7 องค์กรหนุนเชื่อมข้อมูลหวังตัดวงจรความรุนแรงในไทย

7 องค์กรหนุนเชื่อมข้อมูลหวังตัดวงจรความรุนแรงในไทย

หลังศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดเวทีสาธารณะ นำเสนอข้อมูลที่เป็นผลของโครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคม วัฒนธรรม ในสังคมไทย  ซึ่งนับเป็นการจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามความรุนแรงครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ไทยพีบีเอส และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) มีการระดมข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนเพื่อขยายผลการทำงานกับ 7 องค์กรที่เกี่ยวข้อง คือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW), ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และไทยพีบีเอส ถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบติดตามสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อร่วมกันขยายผลการทำงานร่วมกัน โดยดำเนินการแลกเปลี่ยน โดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Q: แต่ละท่านคิดว่า ระบบติดตามความรุนแรงมีความสำคัญอย่างไร ?

A: ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถ้าเราดูภาพรวมความพยายามติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในลักษณะที่มีการเตือนปรากฏการณ์ที่อาจจะส่อให้เกิดความรุนแรงนั้น  ผมกล้าพูดได้เลยว่าฐานข้อมูลแบบนี้ในสังคม ไม่ใช่เฉพาะบ้านเราหรือแม้แต่ในต่างประเทศเองก็ยังให้ความสำคัญน้อย ลงทุนน้อยมาก ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากดูจากข้อมูล รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และทีมวิจัย เก็บข้อมูลความรุนแรงจะเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตรวม 354 ราย ซึ่งแม้แต่ชีวิตเดียวก็ไม่ควรจะสูญเสีย ในขณะเดียวกันถึงแม้เรามีระบบที่บอกเป็นฐานข้อมูลแล้ว ข้อมูลจะยังไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเราแค่รู้ แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ข้อมูลตรงนี้ไปเชื่อมต่อกับการตัดสินใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงนโยบาย หรืออาจต้องนำไปสู่การปฏิบัติในระยะสั้น ที่เมื่อรู้ว่าต้องเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว จะต้องทำอะไร อย่างไร หรืออาจจะต้องเป็นการปฏิบัติในระยะยาว เช่น การแก้กฎหมาย  

ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อฟังข้อมูลความรุนแรงหลายอันมีความซ้อนทับกันอยู่บ้าง เห็นประโยชน์ว่า กสม. จะศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ด้วย เพราะโดยหน้าที่ของกรรมสิทธิมนุษยชน ต้องรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเสนอต่อรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) จะต้องเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายในระยะยาวต่อไปและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งต่อสาธารณะชนเป็นรายงานที่จะต้องทำในทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากสื่อ จากรายงานที่เป็นข้อมูลร้องเรียนการละเมิดสิทธิต่าง ๆ หรือจากการเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนที่จะต้องมาให้ข้อมูลเมื่อมีการตรวจสอบขึ้น  โดยสำนักเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษย์ชน นอกจากนั้นยังมีสำนักส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษย์ชน

โครงการพัฒนาฐานข้อมูลความรุนแรงที่ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรให้ความสำคัญก็คือทำอย่างไรที่เราจะอยู่กับสาเหตุของความรุนแรงต่างๆทั้งหลายก็ล้วนมาจากการที่เราไม่เคารพในความแตกต่างหลากหลาย ทำอย่างไรที่เราจะมีเคารพความแตกต่างหลากหลาย ทำอย่างไรที่เราจะมีการรณรงค์ในคนได้ตระหนักถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพ วัฒนธรรมของผู้อื่น ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มาก ๆ ในสังคมไทย

A: มูหามัดเปาซี อาลีฮา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  ถ้าเรามีความมุ่งมั่นที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ การพัฒนาฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็น   ผมขอเล่าประสบการณ์อยู่ภาคใต้ ทำงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในพื้นที่ก็จะเปิดบริการรับเรื่องร้องเรียนกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก 2457 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ทุกท่านคงทราบดีว่าในพื้นที่ยังคงมีการบังคับใช้อยู่ตลอดเป็นระยะเวลา 17 -18 ปี ต่อเนื่องมา ต้องยอมรับว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นลักษณะ ถ้าเป็นยา ยาค่อนข้างที่จะมีอนุภาพแรง และผลของการใช้ยามีผลข้างเคียงค่อยข้างจะแรงจนส่งผลต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

ช่วงแรกมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มีบทบาทมากในงานที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เข้าถึงในสิทธิต่าง ๆ ที่เขาควรจะได้รับพอทำไปทำมาปรากฎว่า ข้อค้นพบที่เราทำงานมีอะไรหลายอย่าง ที่เราสามารถที่จะสะท้อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นในเชิงนโยบายหรือในเชิงที่จะนำไปใช้เป็นงานรณรงค์เพื่อให้สาธารณชนทั่วประเทศมีความตระหนักรวมว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขเพื่อให้สามารถที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน

พอทำงานไปทำมาสักพักมีความรู้สึกว่าอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราจะสามารถดึงออกมาใช้ประโยชน์ได้ แต่เราไม่มีทักษะในการเรื่องของการพัฒนาฐานข้อมูล เราไม่มีทักษะในเรื่องของการที่จะดึงข้อค้นพบต่าง ๆ ที่เราทำงานมาเป็นระบบข้อมูลเพื่อที่จะสามารถส่งต่อให้กับองค์กรอหน่วยงาน หรือกับสังคมต่าง ๆ สามารถมาใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบที่เราทำ เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ภาคใต้มันไม่ได้นับที่บันไดโรงพัก แต่มันนับก่อนหน้านั้น รวม ๆ ก็ประมาณ สามสิบห้าวันก่อนที่จะถึงบันไดโรงพัก ซึ่งตนเองคิดว่ามันมีอะไรพิเศษในมุมของการใช้อำนาจ แต่ไม่ได้พิเศษในมุมของคนที่ถูกใช้อำนาจสำหรับชาวบ้านในพื้นที่

พอการทำงานในตอนหลัง เราพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มน้อง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มสำนักงาน เพื่อมาดูในเรื่องนี้ และก็มีการพัฒนามาต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดเรามีการดึงหัวข้อต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่มีการปิดล้อมตรวจค้นจากช่วงแรก ๆ ของการบังคับใช้กฎหมายไปจนถึงขั้นตอนของการเยียวยา ซึ่งเราแบ่งทั้งหมดเป็นลักษณะที่เป็นเหมือนรถไฟแบ่งเป็นโบกี้

โบกี้แรก ตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคล คนทั้งหมดที่เรารับเรื่องร้องเรียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.จะมีการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด ข้อมูลฐานครอบครัว ลูกเมียอะไรต่าง ๆ

โบกี้สอง เป็นในส่วนของขั้นตอนการบังคับใช้ด้านความมั่นคง ว่าเขาถูกควบคุมตัวที่ไหนกี่วัน อะไรอย่างไร ระยะเวลาต่าง ๆ

