“ประจักษ์” เผยผลติดตามความรุนแรงในไทย พบคู่ขัดแย้งรัฐกับประชาชนสูงสุดและเหยื่ออายุน้อยลงเรื่อย ๆ

“ประจักษ์” เผยผลติดตามความรุนแรงในไทย พบคู่ขัดแย้งรัฐกับประชาชนสูงสุดและเหยื่ออายุน้อยลงเรื่อย ๆ

เผยผลการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย หลังวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบความรุนแรงเชิงอัตลักษณ์ครองแชมป์ ความรุนแรงทางการเมืองมีแนวโน้มเพิ่ม ขณะที่ความขัดแย้งด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมถ้าจัดการไม่ดีส่อเค้าบานปลาย ชี้คู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนมากที่สุด พ่วงกลุ่มผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และเหยื่อมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดเวทีสาธารณะนำเสนอผลงานโครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทยขึ้นครั้งแรกต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565   โดยงานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ UNDPสหประชาชาติ  

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่าโครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย คือการพัฒนาฐานข้อมูลหรือ Big Data ที่ประเทศไทยขาดแคลนอย่างยิ่งคือ ฐานข้อมูลที่จะทำให้เข้าใจเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย ซึ่งการที่ทีมวิจัยฯ มาพัฒนาข้อมูลในตอนนี้ ถือว่าช้ามาก เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ที่ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบมานานแล้ว แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย   

โดยทั่วไปเราคุ้นเคยว่าใกล้สงกรานต์ จะมีรายงานข่าวทุกปีว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงสงกรานต์แต่ละปี จะมีผู้บาดเจ็บเท่าไหร่ เสียชีวิตเท่าไหร่ จังหวัดไหนสูง จังหวัดไหนต่ำ ฐานข้อมูลบนความรุนแรงบนท้องถนนนั้นทำให้ผู้ออกแบบนโยบายหรือคนที่จะวางแผนป้องกันจะรู้ว่าตรงไหนคือจุดเสี่ยง และเกิดในช่วงเวลาไหน   สิ่งที่เราอยากจะทำเกี่ยวกับฐานข้อมูลความรุนแรง ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน  โดยถ้าสามารถมีระบบข้อมูลทั้งประเทศที่เก็บอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาครัฐจะมีฐานข้อมูลที่ทำให้รู้ว่าพื้นที่เสี่ยง (hotspot) ของสังคมไทยอยู่ตรงไหน จุดไหนที่จะเกิดความรุนแรงซ้ำ ๆ  ความรุนแรงในเรื่องอัตลักษณ์ การเมือง หรือสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร จะมีขึ้นช่วงเวลาไหนของปีที่มักจะเกิดความรุนแรงปะทุขึ้น และกลุ่มไหนบ้างที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งในแง่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง หรือบางกลุ่มที่อาจจะปรากฎซ้ำ ๆ ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง การมีระบบข้อมูลจะทำให้เรามีแผนที่ และก็มีความรู้ที่เราจะพอคาดการณ์ได้ แม้ว่าจะไม่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์

“จังหวัดหนึ่งมีความรุนแรงสูงมากในปีนี้ ไม่ได้หมายความว่าปีหน้าจะเป็นแชมป์ของความรุนแรงเสมอไป ถ้าเรารู้ล่วงหน้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เสี่ยงก็ลงไปศึกษาเชิงลึก ความขัดแย้งที่สะสมมาเกิดจากอะไร เราอาจจะช่วยป้องกันได้ทันท่วงที จังหวัดนั้นจากที่เคยเป็นแชมป์ของความรุนแรงก็อาจจะกลายเป็นพื้นที่ที่สุขสงบสันติได้ในเวลาต่อมา”  

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า  ทีมงานได้ศึกษาความรุนแรง 3 ประเภท  1.ความรุนแรงทางการเมือง นิยามว่า เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในการต่อสู้ เพื่อปรับเปลี่ยนกติกา ระบบการเมือง รัฐบาลและการครอบครองอำนาจรัฐ

2.ความรุนแรงทางอัตลักษณ์หมายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่มีประเด็นเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา  ภาษา หรือเพศสภาพ 

