กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก จ.อำนาจเจริญ “สร้างสวัสดิการ อาหาร-สมุนไพรจากป่ามูลค่าปีละ 12 ล้านบาท !!

กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก จ.อำนาจเจริญ “สร้างสวัสดิการ อาหาร-สมุนไพรจากป่ามูลค่าปีละ 12 ล้านบาท !!

ขมิ้นชันที่ชาวบ้านกุดปลาดุกปลูกเป็นอาชีพ  นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรจากป่าชุมชนตำบลกุดปลาดุก หากรวมมูลค่าอาหารและสมุนไพรจากป่าที่สร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านจะมีมูลค่าประมาณปีละ 12 ล้านบาทเศษ

การดูแลสุขภาพเท่ากับการดูแลป่า ในป่ามีทรัพยากรต่างๆ มากมาย  มีความหลากหลายทางชีวภาพ  สมุนไพรทำให้พี่น้องมีสุขภาพดี   มีความมั่นคงทางอาหาร  สตพร   ศรีสุวรรณ์  ประธานกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก   อ.เมือง  จ.อำนาจเจริญ บอกถึงแนวคิดในการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนเชื่อมโยงเรื่องป่าชุมชนและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก   อ.เมือง  จ.อำนาจเจริญ  เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipost.net/public-relations-news/544097/)

โดยกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก  ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 2 ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

2
 ในตำบลกุดปลาดุกมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรวมทั้งหมด 10 ป่า  พื้นที่รวมประมาณ 2,000 ไร่

สร้างสวัสดิการ  อาหารและสมุนไพรจากป่า

สตพร   ศรีสุวรรณ์  ประธานกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก บอกว่า ชาวบ้านในตำบลกุดปลาดุกเคยทำงานเรื่องป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2546  เมื่อมาทำเรื่องการจัดการสวัสดิการชุมชน จึงพบว่าทั้ง 2 เรื่องมีความเกี่ยวข้องกัน  เนื่องจากพี่น้องในตำบลกุดปลาดุกส่วนใหญ่หาอยู่หากินกับป่ามาช้านาน  เพราะในป่ามีเห็ด  ผักหวาน  หน่อไม้  สมุนไพร  ไข่มดแดง  สมุนไพร  ฯลฯ  เป็นทั้งอาหารและยา  ไม่ต้องซื้อต้องหา  ถือว่าเป็นสวัสดิการจากป่าและธรรมชาติ  แถมยังนำไปขายเป็นรายได้อีกด้วย

แต่ชาวบ้านไม่ได้คิดจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากป่าเพียงอย่างเดียว  เพราะถ้าทำอย่างนั้น  ไม่นานทั้งป่าและอาหารก็จะหมดไป  การดูแลรักษาป่าจึงเกิดขึ้น  และเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหรือ ‘กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก’ ขึ้นมา มีสมาชิกครอบคลุมชาวบ้านทั้งตำบล รวม 12 หมู่บ้าน  ชาวกุดปลาดุกจึงเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของป่า ช่วยกันดูแลรักษาบำรุง ใช้ประโยชน์จากป่า  ใช้สมุนไพรบำรุงดูแลสุขภาพของตัวเอง และสิ่งที่ได้คือ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่กลับคืนมา

กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก   ก่อตั้งเมื่อ 1 มีนาคม 2551 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อให้เป็น ‘กองบุญ’ ที่ชาวบ้านร่วมกันแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน  โดยการออมเงิน  และสมทบเข้ากองทุนเพียงวันละ 1 บาท  หรือเดือนละ 30 บาททุกเดือน  แล้วนำเงินกองบุญนั้นมาจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกตามระเบียบที่กองบุญกำหนด

กองบุญฯ มีสมาชิกแรกตั้ง 258 คน  มีเงินสมทบจากสมาชิก และการบริจาค รวม  12,900 บาท และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ที่สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศร่วมสมทบเพื่อให้กองทุนเติบโต (ครั้งแรก) 55,000 บาท  มีคณะกรรมการก่อตั้ง 8 คน พระ 1 รูป จาก 9 หมู่บ้าน ต่อมาในปี 2552 ขยายสมาชิกครอบคลุม 12 หมู่บ้าน สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 750 คน