โบกี้สาม จะอยู่ในช่วงชั้นสอบสวน ป.วิ อาญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อหาในคดีขั้นตอน ป.วิ อาญา อย่างที่บอกมันไม่ได้นับตอนที่บันไดโรงพัก แสดงว่าเนื้อหาที่เป็นสำนวนคดีอะไรต่าง ๆ มันมาก่อนหน้าคดีที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นโรงพัก และจะเห็นว่า คดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันก็ถูกสร้างแพทเทิร์นมาจากชั้นกฎอัยการศึกและพ.ร.ก. ฉะนั้นการเข้าไปโบกี้ที่สามก็จะเป็นในส่วนของชั้นศาล ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา และสุดท้ายจะไปลงที่ว่าทั้งหมดได้รับการเยียวยามากน้อยแค่ไหน เพราะว่าจากที่เราทำงานจะเห็นได้ว่า พรบ. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเยียวยา ถ้าเป็นคดีด้านความมั่นคง โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้การเยียวยาตาม พรบ. เท่าที่ควร เพราะจะมีปัญหาในเรื่องของการพิพากษาของศาลว่าถ้าคดีไหนที่ศาลวิพากษาแล้ว คดียกฟ้อง แต่เห็นว่าคดีนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์ในความสงสัยในจำเลยจึงวิพากษาคดียกฟ้อง

“ลักษณะที่เป็นคดีแบบนี้ที่ผ่านมา คือจำเลยที่ได้รับการยกฟ้องจะไม่ได้รับเยียวยา ซึ่งตนเองมองว่าข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเราแกะออกมาพัฒนาฐานข้อมูลมันสามารถที่จะทำเป็นลักษณะงานแคมเปญหรือทำรายงานทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปรับปรุง โดยเฉพาะในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม”

ตอนนี้กำลังพัฒนาฐานข้อมูลอยู่ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณปลายปีน่าจะเผยแพร่ได้ และจากฟังข้อมูลเรื่องความรุนแรงของศูนย์มานุษยวิทยา ในอนาคตคิดว่าสามารถที่จะมาแชร์กันในบางเรื่องบางประเด็นที่เป็นลักษณะงานข้อมูลในพื้นที่ภาคใต้ได้ หรือการหนุนเสริมกันได้ให้เห็นถึงมิติความรุนแรงที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่สำหรับตนไม่ได้ยอมรับกฎหมายที่ไปส่งเสริมเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือข้อมูลสามารถที่จะทำให้เป็นพลังเพื่อให้กฎหมายเหล่านี้สามารถที่จะทำอย่างไรเพื่อให้มันถูกปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่ยกเลิกก็ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ดูเนื้อหาต่าง ๆ สามารถที่จะนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองสิทธิมากขึ้น

A: อานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ตอนก่อนตั้ง iLaw เราไม่ได้ตั้งใจทำฐานข้อมูลตั้งแต่แรก แต่พออาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันมีปัญหาย้อนกลับไป พ.ร.บ. ฉบับเก่าปี 50 ที่มันยังมีมาตราหนึ่งที่สามารถเอามาใช้ดำเนินคดีพวกคดีหมิ่นประมาทได้กรณีที่มีการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ หลังปี 50 ทาง iLaw เริ่มทำข้อมูลจริงจังเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์การบังคับใช้ และติดตามคดีที่มีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จนตอนหลังเลยมีการพัฒนาศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีขึ้นมา

ซึ่งวัตถุประสงค์ที่เราทำศูนย์ข้อมูลนี้เพราะเราว่าการรณรงค์ทั้งหลาย เราสามารถให้ข้อคิดเห็นของเราได้ แต่ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงการรณรงค์ของเราก็อ่อนไป

“ในโลกทุกวันนี้เราเข้าไปโซเชียลทุกคนต่างมีความเห็นกันหมด แต่ถ้าเราเถียงเฉพาะความคิดเห็นโดยที่ไม่เคยมีข้อเท็จจริง สุดท้ายจะไม่นำไปสู่อะไร เพราะความเห็นของเราน่าจะถูกที่สุด”

การมีข้อเท็จจริงเข้ามามันช่วยทำให้การพูดคุยมันพอจะเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่มีความขัดแย้งสุดท้ายถ้ามีข้อเท็จจริงบางอย่างมาก็พอจะยอมรับอะไรบางอย่างร่วมกันได้ก็เลยเกิดเป็นเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพ  

เราเชื่อว่า ถ้าเราพูดข้อเท็จจริงเป็นหลักในสังคมสุดท้ายเราจะสามารถนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายได้ เพราะว่าการที่ iLaw ติดตามคดีเราไปนั่งติดตามการพิจารณาคดีในชั้นศาลเราไปดูกระบวนการทั้งหมดทั้งตอน record และ off record ถ้าใครเคยไปศาลจะเห็นว่าระหว่างที่กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินไป ศาลก็จะบันทึกเอกสารชุดนึง แต่ว่าจะมีหลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นแล้วมัน off record ถ้าคุณไม่ได้นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีคุณจะไม่เห็นปรากฎการณ์นั้น ๆ คุณจะเห็นแค่ตัวหนังสือที่ศาลบันทึกออกมา ซึ่ง off record ตรงนั้นเรามองว่าเป็นสิ่งสำคัญการที่เราได้เห็นบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีการโต้ตอบที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคือสิ่งที่สำคัญที่เราคิดว่าเราจะต้องไปบันทึกเก็บมันเอามาไว้

นอกจากการไปทำงานในศาลแล้วการทำงานในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกในอดีตเรายังเคยไปหาข้อมูลในเรือนจำที่มีโทษคดี 112 จำเลยคดี 112 ที่ติดคุกในช่วงก่อนคสช.ยึดอำนาจ เราเคยเข้าถึงไปสัมภาษณ์ไปพูดคุย และสุดท้ายหลังจากที่เราติดตามข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่องก็เลยมีการทำเว็บไซต์ขึ้นมา เพื่อที่จะจัดระเบียบข้อมูลเนื่องจากการติดตามคดีนึงกระบวนการมากมาย คนที่ทำข้อมูลอาจจะไม่จำเป็นต้องไปทุกกระบวนการเพราะจะมีสื่อที่ค่อยรายงานข่าว แต่สิ่งที่ขาดในเวลานั้นโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการติดตามสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกหรือการจำกัดเสรีภาพของประชาชนก็คือมันไม่มี one stop service

นักวิจัยถ้าอยากจะรู้เรื่องนี้คุณต้องไปค้นเว็บไซต์หรือหนังสืออีกมากกว่าที่จะได้มา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามทำในตอนนั้นคือการไปรวบรวมข้อมูล รวมถึงข้อมูลที่เราไปเก็บในสนามและมาประมวลเป็นที่เดียวกัน

สิ่งที่เราได้ตลอดทางโดยเฉพาะในยุคที่การรัฐประหารของ คสช. การไปติดตามคดีมันไม่ได้สอนเราแค่ให้ข้อมูลหรือความรู้คดี แต่เราได้ไปเห็นกระบวนการอื่น ๆ เช่นตอนที่มีการประกาศให้คดีบางประเภทไปอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารเราได้เห็นการทำงานของศาลทหารปัญหาหลาย ๆ อย่าง หลังจากที่เก็บข้อมูลมาก็เอาข้อเท็จจริงตรงนั้นมาทำงานเชิงรณรงค์แล้วข้อมูลที่เราเก็บมาได้เข้าใจว่าก่อนเริ่มเวทีนี้ มีการพูดถึงกันว่าการเก็บข้อมูลไม่ใช่แค่เก็บ คุณจะนำเสนอต่อสังคมยังไง เราเคยถึงขั้นไปนั่งสังเกตการณ์พิจารณาคดีที่ศาลทหารเราเห็นปรากฎการณ์ เราเอามาทำเป็นบทละครมีการจัดเวทีเรื่องของศาลทหาร

