  พี่ๆ ทีมที่ถ่ายทำแต่ละที่ก็จะรอรับอยู่ เป็นอะไรที่บันเทิงมากครับ เพราะตอนนั้นลูกผมเพิ่งคลอดได้ 1 วันเท่านั้น ผมก็ต้องออกเดินทางเลย ได้อุ้มลูกไม่ถึง 5 นาที มันมีช่วงของอารมณ์ด้วย   ใจหนึ่งก็อยากเที่ยว อยากเรียนรู้ ใจหนึ่งก็คิดถึงทางบ้าน บางช่วงมันก็เป็นอารมณ์แบบจริง ๆ เลย พูดกับพี่แนนว่า  “พี่… ผมคิดถึงบ้านแล้ว เมื่อไรจะเสร็จ” มันก็มีอารมณ์อยู่ในนั้นด้วย ก็เป็นสารคดีที่ผมมองว่าเป็นชีวิตจริง ๆ ไม่ได้ Make ขึ้นมา เป็นอะไรที่เราอยากออกไปเรียนรู้และสิ่งที่เราประสบอยู่จริงๆ ด้วย  

ฟักแฟง : ตอนที่ทีมผลิตไปติดต่อ ทำไมวุฒิถึงตอบตกลง ?

วุฒิ : จริง ๆ ผมได้รู้จักกับพี่เลี่ยว (เจริญกูล เฉลียวเกรียงไกร  ที่ปรึกษาด้านการผลิต) พี่เขาชวนยังไงไม่รู้ (หัวเราะ)  และเราก็เห็นว่า  เราก็อยากออกเดินทางไปเรียนรู้จริง ๆ มันเหมือนช่วงชีวิตหนึ่ง คนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน จะมีปัญหาชีวิต และสิ่งที่กำลังทำอยู่ มันก็มีจุดหนึ่งที่ว่าจะเดินยังไงต่อ มันเป็นตัวเราที่ว่าเราจะยังไงต่อกับชีวิต ไปแบบนี้ดีไหม หรือว่าจะต้องไปแบบนี้ ทริปนี้มันเหมือนได้เดินทางไปค้นหา เลยตกลงไปเลย

ฟักแฟง : ฟังดูเหมือนทีมจะเจอปัญหาเยอะ พี่แนนจัดการอย่างไรให้ถ่ายทำได้เร็วแบบนี้ ?

แนน : เราใช้เวลาเดินทางถ่ายทำจริง ๆ ก็เกือบ 2 เดือน คือเราดีไซน์ตั้งแต่ต้นทางเลยว่า เดินทางอย่างไรให้มันทุกพื้นที่ ภายในระยะเวลาที่จำกัด

ฟักแฟง : มีที่ไหนที่ยาก ที่ต้องชมให้ได้ ?

แนน : น่าจะเป็นช่วงที่เราลงใต้ มันอาจจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่เราเดินทางด้วยรถยนต์ลงใต้ เราคิดว่ามันคงไม่เท่าไรหรอก เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ มันก็แค่แปปเดียวใช่ไหม แต่ตอนลงใต้ เอ๊ะ ขับมาตั้งนาน  ทำไมเรายังอยู่ประจวบฯ เหมือนเดิม ทำไมเรายังไม่ถึงใต้สักที คือไกลมาก มันเป็นความรู้สึกที่ว่าไกลขนาดนี้เลยหรอ

ฟักแฟง : ศรีปิงตอนเจอวุฒิครั้งแรกเป็นยังไง ?

ศรีปิง  : จริง ๆ รู้จักกันมาก่อน  ติดตามทางเฟสบุ๊ค  เมื่อได้เจอทั้ง 2 คนน่ารักมาก และพาผจญภัยในสวนในคลอง ตอนแรกก็แบบไม่คิดว่าเขาจะมาถ่ายทำจริง ๆ คิดว่าติดต่อเฉย ๆ มาเที่ยว ปรากฎว่าจริงจังมาก มาอยู่หลายวัน ทำกับข้าวกินจริงจัง จนพ่อบอกว่าจะให้พริกเป็นลูกสาวอีกคน

ฟักแฟง :  ระหว่างการเดินทางสองพี่น้องเขาเป็นอย่างไรบ้าง ?

