กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน “คนเมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน “คนเมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

กลุ่มผู้สูงอายุจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  อ.ปาย  จ.แม่ฮ่องสอน แม้จะสูงวัย  แต่สุขภาพร่างกาย  จิตใจแจ่มใส “80 ปียังแจ๋ว” เพราะมีกิจกรรมมากมายให้ทำ

ในปี 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (66 ล้านคน) และในปี 2583 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กมีเพียง 12%

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมที่เห็นได้ชัดคือ  จำนวนประชากรในวัยแรงงานจะลดลง  ส่งผลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  การเติบโตทางเศรษฐกิจจะถดถอย  การจัดเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐจะลดน้อยลง  ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้น  ฯลฯ   แต่ที่สำคัญก็คือ  ปัญหาคุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่  อาชีพ  รายได้  สุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล และอยู่ในสภาวะ “แก่และจน”…!!

ดังนั้นระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน (community based services) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น  อบต.ร่วมกับองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงเป็นหนทางที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังเช่น การดำเนินงานของ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  อ.ปาย         จ.แม่ฮ่องสอน’ ที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลผู้สูงอายุ  จนได้รับรางวัลด้านการพัฒนาสังคมสูงวัยจากการประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทั่วประเทศประจำปี 2566

‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ อ.ปาย  จ.แม่ฮ่องสอน’ เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipost.net/public-relations-news/544097/)

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 3 ‘ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

2
ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้

สวัสดิการชุมชนคนแม่ฮี้  

อำเภอปาย เป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง  มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยือนไม่ขาดสาย  ขณะที่ประชากรในอำเภอปายมีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ มีภาษาพูดและวัฒนธรรมแตกต่างกัน  มีทั้งกลุ่มไทลื้อ คนเมือง คนไตหรือไทใหญ่  ปกาเกอะญอ ลีซอ  และลาหู่  ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม  ทำนา  ปลูกกระเทียม  ถั่ว  งา  เลี้ยงวัว ควาย รับราชการครู ทหาร ตำรวจ ฯลฯ

ตำบลแม่ฮี้ เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปาย สภาพของชุมชนตำบลแม่ฮี้  ปัจจุบันมีความเป็นเมืองท่องเที่ยวผสมกับพื้นที่แบบชนบท แม้แหล่งท่องเที่ยว “ปาย” จะตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงใต้  แต่พื้นที่ของตำบลแม่ฮี้ก็ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เช่น การสร้างที่พัก ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ  ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของตำบลมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตำบลแม่ฮี้ มี 6 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านแม่เย็น หมู่ที่ 2 บ้านทรายขาว หมู่ที่ 3 บ้านท่าปาย หมู่ที่ 4 บ้านแม่ปิง หมู่ที่5 บ้านแม่ฮี้ และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยแก้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีที่ราบระหว่างภูเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำปาย ลำน้ำห้วยแม่เย็น ลำน้ำห้วยแม่ฮี้ ลำน้ำห้วยแม่ปิง ลำน้ำห้วยแม่ยะ

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 มีสมาชิกเริ่มแรก 276 คน สมาชิกสะสมถึงปัจจุบัน 997 คน  มีเงินกองทุนแรกเริ่ม 14,110 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุน  2,308,659 บาท (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2566) จำนวนสมาชิกของกองทุนยังมีไม่มากเนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านในตำบลแม่ฮี้มีความห่างไกลกัน เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้การเดินทางมีความยากลำบาก

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือ 1.เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนรู้จักการออม การแบ่งปันซึ่งกันและกัน  2.เพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิก  3.เพื่อให้เกิดคุณธรรมความสามัคคี สร้างสัมพันธภาพที่ดี  4.เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง    มีองค์กรภาคประชาชนคอยดูแล  โดยกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเป็นรายเดือน  ราย 6 เดือน  หรือรายปี  รวมแล้ว 360 บาท/คน/ปี  แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิก

กองทุนสวัสดิการได้แบ่งประเภทของสมาชิกออกเป็น บุคคลทั่วไป เด็ก/เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ มีการจัดสวัสดิการ 11 ประเภท ได้แก่  1.สวัสดิการเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร  2.สวัสดิการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล  3.สวัสดิการผู้สูงอายุ       4.สวัสดิการกรณีเสียชีวิต  5.ค่าใช้จ่ายงานศพ  6.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/พิการ  7.สวัสดิการพัฒนาอาชีพ  8.สวัสดิการเพื่อการศึกษา  9.สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ  10.สวัสดิการกิจกรรมสาธารณประโยชน์  และ 11.สวัสดิการคุณภาพชีวิต

3

“เมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

“เมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว” คือสโลแกนของกองทุนสวัสดิการตำบลแม่ฮี้ที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ  โดยแกนนำกองทุนสวัสดิการได้เล็งเห็นว่าผู้สูงอายุในตำบลแม่ฮี้มีจำนวนมาก  ตำบลแม่ฮี้มีประชากรจำนวน 3,589 คน มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 23 % และสมาชิกกองทุนสวัสดิการมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 43 %