ในเชิงนโยบายสิ่งที่เราเคยทำมา และก็เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จอาจจะไม่สุด คือเรื่องการนำเสนอกฎหมาย ตลอดเวลาที่เราไปสังเกตการณ์คดีติดตามสถานการณ์ในยุคคสช. เราเก็บข้อมูลทั้งการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไปที่บ้านประชาชนคนที่แสดงออกทางการเมืองด้วยเหตุผลอะไรใด ๆ ก็แล้วแต่โดยไม่มีหมายหรืออะไรเลยว่าคุณไปทำไม จากการเก็บข้อมูลตรงนั้นสุดท้ายเราเลยจัดทำร่างกฎหมายชิ้นนึงขึ้นมาชื่อว่าร่างกฎหมายยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.บางฉบับที่ไม่จำเป็น หรือที่ทาง iLaw เรียกชื่อเล่นว่า “กฎหมายปลดอาวุธคสช.” แต่กว่าที่ร่างกฎหมายฉบับนั้นจะทำขึ้นมาได้เกิดจากการที่เราไปติดตามสถานการณ์ ติดตามเรื่องของคดี ติดตามเรื่องของการใช้อำนาจรัฐ ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการคุกคามเอามาประมวลแล้วเราก็เอามาสรุป ว่าเท่าที่เราไปติดตามสถานการณ์มามันมีปัญหาข้อกฎหมายอะไร

สุดท้ายเราก็ต้องทำเสนอยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ฉบับใดบาง และร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เพิ่งได้เข้าสู่สภาไปเมื่อภายในปีนี้ ผมกับคุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ยังไปนำเสนอต่อสภาในวันที่เราเอาร่างกฎหมายเข้าไป แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการรับร่างเข้าไปสู่การพิจารณา

“ ข้อเสนอเชิงนโยบายอะไรก็แล้วแต่มันไม่สามารถทำได้โดยปราศการข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นในการที่มีฐานข้อมูลหรือการทำงานกับข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเป็นพื้นฐาน และหลังจากที่เรามีฐานที่มั่นคงมันจะนำเราไปไหนต่อก็ได้”

ทีนี้สถานการณ์ความรุนแรงอีกรูปแบบนึง คือการตีความคำว่าความรุนแรงมีหลายระดับ ตอนช่วงแรกที่พูดถึงเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้ามองด้านนึงก็เป็นความรุนแรงการที่คนคนนึงถูกเอาไปจำกัดเสรีภาพเพียงเพราะเขาพูดหรือแสดงความคิดเห็นบางอย่างโดยที่ไม่ได้เอาปืนไปยิงใครไม่ได้ทำร้ายร่างกายใคร ในมุมของตนคิดว่าเป็นในเรื่องของความรุนแรงในรูปแบบหนึ่ง

พอมายุคในช่วงปี 63-64 เริ่มมีกระแสของผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ กลุ่มใหญ่ที่อาจจะคุ้นชื่ออย่าง “ราษฎร” อันนี้เป็นอีกชุดข้อมูลนึงที่เราไปติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องของการชุมนุมจนสุดท้ายทาง iLaw ร่วมกับ แอมเนสตี้ พัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลในเว็บขึ้นมาชื่อ Mob Data Thailand ช่วงแรกเราตั้งใจจะพัฒนาเว็บไซต์นี้เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพ.ร.บ.ชุมนุมคือในช่วงที่เราติดตามสถานการณ์ในยุคคสช. การชุมนุมจัดแทบไม่ได้เลยเพราะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.3/58 พอคุณจะชุมนุมเขาบอกเราผิดมาตรา 44 แต่พอเข้าสู่กระบวนการจะเลือกตั้งแล้วพลเอกประยุทธก็ยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.บางฉบับรวมถึงเรื่องของการห้ามชุมนุม

ตอนนั้นการจำกัดเสรีภาพทางการชุมนุมก็เหลืออยู่ที่กฎหมายฉบับเดียวเป็นหลักแต่ว่ามันก็จะมีกฎหมายอื่น ๆ ด้วยก็คือพรบ.ชุมนุม ซึ่งพรบ.ชุมนุมเราก็เห็นว่ามันมีปัญหาในการบังคับใช้ในหลาย ๆ กรณี เราก็เลยคิดว่าทำฐานข้อมูลขึ้นมาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมเลยว่าตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานมีผู้ชุมนุมมาประมาณกี่คนเป็นประเภทไหน จากนั้นก็ไปในข้อมูลเชิงลึกว่าปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่การตอบโต้ของผู้ชุมนุมเป็นอย่างไร เราก็จะมีทีมไปลงมอนิเตอร์สนามและมีทีมที่คอยประมวลข้อมูลจากภาคสนามไปสู่เว็บไซต์หรือว่าการรายงานต่อไป

ทีนี้สถานการณ์เปลี่ยนตอนแรกเราตั้งใจจะใช้ฐานข้อมูลเป็น fact based สำหรับรณรงค์เรื่องพ.ร.บ.ชุมนุม ปรากฏว่าเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กลายเป็นว่าเราต้องไปดีลกับประเด็นใหม่มันมีเรื่องการพ.ร.ก.ฉุกเฉินในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมเพิ่มขึ้นแทน และหลังจากนั้นพอสถานการณ์พัฒนามาปี 64 เราเริ่มเห็นกระบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ หรือที่คนทั่วไปเรียกในชื่อของทะลุแก๊สคือการชุมนุมที่อาจมีการใช้ปะทะตรงมีการตอบโต้เจ้าหน้าที่โดยการใช้พลุหรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้

เราเริ่มมีการพยายามไปเก็บข้อมูลซึ่งอันนี้ตนคิดว่าเป็นการทำงานเชิงข้อมูลเพื่อที่อาจจะไม่ได้บอกว่ายุติแต่เป็นความพยายามที่คลี่คลายสถานการณ์บางอย่าง และก็อาจจะนำไปสู่การป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคต เราไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและตัวผู้ชุมนุมเพื่อจะดูว่าก่อนที่ผู้ชุมนุมคนนึงจะตัดสินใจเลือกใช้วิธีนี้ ซึ่งมันมีราคาค่อนข้างสูงอาจจะถูกจับและก็ติดคุก บางคนอาจจะถูกตำรวจใช้ความรุนแรง

ก่อนที่มาจุดนี้มันมีอะไรมาก่อน ถ้าเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาเลวร้ายสิ่งสำคัญเลยก็คือว่าก่อนที่มันจะมาถึงจุดนี้มันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเพราะถ้าไม่มีการไปศึกษาตรงนี้ ไม่มีการไปเก็บข้อมูล เราไม่มีทางจะป้องกันหรือว่าจะลดความรุนแรงได้เพราะต้นเหตุไม่ได้ถูกคลี่คลาย คุณจับคนนี้ไปสุดท้ายจะมีคนใหม่ที่เขาเจอปัญหาแบบนั้นแล้วเขาเลือกใช้วิธีนั้น

ฉะนั้นสิ่งที่ทำเราพยายามจะคลี่คลาย ทีม iLaw ต้องทำงานหนักมากเพราะต้องลงไปในพื้นที่สถานการณ์ที่ดินแดงไปลุยแก๊สน้ำตาไปเผชิญความเสี่ยงและเขาก็ค่อยข้างเครียดกับการต้องไปเผชิญกับสถานการณ์นั้น แต่ว่าสิ่งที่ได้มาเราคิดว่ามันมีคุณค่ามากเลย เรามีข้อมูลข้อเท็จจริงบางอย่างที่จะบอกเล่ากับสังคมอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดเป็นมุมหนึ่งที่อย่างน้อยคนในสังคมได้เอามันไปฟังและเอาไปเลือกตัดสินใจ รวมถึงผู้มีอำนาจ เพราะเว็บไซต์ของ iLaw เราทำอย่างเปิดเผยและทุกคนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้