แนน : พี่น้องคู่นี้มีระยะห่างของอายุ 12 ปี ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน น้องก็จะคอยแซวพี่ชายตลอดการเดินทาง

ฟักแฟง :  พริกออกเดินทางเป็นอย่างไรบ้างในวัย 19 ปี ?

พริก : เป็นการเปิดประสบการณ์ในการท่องเที่ยวอีกแบบนึง จริง ๆ เมื่อก่อนพี่วุฒิก็ชอบพาเที่ยว พอเวลาไปเที่ยวพี่ก็จะถามว่าไปแล้วไปเจออะไรบ้าง ได้อะไรกลับมา เอาจริง ๆ ในความรู้สึกของวัยรุ่น การไปเที่ยวก็คือเที่ยว หาความสุขแค่นั้น ไม่ใช่ว่าต้องมาถามว่าได้อะไร เรารู้สึกว่าเบื่อหน่าย แต่พอมามองจริง ๆ ว่าการเที่ยวแบบนี้ เรามานั่งคิดว่าเราได้อะไร ได้ประสบการณ์อะไร การเที่ยวยังไงให้คุ้มค่า คุ้มค่าในที่นี้ไม่ใช่ว่ากินอิ่ม นอนอิ่ม มันคือการเที่ยวยังไงให้แบบว่าได้เรียนรู้ได้เจอผู้คน ได้ครอบครัวเพิ่มแบบครอบครัวพี่ศรีปิง เอาจริง ๆ เป็นการเที่ยวที่สนุก อยากให้ทุกคนไปติดตามสารคดีตัวนี้จริง ๆ

ถามว่าตอนแรกที่เขามาติดต่ออยากไปไหม เราก็มาคิด ๆ ขี้เกียจนั่งรถ ด้วยความเมารถ แต่ก็มาคิดว่าถ้าเกิดได้ไป ยังไงก็ถือว่าเปิดประสบการณ์นะ เราได้เที่ยวด้วยนะ ก็โอเคไป และเรารู้สึกว่ามันสนุก เราได้เจอผู้คนที่หลากหลาย มันทำให้เราได้โตขึ้นอีก และมันก้ำกึ่งกับที่เราจะเข้ามหาวิทยาลัย (ปัจจุบันพริกเรียน  คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารการตลาดดิจิตอลและเเบรนด์ดิ้ง มหาวิทยาลัยรังสิต)  ถ้าเราอยากจะกลับบ้าน (ใช้ชีวิตที่บ้าน) แบบพี่วุฒิ เราจะต้องทำยังไงบ้าง ก็เหมือนเป็นตัวช่วยตัดสินใจของหนู อยากให้ทุกคนไปติดตาม

ฟักแฟง :  น้องศรีปิง เรียนรู้อะไรจากทั้ง 2 คนบ้าง ?

ศรีปิง : อย่างพริกเห็นเด็กขนาดนี้ แต่เขามีแนวคิดที่เป็นผู้ใหญ่มาก คือเขาจะเล่าว่าทำอะไรมาบ้าง ทั้งสองคนก็มีการประชุมกัน เลยมองว่า  ต้องเคร่งเครียดกันขนาดนั้นเลยเหรอ  เพราะครอบครัวเราขับรถนั่งเล่นและชวนคุยกัน ไม่ได้ขึ้นกระดานประชุมเหมือนวุฒิกับพริก (หัวเราะ) ก็เหมือนได้แลกเปลี่ยนกับทั้งสองพี่น้อง

ฟักแฟง :  วุฒิล่ะคะ ได้ไปที่อื่น ๆ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?