โครงสร้างการดำเนินงาน  ประกอบด้วย  ที่ปรึกษา 7 คน คณะกรรมการ/ผู้ประสานงานชุมชน 17 คน สมาชิกสะสม 3,232 คน ( 30 ก.ย.2566) ปัจจุบันสมาชิกคงเหลือ 2,744  คน

สัดส่วนของสมาชิก  บุคคลทั่วไป 1,750 คน  เด็ก/เยาวชน 659 คน ผู้สูงอายุ 310 คน ผู้ด้อยโอกาส 7 คน ผู้พิการ 4 คน  ข้าราชการ,นักบวช 14 คน  มีเงินทุนดำเนินการ 2 ล้านบาทเศษ  มีการสรุปบทเรียนการทำงานทุกปี และทุก 5 ปี  เพื่อนำมาแก้ไข  ปรับปรุงการทำงานให้กองบุญยั่งยืน  มีความเข้มแข็ง

ส่วนการจัดสวัสดิการ มี 14 ประเภท ได้แก่ 1.สมาชิกคลอดบุตร 2.เจ็บป่วย 3.เสียชีวิต 4.ผู้ยากไร้  5.ผู้พิการ  6.ผู้ติดเชื้อ เอดส์ 7.ภัยพิบัติ 8.ส่งเสริมการเรียนรู้  9.สมาชิกแต่งงาน 10.รับราชการทหารเกณฑ์ 11.บรรพชา อุปสมบท 12.สนับสนุนสาธารณประโยชน์  งานประเพณีต่าง ๆ  13.ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และ 14.พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอาชีพและสุขภาวะชุมชน

3
คณะกรรมการกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก

พบพืชอาหาร ผักป่า 144 ชนิด สมุนไพร 177 ชนิด

สตพร   ศรีสุวรรณ์  ประธานกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก   บอกว่า จากสถานการณ์และปัญหาของชุมชน พบว่า พื้นที่ป่าชุมชนในตำบลกุดปลาดุกมีทั้งหมด 10 ป่า  เนื้อที่รวมประมาณ 2,000 ไร่ เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรของคนในตำบลมาช้านาน  แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกบุกรุก  ป่าขาดการเฝ้าระวังดูแลรักษา สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง เช่น กบ เขียด ปู ปลา กุ้ง หอย เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่เคยมีความสมบูรณ์และมีความหลากหลายจากธรรมชาติ

กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก จึงสนับสนุนให้มีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในป่าต่างๆ  เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์ดูแลให้เกิดความยั่งยืน  เช่น  วัดป่าลำสำราญ  เป็นพื้นที่ป่าติดกับฝั่งลำเซบาย  ชาวบ้านถวายที่ดินให้วัด  พระสงฆ์พาพี่น้องชาวบ้านบวชต้นไม้เพื่อรักษาป่าผืนใหญ่ไว้  ทุกปีจะมีการจัดงานปริวาสกรรม กองบุญไทบ้านฯ จึงมีส่วนร่วมด้วยการได้ไปต้มน้ำสมุนไพรนำมาแจกจ่ายแก่ผู้เข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปี และพบว่าบริเวณป่ามีสมุนไพรหลากหลาย   เช่น  ตะไคร้ต้น มีพืชอาหาร

ป่าช้างอีทอง หมู่ที่ 9  บ้านนาเมือง เป็นป่าไม้เบญจพรรณ พื้นที่ 500 ไร่  มีกระรอก กระแต แลน แย้ กะปอม  มีสิ่งที่หายาก คือ ตัวเบ้า  ตอนนี้มีป่าเดียวที่เหลือตัวเบ้า  ตัวเบ้าเกิดจากแมงกุดจี่ อยู่ในดิน อยู่ในโคลน คนพาควายไปเลี้ยง ควายถ่ายมูลออกมา  แมลงก็จะเข้าไปกินอาหาร  ออกลูกออกหลานออกมาเกิดเบ้า (ตัวอ่อน) กุดจี่ (ตัวใหญ่)  ชาวบ้านนำมาทำอาหาร