3.ความรุนแรงทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมายถึง ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งจากการใช้ แย่งชิงหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ โดยทรัพยากรหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หรือมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า พืชป่า น้ำ อากาศ แร่ธาตุ พลังงานธรรมชาติ และที่ดิน ซึ่งเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ประเทศไทยในระยะหลัง และจากแนวโน้มข้อมูลที่เราเก็บ ความรุนแรงประเภทนี้ อันตรายเพราะเมื่อสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้น อัตราความยากจนสูงขึ้น ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตจะทำให้ความรุนแรงประเภทที่ 3 ทวีความหนักหน่วงมากขึ้น เพราะทรัพยากรทรุดโทรมลง ร่อยหรอลง แต่ปริมาณคนไม่ได้ลดลง การแย่งยิงที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ถ้าไม่ได้แก้ไขอย่างถูกต้องจะบานปลายไปเป็นความรุนแรงได้ในอนาคต

โดยกระบวนการทำงาน คือการเก็บข้อมูลจากสื่อหลัก 5 แหล่งคือ   หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, สำนักข่าวประชาไท, ผู้จัดการ, มติชน และไทยพีบีเอส  จากนั้นทีมวิจัยจะอ่านอย่างละเอียด และกรอกข้อมูล ว่าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอะไรบ้างในแต่ละเดือน ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นเหยื่อ มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตกี่คนในเหตุการณ์นั้น   ข้อมูลเหล่านี้จะถูกประมวลผลโดยทางโปรแกรม C-Site ที่ ThaiPBS พัฒนาขึ้นมา  นอกจากข้อมูลจากสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ เรายังใช้ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชน NGO ที่ทำงานเฉพาะในเรื่องนั้น ๆ เช่น NGO ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็อาจจะมีข้อมูลที่ละเอียดกว่าสำนักข่าว ซึ่งเราเอามาเสริมในฐานข้อมูลด้วย เพื่อให้ได้ลงลึกไปถึงสาเหตุที่มา การคลี่คลายของความขัดแย้ง อคติ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ตรงไหนบ้าง

นอกจากนั้น ในแต่ละปี ทีมวิจัยจะเลือกกรณีศึกษาของความรุนแรงในแต่ละด้าน เพื่อลงไปศึกษาเชิงลึก   โดยลงพื้นที่ภาคสนามไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ไปสัมภาษณ์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว เรียบเรียงเป็นรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เช่น กรณีความขัดแย้งที่บ้านบางกลอย กรณีบิลลี่

นายณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน หนึ่งในนักวิจัยฯ กล่าวว่าความรุนแรงทั้ง 3 ด้าน ตั้งแต่พ.ศ. 2560- กุมภาพันธ์ 2565 (สีแดง แทนด้วยความรุนแรงเชิงอัตลักษณ์ สีน้ำเงิน ความรุนแรงเชิงการเมือง สีเขียวความรุนแรงเชิงสิ่งแวดล้อม)

พบว่าในระยะกว่า 5 ปี มีความรุนแรงทั้งหมด 873 ครั้ง เป็นความรุนแรงเชิงอัตลักษณ์มากที่สุด 443 ครั้ง รองลงมาการเมือง 348 ครั้ง และสิ่งแวดล้อม 82 ครั้ง

“ถ้ามองที่อัตลักษณ์ จะเห็นแนวโน้มบางอย่างมีแนวโน้มลดลง แต่ถ้าเราดูในปี 2561 สูง 132 ครั้ง จากนั้นก็ค่อย ๆ ลงมา จนในปี 2564 เหลือ 52 ครั้ง   ส่วนทางการเมือง กราฟก็จะไปในทางตรงกันข้ามกับอัตลักษณ์ ทางการเมืองเริ่มเก็บปี 2560 สูง 32 ครั้ง หลังจากนั้น 2561 ถึงปี 2564 สูงสุด 97 ครั้ง สิ่งแวดล้อม ตัวเลขทรง ๆ  สูงสุด 27 ครั้ง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรายละเอียดในแต่ละปีพบว่า ปี 2560 มีความรุนแรงทั้ง 3 ด้าน รวม 133 ครั้ง ความรุนแรงเชิงอัตลักษณ์สูงสุด 86 ครั้ง พบว่า 84 ครั้งเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดแดนใต้ ร่วมกับพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลาที่มีพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับสามจังหวัดชายแดนภายใต้ ส่วนอีก 2 กรณีที่จังหวัดพังงา ตำรวจไปค้นบ้านผู้ต้องสงสัยซึ่งเชื่อมโยงว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกกรณีเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรณีของ “ชัยภูมิ ป่าแส” ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ส่วนความรุงแรงทางการเมือง 32 ครั้งพบว่า ช่วงต้นปีความรุนแรงอาจจะไม่มาก  ในช่วงมกราคม – มีนาคมมีเหตุการณ์ 5 ครั้ง ช่วงต้นปีในทางการเมืองจะมีการยิงนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่ง 3 กรณีเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  จากนั้นสูงขึ้นช่วงเมษายน – มิถุนายน 2560 ความสำคัญอย่างหนึ่งคือ ช่วงนี้จะมีคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกนำตัวไปปรับทัศนคติและก็จะมีการบุกค้นบ้านของนักการเมืองภาคเหนืออยู่หลายคน  ปลายปียังมีเหตุการณ์ระเบิดอีก โดยภาพรวมเหตุการณ์จะไม่กระจายทั่วประเทศ จะกระจุกตัวในกรุงเทพฯ เป็นหลัก แต่ก็จะมีความกระจายตัวมากกว่าในความรุนแรงเชิงอัตลักษณ์

ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม 15 ครั้ง กระจายไปทั่วประเทศเช่นกัน เป็นรูปแบบ 2 อย่าง ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ กับ ความรุนแรงที่เกิดจากการพยายามของชุมชนที่ต้องการต่อต้านนโยบายของรัฐ เช่น ในกรณี ที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มีความพยายามจะสร้างเขื่อนและมีความพยายามจะสกัดกั้นชาวบ้านที่ต้องการไปประท้วงที่กรุงเทพฯ และมีกระบวนการที่จะไม่ให้ไปใช้สิทธิที่กรุงเทพฯ และเรียกไปปรับทัศนคติกันด้วย

ปี 2561 ความรุนแรงทางอัตลักษณ์สูง 132 ครั้ง ยังกระจุกตัวอยู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดสงขลา  

ส่วนความรุนแรงทางการเมือง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 69 ครั้ง  ต้นปีมีความรุนแรงพอสมควร มกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 มีความสอดกับข้อมูลในปี 2560 คือนักการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกยิงอีกแล้ว เป็นนักการเมืองท้องถิ่นจากสามจังหวัด กลางปี จะเป็นเรื่องการชุมนุมมีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีคนถูกปรับทัศนคติ จนช่วงปลายปี สิงหาคม กันยายน ตุลาคม ตัวเลขก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง เดือนธันวาคมจะเป็นช่วงที่มีการประกาศการเลือกตั้งทำให้มีความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นจะมีเหตุการณ์ที่พรรคการเมือง นักการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลคสช. ถูกไปเยี่ยมบ้านถูกไปติดตามถูกค้นบ้าน อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เข้าสู่หมวดการเลือกตั้ง

อีกอย่างที่เดือนธันวาคม 2561 สูงสุด พอเข้าสู่หมวดการเลือกตั้งแล้วมีการทำลายป้ายของผู้สมัครพรรคการเมืองทำให้ตัวเลขเลยสูง อาจจะไม่ใช่ความรุนแรงเชิงบุคคล แต่ว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินของผู้สมัครแต่ละคน

ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม 14 ครั้ง ยังมีการปะทะกันกับกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ที่ต่อสู้กับผู้ลักลอบตัดไม้ จะมีเจ้าอาวาสแกนนำท้องถิ่นในภาคอีสาน ถูกใช้ปืนข่มขู่ และความรุนแรงสิ่งแวดล้อมในส่วนของเชิงนโยบายของรัฐก็จะมีกลุ่ม PMOVE ที่จะพยายามจะเดินทางเข้ามาชุมนุมในประเทศแต่ก็ถูกสกัดกั้น

ปี 2562 ความรุนแรงด้านอัตลักษณ์ 119 ครั้ง ทีมวิจัยฯ เจอข้อมูลที่เป็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เจอในพื้นที่อื่น  

ส่วนความรุนแรงด้านการเมืองรองลงมา 62 ครั้ง การเมืองร้อนแรงมาตั้งแต่ปี 2561 พอเข้าสู่หมวดการเลือกตั้งก็จะแพทเทิร์นเดิมในปี 2562 คือมีการติดตามนักการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และมีการทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขช่วงมกราคม – มีนาคม ความรุนแรงด้านการเมืองเพิ่มมากขึ้น พอเมษายนสิ้นฤดูการเลือกตั้ง ความรุนแรงก็จะลดลง แต่ในความรุนแรงที่น้อยลงก็พบว่ามีความรุนแรงที่เฉพาะเจาะจงและมีความหมายมากขึ้น พบว่าหลังเลือกตั้งจะมีเคสของนักกิจกรรมทางการเมืองถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เรียกขนาดถึงเอาชีวิตได้เลย ประมาณ 3 กรณี 1.เอกชัย หงส์กังวานที่โดนรุมทำร้ายหลายครั้งมาก 2.จ่านิว 3.อนุรักษ์ เจนตวนิชย์  ซึ่ง แม้ตัวเลขจะน้อยแต่ความรุนแรงเฉพาะเจาะจงบุคคลค่อยข้างที่จะชัดเจนมากในช่วงหลังจากการเลือกตั้ง ส่วนความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม 12 ครั้ง   