การทำฐานข้อมูลประเด็นเรื่องความรุนแรงจึงสำคัญมาก เพราะว่าถ้าไม่มีชุดข้อมูลไม่มีข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงอาจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ทั้งหมดแต่อย่างน้อยมันมีพื้นฐานบางอย่างในเราหยิบมาพูดคุยแต่ถ้ามันไม่มีการทำตรงนี้ให้มันเป็นเรื่องเป็นราวสุดท้ายเราจะคุยในเรื่องของความคิดเห็นไม่จบและความรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะไปต่อได้

A: กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ส่วนตัวเห็นด้วยในการจัดทำระบบฐานข้อมูลการติดตามความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่เรื่องของความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นเรื่องที่จำเป็น สมาชิกของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของผลกระทบที่ได้รับจากการประกาศใช้นโยบายและกฎหมายในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่คณะผู้วิจัยโครงการความรุนแรงฯ ได้ศึกษาและชี้ให้เห็นว่าประเด็นปัญหาตรงนี้อยู่ในอันดับสองและถือว่ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น

สิ่งที่พวกเราวิเคราะห์กันนโยบายการอนุรักษ์ของประเทศเราเป็นลักษณะที่มีการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจมันเป็นการจัดการเชิงเดี่ยว ใช้รูปแบบการอนุรักษ์ที่ตายตัวไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวน ขณะที่การอนุรักษ์ในรูปแบบในสากลมีหลายรูปแบบซึ่งเขายอมรับกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการร่วมกัน หรือการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน สิ่งเหล่านี้บ้านเราก็ไม่ค่อยนำมาส่งเสริมและพัฒนา

นอกจากรูปแบบไม่เปิดกว้างแล้ว นโยบายในเรื่องของการจัดการทรัพยากรยังมุ่งจำกัดสิทธิของชุมชน และในเรื่องของการจำกัดการพัฒนาด้วย อย่างที่พวกเราทราบว่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าการที่จะพัฒนาไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า หรือการสร้างบ้านถาวรอะไรต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าอยู่ในเขตป่าและก็อยู่ภายใต้กฎหมายการอนุรักษ์ป่าไม้หลาย ๆ ส่วน ซึ่งกฎหมายใหม่เอง แม้การจะสร้างบ้านเราก็ต้องไปขออนุญาตอธิบดีแบบนี้เป็นต้น

มากไปกว่านั้นในกฎหมายฉบับใหม่มีการเพิ่มบทลงโทษค่อยข้างที่จะรุนแรง ถ้าเรามองดูแล้วทิศทางในเรื่องของการประกาศใช้เรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรบ้าน ถ้ายังเป็นทิศทางแบบนี้ ตนมองว่าความขัดแย้งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะว่าตัวกรอบนโบายกฎหมายเป็นกรอบที่ออกแบบมาแบบนี้ ซึ่งถ้าพูดง่าย ๆ รูปแบบแบบนี้มันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในการหาอยู่หากินพึ่งพาทรัพยากรป่าไม้

“ถ้าพูดถึงเรื่องของแนวทางออกหรือว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต้องเข้าไปแก้ตัวกฎหมายตัวนโบายเหล่านี้ให้มันเอื้อกับวิถีชีวิตของพี่น้องที่อยู่ในเขตป่า รวมทั้งนำเสนอรูปแบบใหม่ ๆ ที่มันเหมาะสมกับวิถีชีวิต แต่ว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ยาก”

ดังนั้นถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างใหญ่ สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่คงจะยังไม่หมดและคงจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้เป็นทิศทางที่เราทำนายได้โดยไม่ยาก

กิจกรรมอันหนึ่งที่ทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองพยายามจะทำในแง่ของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตัวนึงที่พวกเราคิดว่าอย่างน้อยจะช่วยให้มีข้อมูลชัดเจนมากขึ้น นั่นก็คือระบบฐานข้อมูลของชุมชนที่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ตอนนี้พวกเรากำลังพัฒนาอยู่ยังไม่เสร็จ ข้อมูลที่พวกเราทำพยายามเอาข้อมูลชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยในเขตป่าไม่ว่าจะเป็นป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าอะไรต่าง ๆ เราพยายามรวบรวมออกมาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะรวบรวมได้และไปศึกษาดูว่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าเหล่านี้ เขามีกิจกรรมในเชิงการอนุรักษ์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าการจัดการทำแนวกันไฟ การจัดทำฝายชะลอน้ำ หรือว่าการทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน การจัดทำกฎระเบียบในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งเราพยายามที่จะประมวลว่าชุมชนเหล่านี้มีอะไรบ้างที่ชาวบ้านพยายามทำเองเพื่อที่ตัวเองจะสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ และพยายามเก็บข้อมูลเชื่อมโยงไปในตัวนโยบายและกฎหมายที่ลงไปกดทับหรือว่าอาจจะนำไปสู่เรื่องของการสร้างความขัดแย้งผลกระทบกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการสำรวจรางวัดที่ดินตามพ.ร.บ.กฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ที่มีอยู่

ยังมีชุมชนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจซึ่งภายใต้กฎหมายฉบับใหม่มองว่าชุมชนที่ไม่ได้รับการสำรวจเหล่านี้ต่อไปก็จะมีปัญหา เพราะเมื่อไม่มีการสำรวจและไม่มีการรับรองในการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน ถึงแม้จะเป็นสิทธิชั่วคราวยี่สิบปี ต่อไปก็จะมีเปอร์เซ็นต์ที่จะถูกจับกุมหรืออะไรก็แล้วแต่จะไม่ได้รับการคุ้มครอง คือเราพยายามที่จะเก็บข้อมูลสิ่งเหล่านี้รวมทั้งข้อมูลที่ชุมชนเข้าไปทำมาหากิน เก็บหาของป่า เก็บหาอาหารอะไรต่าง ๆ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า วิถีปกติของชุมชนเป็นอย่างนี้ และกฎหมายชุดใหม่ที่ออกมาจะนำไปสู่เรื่องของการสร้างเงื่อนไขและก็นำไปสู่เรื่องของทำให้ชุมชนอยู่ลำบากขึ้นอย่างไรก็คงจะเป็นระบบฐานข้อมูลที่พวกเราอยากจะทำและอยากจะใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในแง่ของการที่จะใช้เป็นข้อมูลในเชิงที่จะรณรงค์ด้วยที่จะทำให้เห็นว่า ถ้ามีการบังคับใช้จริงจังตามระเบียบนี้ชุมชนเขาก็จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และอาจจะเสนอเป็นรูปธรรมจากฐานข้อมูลที่เรามีอยู่แล้วว่าชุมชนเองเขาก็มีคุณูปการในแง่ของการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างไร

เราพยายามที่จะรวบรวมฐานข้อมูลนี้ออกมาและจะรณรงณ์ในเห็นว่าแนวทางการอนุรักษ์ที่เหมาะสมมันไม่ใช่การอนุรักษ์ที่เอาชุมชนออกจากป่า เราพยายามที่จะทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์มันต้องไปควบคู่กับเรื่องของชุมชนสามารถที่จะอยู่รวมกันได้ และให้บทบาทของชุมชนในเชิงที่จะอนุรักษ์และก็จัดการทรัพยากรใน

ขณะเดียวกันเขาก็มีสิทธิในแง่ของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านั้นด้วยในเรื่องของการล่อเลี้ยงและก็การดำรงชีวิตของพี่น้องของตนเอง นี่คงเป็นตัวอย่างที่อยากจะแชร์ในเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องของข้อมูลและประโยชน์ที่ทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองพยายามที่จะทำปรับให้มันออกมาเป็นรูปธรรม คิดว่าอาจจะมีส่วนเรื่องของการที่จะไปเชื่อมกับงานที่ทางศูนย์มานุษยวิทยาทำอยู่  