ป่าชุมชนโคกห้วยตก  เป็นป่าต้นน้ำ ตั้งอยู่พื้นที่ที่ทำการ อบต.กุดปลาดุก เป็นป่าไม้เบญจพรรณ  พื้นที่ประมาณ 470 ไร่ มีกระต่าย มีผักติ้วหลายชนิด มีสมุนไพร เป็นป่าที่มีสมุนไพร ‘กำลังช้างสาร’ ขึ้นอยู่เป็นดงกว้าง  มีสัตว์ขาปล้อง อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลที่เข้าไปสำรวจป่าด้วยกัน เคยบอกว่า ในป่าโคกห้วยตกจะมียุงตัวใหญ่ จะไปกินยุงตัวน้อย ถือเป็นการควบคุมกันเองตามธรรมชาติ   เป็นป่าที่มีธรรมชาติสมดุล

4

ป่าชุมชนโคกสุวรรณะ  หมู่ที่ 8  บ้านาสีนวน เป็นป่าไม้เบญพรรณ  มีความหลากหลาย  อยู่ใกล้กับป่าวัดลำสำราญ เป็นแนวพื้นที่ต่อกัน มีกระต่าย มีสุนัขจิ้งจอก สมุนไพรหลากหลาย กระทาก (คล้ายกะปอม คล้ายกิ้งก่า แต่ตัวใหญ่กว่ากิ้งก่า)

ป่าชุมชนดอนปู่ตา นาสีนวน ตั้งอยู่ฝั่งลำเซบาย พื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 บ้านนาสีนวน แหล่งที่เยาวชนไปสำรวจความหลากหลายใต้ต้นยางนา  แถวป่าลำเซบาย มีสมุนไพร  มีสัตว์ต่าง ๆ เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์

ป่าชุมชนห้วยโป่งนอง  ตั้งอยู่สองฝั่งลำห้วยโป่งนอง เขตหมู่ 5 หมู่ 6 บ้านป่าติ้ว เป็นป่าไม้เบญจพรรณ  ป่าอยู่ฝั่งห้วย ปีนี้มีดอกกระเจียวเยอะ มีความเด่น เป็นป่าเดียวที่มีต้นขมิ้น   ใช้เป็นยาสมานแผล  มีความอุดมสมบูรณ์ของสองฝั่งห้วย จะมีหน่อไม้ไร่เกิดในฤดูฝน

ประธานกองบุญไทบ้านฯ บอกว่า จากการจัดเก็บข้อมูลบันทึกในระบบข้อมูล  ฐานทรัพยากร ปฏิทินพืชและสัตว์ พบความหลากหลายทางชีวภาพ  พบว่า  ในป่ากุดปลาดุก  มีพืชอาหาร ผักป่า144 ชนิด  พืชสมุนไพรมากกว่า 177 ชนิด ไม้ประดับ 4 ชนิด พืชใช้สอย 32 ชนิด ไม้เถา 39 ชนิด ไม้พุ่ม 37 ชนิด ไม้ยืนต้น 104 ชนิด ไม้ล้มลุก 36 ชนิด  มีอาหารธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่  มีเห็ดต่าง ๆ 41 ชนิด  มีความหลากหลายทางชีวภาพ พืชและสัตว์ ไผ่  หน่อไม้  ผักและผลไม้  มันป่านานาชนิด  อาหารครึ่งบกครึ่งน้ำ อาหารจากแหล่งน้ำ ปลาชนิดต่าง ๆ

ส่วนการทำงานดูแลรักษาป่า  จะมีทีมงาน คน 3 วัย จาก 5 โรงเรียน 12 หมู่บ้าน  มีการสรุปกิจกรรมนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสร้างกติกาสังคม นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาใช้เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีธรรมนูญชุมชนตำบลกุดปลาดุกฉบับที่ 1 ปี 2562 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562  เป็นข้อตกลงของชุมชนในการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การสำรวจป่า ปลูกต้นไม้หายาก สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ กิจกรรมสวัสดิการชุมชน ฅนอยู่กับป่า สมุนไพรจากป่า ต้มสมุนไพรแจกในงานต่าง ๆ