ปี 2563 ประเด็นความรุนแรงด้านการเมืองขึ้นมาแซงในความรุนแรงด้านเชิงอัตลักษณ์ สีน้ำเงินขึ้นมาเป็น 83 ครั้ง ทีมวิจัยฯ ก็เห็นตัวเลขว่า ตัวเลขทางการเมืองเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 2563 เพราะมีปรากฎการณ์สำคัญก็คือเกิดแฟชม็อบในมหาวิทยาลัยแทบจะทั่วภูมิภาคของประเทศไทย เลยก็จะพบว่าในพื้นที่ชุมนุมในช่วงต้นปี กลางปีจะเป็นพื้นที่ในมหาวิทยาลัย ดูเป็นพื้นที่ปลอดภัยแต่ก็จะมีตัวของทหารตำรวจหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเองที่พยายามขัดขว้างการชุมนุมต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นในหลาย ๆ กรณี นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว ในโรงเรียนเองความขัดแย้งทางการเมืองก็ลงไปถึงโรงเรียน อย่างปรากฎการณ์ “โบว์ขาว” ที่นักเรียนมัธยม พยายามแสดงเชิงอัตลักษณ์ว่าต่อต้านรัฐบาล พบว่าในโรงเรียนเองก็จะมีเหตุการณ์ เช่น โรงเรียนพาตำรวจเข้ามาในโรงเรียนบ้าง เพื่อตรวจก่อนเข้าเรียน หรือว่ามีกระทั่งนักเรียนที่ไปชุมนุมก็ถูกครูติก็มี

ปลายปี ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นมากเพราะว่าช่วงปลายปีตุลาคม – พฤศจิกายน ความขัดแย้งเดิมที่ยังอยู่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมันเริ่มลงไปสู่ในท้องถนนมากขึ้น นำมาสู่การสลายการชุมนุมอยู่หลายครั้งโดนใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และมีการปะทะจับกลุ่มกันจากการชุมนุมทำให้ตัวเลขมันเพิ่มขึ้นปลายปีอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกส่วนจะเป็นเหตุการณ์เลือกตั้ง อบจ. ด้วย มีการทำลายป้ายตัวเลขจึงสูง

ความรุนแรงด้านอัตลักษณ์ลดลง 49 ครั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็มีอยู่สองกรณีที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ นักสิทธิชนเผ่าหญิง ชาวลาหู่ พยายามไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้คุกคามทำให้ทหารมาติดตามถามไถ่

ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม 27 ครั้งซึ่งมากกว่าทุกปี จะมีความขัดแย้งรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐขัดขว้างการชุมนุม อย่างกรกฎาคมสูงถึง 7 ครั้ง เป็นเหตุการณ์การรับฟังความคิดเห็นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ลงพื้นที่ไปเพื่อที่จะพูดคุยกับแกนนำชาวบ้าน คุยกับ NGO หรือคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนั้นที่จะนะ

ปี 2564 ความรุนแรงด้านการเมืองยังสูง 97 ครั้ง ในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นพื้นที่หลัก แต่เราจะเห็นความแตกต่างความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อีกอย่างเราก็จะเห็นว่ามีรูปแบบความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ความรุนแรงอาจจะอยู่แค่ระดับการใช้น้ำแรงดันสูงการปะทะกันเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในปี 2564 เริ่มจะมีการใช้กระสุนยาง ใช้แก๊สน้ำตามากขึ้น ช่วงต้นปีอาจจะไม่มาก แต่ช่วงปลาย ๆ ปีจะเห็นว่าสูงถึง 15-16 ครั้ง ในช่วงตุลาคมก็จะพบว่าช่วงนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดินแดง ที่มีการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระทะลุแก๊สกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ก็จะพบว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความรุนแรงมาก และเป็นความรุนแรงที่ต่อเนื่องยาวนานถึงสามเดือน และเป็นความรุงแรงที่ทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกันและตัวตำรวจก็มีอาวุธของตัวเอง ส่วนผู้ชุมนุมก็พยายามหาสิ่งต่าง ๆเพื่อที่จะมาตอบโต้อย่าไม่เกรงกลัว 

