ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ปี 2565 จ.ชุมพรเป็นแชมป์ผู้ผลิตกาแฟในประเทศไทย ด้วยผลผลิตจำนวน 5,600 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 29.97 ของผลผลิตกาแฟทั้งประเทศ ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ชุมพร เลือกกลับบ้านมาสานต่องานเกษตรของครอบครัว แต่โจทย์ใหญ่ของที่นี่คือกาแฟโรบัสตา ที่ยังคงเป็นที่ต้องการน้อยจากร้านคาเฟ่ หากแต่ความโชคดีคือยังมีผู้ผลิตกาแฟโรบัสตาเกรดพรีเมียมที่น้อยเช่นกัน
เฉลิมชาติ สีเขียว หรือเต้ย เจ้าของร้านกาแฟ ใน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ผู้ที่หลงไหลในเรื่องราวของกาแฟ ตั้งแต่เริ่มเรียนสาขาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยในช่วงที่กำลังเรียนชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสไปฝึกงานกับ “ก้อง” วิสาหกิจชุมชนก้องวัลเล่ย์ อ.กระบุรี จ.ระนอง ทำให้ได้ซึมซับและเรียนรู้เรื่องกาแฟคุณภาพลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จึงได้ตั้งใจจะกลับมาพัฒนากาแฟที่บ้านเกิดของตนในอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ถูกหลงหลืม หรือไม่ได้ให้ความสำคัญมายาวนานมากกว่า 10 ปี โดยหวังจะพลิกฟื้นสร้างชื่อ “กาแฟพะโต๊ะ” ให้เป็นกาแฟพิเศษ และให้ไปอยู่ในเมนูของร้านกาแฟคุณภาพให้ได้ในอนาคต ด้วยมองเห็นความได้เปรียบในเรื่องภูมิประเทศและภูมิอากาศ ที่เป็นต้นทุนที่สำคัญที่ทำให้กาแฟพะโต๊ะมีคุณภาพดีไม่แพ้ที่ใด
“ผมมองเห็นและชอบในกาแฟ เลยได้กลับมาพัฒนากระบวนการแปรรูปกาแฟ และเปิดร้านกาแฟที่ใช้กาแฟของตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่ตอนที่ผมกลับมากาแฟเริ่มหายไปแล้ว เป็นพืชที่ถูกลืม คนแถวนี้หันไปปลูกปาล์ม ปลูกยางพารา ปลูกทุเรียน ผมจึงอยากพัฒนากาแฟพะโต๊ะให้มีชื่อเสียง”
เฉลิมชาติ สีเขียว
ความมุ่งมั่นของเต้ยได้รับแรงหนุนสุดกำลังจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว จะต้องออกไปรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ด้วยเงื่อนไขที่จะต้องเก็บเฉพาะเมล็ดสุกแดงและผ่านการลอยน้ำเพื่อคัดกรองเมล็ดที่จมน้ำเท่านั้น จึงยังไม่มีเกษตรกรรายใดทำส่งให้เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งต่างจากกาแฟที่เก็บส่งขายโรงงานอุตสาหกรรม สามารถรูดเก็บได้ทั้งหมดทั้งเมล็ดแดง เขียว หรือดำ รวมไปถึงเมล็ดที่ถูกมอดเจาะ
ทำให้พ่อและแม่ของเต้ยต้องลงแรงในการเข้าไปขอเก็บเมล็ดกาแฟในสวนของเพื่อนเกษตรกรด้วยตนเอง โดยให้ราคาที่สูงกว่าราคาที่ส่งโรงงาน และต้องนำมาผ่านกระบวนการ หรือโพรเซส ตั้งแต่แช่น้ำคัดเมล็ดลอย คัดเมล็ดเขียว และเมล็ดดำออก นำไปตากจนได้ที่ แล้วนำไปสีจนได้สารกาแฟเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบของลูกชาย โดยกาแฟสุกแดง 5 กิโลกรัมจะทำเป็นสารกาแฟได้เพียง 1 กิโลกรัมเท่นั้น ซึ่งปัจจุบันพ่อและแม่ของเต้ยสามารถเก็บกาแฟได้วันละ 30-40 กิโลกรัมเท่านั้น และวางแผนจะจ้างคนมาช่วยเก็บเพิ่ม
“อยากให้ลูกมาต่อยอดสิ่งที่เราทำอยู่ ให้มาเริ่มที่บ้านเรา ทำกิจการที่บ้านเรา และเรามองดูแล้วว่าวัตถุดิบเราสามารถหาได้ บวกกับลูกที่พอจะมีความรู้ เราคิดว่าน่าจะทำได้ จากนั้นก็เริ่มลงทุน และสร้างร้าน”
สมชาติ สีเขียน และเฉลิมอุษา สีเขียว
ความฝันของเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ ที่จบการศึกษาและกลับมาต่อยอดเกษตรกรจากพ่อและแม่ ด้วยการพยายามจะพัฒนากาแฟในพื้นที่ที่เคยมีอย่างหนาแน่น จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียงหดหายไปจนเกือบหมด เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยพืชที่มีราคาสูงไล่มาตั้งแต่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนถึงปัจจุบันคือ ทุเรียน การพยายามพลิกฟื้นกาแฟพะโต๊ะที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ด้วยการทำกาแฟคุณภาพให้กลับมาสร้างชื่อจะเป็นจริงได้หรือไม่ ความอดทน ความพยามยาม และที่สำคัญคือความรักในสิ่งที่ตนเองทำ รวมถึงความรักและความทุ่มเทที่ครอบครัวมีให้อย่างเต็มเปี่ยม จะทำให้สิ่งที่เต้ยกำลังทุ่มเท นำพา “กาแฟพะโต๊ะ ผลไม้ที่ถูกลืม” กลับมาสร้างชื่อได้อีกครั้ง
ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีเกษตรกรที่ทำกาแฟโรบัสตาคุณภาพพิเศษเพิ่มขึ้น และมีการรวมกลุ่มกันส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ในกระบวนการแปรรูปกาแฟ รวมถึงการส่งกาแฟเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ เพื่อการันตีคุณภาพกาแฟชุมพร และสามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่าราคาตลาดหลายเท่าตัว พร้อมทั้งเป็นตัวเลือกให้กับกลุ่มผู้บริภาคได้อีกด้วย
เว็บไซต์สมาคมกาแฟไทย รายงานราคากาแฟโรบัสต้า ณ จุดรับซื้อ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งของ จ.ชุมพร วันที่ 29 มกราคม 2567 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 125 บาท *มีการบวกเพิ่มราคาตามคุณภาพ จากราคาฐาน
ภาพและเรื่องราวโดย : พรชัย เอี่ยมโสภณ
บรรณาธิการ : แลต๊ะแลใต้