A: สมเกียรติ จันทร์สีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ตอนนี้ทุกหน่วยงานทำข้อมูลกันหมดเลย ผมเห็นโอกาสที่ศูนย์มานุษยวิทยาจะเป็นแกนกลางในการเชื่อมฐานข้อมูลของส่วนต่าง ๆ รวมถึงทุกหน่วยงานที่คุยกันอยู่บนเวทีนี้ทำสื่อกัน ฉะนั้นนิยามคำว่า “สื่อ” ไม่ได้อยู่แค่องค์กรสื่อแล้ว ถ้าเราจะนับองค์กรเหล่านี้เป็นสื่อก็มีการจัดการอย่างเป็นระบบที่น่าจะเกิดภาพทั้งการสื่อสารและฐานเครือข่ายที่ใหญ่สมควร

ส่วนไทยพีบีเอส ข้อมูลของสื่อกระแสหลักเองไม่ได้มาจากแค่นักข่าวที่เป็นมืออาชีพ แต่มาจากคนทั่วไปที่เป็นนักข่าวพลเมืองด้วย อันนี้ผมเห็นความเชื่อมโยงที่ลงไปสู่เรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของฐานข้อมูลตัวนี้อีกชั้นนึงด้วยซ้ำว่าความเป็นจริงแล้วพี่น้องที่ลุกขึ้นมาสื่อสารส่วนนึงก็มีแรงจูงใจมาจากปัญหาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น ฉะนั้นนอกจากที่เราเห็นความรุนแรงเห็นปัญหาในเชิงจำนวนนับแล้ว ส่วนตัวคิดว่ามันจะมาช่วยอีกชั้นนึง ภายในตัวโครงการที่ทำอยู่คือการอธิบายมันในเชิงคุณภาพอย่างที่เราพูดถึงในเรื่องของภาพรวมของตัวเหตุที่เกิดขึ้น กับสองอธิบายกลับไปถึงต้นทางของปัญหา วิเคราะห์รากมันจริง ๆ แล้วปัญหาคืออะไร อย่างเรื่องพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ต้องบอกว่าถ้าเราศึกษาดี ๆ ปัญหาอัตลักษณ์มันเกิดขึ้นมาจากที่ไม่มีพ.ร.บ.ที่มันสอดคล้องกับวิถีของคน แต่คำถามคือคนในสังคมเข้าใจเรื่องนี้หรือเปล่า

ที่ผ่านมายังไม่มีการอธิบายอย่างเป็นระบบนี่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราจะเข้าใจเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอยู่มาเกือบยี่สิบปีมันเป็นต้นเหตุความรุนแรงในพื้นที่อย่างไร คิดว่านี่คือจุดสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้นและจะช่วยยกระดับคนในสังคมได้

“ข้อมูลตัวเลขทีมอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ดูแล้วข้อมูลของกทม.ความรุนแรงมันไม่น้อย แค่รองจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจริง ๆ คนกรุงเทพฯ ก็อยู่กับความรุนแรงมาจนคุ้นชิน”

แล้วเข้าใจว่าพี่น้องในสามจังหวัดเจออะไรมาบ้างในช่วง 20 ปี อันนี้คือการเชื่อมโยงข้อมูลทำให้เราได้มองเห็นภาพที่เชื่อมโยงเราเข้ากับตัวสังคมเข้ากับภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม นี้คือเป้าหมายสำคัญของการสื่อสารสาธารณะ ทำให้เราเห็นเป้าหมายร่วมกันว่าเราต้องช่วยกันทำให้ตัวสิ่งที่เรียกว่าฐานข้อมูลของประชาชนมันเติบโตและทำหน้าที่ในการอธิบาย อย่างน้อยทำให้เราเข้าใจสภาพของสังคม เข้าใจปัญหาเข้าใจรากของมันเข้าใจวิถีชีวิตเห็นคน เห็นประเด็น เห็นชุมชน เห็นพี่น้องที่นั่งอยู่ตรงนี้ ด้วยว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น อันนี้คือจุดที่เราเห็นประโยชน์จากตัวโครงการนี้

คิดว่าอีกส่วนหนึ่งการเชื่อมโยงตัวฐานข้อมูลหรือตัวโครงการลงไปสู่พี่น้องเป็นส่วนสำคัญอาจจะหมายถึงความยั่งยืน หมายถึงรูปธรรมของการใช้ประโยชน์งานระบบเฝ้าระวังที่เกิดขึ้นและทำให้สร้างการยอมรับในระดับต่าง ๆ ด้วย น่าจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่เราต้องทำต่อนอกเหนือจากการมองที่ตัวบทบาทของสื่อ

อยากเปิดประเด็นนี้ไว้เพราะคิดว่าน่าจะช่วยให้งานตรงนี้มันสานต่อได้ ในส่วนขององค์กรแบบไทยพีบีเอส ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คล้าย ๆ กับองค์กรสื่อทั่ว ๆ ไปในขานึงก็คือทำหน้าที่ในการรายงานข้อมูล แต่ว่าเราต้องรายงานข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะว่าในสภาพแวดล้อมที่เราเจอแต่ความคิดเห็นผู้ร่วมสังคมก็ตาม ตนคิดว่าเราต้องค้นหาให้เจอเรื่องข้อมูลข้อเท็จซึ่งถามว่าอะไรคือข้อมูลข้อเท็จจริง สิ่งที่โครงการนี้ทำอยู่คือข้อมูลข้อเท็จจริง เราเห็นภาพตั้งแต่ต้นจนถึงปลายเข้าใจบริบทของมันได้ว่าสังคมกำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไร ใครบ้างที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้

A: อภินันท์ ธรรมเสนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) การทำระบบติดตามความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อันดับแรกมีความสำคัญในเชิงวิชาการเพราะว่าถ้าเราสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและดีพอ เราจะสามารถเอาข้อมูลอันนั้นมาประมวลแล้วก็สามารถวิเคราะห์ให้เห็นว่าแนวโน้มหรือว่าปัจจัยเงื่อนไขอะไรที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งมันก็จะช่วยที่ให้เราสามารถที่จะเข้าใจปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากที่เป็นกายภาพอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดมาจากปัจจัยที่เป็นเชิงโครงสร้างที่เราสามารถจะไปขับเคลื่อนในเชิงการแก้ไขปัญหาต่อไปได้ อันนี้คือความสำคัญเชิงวิชาการที่เราคิดว่าทำระบบนี้ขึ้นมาแล้วจะทำให้เรามีข้อมูลมากพอที่จะประมวลออกมาเป็นองค์ความรู้ เป็นแนวโน้มอะไรบางอย่างได้ อันดับต่อมาความสำคัญของฐานข้อมูลนี้มันจะมีความสำคัญต่อเนื่องไปอีกในเรื่องของการที่เราจะใช้ความรู้ที่เรามีอยู่ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

แน่นอนว่าการทำงานเชิงนโยบายเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเขียนทุกอย่างขึ้นมาจากการสมมุติ แต่ว่าทุกอย่างที่เราเขียนขึ้นจากการทำข้อเสนอเชิงนโยบายต้องเขียนจากข้อเท็จจริงและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะทำเรื่องที่เป็นเชิงนโยบายคงต้องมีข้อมูลมากพอที่จะสนับสนุนสิ่งที่เราเสนอได้ เพราะสิ่งที่เรานำเสนอมันมีปรากฎการณ์จริงอยู่ มีผลจริงอยู่ ถ้าเราสามารถทำได้จะทำให้สารข้อมูลเหล่านี้ช่วยทำให้เรากำหนดทิศทางเชิงนโยบายได้ดีขึ้น อันนี้คิดความสำคัญข้อที่สองสำคัญเรื่องของฐานข้อมูล

ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับเครือข่ายคนทำงานหรือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการมีฐานข้อมูลแบบนี้มันจะเป็นคล้าย ๆ เหมือนสองทาง คือทางนึงทำให้เป็นที่รวมรวบและเรารู้ได้เลยว่าตรงไหน พื้นไหนจะมีความรุนแรงมากขึ้น หรือมันจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อย และเราจะสามารถสร้างกลไกแบบเครือข่ายในการที่ป้องปราบความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ไหม

อีกด้านนึงในแง่ของการทำงานเชิงเครือข่ายจะเป็นไปได้ไหม ถ้าระบบเปิดแบบนี้มันจะสามารถที่เชื่อมโยงได้และสามารถที่จะทำงานด้วยกันได้ หรือข้อมูลที่มันจะมาจากหลากหลายฝ่ายที่จะเป็นไปได้ไหมที่จะร่วมกันและก็สามารถที่จะเอามาเชื่อมโยงกันจนสามารถเป็นฐานข้อมูลแบบที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันแล้วมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มันจะทำให้เกิดความเป็นเครือข่ายการทำงานที่จะทำให้ข้อมูลนั้นถูกเอามาใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่ทำแล้วเก็บ ทำแล้วเอาไปไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์

ประเด็นต่อมาที่จะยกให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในกรณีของศูนย์มานุษยวิทยา กำลังขับเคลื่อนพ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ จริง ๆ แล้วพ.ร.บ.ฉบับนี้หลายคนก็คาดหวังและรอคอยเมื่อไหร่จะทำออกมาสำเร็จ แต่ว่ากระบวนการการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนจะร่างออกมาเป็นกฎหมายเป็นตัวอักษร 44 มาตราที่เสนอเข้าไปที่ครม.มันก็มาจากการทำงานวิจัยเพื่อจะทำข้อมูลมหาสาร เช่น มีการไปรีวิวดูกฎหมายระหว่างประเทศพูดเรื่องนี้พูดอย่างไรบ้างในต่างประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราดูว่าเคสที่เกี่ยวเนื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ต้องได้รับผลกระทบในปัจจุบันนั้นมีกี่เคส เราพบว่ามีมากกว่า 2,000 เคสเป็นเคสที่เกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นลักษณะที่เราเอามาใช้ในการทำข้อเสนอเชิงนโยบายได้ และเป็นข้อมูลเชิงสนับสนุนให้เห็นว่า ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นมันจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมลงได้ อันนี้เป็นข้อมูลที่เราเอาไปใช้ในการสนับสนุนข้อเท็จจริงให้กับฝ่ายนโยบายยอมรับกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นที่มาว่าทำศูนย์มนุษยวิทยาถึงให้ความสำคัญมาก หรือว่าสนับสนุนโครงการลักษณะแบบนี้

ถ้าเราสามารถทำระบบให้มันดีมากพอ มีกระบวนการที่เชื่อมโยงเครือข่ายกัน เพื่อให้ฐานข้อมูลมีคุณภาพมีข้อมูลที่หลากหลายก็จะทำให้การใช้ประโยชน์มันหลากหลายมากยิ่งขึ้น

Q: ก้าวต่อไปของเรา ควรจะเป็นอย่างไร  เรา (ส่วนงาน) จะทำอะไรเพื่อที่จะลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยไปด้วยกัน

A: ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ร่วมเสวนาได้แตะประเด็นที่มีความสำคัญมากๆ เวลาเราพูดถึงการทำฐานข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เราบอกว่าจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เห็นร่วมกันถึงความเป็นเจ้าของอะไรต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นระบบเปิดที่เราจะสามารถมาแบ่งปันระหว่างกันตรงนั้น ผมคิดว่าจะเป็นลักษณะเครือข่ายอย่างไรที่เราจะแชร์กันตรงนั้น เรื่องเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาฐานข้อมูลพอเรามีข้อมูลแล้ว ข้อมูลในตัวของมันเองจะทำอะไรต่อนั้น

ผมนึกถึงประสบการณ์ช่วงเกือบหนึ่งปีที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ข้อมูลอันแรกที่คิดว่าจะสามารถทำให้ระยะสั้นได้เลยก็มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เราเห็นแล้วว่าอาจจะมีแนวโน้มที่อาจจะกลับสู่ความรุนแรง เพราะฉะนั้นบทบาทที่สำคัญของกรรมการสิทธิฯ ซึ่งมันเคยมีในรัฐธรรมนูญ 42 ก็คือคือเรื่องของการไกล่เกลี่ยขอพิพากษ์ประนีประนอมอะไรต่าง ๆ และพอมาในพ.ร.บ. 2560 มันก็ถูกตัดออกไป แต่อย่างไรก็ตามทางองค์กรสิทธิระหว่างประเทศเองเขาเห็นบทบาทสำคัญตรงนี้ของกรรมการสิทธิฯ ว่าจะเป็นบทบาทสำคัญหนึ่งของกรรมสิทธิฯ และก็เป็นข้อเสนอที่สำคัญในการที่จะถือว่าเป็นดัชนีอันนึงที่จะปรับสถานะของกรรมการสิทธิฯ ว่าจะต้องผลักดันกฎหมายให้ยอมรับบทบาทในการที่จะไกล่เกลี่ยข้อพิพากษ์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากประเทศไทยเรามีกฎหมายพ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยอะไรต่าง ๆ อยู่แล้ว ทางส่วนงานราชการก็พยายามจะอ้างว่ามีอยู่แล้วใช้กฎหมายตัวนั้นต่าง ๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ตนคิดว่าเป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งที่ผ่านมาเราก็พยายามที่จะเรียกร้องตรงนั้นและพยายามทำ  

ผมอยากจะยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเคสโครงการผันน้ำยวม ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  มูลค่า 76,000 ล้าน แค่ทำ EIA เกือบ 100 ล้าน เราได้รับเรื่องร้องเรียนเพื่อไปตรวจสอบเนื่องจากชาวบ้านมีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ไปกระทบต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรม รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมอะไรต่าง ๆ ไม่ได้มี   เราก็ฟังทั้งในส่วนของกรมชลประทานที่เป็นต้นเรื่อง และก็ต้องไปรับฟังชาวบ้าน เพราะฉะนั้นเราไปแล้วเราเห็นแนวโน้มเลยว่าโครงการนี้ถ้าเราไปแค่ฟังมีแต่ข้อมูลแล้วไม่ทำอะไร ชาวบ้านที่เป็นปลายทางอยู่ที่อ.ฮอด แม่งูด เชียงใหม่ บอกเลยว่าเข้ามาเมื่อไหร่ตาต่อตาฟันต่อฟัน

สิ่งที่เราพยายามจะทำได้หลังจากมีข้อมูลระดับหนึ่งแม้ว่าจะไม่ลึกมากเพราะยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบกลับจากการไปพูดคุยแล้วเราก็ทำหนังสือถึงประธานนโยบายน้ำเลยว่าจากการไปตรวจเบื้องต้น เราพบว่ามันมีปัญหาในเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะฉะนั้นขอให้ท่านได้ชะลอ ตอนนั้นกำลังจะเข้ากรรมการนโยบายน้ำซึ่งมีพลเอกประวิตรเป็นประธาน ประธานกรรมสิทธิเราก็ทำหนังสือไปเลย ซึ่งลักษณะแบบนี้ตนคิดว่ามันเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่เวลาเรามีข้อมูลแล้วมีสถานการณ์แล้ว มีแนวโน้มที่เราเห็นแล้วว่าอาจจะนำสู่ความรุนแรง ในสิ่งเฉพาะหน้าในระหว่างการตรวจสอบเราก็สามารถที่จะทำอะไรได้ตรงนี้