ในความรุนแรงด้านอัตลักษณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เหมือนเดิมยังเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีอีกสองกรณีที่เกิดขึ้นที่บางกรอยที่มีการจัดชาวบ้านออกจากพื้นที่

ส่วนความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมเราก็จะพบว่าในปี 2564 สิ่งแวดล้อมเคลื่อนตัวมาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจะนะเอง จากที่ปีก่อนอยู่ในพื้นที่ ปีนี้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม หรือว่าในตัวของสิ่งแวดล้อมที่ส่วนนึงมันทับกับเรื่องเชิงอัตลักษณ์ คือเรื่องบางกลอยก็ลงมาสู่ในกรุงเทพฯ เกิดการจับกุมผู้ชุมนุมหลายครั้ง ทำให้ปีนี้ความขัดแย้งจากข้างนอกเข้ามาในกรุงเทพฯ เรื่องสิ่งแวดล้อม

ปี 2565 สองเดือนที่ผ่านมา มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ความรุนแรงด้านการเมืองกับความรุนแรงด้านอัตลักษณ์เท่ากัน 5 ครั้ง ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม 1 ครั้ง อาจจะยังมองไม่เห็นสถานการณ์ที่ชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มบางอย่างที่เราพอจะบอกอะไรได้โดยเฉพาะในการเมืองการชุมนุมที่มีในลักษณะมีการนัดหมายกันอย่างชัดเจนเพื่อรวมตัวกันมาก ๆ น้อยลงแทบไม่มีเลย แต่จะเป็นในลักษณะที่จับกลุ่มกันแล้วไปแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์กับผู้มีอำนาจและก็จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น และอีกอย่างที่พบก็คือ ตัวของพื้นที่โดยเฉพาะต่างจังหวัดถ้ามีบุคคลระดับสูงทั้งการจากรัฐบาล เช่นตัวนายกไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดไหนก็จะมีตำรวจหรือทหารเข้าไปคุยกับนักกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งเขาอาจจะไม่ใช่นักกิจกรรมตัวยง แต่ว่าตัวเขาเคยทำกิจกรรมม็อบในปี 2564 ในจังหวัดของตัวเอง เขาก็จะถูกบล็อคก่อน ด้วยการบุกไปเยี่ยมที่บ้าน ตำรวจไปคุยกับญาติบ้าง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมีโอกาสจะเป็นแนวโน้มในปี 2565 หรือในกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ที่มีบุคคลสำคัญไปไม่ว่าจะเป็นงานรับปริญญาจะมีแนวโน้มอย่างนี้เยอะขึ้นก็จะมีการบล็อคบุคคลที่รัฐมองว่าจะเป็นอันตราย

ความรุนแรงด้านอัตลักษณ์ เหมือนปีที่ผ่านมา จะมีการปิดล้อมการยิงกัน และการวางระเบิดยังคงเหมือนเดิม ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่มีอะไรที่มันแตกต่างไปจากปีก่อน ๆ  

ดร.นิวดี สาหีม นักวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เราได้รู้ถึงรูปแบบความรุนแรงของช่วงระยะเวลากันแล้ว หากลองดูว่าถ้าความรุนแรงแสดงภาพในรูปแบบของของแผนที่เหตุการณ์ ความรุนแรงมันจะอยู่ลักษณะอย่างไร

สีเข้ม สูงสุดพบ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 428 ครั้ง ถัดมา ภาคกลาง พบความรุนแรง 226 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหตุการณ์การเมือง  รองลงมาภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก พื้นที่ที่ความรุนแรงต่ำสุดคือ ภาคตะวันออก

ถ้าดูรายจังหวัด 10 จังหวัดแรกที่มีความรุนแรงสูงสุด หนีไม่พ้นประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ในพื้นที่ภาคใต้สูงสุดคือปัตตานี รองมากรุงเทพ นราธิวาส ยะลา สงขลา ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องประเด็นอัตลักษณ์

กรุงเทพฯ จะเป็นเรื่องการเมือง ส่วนขอนแก่น เชียงใหม่ นนทบุรี พะเยา สุราษฎร์ธานีเป็นเรื่องประเด็นการเมืองเช่นเดียวกัน โดยเชียงใหม่ พบว่ามีเหตุความรุนแรงทั้ง 3 ประเภทอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