5
มันป่าชนิดหนึ่ง

สวัสดิการจากป่าปีละ 12 ล้านบาท…และก้าวย่างสู่แหล่งอาหารที่ยั่งยืน

สตพร   ศรีสุวรรณ์  ประธานกองบุญไทบ้านฯ บอกว่า วิธีการทำงานของคณะกรรมการป่าชุมชน จะให้คณะกรรมการทุกหมู่บ้านดูแลป่าของตนเอง  มีการประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ป่าแต่ละหมู่บ้าน  มีการจัดทำข้อมูลต้นไม้  มีช่วงหนึ่งมีการขอตัดต้นไม้ แบ่งปันให้พี่น้องใช้ซ่อมแซมบ้าน  ซึ่งจะมีการประชุมกัน เลือกต้นไม้ที่มีอายุหลายปี  ต้นไม้ที่ใกล้ตาย เพื่อใช้ซ่อมแซมบ้าน  มีกติกาเป็นไม้ใช้สอย   ภายหลังมีข้อกำหนดในธรรมนูญว่า หากนำไม้ไปใช้ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างน้อย 20 ต้น  มีโครงการปลูกป่า ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน คณะกรรมการป่าชุมชนจะเป็นผู้ดูแล

           ปี 2551 ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก  เพราะสอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกในชุมชน ในการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก คือ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” 

ปี 2553 ทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (อพสธ.)  โดยกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุก ในฐานะองค์กรที่ดูแลทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า    ในตำบลกุดปลาดุกร่วมกับ อบต.กุดปลาดุก กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน มีคณะกรรมการป่าชุมชนตำบลกุดปลาดุกซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพชุมชนกับป่า การอนุรักษ์ปกป้องแหล่งอาหารธรรมชาติ รวมทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล            สำรวจพื้นที่จับพิกัด GPS ทำให้ประธานและทีมงานกองบุญไทบ้านฯ มีทักษะด้านจัดทำข้อมูล การใช้ Computer จัดทำ file นำเสนอข้อมูลให้หน่วยงานต่าง ๆ

สำหรับพื้นที่ป่า 10 ป่าภายในตำบล มีอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน  ประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ป่า  ทำให้ทราบว่ามีจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น เช่น กระต่าย กระรอก กะปอม แลน  สมุนไพร รากสามสิบ ขมิ้น หญ้ารางจืด ป่าต้นยาง ซึ่งเป็นพืชและสัตว์ที่หายาก

ปี 2557 ประกาศเป็นป่าสนองพระราชดำริ ได้ขับเคลื่อนงาน  ชวนพี่น้อง เยาวชน เด็กนักเรียนชั้น ป.2- ป.3 ที่เขียนหนังสือได้  ทำร่วมกับผู้เฒ่าที่มีความรู้ภูมิปัญญาเรื่องต้นไม้  ถ่ายรูปให้ผู้เฒ่าอธิบายเรื่องต้นไม้  ประโยชน์ใช้สอย ถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ฟัง   ช่วงปลายโครงการพาเด็กไปทำโครงการวิจัยใต้ต้นยางนา พบความหลากหลายทางชีวภาพ  ใต้ต้นยางนา 1 ต้นมีต้นไม้เกิดขึ้น 70-80 ชนิด  จัดเก็บข้อมูลไว้และเผยแพร่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง

จากข้อมูลฐานทรัพยากร “ป่าชุมชนกุดปลาดุก ป่าเป็นซุปเปอร์มาเก็ตที่ให้สวัสดิการแก่มนุษย์และสัตว์อื่นๆ มีอาหาร ยาสมุนไพรให้ใประโยชน์แก่คนตำบลกุดปลาดุก และตำบลใกล้เคียง ปีละกว่า 12.3 ล้านบาท” (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ที่มาศูนย์เรียนรู้ LC กุดน้ำคำ)

ปี 2562 มีการจัดทำ ‘ธรรมนูญตำบลกุดปลาดุก’  มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เรื่องการดูแลรักษาป่า การเก็บของป่า เพื่อส่งต่อให้นักเรียน เยาวชน ได้เรียนรู้ ดูแล รักษาป่าในอนาคต  และส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่สมาชิก เรื่องการแปรรูปสมุนไพร กลุ่มวิสาหกิจสร้างรายได้