ประเด็นเรื่องของระยะยาวเหมือนที่ iLaw พยายามบอกในเรื่องของการแก้กฎหมายเป็นเรื่องยาวมากกระบวนการสภาอะไรต่าง ๆ ในกรรมการสิทธิมนุษยชนเองเราก็มีสำนักกฎหมายซึ่งจะเป็นเรื่องการมองการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างระยะยาวต่าง ๆ ซึ่งตรงนั้นก็ต้องว่ากันไป   

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ถ้าเราได้แชร์ข้อมูลกันซึ่งกันและกัน กรรมการสิทธิมนุษยชนเองบางทีก็มีข้อมูลซึ่งอาจจะไม่ได้ลงลึก แต่เราก็จะสามารถที่จะพูดคุยที่มันมีความรอบด้านในบทบาทหน้าที่ที่เราได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาให้ข้อมูล เพราะฉะนั้นการที่เราแบ่งปันตรงนี้ คิดว่าเราจะเห็นทั้งในข้อมูลในแนวกว้าง ข้อมูลในแนวลึกมันจะเป็นประโยชน์ในการที่เราจะนำไปรณรงค์ก็ดีนำสู่การแก้ไขปัญหาที่จะลดความรุนแรงอะไรต่าง ๆ ก็ดีที่เป็นเป้าหมายสำคัญจุดหมายปลายทางของการมีฐานข้อมูลตรงนั้น

A: สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส  จากข้อมูลของทีมวิจัยอ.ประจักษ์ กลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรง ถ้าศัพท์เรียก Operator แต่ศัพท์ที่อ.สุชาติพูดเรียก Regulator คือคนควบคุม กำลังคิดว่าหรือจริงๆ เราควรจะต้องทำโครงสร้างในแนวราบมี Regulator ที่ค่อยคุมความรุนแรงที่เป็นภาคส่วนต่าง ๆ ขึ้นมาอีกชั้นนึง อันนี้คือคนที่ทั้งเก็บและใช้ข้อมูลจริง ๆ  ที่คิดแบบนี้เพราะเราเริ่มเห็นโครงสร้างแนวระนาบมันทำงานได้ดีกว่าแนวดิ่งที่ผ่านมา ส่วนของงานวิจัยหรือของโครงการการทำงานมันมีโครงสร้างชัดเจน แต่พอถึงขั้น Regulator อาจจะตัดขว้างด้วยชุดทำงานซึ่งทำหน้าที่เมื่อมันมีสัญญาณมาแล้วแทนที่จะรอให้ความรุนแรงมันเกิด แต่วิธีการส่งสัญญาณทางกรรมสิทธิก็อาจจะมีเครื่องมือ ทางสื่อก็อาจจะมีเครื่องมือ iLaw ก็อาจจะมีเครื่องมือของตนเอง ซึ่งอันนี้มันสามารถจะจัดการได้เร็วกว่าที่ให้มันเกิดแล้วแล้วค่อยมา warning ทีหลัง ซึ่งหมายถึงว่าองค์กรเหล่านี้ถ้าเราเกิดยิ่งขยายเพื่อนให้เยอะเราอาจจะได้การระดมทุนเข้ามาเพื่อให้ตัวฐานข้อมูลมันเดินต่อไปได้มันเชื่อมเรื่องของฐานข้อมูลเรื่องของทุนกับเรื่องของความร่วมมือที่จะไปผลักให้ลดความรุนแรง

A: มูหามัดเปาซี อาลีฮา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  

ข้อมูลสามารถที่จะมาตัดวงจรความรุนแรงได้ เพราะต้นต่อความขัดแย้งทั้งหมดที่เราพูดถึง ถ้าเราวิเคราะห์ความขัดแย้งมันจะมีหลายระดับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ต้องมาจากคนที่มีอำนาจเป็นต้นตอทำให้ความขัดแย้งที่เราพูดถึงทั้งหมดมันบานปลายจนก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง

“การใช้อำนาจจนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ความไม่พอใจต่อคนที่ถูกใช้อำนาจจนก่อให้เกิดการเรียกร้องการต่อสู้ขึ้นมา ในขณะเดียวกันถ้าพื้นที่ทางการเมืองในการเรียกร้องในการต่อสู้มันเปิดการใช้ความรุนแรงมันจะน้อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พื้นที่ทางการเมืองมันไม่เปิดประตูที่จะไปสู่การใช้ความรุนแรงมันก็จะมาแทนที่”

ที่นี้พอมาใช้วิธีการแบบนี้คนที่มีอำนาจโดยเฉพาะรัฐเองจะใช้วิธีการโดยส่วนใหญ่แบบปากเปล่าเพื่อที่จะยุติการต่อสู้กันเรียกร้องอันนั้น พอปราบปรามมันก็จะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ความรู้สึกความไม่เป็นธรรมใหม่สะสมเข้ามาอีก ซึ่งเงื่อนไขเดิมก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข มันก็ถูกสะสมมาจากเงื่อนไขใหม่กลายเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นว่าวิธีคิดของคนที่คิดแก้ไขปัญหา ณ วันนี้ดูแค่เฉพาะหน้าเพื่อให้มันจบในช่วงระยะสั้นเท่านั้น

“วิธีคิดการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามันกำลังสร้างมรดกให้กับลูกหลานในอนาคตลุกขึ้นขัดแย้ง ลุกขึ้นต่อสู้ใช้ความรุนแรง คือผมว่าคน generation นี้ กำลังสร้างมรดกให้กับลูกหลานซึ่งต้องลุกขึ้นมาใช้วิธีการที่มันรุนแรงโดยที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

ถ้าเราสามารถเดินหน้าต่อการพัฒนาฐานข้อมูล อันนึงที่น่าสนใจคือข้อมูลเหยื่อผลกระทบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรง น่าจะสามารถนำไปยับยั้งสร้างจิตสำนึกหรือการปรับวิธีคิดอะไรต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การใช้มาตรการต่าง ๆ ให้มันลดน้อยลงในการใช้ความรุนแรง

A: อานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่าการเชื่อมโยงข้อมูล เข้าใจว่าหลาย ๆ ที่ก็ทำข้อมูลของตัวเองที่เป็นสาธารณะอยู่แล้ว อย่างเช่น iLaw ทุกอย่างอยู่บนเว็บทั้งหมด แต่อาจจะมีสิ่งหนึ่งที่พอทำร่วมกันได้ แต่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นที่ต้องมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบแบบนั้น เพราะเอาเข้าจริงแต่ละองค์กรแต่คนก็มีวิธีคิดการมองข้อมูลที่แตกต่างกัน มันไม่ได้เป็นข้อเสียอาจจะเป็นโอกาส มุมมองที่ต่างกันมาเจอที่เดียวกัน แล้วมาแชร์กันว่าเราเห็นอะไร

ส่วนในประเด็นเรื่องของความรุนแรง คิดว่าจะทำอย่างไรวิธีคิดเรื่องการสื่อสาร ข้อมูลที่เราเก็บมาเราจะสื่อสารด้วยรูปแบบไหนบ้างกับผู้ชมกลุ่มไหน เรื่องเนื้อหาที่เราจะคัดสกัดมาจากข้อเท็จจริงก็เป็นอีกประเด็นนึงที่เราอาจจะต้องคุยกันในอนาคตเพื่อรณรงค์ความรุนแรง อย่างเช่น ตัวแทนความรุนแรงศูนย์ทนายความมุสลิมแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องของการใช้อารมณ์มนุษย์ อาจจะสื่อสารให้คนบางกลุ่มจิตนาการว่าถ้าเรา ตัวเขาเป็นผู้ถูกกระทำมันจะเป็นอย่างไรนั่นก็เป็นทางเลือกนึง  