วุฒิ : วุฒิมองว่ามันกลายเป็นวุฒิอีกคนเลย ผมกล้าพูดแบบนี้เลย ก่อนหน้านี้วุฒิไม่คิดจะเป็นผู้ประกอบการได้ ไม่คิดที่จะจ้างคุณลุง คุณป้ามาทำงานที่สวน แต่พอเราเดินทางรอบนี้ มันทำให้แนวคิดเราเปลี่ยนว่าจริง ๆ โดยศักยภาพของเราและสิ่งที่เราทำกับชุมชนได้ มันมากกว่าการที่เราไปเป็นกรรมกร ใช้แรงงาน สร้างบ้าน ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างจากสิ่งที่เราได้ไปเรียนรู้มาศักยภาพของเราทำได้มากกว่านี้ เป็นอะไรที่ทำให้วุฒิเปลี่ยนไป เปลี่ยนวิธีคิดไปเลย  

ซึ่งพอผมเปลี่ยนวิธีคิด ก็มีอีกหลายคนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ การท่องเที่ยวของวุฒิ ถ้าเป็นเมื่อก่อน วุฒิคิดว่าจะทำเองทั้งหมด แต่พอกลับไป อย่างการท่องเที่ยวช่วงเย็น เมื่อก่อนวุฒิทำ ตอนนี้ก็ให้ชาวบ้านพาไปเที่ยวแทน หนึ่งเราไว้ใจเขา สองเป็นการจ้างงาน หรือเราจ้างผู้พิการมาทำงานใน Akipu ลุงเขาก็มีงาน มีคนรู้จักมากขึ้น รายได้ก็ถูกกระจายให้คนในชุมชน อันนี้จึงสำคัญ วุฒิไปเจอพี่เบส (คุณเบสท์ วิโรจน์ ฉิมมี แห่งบ้านไร่ไออรุณ จ.ระนอง) กับพี่ลี (อายุ จือปา  ผู้ก่อตั้งกาแฟอาข่าอ่ามา จ.เชียงราย)  เป็นสิ่งที่วุฒิว่ามันตอบโจทย์ ที่วุฒิกำลังทำหรือว่าเราจะอย่างไรต่อไปดี เป็นสิ่งที่ชัดว่าเรามีแบบอย่างให้ดู แต่เอามาปรับใช้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่

ฟักแฟง : ตอนไหนที่คิดว่าถ่ายทำยาก ?

แนน : โดยส่วนตัวถ่ายทำยากคือตอนแรกที่ถ่ายที่บ้านวุฒิ เรารู้สึกว่าถ่ายครั้งเดียวมันเล่าไม่จบ เราก็อยากเล่าให้ได้มากที่สุด สถานการณ์มันเปลี่ยนตลอดเวลา วุฒิมีแนวคิดตลอดเวลา อย่างเวลาเขาไปเจออะไร เขามีไอเดียใหม่ เขาก็อยากจะลองเอาไอเดียนั้นมาใช้กับพื้นที่บ้าง พอมันมีอะไรใหม่ ๆ ก็อยากเก็บภาพเพิ่ม แม้เราจะอยู่เชียงใหม่ด้วยกันแต่ก็ไม่ใกล้กันเลย 3 ชั่วโมงได้ ขึ้นลงๆ

ฟักแฟง : ถามพริกบ้าง …. พี่แนนเป็นอย่างไรบ้าง ?

พริก :   เหมือนมีพ่ออีกคนนึง (หัวเราะ) ไม่ใช่แบบนั้นหรอก แต่ด้วยความที่แกเป๊ะ เราก็รู้สึกว่าทำไม ทำไมอะเรากินปลาเส้นคำใหญ่ ก็ถ่ายรูปไปให้คนอื่นดู เราว่ามันไม่ควร แต่พี่แนนเป็นคนเป๊ะ ถ้าเรามองทั่วไปเราอาจจะไม่ชอบ แต่ถ้าเรามองในด้านผลงานมันเป็นสิ่งที่ดี แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังทำมันทำเพื่อทุกคน ก็รู้สึกสนุกดีค่ะ

ฟักแฟง : อยากให้ฝากถึงสารคดีชุดนี้หน่อย ?

