OHCHR–EU แถลงท่าทีกรณีไทยจับ 14 ประชาธิปไตยใหม่ – คนรุ่นใหม่ US ร่วมร้องปล่อยตัว

OHCHR–EU แถลงท่าทีกรณีไทยจับ 14 ประชาธิปไตยใหม่ – คนรุ่นใหม่ US ร่วมร้องปล่อยตัว

30 มิ.ย.2558 สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทยและอังกฤษ ถึงกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากข้อหาที่ถูกตั้งขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างสันติ ระบุเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะต้องได้รับการค้ำชูและศาลทหารไม่ควรถูกนำมาใช้กับพลเรือน

 

 

ส่วน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (OHCHR) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอาญาต่อนักศึกษาซึ่งถูกจับกุมเนื่องจากการชุมนุมโดยสงบในที่สาธารณะในกรุงเทพฯ และปล่อยตัวพวกเขาจากสถานที่ควบคุมโดยทันที สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมนักศึกษา 14 คน ในกรุงเทพฯ ตามหมายจับที่ออกโดยศาลทหารในข้อกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำเพื่อก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ข้อกล่าวหานี้ถูกเชื่อมโยงกับการชุมนุมที่นักศึกษาจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน มาตรา 116 มีระวางโทษสูงสุด จำคุกไม่เกินเจ็ดปี

นักศึกษาได้ถูกออกหมายจับมาก่อนแล้วจากการจัดการชุมนุมโดยสงบทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมาในโอกาสครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร การชุมนุมดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งระบุห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และมีระวางโทษสูงสุด จำคุกไม่เกินหกเดือน

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นักศึกษาอีกสองคนถูกดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพฯ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นักศึกษาคนหนึ่งเข้ารายงานตัวกับตำรวจเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนและได้รับการประกันตัว ในขณะที่ นักศึกษาอีกคนหนึ่งถูกจับกุมจากหมายจับดังกล่าวระหว่างกำลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีพันธกรณีที่จะต้องรับรองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19) และ สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ (ข้อ 21) แม้ว่าสิทธิทั้งสองตามกติการะหว่างประเทศนี้จะสามารถถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และคำนึงถึงความจำเป็นว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่มีความชอบธรรมหรือไม่ และได้สัดส่วนกับความจำเป็นหรือไม่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ มีความกังวลว่าการดำเนินคดีอาญาที่มีระวางโทษจำคุกยาวนานต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออก ถือว่าไม่มีความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หนึ่งวันหลังจากที่มีการรัฐประหาร ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคสช. โดยให้ความเห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขประเด็นปัญหาทางการเมืองที่ยุ่งยากโดยผ่านการพูดคุยหารือและการอภิปราย ขณะนี้ นับเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว แม้รัฐบาลจะให้คำมั่นว่าจะนำหลักนิติธรรมกลับคืนมา แต่การจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานยังคงมีอยู่ต่อไป

20153006132554.jpg20153006132655.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เพจเฟซบุ๊ค Support Community Rights: Mining Resistance เผยแพร่ข้อมูลความเคลื่อนไหวของ EAGAGE กลุ่มคนรุ่นใหม่ในอเมริกา ที่ติดตามประเด็นปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยการถือป้ายหน้าสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประท้วงรัฐบาลทหาร และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรียกร้องให้ปล่อย 14 นักศึกษาออกจากคุก รวมทั้งเรียกร้องให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ทำร้ายชาวบ้านในคืนวันที่ 15 พ.ค. 2556 จากการขนแร่ทองคำออกจากเหมืองทองโดยทำร้ายชาวบ้านด้วย

20153006133113.jpg

 

 

ด้านประชาไท รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2558 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา กลุ่มนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) จัดกิจกรรมชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ระบุ นักศึกษาถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. อย่างสันติ เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเรียกร้องให้ รัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจ และคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยรณรงค์ให้ใช้แฮชแท็ก #FreeThai14 และ #FreeThe14 ในโซเชียลมีเดีย เพื่อเผยแพร่ปัญหาวิกฤติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป

20153006133255.jpg

บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษาไทยที่จัดกิจกรรม กล่าวถึงกิจกรรมว่า วันนี้พวกเราคนไทยที่อยู่ที่เมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ต้องการรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมที่เมืองไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เราอยากบอกกับน้องๆ นักศึกษาและสังคมไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้ในสังคมโลก กิจกรรมของเราก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่นี่เป็นอย่างดี