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่บ้านคนเดียว เพราะลูกหลานออกไปทำงานในพื้นที่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด แกนนำกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงมีแนวคิดว่า “ทำอย่างไร…จึงจะทำให้ผู้สูงอายุมีสังคม มีเพื่อน ไม่เหงา” จึงจัดตั้ง ‘โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลแม่ฮี้’ ขึ้นมาในปี 2560 โดยความร่วมมือของผู้ใหญ่บ้าน และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฮี้

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ได้คิดค้นกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ  โดยการส่งเสริมสร้างสังคมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยมีภาคีความร่วมมือจาก อบต.แม่ฮี้ รพ.สต.แม่ฮี้  โรงพยาบาลปาย พัฒนาชุมชน ทหาร ตำรวจ พมจ. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ กศน. โรงเรียนแม่ฮี้   ศูนย์จัดการทุนหมู่บ้านแม่ฮี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีแม่ฮ่องสอน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน สมาคมบริหารงานองค์กรชุมชนพัฒนาเชิงพื้นที่ สมาคมสวัสดิการภาคประชาชน กลุ่มโยคะ สรีระ โอสถ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  ได้จัดสวัสดิการส่วนหนึ่งเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชน สอดรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย เพราะเล็งเห็นว่าชุมชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศน์ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย การมีเพื่อนบ้านที่สนิทคุ้นเคย และสามารถให้ความช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงที

ส่วนการจัดกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การอบรมงานฝีมือ การประดิษฐ์ดอกไม้ ทำดอกไม้ใบเตย นำไปจำหน่ายในกาดแลง (ตลาดตอนเย็น)  ผ้าห่อครกห่อเขลียง ผ้าเช็ดเท้า การทอผ้าด้วยกี่กระตุก อุปกรณ์กายภาพบำบัด ปลูกผักปลอดภัย  ผ้าทอกระเหรี่ยง สบู่น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การอบรมเยาวชน การออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังมีการออกไปเยี่ยมบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง

กองทุนสวัสดิการมีแนวคิดการดึงดูดให้ผู้สูงอายุมีสังคม  มีการพบปะสังสรรค์กัน  โดยใช้กิจกรรมต่างๆ  เช่น กิจกรรมประจำเดือน รดน้ำดำหัว ทำบุญ ทำทาน ต้นสลากของผู้สูงอายุ กิจกรรมไปเยี่ยมบ้าน  เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมผู้ประสบภัย การจัดงานวันเกิดให้เพื่อนๆ วันเกิดรายเดือน  เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พบปะ  พูดคุยกัน  มีกิจกรรมทำร่วมกัน  ไม่เหงา  มีสุขภาพจิตดี  อารมณ์แจ่มใส

4

ตั้ง ‘กองทุนสูงวัยเพื่อนช่วยเพื่อน’

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ ไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณจำนวนสมาชิก เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาห่างไกล  มี 6 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างกัน การเดินทางลำบาก เข้าถึงยาก หน้าฝนถนนจะเป็นดินโคลนรถยนต์เข้าไม่ได้ แต่ละหย่อมบ้านมีกองทุนหมู่บ้านของตัวเอง เช่น   กองทุนหมู่บ้าน กองทุนฌาปนกิจ กลุ่มออมทรัพย์  ฯลฯ

ดังนั้นกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงปรับขนาดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เมืองกึ่งชนบท มีสมาชิกภายในชุมชนใกล้เคียงที่สามารถดูแลกันได้ทั่วถึง  และมีสวัสดิการที่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของตำบลแม่ฮี้ ผู้คนมีรายได้เพียงพอต่อความต้องการ ค่าแรงสูงและเกือบทุกครัวเรือนมีอาชีพรับราชการ เงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของสมาชิก แต่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน ‘จิตใจ’ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ต้องการเพื่อนมากกว่าการเข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมด้วยกัน

ส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน แต่ละหมู่บ้านจะมีกรรมการกองทุนฯ  เพื่อเก็บเงินสมทบจากสมาชิกเข้ากองทุนเป็นรายเดือน  6 เดือน  หรือรายปี  รวมแล้วคนละ 360 บาท/ปี  รวมทั้งการเบิกจ่ายสวัสดิการจะทำผ่านกรรมการกองทุนในแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้กรรมการในแต่ละหมู่บ้านยังมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจกับสมาชิก

กองทุนสวัสดิการจะเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ปีละ 2 รอบ คือ ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม มีการประชุมหารือด้านการเงิน มีการขอมติผ่านการประชาคม มีการจัดสรรเงินเป็นสัดส่วน และใช้ตามสัดส่วนที่แบ่งไว้ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ และใช้โปรแกรม excel ในการบันทึกการเงิน  การเบิกจ่ายสวัสดิการ

ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกครบ 5 ปี และอายุ 70 ขึ้นไป  กองทุนสวัสดิการจะสมทบเงินเข้ากองทุนรายปีให้จำนวน 300 บาท สมาชิกสมทบเอง 60 บาท  ส่วนการหารายได้เข้ากองทุน  คือ การทอดผ้าป่าประจำปี และเงินสนับสนุนสมทบเข้ากองทุนจาก อบต.

นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้ง ‘กองทุนสูงวัยเพื่อนช่วยเพื่อน’ ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือกัน  โดยแยกการบริหารจัดการด้านการเงินออกจากกองทุนสวัสดิการ  และจะเก็บเงินจากสมาชิกเข้ากองทุนเดือนละ 10 บาท

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ ดูแลสถานะการเงินตลอดเวลา มีการปรับ เพิ่ม ลด จำนวนเงินที่จะจ่ายสวัสดิการให้เหมาะสมกับสภาพทางการเงินของกองทุน  นอกจากนี้กองทุนยังทำงานใกล้ชิดกับ อบต. มีการปรึกษาหารือกันตลอด

5
ผลงานฝีมือของสมาชิกกองทุนสวัสดิการ

4 ข้อจุดเด่น’…สู่รางวัล ดร.ป๋วย

ส่วนจุดเด่นของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ที่ทำให้ได้รับรางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’ คือ

1.นำปัญหาในชุมชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรม เริ่มจากแกนนำกองทุนมองเห็นปัญหาสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของชุมชน ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ จึงเริ่มทำงานจากกลุ่มเล็กๆ ในหมู่บ้านด้านสังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2555 จนขยายเป็นระดับตำบล

การขยายจากกลุ่มเล็กๆ สู่ระดับตำบลนั้น  มาจากคณะกรรมการแบ่งงานกันทำ ส่งเสริมกิจกรรมให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ มีคุณค่า แม้กิจกรรมบางอย่างอาจจะไม่สนุกเพราะเป็นความรู้ เช่น การดูแลสุขภาพ การรับประทานยาอย่างถูกวิธี การดูแลตัวเอง โดยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  และกรรมการพยายามหาทางผสมผสานกิจกรรรมให้มีความหลากหลาย เช่น การฝึกซ้อมการแสดงเพื่อนำไปแสดงระดับอำเภอ ระดับจังหวัด การออกกำลังกายทุกวันเพื่อสร้างความสม่ำเสมอของกิจกรรม

2.การวางแผนการทำงานโดยการให้ความสำคัญกับ ‘คน’  โดยหากรรมการที่มีความตั้งใจมาช่วยทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำงาน “แรงบันดาลใจอยากให้บ้านเราได้รับของดี” มีตัวแทนหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านเป็นตัวเชื่อมข่าวสารของกองทุนและสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกแต่ละหมู่บ้าน การให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุติดบ้าน  เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทางกองทุนสวัสดิการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยไปเยี่ยมแบบ “เพื่อนเยี่ยมเพื่อน” ดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้าใจ เพราะสมาชิกกองทุนที่เข้าไปเยี่ยมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงมีความเข้าใจผู้สูงอายุด้วยกัน

6
โรงเรียนผู้สูงอายุให้ความรู้ด้านต่างๆ และเชื่อมการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ

3.ใช้โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นตัวเชื่อมระหว่างสมาชิก ชุมชน กลุ่มเปราะบาง ภาคีเครือข่าย โดยเชิญวิทยากรจากกลุ่มต่างๆ มาสอนผู้สูงอายุ วางหลักสูตรร่วมกับปลัด อบต. วิทยากรจากโรงเรียนประถม โรงเรียนปาย กศน.- ศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล ครูเกษียณ เอกชนมาสอนโยคะ ตำรวจมาสอนป้องกันการถูกหลอกจากมิจฉาชีพ ตำรวจท่องเที่ยวสอนดนตรี เกษตรพื้นที่สูงในการแปรรูปการเกษตร  ใช้เครือข่ายจิตอาสาเพื่อประหยัดงบประมาณ

4.การทำงานของกองทุนสวัสดิการช่วยลดภาระงานของ อบต. ประหยัดงบประมาณของรัฐได้  โดยใช้งบของกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือ มีการบูรณาการทำงานด้วยกัน และทางกองทุนสวัสดิการได้มอบเงินด้านสาธารณประโยชน์ให้ รพ.สต.แม่ฮี้ปีละ 6,000 บาท ให้โรงเรียนผู้สูงอายุ 6,000 บาท เพื่อเป็นการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีคณะกรรมการกองทุน คณะกรรมการโรงเรียน และอบต. ทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ส่วนก้าวย่างต่อไปนั้น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ตั้งเป้าหมายให้กองทุนฯ เป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน  โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้ได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า

ขณะที่สมาชิกของกองทุน  โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุหวังให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นพื้นที่ที่ “ได้หัวเราะ         ได้ความสุขทุกครั้งที่มา คนที่เคยเป็นครูเกษียณแล้วก็เหงา มาสอนอาชีพให้แม่ๆ เพื่อนๆ ทำให้ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น”

7

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