วุฒิ : สารคดีชุดนี้เป็นเหมือนการถอดแบบการเอาชีวิตของพวกเรา 2 คนเข้าไปอยู่ในสารคดี พอเป็นชีวิต มันก็มีเรื่องของอารมณ์เข้ามาร่วม มันก็เพลิดเพลิน แต่ก็ซ่อนด้วยเนื้อหา ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านจะเข้าใจ แล้วก็จะอินในสิ่งที่พวกผมกำลังเป็นอยู่ ฝากติดตามเรื่องราวเหล่านี้ด้วยครับ

ศรีปิง : สารคดีนี้เป็นการถ่ายทอดที่ไม่มีการถ่ายทอดที่ไหนมาก่อน เราทำละเอียดมาก ตั้งใจที่จะเอาเรื่องราวที่เราถ่ายทอดให้ผู้ชมเป็นแรงบันดาลใจ

นิสสัน กิตติเดช เทศแย้ม คนต้นเรื่อง  ชาวประมงเยาวรุ่นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เข้ามาคุยร่วมผ่าน ZOOM : อยากให้ติดตามในสื่อทางไทยพีบีเอสที่จะถ่ายทอดเร็ว ๆ นี้ มันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้วิถีชีวิต ต้องบอกว่าทีมงานที่มาถ่ายค่อนข้างสู้ชีวิต ตอนที่มาถ่ายเจอพายุด้วยครับ ต้องบอกว่าสนุกและเร้าใจด้วยครับ ฝากทุกคนติดตามด้วยครับ ฝากหมู่บ้านทุ่งน้อย ที่ประจวบฯ ไว้ด้วยนะครับ

ตั้ม กีรติ โชติรัตน์ ผู้ผลิตสารคดี : ก็ผมฝากติดตามด้วยครับ ผมดูแลในตอนที่ 4 ชีวิตที่ออกแบบได้ พื้นที่ประจวบฯ และ พัทลุง ฝากติดตามทั้ง 5 ตอนด้วยครับ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนที่มาอยู่บ้านและคนที่กำลังออกแบบชีวิต

เปี๊ยก พลรวัฒน์ ดวงเข็ม ผู้ผลิตสารคดี : ผมรับผิดชอบตอนที่ 2 “ของดีรีโนเวท” พื้นที่คลองลาน จ.กำแพงเพชร และ จ.บึงกาฬ อยากจะฝากให้ทุกคนได้ติดตามสารคดีทั้ง 5 ตอน เป็นครั้งแรกที่เราทำงานร่วมกันโดยที่เราไม่ได้ดำเนินเรื่องเอง มีวุฒิกับพริกมาเดินเรื่องให้ ก็เป็นเรื่องท้าทายของพวกเรา

เน กฤษฎา กุลขัวผู้ผลิตสารคดี : ผมรับผิดชอบในตอนที่ 2 ชนบทดิจิทัล ว่าด้วยเรื่องการเอาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในคนต่างจังหวัด เทคโนโลยีเหล่านี้เราอาจจะใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ผู้ประกอบการที่เป็นเคสที่วุฒิกับพริกไปเรียนรู้ ก็จะได้เห็นว่าเขาใช้กับการประกอบการอย่างไร อันนี้ก็น่าสนใจสำหรับผู้ที่อยากเป็นผู้ประกอบการ

แนน : เราก็ใช้วิธีซูมคุยกัน วางแผนการถ่ายทำทั้งหมด การเดินทางช่วงนั้นมีข้อกังวลหลายอย่าง ใช้พลังเยอะครับ เพราะเรามาจากสื่อภาคพลเมืองที่เป็นท้องถิ่น เราต้องแสดงศักยภาพบางอย่างให้คนทั่วประเทศได้เห็นว่าคนท้องถิ่นก็ทำได้นะ ฝากติดตามชีวิตของวุฒิกับพริกด้วยครับ

ฟักแฟง : ฟังสิ่งที่น้องๆสะท้อนแล้ว มีพี่ๆ ที่มาร่วมรับฟังในเวที เมื่อ Gen ฉันเปลี่ยนเมืองนี้ คิดอย่างไรกันบ้างคะ ?