“ด้วยจิตคารวะต่อนักศึกษาทั้ง 14 ท่าน ที่ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยและเอาตัวเองเข้าเสี่ยงขนาดนี้ เราเห็นภาพนักศึกษาถูกจับ เห็นภาพคนไปเยี่ยมแล้ว คิดว่าการที่เราอยู่ไกลก็ไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดในการร่วมต่อสู้กับนักศึกษา” บุญเลิศกล่าวและว่า สิ่งที่ทำวันนี้ นอกจากป้ายข้อความเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและเรียกร้องให้ ค.ส.ช.ลงจากอำนาจแล้ว ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยแก่ชาวเมืองแมดิสันที่สนใจอีกด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ผู้ที่เข้าร่วมรณรงค์กับเราต่างไม่เห็นด้วยกับการจับกุมนักศึกษาครั้งนี้อย่างมากเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่คนจะถูกคุมขังเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ

“สำหรับคนที่คิดว่านักศึกษาไม่ควรออกมาทำกิจกรรม ควรจะมุ่งเรียนหนังสืออย่างเดียวเพื่อจบไปทำงานเพื่อตัวเอง วิธีคิดแบบนี้เป็นแบบที่พวกชนชั้นนำปลูกฝังเรามานะครับ เพื่อไม่ให้มีการโต้แย้งและตั้งคำถาม ที่จริงนักศึกษาควรเป็นกองหน้า พวกเขาจะอ่อนไหวกับความไม่เป็นธรรมในสังคม และมีพลังเร่าร้อนของหนุ่มสาวที่จะต่อสู้ บางคนแม้จะมีหลักการแต่ก็ไม่มีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวพอ นักศึกษาทั้ง 14 คนเป็นตัวอย่างที่เราต้องนับถือ”

“ผมคิดว่า การคิดว่าสังคมที่สงบต้องไม่มีการแสดงออกทางการเมืองนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะมันเป็นเพียงความสงบชั่วคราวใต้ท็อปบูท ใต้ระบอบปกครองที่ทหารเอาปืนจ่อหัวประชาชนเท่านั้น คนที่เดือดร้อนก็แค่ถูกกดไว้เท่านั้น ถึงเวลาก็จะระเบิดขึ้นมา นักศึกษาดาวดินเป็นตัวอย่างที่สำคัญนะครับ ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการมันแย่กว่าภายใต้ประชาธิปไตยอย่างไร

“ผมว่ามันเลยขีดความอดทนมามากแล้ว เราจะต้องส่งสัญญาณอย่างสำคัญว่า เราอยู่ใต้เผด็จการไม่ได้อีกแล้ว ไม่ใช่ว่ามาปล้นประชาธิปไตยไปแล้วยังเอาปืนมาจ่อหัวไม่ให้เราพูดอีก ประชาธิปไตยเป็นของเรานะครับ ไม่ใช่สิ่งที่รอให้เขาเอามาให้ เราต้องออกมาทวงคืนครับ ผมเป็นนักศึกษาในช่วงรัฐประหาร กุมภาฯ 2534 นะครับ ตอนนั้นรัฐประหาร ผ่านไป 6 เดือน เราจัดสัมมนาได้แล้ว แต่คราวนี้ผ่านมาเป็นปีแล้ว เรายังถูกห้ามอยู่เลย เราทนไม่ได้ที่จะต้องเห็นนักศึกษาที่มีความกล้า มีจิตใจที่ดี และมีอนาคต ต้องมาถูกกุมขังทั้งที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เคยคิดมาก่อนว่าสังคมไทยจะถอยหลังได้ขนาดนี้ ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่นึกว่าจะได้มาเจอสถานการณ์ที่ลิดรอนสิทธิ ปิดปากประชาชนอย่างตอนนั้นในสมัยนี้

“ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงนะครับ ทุกคนก็มีขีดจำกัดในการแสดงออก ผมเคารพสิทธิและเหตุผลของทุกคน แต่เราก็น่าจะทำอะไรที่เราทำได้ นักศึกษาทั้ง 14 คน เขาเสี่ยงชีวิตมากนะครับ เราเสี่ยงแค่นิดเดียว ถ้ายังกลัวเป็นที่จับตาก็ต้องก้าวออกมาพร้อมๆ กันครับ คุกขังคนเป็นหมื่นๆ ไม่ได้หรอกครับ” บุญเลิศกล่าว

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

25 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