แต่ในขณะเดียวที่เราเจอเวลาไปสัมภาษณ์นักกิจกรรมหลายคนจะรู้สึกโกรธมาก ถ้าเรานำเสนอเขาในลักษณะของเหยื่อเพราะเขารู้สึกว่าเลือกแล้วที่เขาจะออกมา มันก็อาจจะมีวิธีการนำเสนอประเด็นหลายอย่างในขณะเดียวกันผู้ชมเองก็มีความหลากหลายและมีความซับซ้อนมากเลย ซึ่งคิดว่าในอนาคตถ้ามีการได้มาแชร์ประสบการณ์เพราะตนเชื่อว่าในแต่ละองค์กรที่นั่งอยู่หรือองค์กรอื่นที่ไม่ได้มาแต่เขาทำอยู่ เขามีกลุ่มผู้ชม เขามีวิธีคิดเขามีนำเสนอต่าง ๆ เหล่านั้นมาแลกกันว่าคุณเคยทำคุณเคยนำเสนอประเด็นนี้กับกลุ่มไหนแล้วผลตอบรับเป็นอย่างไรก็อาจทำให้เราได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้นกับการที่แต่ละคนต่างทำงานด้วยวิธีเดิม ๆ ด้วยความเคยชินแล้วสุดท้ายมันอาจจะเป็นในสิ่งที่เราคิดว่าดี แต่มันอาจจะไม่ดีก็ได้

คิดว่าในอนาคตถ้ามีการจัดแลกเปลี่ยนหรือว่าอาจจะมีการเซ็ตประเด็นร่วมกันมา เช่นปีนี้ศูนย์มานุษยวิทยาหรือว่าทางนักวิจัยจะทำประเด็นนี้ใครจะเข้ามาร่วมอะไรกันตรงไหน ต่างฝ่ายอาจจะได้ประเด็นไปพัฒนางานของตัวเองได้มากขึ้นสุดท้ายประโยชน์ก็จะอยู่ที่สาธารณชน

A: สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส  ระบบที่ไทยพีบีเอสพัฒนาขึ้นมาทำงานร่วมกันในโครงการนี้ คือะระบบ C-Site นักข่าวพลเมือง จะคุ้นเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ให้นักข่าวพลเมืองได้พัฒนาเนื้อหาขึ้นมาเพื่อจะเชื่อมต่อ  ระบบ C-site  กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มซึ่งจะเป็น feature ที่กำลังจะเปิดตัวเดือนหน้า เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรไทยพีบีเอสกับ Citizen Foundation ที่ Island ซึ่งมีโปรเจคชื่อ Your priority โปรเจคนี้จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสามารถให้คนทั่วไปเข้ามาเสนอไอเดีย เสนอแนวคิดคนหรือชุมชนแล้วก็ใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อคอมมูนิตี้ต่าง ๆ ในสังคมและก็สามารถเชื่อมต่อไปยังฝ่ายนโยบาย คือทำให้มีเครื่องมือที่จะระดมความคิดของคนในสังคมทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพและก็เชื่อมต่อไปยังฝ่ายนโยบาย ซึ่งเราก็จะมีเครื่องมือตัวนึงที่ parliament talks ก็คือมีวงที่ทำให้เราได้คุยกับภาครัฐได้อย่างสม่ำเสมอ

ผมคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่เสริมตัวงานตัวโครงการได้ด้วยส่วนหนึ่ง คือเราสามารถที่จะกำหนดประเด็นหรือดึงเอาประเด็นที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาสื่อสารเพราะจริง ๆ โดยภารกิจของไทยพีบีเอสก็คือการสื่อสารสาธารณะ ระบบนี้จะเข้ามาช่วยเสริมให้หนึ่งมันมีท่อที่จะเชื่อมอย่างไม่เป็นทางการ แต่มีความสม่ำเสมอได้ สองท่อนี้ก็จะเชื่อมต่อกลับไปยังชุมชนตัวคนทั่วไปด้วย จริง ๆ กับหน่วยงานด้วย ทุกวันนี้ สื่อหลักไม่ได้มีพลังกำหนดวาระเหมือนยุคก่อน แต่ว่าวิธีการที่เราทำอยู่คือเราทำตัวเป็นแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ให้กับส่วนอื่น ๆ เข้ามาใช้และก็ยังใช้ในแง่ของความน่าเชื่อถือของสื่อที่ยังพอเหลืออยู่เป็นตัวที่จะเชื่อมทำให้เกิดประเด็นสาธารณะ คิดว่าอันนี้จะเป็นเครื่องมือนึง ยินดีที่เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเรื่องนี้มากกว่า

A: กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตัวระบบข้อมูลเรื่องของการติดตามความขัดแย้งหรือว่าผลกระทบจริง ๆ แล้ว ข้อมูลที่สำคัญอีกด้านหนึ่งอย่างเช่น เรื่องของทรัพยากรก็อยากจะย้ำว่า ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับชุมชน คือข้อมูลในแง่ของบทบาทของชุมชนในการดูแลและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพราะข้อมูลในส่วนนี้จะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญและเห็นถึงบทบาทของชุมชนว่าถ้าไม่มีชุมชนมันจะมีปัญหาอะไรบ้างและมันจะเกิดอะไรขึ้น

ข้อมูลส่วนนี้มีความสำคัญ น่าจะทำข้อมูลในจุดนี้ให้เป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนสามารถที่จะเอาไปใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในแง่ของการที่จะนำไปสู่การผลักดันการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ที่หลาย ๆ ชุมชนเป็นห่วงอยู่ก็คือ การบังคับใช้กฎหมายลูกในเรื่องของการจัดการทรัพยากรหรือว่าการจัดการป่าไม้โดยเฉพาะมาตรการที่ 64 65 และประเด็นอื่น ๆ อีกซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าถ้ากฎหมายมันออกมาแล้วมันจะนำไปสู่การปฏิบัติการ และถ้ามันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมันก็จะสร้างปัญหาและก่อให้เกิดผลกระทบแน่นอน

ข้อมูลเหล่านี้ต้องรีบและก็ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายลูกของกฎหมายป่าไม้อีกหลายฉบับที่จะออกมา ถ้าส่วนไหนที่มันจะมีปัญหามีผลกระทบก็น่าจะมีการชะลอหรือว่าน่าจะมีการรับรองความคิดเห็น และก็น่าจะมีการปรับให้มันเหมาะสมกับชุมชน ซึ่งแน่นอนถ้ามีการทำแบบนี้ได้จริงก็จะลดปัญหาความขัดแย้งได้ แต่ถ้าสมมุติว่าไม่มีอะไรเลยมันออกมาตามช่องทางของมันก็แน่นอนชุมชนเองก็ต้องรับมือกับปัญหาที่ตามมาก็อาจจะเป็นปัญหาที่มากกว่าเดิม

ส่วนระยะยาว ทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองเองอยากจะเห็นว่ามันมีการนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ในเชิงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างในระดับนโยบายและกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าใช้เวลายาวพอสมควรแต่ก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะอย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและก็ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ส่วนความร่วมมือทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองยินดีที่จะทำงานประสานกับทุกกลุ่ม ทุกเครือข่ายที่สนใจที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยในเรื่องของการที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของการอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรมในประเทศไทยได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