ถ้าดูในแต่ละประเภทจังหวัดมีความรุนแรงอย่างไร ในประเด็นของความรุนแรงด้านอัตลักษณ์จะพบว่าจังหวัดที่มีความรุนแรงสูงสุดคือปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา ส่วนเชียงใหม่ จะพบกรณีชัยภูมิ ป่าแส เพชรบุรี ส่วนพังงาเคสถูกตำรวจควบคุมตัวเพราะเหตุสงสัยที่จะนำไปสู่การก่อระเบิด ซึ่งบุคคลที่ถูกควบคุมตัวมาจากจังหวัดยะลา

ความรุนแรงด้านการเมือง จะกระจายตัวอยู่เกือบทุกภูมิภาค และสูงสุดอยู่ในกรุงเทพฯ รองลงมา ขอนแก่น นนทบุรี พะเยา ปัตตานีบางเคสเกี่ยวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็เชียงใหม่ สมุทรปราการ ปทมุธานี ชลบุรี และเชียงราย

ในส่วนของความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม สูงสุดเราจะเจอในจังหวัดกระบี่เป็นเรื่องของเจ้าหน้ารัฐไปเยี่ยมแกนนำที่ประท้วงเคสการต่อต้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ถัดมากรุงเทพฯ การประท้วงในพื้นที่เรียกร้องของนิคมอุตสาหกรรมจะนะเช่นเดียวกับกันจังหวัดสงขลา

ถ้าดูผลกระทบความรุนแรง จะเห็นว่าจาก 5 ปีของการเก็บข้อมูลจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากความรุนแรงทั้งหมด 354 ราย ซึ่งแบ่งเป็นเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการกระทำโดยการยิง 261 ราย ถูกระเบิด 53 ราย และเกิดจากเหตุการณ์ปะทะ 18 ราย ปิดล้อม 12 ราย ฆาตกรรม 4 ราย และอื่นๆ 6 ราย  

จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงห้าปีสองเดือนมีจำนวน 2,302 คน ซึ่งถูกกระทำในรูปแบบไหนบ้าง

โดยส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บจากการระเบิด 502 ราย รองลงมาถูกควบคุมตัว 333 ราย ยิง 223 ราย ปะทะ 81 ราย

“ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีกลุ่ม/องค์กรที่มีส่วนร่วมกับความรุนแรงใน 10 อันดับแรก อันดับหนึ่ง กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฟ.) 1,632 เคส อันดับสอง กลุ่มทะลุแก๊ส 262 เคส อันดับสาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 214เคส ไม่ระบุสังกัด 211 เคส กองทัพบก 159 เคส  ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น 104 เคส กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เคส  หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 จำนวน 76 เคส กรมทหารพรานที่ 43 จำนวน64 เคส การปกครองส่วนท้องถิ่นที่อำเภอเมืองปัตตานี 50 เคส เป็นที่น่าสนใจว่าถ้าเราดูกลุ่มองค์กรที่มีส่วนร่วมกับความรุนแรงส่วนใหญ่ก็จะเป็นหน่วยงานทางฝั่งภาครัฐ”

ทั้งนี้ถ้าดู 5 อันดับรูปแบบความรุนแรง พบว่า 1.รูปแบบความรุนแรงประเภทระเบิดสูงสุด 556 ราย  2.ยิง 484 ราย 3. ควบคุมตัว 333 ราย 4. ปะทะ 99 ราย 5. ขว้างปาสิ่งของ 61 ราย

รูปแบบความรุนแรงที่จำแนกแต่ละประเภท ความรุนแรงที่เกิดจากด้านอัตลักษณ์จะเป็นเรื่องของการระเบิดสูงสุด รองลงมาคือเรื่องการยิง และปิดล้อม ปะทะ ในขณะเดียวกันถ้าดูประเภทความรุนแรงการเมืองและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะเป็นการควบคุมตัว และการปะทะ ยิง ระเบิด

ผู้ใหญ่เสียชีวิต และลูกสาววัย 10 ปีได้รับบาดเจ็บ และอายุสุงสุด 82 ปี เป็นเคสที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์ปะทะซึ่งเขาเป็นเจ้าของบ้านที่ถูกควบคุมตัว ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ความรุนแรงด้านการเมืองพบเหยื่อความรุนแรงอายุต่ำสุด 14 ปี เคสเด็กผู้หญิงที่ยกป้ายหน้าพระบรมราชวังเมื่อปี 2564 ส่วนเหยื่อความรุนแรงอายุสูงสุด 77 ปี คือเคสอดีตพ่อของประธานอบต.ของจังหวัดปัตตานีถูกยิง ขณะกลับจากละมาด

ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม พบเหยื่อความรุนแรงอายุต่ำสุด 13 ปี เคสยิงแกนนำที่ต่อต้านเรื่องของกรณีสวนปาล์มจังหวัดกระบี่ น้องขับจักรยานยนต์อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวเลยกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนเหยื่อความรุนแรงอายุต่ำสุด 76 เคส เป็นเคสการแจ้งความของเจ้าอาวาสของนครพนม ว่ามีเหตุก่อกวนจากนายทุนที่ไปยิงข่มขู่เจ้าอาวาสที่จะไปตัดไม้ในพื้นที่ของวัดเป็นไม้พยุงจำนวนหนึ่งพันต้นเจ้าอาวาสก็ถูกข่มขู่โดยใช้ความรุนแรงโดยการยิงข่มขู่

นายเชาวน์วัฒน์ มูลภักดี นักวิจัยฯ มีข้อสังเกตว่าจากข้อมูลจำนวนมากแล้วในหลายประเด็นก็มีความทับซ้อนกันอาจจะต้องติดตามความสัมพันธ์กันต่อ

1. พื้นที่ความรุนแรงในประเด็นการเมืองและอัตลักษณ์มีการกระจุกตัวในพื้นที่เฉพาะสูงมาก อย่างอัตลักษณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ ถ้าการเมือง กรุงเทพฯ

2. ความต่อเนื่อง ประเด็นอัตลักษณ์ต่อเนื่องสัมพันธ์กับกรณีก่อน ๆ มากที่สุด รองลงมาคือการเมือง ส่วนสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยพบความรุนแรงต่อเนื่อง

3. ช่วง(ก่อน) เลือกตั้งวันสำคัญ ทั้งวันเลือกตั้งใหญ่ในปี 62 การเลือกตั้ง อบจ. อบต. ปี 64 เหตุการณ์สำคัญมีนัยยะต่อการติดตามความรุนแรงทางการเมืองและอัตลักษณ์ ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมไม่พบนัยยะสำคัญ

4. กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (เอกชน) ปรากฎชัดความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าประเด็นอื่น ๆ

5. การเหลื่อมซ้อนของประเด็นความขัดแย้งทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรง ประเด็นสิ่งแวดล้อมเหลื่อมกับอัตลักษณ์ 3 กรณี เหลื่อมกับการเมือง 4 กรณี ขณะที่ประเด็นการเมืองกับอัตลักษณ์ยังไม่พบกรณีที่เหลื่อมกันเองอย่างชัดเจน

6. ข้อเรียกร้องบางเรื่อง และพื้นที่บางพื้นที่อาจมีผลต่อวิธีการจัดการที่รุนแรง โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง

7. ในประเด็นการเมือง ข้อมูลปรากฎชัดว่ากลุ่มที่มีหน้าที่จัดการกับการชุมนุม และกลุ่มมวลชนอิสระ(ทะลุแก๊ส) มีส่วนในความรุนแรงสูงมาก

หลังจากนี้จะมีการเลือกประเด็นมาพัฒนาทางคุณภาพ วิธีการเลือกโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ การศึกษาข้อมูลต่าง ๆ นอกเหนือจากในเชิงปริมาณที่เก็บไปแล้ว กลุ่มทะลุแก๊ส ดินแดงจะเป็นประเด็นแรกที่ทีมจะเก็บภายในปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่อง

ความรุนแรงด้านอัตลักษณ์จะศึกษาในกลุ่มชาติพันธุ์ “ชัยภูมิ ป่าแส” ผลของเหตุการณ์นี้ต่อชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์ที่อาจจะไปเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่น

ความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นกรณีที่เราสนใจในปีนี้ จุดที่นำเข้าสู่ความสนใจคือการถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ซึ่งนำมาสู่การเหลื่อมซ้อนของประเด็นอีกสองประเด็นคือมีการปรากฎตัวแสดงทางการเมือง และมีการปรากฎของด้วยแสดงที่มีความขัดแย้งสำคัญประเด็นอัตลักษณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่นการปรากฎตัวของกลุ่ม BRN  

