คนรุ่นใหม่กับจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำอีสาน

คนรุ่นใหม่กับจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำอีสาน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ เข้ามามีบทบาทต่อการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน และการกระจายอำนาจ มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน สังคม เศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่เห็นความเป็นไปในบ้านเกิดของตัวเอง ในด้านการจัดการทรัพยากร การจัดทำนโยบายโครงสร้าง โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบธรรม

ที่งาน มนุษย์-สังคม ภาคประชาสังคม ครั้งที่ 7 เวที “อีสานกับการเมืองใหม่ : การพัฒนา และบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำอีสาน วันศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีนักวิชาการ และเครือข่ายชาวบ้าน ภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน และข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

กรชนก แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม อีกบทบาทเป็นคนรุ่นใหม่ผู้ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านมาเกือบ 20 ปี เล่าถึงการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนเข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือชาวบ้านในด้านเรื่องข้อมูล   “สนับสนุนชาวบ้านทำให้เขารู้ว่าปัญหาที่บ้านเขามันเป็นมาอย่างไรตั้งแต่แรกเพราะว่าโครงการพัฒนาชาวบ้านเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนส่วนใหญ่แล้วจะยังไม่ค่อยทราบว่าโครงการเหล่านี้มันเป็นมาอย่างไรบ้าง  เราก็เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่สืบค้นข้อมูลมากกว่า ทำหน้าที่ตรงนี้ในการอธิบายว่าจะมีโครงการต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้านเขาในชุมชน  มันเป็นโครงการประเภทต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้ กับชุมชน

กรชนก แสนประเสริฐ

สองคือ ด้วยความที่เป็นนักกฎหมาย คือ ก็สนับสนุนให้ชาวบ้านทั้งทางด้านความรู้ด้านกฎหมาย  การใช้สิทธิในการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ของรัฐ  กระทั่งการการต่อสู้ทางกฎหมายในการดำเนินคดี และการนำเสนอนโยบายทางกกหมายกับชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ คิดว่าการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิชุมชนต่าง ๆ บางครั้งมันเป็นการต่อสู้ที่ปลายเหตุ ช่วงหลังเลยมองเรื่องการกระจายอำนาจ คิดว่าการกระจายอำนาจถ้าให้ชาวบ้านได้สิทธิชุมชน สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ของชาวบ้าน มันจะช่วยให้ชาวบ้านยืนยันสิทธิของตัวเองได้ว่าชาวบ้านต้องการโครงการอะไรในการพัฒนา สามารถกำหนดตัวเองได้ว่าต้องการให้หมู่บ้าน หรืออยากให้ชุมชนพัฒนาไปในทางไหน เพราะนั้นการกระจายอำนาจผ่านกฎหมาย คือ การต่อสู้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และก็โอกาสในช่วงนี้ คือ ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองไม่ว่าพรรคไหนก็ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันหมด และในช่วงปีหน้าก็จะเป็นช่วงที่เริ่มมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะเข้าไปร่วม โดยเฉพาะการเสนอในเรื่องชุมชนให้ตัวเองมีสิทธิมีเสียงในการที่จะบอกว่าตัวเองต้องการมากขึ้นในช่วงเวลาการร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะเกิดขึ้น 

การจัดสรรสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ควรให้สิทธิกับภาคประชาชนในการดูแล

กรชนก แสนประเสริฐ ยังเล่าถึงหลักการกระจายอำนาจให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการดูแลทรัพยากรของชุมชน“ผมคิดว่าถ้าที่ต้องการมากที่สุดอย่างวันนี้เป็นเรื่องการจัดการทรัพยากร คือ ปัญหาที่มันเกิดขึ้น คือคนไม่กี่คน หรือคณะรัฐมนตรี หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยากให้มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ เกิดขึ้น และออกมาเป็นมติ ค.ร.ม.โดยที่ไม่ได้ถามชาวบ้านก่อน พอไม่ได้ถามชาวบ้านกลายเป็นสิ่งที่ต้องให้เกิดเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของเขา กลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่ต้องการ ชาวบ้านไม่ต้องการเกิดอะไรขึ้นชาวบ้านก็ออกมาคัดค้าน สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ การคัดค้านยากมาก ชาวบ้านมีสิทธิและอำนาจน้อยกว่ารัฐมาก เวลาจะชุมนุม จะคัดค้านแต่ละทีจะต้องมีค่ารถ ค่าข้าวไปชุมนุมที่กรุงเทพ ไปยื่นข้อเสนอเรียกร้องที่กรุงเทพ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องที่จะเกิดที่บ้านของเขา ตรงนี้มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องการกระจายอำนาจมันยังเกิดขึ้นน้อยในสังคมไทย เช่น  เรื่องที่จะเกิดที่บ้านเขา คนข้างนอกเป็นคนคิด เสนอนโยบายแล้วก็ตกลงกัน พูดคุยกัน  มีการให้สัมปทาน มีธนาบัตร เป็นมติ ค.ร.ม.ออกมา แล้วจะมาสร้าง  โดยไม่ต้องถามชาวบ้าน ว่าชาวบ้านต้องการอะไร ให้ชุมชนเขาพัฒนาไปทางไหน แล้วก็พอเกิดเรื่องความขัดแย้งขึ้นมา โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น การคัดค้าน การที่จะตรวจสอบว่าโปร่งใสหรือไม่ จะคัดค้านโครงการนั้นไม่ให้เกิดกับชาวบ้าน ก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะอำนาจมันถูกไปรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ การตัดสินใจอยู่ที่กรุงเทพ ไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด คือ สิทธิและอำนาจในการตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติต้องอยู่ที่ตัวชาวบ้าน  

กรชนก แสนประเสริฐ ยังย้ำอีกว่าอยากเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตยให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิการจัดสรรทรัพยากรของพวกเขาเอง“ผมคิดในเรื่องของการให้สังคมนี้เป็นสังคมประชาธิปไตยการกระจายอำนาจ การสนับสนุน การช่วยเหลือให้ชาวบ้านได้รู้จักกฎหมาย รู้จักสิทธิของตัวเองหรือสิทธิที่ตัวเองควรจะมีตามประชาธิปไตยมันก็ทำให้สังคมนี้เป็นประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีความเท่าเทียม ให้ชาวบ้านมีสิทธิมีเสียงเท่า ๆ กับผู้มีอำนาจคนหนึ่ง สามารถบอกกับคนอื่นได้ด้วยว่าชุมชนเขาจะพัฒนาไปทางไหน ที่ผมทำงานในด้านนี้เพื่อให้เขามีสิทธิที่ควรจะมี”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