แอ๋ง สถาพร สมศักดิ์ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน : ผมเจอสองพี่น้อง วุฒิ กับพริก ที่ภูผาม่าน ผมอยู่สถาบันพัฒนาชุมชน อยู่ในส่วนของการพัฒนาคนรุ่นใหม่คืนถิ่นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เราเห็นความตั้งใจ เห็นคนรุ่นใหม่กลับบ้านไปทำธุรกิจ ทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ และการท่องเที่ยว ผมว่ามันน่าสนใจ เป็นแรงบันดาลใจในการที่จะขยับขับเคลื่อนงาน

นาย นราธิป ใจเด็จ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม: ผมทำกลุ่มอาสาคืนถิ่น คล้าย ๆ คนกล้าคืนถิ่น ผมรู้สึกว่าที่ฟังมา มันเหมือนเป็นพื้นที่ชีวิตให้คนที่ทำงานแบบนี้ เหนือ ใต้ กลาง อีสานได้มาเจอกัน ThaiPBS ทำหน้าที่ซัพพอร์ตได้ดีมาก ๆ แล้วก็มันไม่ได้แค่เห็นวิถีชีวิต แต่เห็นความเชื่อมโยงว่าจะสนับสนุนกันยังไง อันนี้แค่พี่ ๆ ไม่กี่คนแต่มันจุดประกายอะไรหลาย ๆ อย่างได้ ถ้าคนทั่วประเทศเชื่อมโยงกันได้ มันน่าจะเป็นพลังที่ทำให้ชุมชนฟื้นฟูขึ้นได้ ถ้าเราได้เชื่อมโยงกันก็คงจะดีมาก

ปิยาวันทน์ ประยุกต์ศิลป์   มูลนิธิเพื่อคนไทย : วันนี้ที่มาฟังเห็นจุดร่วมกันคือความยั่งยืน สังคมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราอยู่ไม่ได้ ธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ ถ้าสังคมจะอยู่ไม่ได้ ก็เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ แต่เราจะสังเกตว่าถ้าจะทำอะไรสักอย่าง เราจะคิดถึงเรื่องต้นทุน แต่พอมาวันนี้ ได้ฟังจากทุก ๆ ท่านที่มาเล่าประสบการณ์ของตนเอง เราจะเห็นว่าทุนที่สำคัญคือทุนในการมีเครือข่าย  ซึ่งที่เราเองก็ให้คุณค่าการทำงานในเชิงเครือข่าย  

ลี  อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งกาแฟอาข่าอ่ามากาแฟเพื่อสังคม   : ผมอาจจะฝากในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ขอบคุณสื่อ เพราะเราอยู่ในพื้นที่ ถ้าเราไม่มีสื่อบางทีมันก็ยากในการที่จะนำเสนอความคิด เป็นแรงหนุนที่ดีมากสำหรับพวกเราที่ได้นำเสนอสิ่งเหล่านี้ ยิ่งมี ThaiPBS เข้ามา มันทำให้เสียงของคนในชุมชน เสียงของพลเมืองดังขึ้น มันเป็นแรงกระตุ้นให้คนที่กำลังจะสร้างตัวตน มันก็มีช่องทางเพิ่มขึ้น ขอบคุณทุกคนที่มาเป็นแรงให้กับวุฒิและพริก

สปอยซะขนาดนี้ ทุกคนพร้อมร่วมเดินทางกลับสองพี่น้อง วุฒิและพริกขี้หนูแล้วหรือยัง  

“การเดินทาง ทำให้เราหายโง่”วุฒิ มักพูดเช่นนั้น แล้วการเดินทางครั้งนี้ วุฒิและพริกขี้หนู ค้นพบอะไร ?

เดินทางไปพร้อมกันใน 1 พฤษภาคมนี้ 21.30 น. ทาง ThaiPBS  3HD  ช่อง VIPA และเพจเฟสบุ๊ค Localist

อ่านเรื่องย่อ >>>> https://thecitizen.plus/node/55181

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