หลังจากเข้าร่วมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  (อพสธ.) ได้ทีมงานคน 3 วัย ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน  คนทำงาน และเยาวชน เข้าฝึกอบรมงานวิจัยท้องถิ่น แบบสหสาขาวิชาวิทยา ภายใต้ฐานทรัพยากรท้องถิ่น 3 ด้าน 6 แผนงาน

ช่วงสถานการณ์โรคระบาด covid-19  ทีมงานกองบุญไทบ้านฯ ได้ใช้ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพร ต้มน้ำสมุนไพร  จัดหายาสมุนไพร อาหาร แจกจ่ายช่วยเหลือพี่น้อง และส่งไปยังศูนย์พักคอยด้วย  โดยกองบุญไทบ้านฯ ใช้เงินไปประมาณ 200,000 บาท

ปี 2562-2563  มีการยกร่างธรรมนูญตำบลร่วมกับอบต. ฝ่ายท้องที่  คือ  มีข้อตกลง มีข้อห้ามระดับหมู่บ้าน  ติดประกาศไว้ตามศาลาประชาคม  ธรรมนูญตำบลจะเน้นการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาของชุมชนเป็นสำคัญ

ส่วนการดูแลไฟป่า  จะทำงานร่วมกับกรมป่าไม้  26 ราย ป่าชุมชน ป่าช้านาเมือง  แบ่งแนวเขตไว้แล้ว เป็นไม้ใช้ประโยชน์ตำบลกุดปลาดุก  ส่วนหนึ่งเป็นป่าอนุรักษ์  มีกฎกติกาว่า หากมีการตัดไม้ทำลายป่า  จะปรับต้นละ 500-1,000 บาท ฯลฯ

นอกจากนี้ชาวบ้านยังร่วมกันทำนาแปลงใหญ่ ทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็คือสมาชิกกองบุญไทบ้านฯ  โดยมีกลไกที่ขับเคลื่อนงาน คือ สภาองค์กรชุมชน  และกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก

6
 สมุนไพรจากในป่าและสมุนไพรที่ปลูกนำมาทำลูกประคบแก้ปวดเมื่อย

ประสานเชื่อมโยงการทำงานรอบทิศ

การทำงานของกองบุญฯ ที่ผ่านมาได้เชื่อมประสานกับหน่วยงานในท้องถิ่นมาตลอด  จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้าใจบทบาทและทำให้ได้รับการสนับสนุน เช่น  องค์การบริหารส่วนตำบลกุดปลาดุกสนับสนุนงบประมาณให้กองบุญไทบ้านฯ ต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี  เช่น งบประมาณการอนุรักษ์พันธุ์พืช จำนวน 50,000 บาท  มีการเชื่อมโยงงานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับบริจาคเงิน สิ่งของ พัดลม เข้ากองบุญไทบ้านฯ   และส่งต่อไปยังพื้นที่ที่มีความจำเป็นใช้ประโยชน์ต่อไป

นอกจากนี้กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุกทำงานบนฐานข้อมูล จากประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล  ทำให้เรียนรู้ระบบการจัดทำข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เผยแพร่สู่สาธารณะ เช่น ทำแผ่นพับและ fileนำเสนอต่าง ๆ

มีการจัดทำแผนงานร่วมกันระหว่าง อบต.และกองบุญไทบ้านฯ ก่อนที่ อบต.จะออกข้อบัญญัติงบประมาณ จะนำแผนของกองบุญไทบ้านฯ มาเชื่อมโยง ทั้งแผนระยะสั้น  1 ปี แผนระยะยาว 5 ปี มีการประชุมกันเป็นประจำ   โดยประธานกองบุญไทบ้านฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้พัฒนาแผนของ อบต.   ถือว่าเชื่อมโยงทั้งคน ทั้งแผนงานร่วมกัน   รวมทั้งเรื่องการจัดการป่าเป็นนโยบายของ 12 หมู่บ้านที่จะทำร่วมกัน  จึงต้องบรรจุแผนไว้ในข้อบัญญัติของ อบต. และต้องนำข้อเสนอจากการประชุมของทุกหมู่บ้านและการประชุมใหญ่มาจัดทำแผนด้วย

การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุก ถือว่าเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลายในตำบล (สภาฯ เกิดจากการรวมตัวของคนกลุ่มต่างๆ ในตำบล) รวมทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง  ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการพัฒนาตำบล  การช่วยเหลือพี่น้องที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้นำหลายคนทำงานด้วยความเสียสละมากกว่า 30 ปี  มีการถ่ายทอดความรู้  ประสบการณ์ การเขียนโครงการ การพูดต่อหน้าสาธารณะ  การทำงานร่วมกัน  เช่น เรื่องป่า ทำให้เกิดความผูกพัน เอื้ออาทรระหว่างคนทำงาน องค์กรแต่ละกลุ่ม  แต่ละหมู่บ้าน

การเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ มีบทบาทในการสนับสนุนด้านวิชาการให้แก่กองบุญไทบ้านฯ เริ่มจากการที่คณะกรรมการกองบุญฯ ได้เข้าไปร่วมอบรมกับมหาวิทยาลัยมหิดล  จากนั้นได้รับการสนับสนุนเรื่องการใช้อาคารสถานที่ มีการทำงานวิจัยชุมชนและการทำงานเรื่องป่าชุมชนในระยะต่อมา

7

แผนพัฒนาสร้างสวัสดิการจากป่าให้ยั่งยืน

นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหาข้อติดขัดใดๆ ในการทำงาน  คณะกรรมการกองบุญฯ จะหารือร่วมกันว่า ปัญหานั้นใครได้รับผลกระทบ จากนั้นกองบุญฯ สภาองค์กรชุมชนตำบล ท้องที่ ท้องถิ่น จะลงพื้นที่ทำงานบูรณาการร่วมกัน หากปัญหาใดเป็นเรื่องที่เกินอำนาจหน้าที่ จะเชื่อมโยงไปยังระดับอำเภอและจังหวัด  จึงทำให้การทำงานบูรณาการร่วมกันไปได้ดี

เช่น กรณีปัญหาเรื่องแนวเขตป่าทับซ้อน สภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุกจะร่วมกับปลัดอำเภอ  ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้นำชุมชนไปไกล่เกลี่ยเรื่องแนวเขตของแต่ละหมู่บ้าน  ทำให้ไกล่เกลี่ยและตกลงกันได้ด้วยดี

ส่วนการสื่อสารงานของกองบุญไทบ้านฯ จะสื่อสารผ่านประชุม  ใช้วิทยุกระจายเสียงในชุมชน Application line กลุ่มสวัสดิการ  line กลุ่ม อสม. line กลุ่มผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน   ส่วนการดำเนินงานกองบุญไทบ้านฯ ในมุมมองของกรรมการคิดว่าสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง  แต่หากจะเป็นพื้นที่ต้นแบบต้องพัฒนาต่อไป  รวมทั้งเรื่องการสร้างคนรุ่นใหม่  การถ่ายทอดภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน

แนวทางการพัฒนาและยกระดับกองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก  คณะกรรมการมีแผนงานในด้านต่างๆ เช่น     1. สร้างผืนป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้ยั่งยืนตลอดไป สร้างการมีส่วนร่วมทุกขบวนการ 2.พัฒนาระเบียบ กติกา การเก็บหาอาหาร และอื่น ๆ ในป่า (ทบทวนธรรมนูญชุมชนตำบล) ให้มีชีวิต การเฝ้าระวังสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม

3.พัฒนาพื้นที่ตำบลกุดปลาดุกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ กินอาหารธรรมชาติ ตามฤดูกาล สุขสำราญ อาบน้ำลำเซบาย สร้างเศรษฐกิจ รายได้ให้ชุมชน  4.พัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศน์ และการจัดการสวัสดิการระหว่างคนกับป่า พึ่งพากันอย่างไรให้ยั่งยืน

5.การกำจัดขยะ มีกองทุนฌาปนกิจขยะ ไม่ซื้อรถเก็บขยะ ไม่ซื้อถังขยะ 100 %  6.การสร้างแกนนำคนรุ่นใหม่  การเชื่อมโยงกับท้องถิ่น  สถานศึกษา 5 โรงเรียนเพื่อดูแลรักษาป่า มีหลักสูตรในการจัดการป่า  ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างแผนงานพัฒนา  บำรุงรักษาป่าชุมชนของคนตำบลกุดปลาดุก รวมทั้งการร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืนยาวนานตลอดไป…!!

8

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