อาสาสมัครจากศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ระดมเก็บข้อมูลการชุมนุมทางการเมืองประมวลผลวัดระดับความรุนแรง ระบุภาพรวมความเสี่ยงต่อความรุนแรงในการชุมนุมวันนี้อยู่ในระดับต่ำ ยกเว้น พื้นที่แจ้งวัฒนะและห้าแยกลาดพร้าว ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวพลเมือง ThaiPBS รายงานว่า ขณะนี้มีกลุ่มอาสาสมัคร ที่รวมตัวกันจากอาสาสมัครสักขีพยาน ร่วมกันหลายมหาวิทยาลัยและเคยมีประสบการณ์ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 กระจายกำลังกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และชี้วัดถึงความรุนแรงทางการเมืองโดยรายการผ่านเว็บไซด์ ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง http://www.thaiviolencewatch.com/ เป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงของสถานการณ์อย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองนี้ได้ดีขึ้น นำไปสู่การค้นหาแนวทางการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเกิดความรุนแรงน้อยที่สุดได้
ในการติดตามและวัดประเมินระดับความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในพื้นที่่ต่างๆที่มีสถานการณ์การชุมนุมทางศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ได้ออกแบบตัวชี้วัดความรุนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งมาจากการระดมความคิดจากนักวิชาการและเหล่าผู้มีประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติงานภาคสนาม
เพื่อเฝ้าระวังและจัดการความรุนแรง ประกอบด้วยตัวชี้วัดคือ
- ลักษณะและเนื้อหาของการปราศรัย
- ลักษณะพฤติกรรมโดยรวมของผู้เข้าร่วมชุมนุม
- การจัดการสภาพแวดล้อมในการชุมนุม
- การตอบสนองคำสั่งของผู้นำ
- ระยะเวลาของการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มชุมนุม หรือกับเจ้าหน้าที่รัฐ
- ระดับการตระเตรียมการด้านวัสดุ / อุปกรณ์ ของกลุ่มผู้ชุมนุม
- ความเสี่ยงในการเกิดเหตุ “ม็อบชนม็อบ”
- พื้นที่กันชน (Buffer Zone)
- สภาพการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์/พยาบาล ภายในพื้นที่ชุมนุม
- ระดับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่พบ
- ระดับความแตกต่างทางอาวุธ
- ความรุนแรงของอาวุธ
- มาตรการต่างๆอันเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมาย
- ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการควบคุมสถานการณ์
โดยผลการประเมินสถานการณ์จะได้รับการวัดระดับออกมาเป็น 4 ระดับ โดย
- ระดับที่ 1 = มีความเสี่ยงในระดับต่ำ
- ระดับที่ 2 = มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ต้องเฝ้าระวัง
- ระดับที่ 3 = มีความเสี่ยงในระดับสูง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
- ระดับที่ 4 = มีความเสี่ยงในระดับวิกฤติ
นอกจากนี้ยังมีการนำผลการประเมินดังกล่าวมาวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงรายพื้นเพื่อระบุโซน ออกเป็นสองโซนดังนี้
- 1) Warm Zone พื้นที่ที่มีค่าระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 0 – 2.99
- 2) Hot Zone พื้นที่ที่มีค่าระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 3.00 – 4.00
ทั้งนี้ในการติดตามผลในแต่ละวันจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อทำาการประเมินจำนวนสองครั้งในเวลา 13.00 น. และ 21.00 น.*หากสถานการณ์มีความผันผวน อาจมีการกำหนดความถี่ และวงรอบในการประเมินที่เปลี่ยนไปตามความจำเป็น
โดยการประมวลผล ณ เวลา 13.00 น. วันที่ 13-01-2557 พบว่าระดับความเสี่ยงต่อความรุนแรงในสถานการณ์การชุมนุม (รวมทุกพื้นที่) 0.93เพิ่มขึ้น 0.005 จุด จัดเป็นความเสี่ยงอยู่ในระดับ ต่ำ จากเกณฑ์ชี้วัด 4 ระดับ*แต่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงสูงสุด ในสถานการณ์การชุมนุม คือเวที กปปส.ห้าแยกลาดพร้าว อยู่ในระดับ 1.38 ความเสี่ยงอยู่ในระดับ ปานกลาง จากเกณฑ์ชี้วัด 4 ระดับ*
โดยภาพรวมความเสี่ยงต่อความรุนแรงในการชุมนุมอยู่ในระดับต่ำ จากเกณฑ์ชี้วัด 4 ระดับ ยกเว้น พื้นที่แจ้งวัฒนะและห้าแยกลาดพร้าว ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมาก โดยเฉพาะเวทีปทุมวันและเวทีราชประสงค์ที่ท้ายขบวนบรรจบกัน พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรง คือ แจ้งวัฒนะ เนื่องจากมีผู้ถูกทำร้ายเมื่อคืนนี้ ประกอบกับมีความขัดแย้งระหว่างชุมนุมกับประชาชนในพื้นที่เล็กน้อย และห้าแยกลาดพร้าว เนื่องจากตรวจพบวัยรุ่นขับมอเตอร์ไซต์มาวนเวียน โดยที่ไม่มีการตรวจจาก รปภ. /การ์ด ที่ชัดเจนในจุดเข้าทั้งสองทาง และไม่พบเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ พบผู้ชุมนุมบางส่วนหน้าที่หน้ากระทรวงพลังงานและกระทรวงแรงงานด้วย
ทั้งนี้จะมีการประเมินความเสี่ยงครั้งต่อไป เวลา 21.00 น. วันที่ 13-01-2557
ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ระบุว่าสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆในประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2556 เป็นต้นมา เกิดกระแสการตื่นรู้ทางการเมืองของพลเมืองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองเกิดขึ้นโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ทั้งในการชุมนุมแบบยืดเยื้อ และการชุมนุมเชิงสัญญลักษณ์ ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งในหลายเหตุการณ์มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนกลุ่มคนร้ายไม่ทราบฝ่าย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 461 คน เสียชีวิต 8 คน ซึ่งยังรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 25 คน (รวมทุกเหตุการณ์ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556)
ในสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆความจริงถูกตีความให้มีหลายความเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน ซึ่งหลายครั้งมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานของอาสาสมัครสังเกตการณ์กลุ่มต่างๆที่มีการปฏิบัติงานพื้นที่จริงในเหตุการณ์ยังไม่ได้มีการเก็บรวมรวมอย่างเป็นระบบ ทำให้ประเด็นที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆทั้งฟรีทีวีและอินเตอร์เน็ต ถูกนำไปเป็นประเด็นขยายความขัดแย้งของสถานการณ์ให้มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างจากการที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นอาชีวะถูกทำร้าย บริเวณสี่แยกคอกวัว แต่มีเผยแพร่ข่าวออกไป 3 แบบ คือ 1.กลุ่มอาชีวะถูกกลุ่มเสื้อแดงทำร้าย 2.กลุ่มอาชีวะทะเลาะกับการ์ดเวทีราชดำเนิน 3.กลุ่มอาชีวะทะเลาะกับพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณนั้น หรือกรณีการปะทะบริเวณสนามกีฬา(ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 มีข้อถกเถียงเรื่องกลุ่มคนที่ทุบรถประชาชน มีความเป็นไปได้ที่ถูกตีความเป็นเครื่องมือในการกดดันสถานการณ์ให้เกิดความเกลียดชังกันมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสนอว่าเป็นตำรวจจริง อีกกลุ่มบอกเป็นตำรวจเขมร ข้อมูลจากฝั่งรัฐบอกเป็นผู้ชุมนุมที่นำเครื่องแบบตำรวจที่ขโมยมาใส่ เป็นต้น ซึ่งความคลุมเครือของข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกนำไปตีความเพื่อประโยชน์ฝ่ายตนซึ่งการตีความและสื่อสารในลักษณะเช่นนี้ หลายครั้งเป็นการขยายความขัดแย้งและเกลียดชังไปสู่คนกลุ่มต่างๆเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ยากเยียวยาและรอคอยการเดินทางเข้าสู่ความรุนแรงในรอบใหม่ได้
แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาครัฐบางหน่วย เช่น ศูนย์เอราวัณ กทม. ศูนย์นเรนทร และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและเชื่อมประสานทางนโยบายและการทำงานในพื้นที่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความรุนแรง และบรรเทาสถานการณ์เมื่อเกิดความรุนแรง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เพื่อรักษาชีวิตของทุกฝ่าย แต่ยังไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ได้จากการปฏิบัติงานเพื่อประเมินระดับและสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหากรวบรวมได้ก็จะทำให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและบรรเทาความขัดแย้งได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศูนย์กลางเพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงของสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ประเมินเหตุการณ์ ประมวลภาพรวมของเหตุการณ์ บันทึกข้อมูลและถอดบทเรียนและยกระดับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนกลุ่มต่างๆในสังคมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองนี้ได้ดีขึ้น นำไปสู่การค้นหาแนวทางการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเกิดความรุนแรงน้อยที่สุดได้
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้ยังจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการประสานงานของเครือข่าย กลุ่ม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่ เพื่อดูแลและจัดการให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองได้รับการชดเชยเยียวยา ทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุม ตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดต่อไป
การทำงานของศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จะใช้วิธี
- Fact Finding ค้นหาและรวบรวมข้อเท็จจริงตรวจสอบข้อเท็จจริง ถอดบทเรียนการทำงานภาคสนาม
- Watch dog ติดตาม เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์
- Early Warning สร้างตัวชี้วัดระดับความรุนแรง (Indicator) ทำการ เฝ้าระวังและเตือนสังคมทันที เมื่อตรวจพบแนวโน้ม หรือนัยสำคัญที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง
- Field Support สนับสนุนการทำงานภาคสนาม ประสานงานเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน
- Knowledge Management จัดการรวบรวมองค์ความรู้ และยกระดับองค์ความรู้เพื่อเสนอต่อสาธารณะ
โดยมีแหล่งข้อมูลจาก
- ผู้ประสบเหตุ (ผู้บาดเจ็บ/ครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นต้น)
- หน่วยงานทางการแพทย์ (แพทย์สนาม , หน่วยแพทย์อาสา , อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย , หน่วยงานทางการแพทย์ในกำกับของรัฐ)
- กลไกความร่วมมือทุกฝ่าย(ผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม,เจ้าหน้าที่ตำรวจ)
- กลไกสังเกตการณ์
- เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง(ตำรวจ/ทหาร เป็นต้น)
สำหรับภาคีร่วมเฝ้าระวังและจัดการความรุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมือง ประกอบด้วยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลไกความร่วมมือหลายฝ่ายในการเฝ้าระวังและจัดการความรุนแรง กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เครือข่ายพลเมืองเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมือง เครือข่ายสันติอาสาสักขีพยาน มูลนิธิองค์รกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) สถาบันปฏิบัติการทางสังคมและฝึกอบรมอาสาสมัครไทย (CNSA) องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก (DPI/AP) สามารถติดต่อได้ที่ Call Center : 094-898-4417 : 094-898-4418 e-mail : violenceindicator@gmail.com