รศ.ดร.ประจักษ์ สรุปทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เราเห็นพื้นที่เสี่ยงแล้ว ในขณะเดียวกันเราเห็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดจากความรุนแรง หรือพื้นที่เสี่ยงที่กรุงเทพฯ รวม 3 ประเภทเป็นความรุนแรง 22% ของทั้งประเทศ แหล่งรวมศูนย์อำนาจรวมศูนย์ทรัพยากรแต่ก็รวมศูนย์ความขัดแย้งและปัญหาตามมาไปด้วย

ประการที่ 2 เราพบความรุนแรงทั้งสามรูปแบบก็คือ รัฐกับประชาชนอันนี้มากที่สุด นอกจากนั้นเราพบประชาชนกับประชาชนก็มีในด้านการเมืองในการปะทะกัน รูปแบบที่สาม คนไม่ค่อยนึกถึง เวลาเรานึกถึงความรุนแรงทางสังคมเรานึกถึงรัฐกับประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งแค่นั้น แต่มันมีตัวละครที่เกี่ยวกับพวกกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยที่ขัดแย้งกับประชาชน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ถือว่าพี่น้องที่มีความขัดแย้งด้านนี้ได้รับผลกระทบที่หนักที่สุดเพราะต้องไปเผชิญทั้งกับรัฐที่จะมาสร้างโครงการ บางทีเผชิญอำนาจกับกลุ่มทุน  และรัฐมาเข้าข้างกลุ่มทุน ก็ถือว่าเป็นรูปแบบความรุนแรงควรที่จับตา

ในแง่ผู้กระทำการเราเห็นแล้วว่ากลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงมากที่สุด เราเห็นจากกราฟโดดขึ้นมาเลยก็คือ บก.อคฝ. กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ตรงนี้มันทำให้ประเด็นที่เราจะต้องใคร่ครวญต่อไปคือทัศนคติของรัฐต่อประชาชน ในหลายประเทศคลี่คลายความรุนแรงตรงนี้ได้ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการความขัดแย้ง ในการควบคุมการชุมนุม ในการลดอคติต่อประชาชนก็เป็นประเด็นสำคัญที่เราคิดว่ามันโผล่ขึ้นมาจากข้อมูล

ประการที่ 4 ความขัดแย้งไหนที่มันไม่คลี่คลายมันจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย เราเห็นความขัดแย้งที่เป็นซีรี่ส์ เช่น ในภาคใต้ประชาชนถูกทำร้าย ไม่เกิดความเป็นธรรมขึ้น ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ก็เลยไปล้างแค้นเจ้าหน้าที่ พอมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เพื่อนของเจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกโกรธแค้นชาวบ้านก็ตามไปล้างแค้นต่อเกิดเป็นวงจรของความรุนแรงการเมืองก็เช่นกัน

ประการที่ 5 เราใช้ข้อมูลจากสื่อเป็นหลัก สิ่งที่เราพบคืออคติของสื่อในการรายงานข่าวจำนวนมาก เหตุการณ์เดียวกัน อ่านจาก 5 แหล่ง เราพบรายงานไม่เหมือนกันโดยเฉพาะข่าวที่ไปเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ สื่อหลายสำนักสอดแทรกอคติของตัวเองลงไป ตัดสินพิพากษาแล้วว่ากรณีนี้ชาวบ้านผิด บางทีไปเสริมใส่ข้อมูลว่าชาวบ้านน่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอันนี้อันตรายมาก บางทีสื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง

ประการที่ 6 จำนวนผู้เสียชีวิตในรอบ 5 ปี 354 คนถือว่าสูง เทียบกับบางประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองเราอาจจะรู้สึกว่าน้อยเพราะเขาตายกันเป็นแสน เราตายแค่ 354 ทำไมต้องแคร์ แต่ 354 คนก็คือชีวิตคนและมีครอบครัวของเขาที่เป็นคนรักที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และถ้าเราดูสูงกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในอนาคตทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ คนเสียชีวิตน้อยกว่านี้ซ้ำ ฉะนั้นความรุนแรงในสังคมไทยจริงมันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

“สุดท้ายสิ่งที่น่ากังวลคือ คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ มีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง บางที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง โดนลูกหลงที่มันเป็นความรุนแรงแบบเหวี่ยงแห่ยิงกราดปาระเบิด ทำให้เด็ก อายุ 10 ปี 13 ปี ตกป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยอันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง หวังว่าจะพอมีประโยชน์บางและอยากจะให้ทุกคนช่วยกันตระหนักเห็นความสำคัญที่สังคมไทยจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงในระยะยาวต่อไป”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