9 ส.อบต.เขาหลวงโซนล่างเปิดหน้าร้อง ‘ปิดเหมืองทองถาวร’

9 ส.อบต.เขาหลวงโซนล่างเปิดหน้าร้อง ‘ปิดเหมืองทองถาวร’

ปมขัดแย้งเหมืองทอง ทำ ‘สภาอบต.เขาหลวง’ เสียงแตก แยกกันยื่นหนังสือร้อง ‘ปิด-เปิด’ เหมืองทอง หลัง ‘สมาชิกสภาอบต.เขาหลวงโซนบน’ รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่าน ผบ.มทบ.28 ดันเปิดทางทำเหมืองต่อ อ้างเพื่อให้คนในพื้นที่มีงานทำ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้าน ‘สมาชิกสภาอบต.เขาหลวงโซนล่าง’ ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ – ผบ.มทบ.28 ปิดเหมืองถาวร ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ที่มา: เหมืองแร่ เมืองเลย V2

20160108235124.jpg

ภาพ: ยื่นหนังสือต่อตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย

1 ส.ค. 2559 สมาชิกสภาองค์การบริการส่วนตำบลเขาหลวง (ส.อบต.) อ.วังสะพุง จ.เลย ในเขตโซนล่าง จำนวน 9 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 (ผบ.มทบ.28) ขอให้ปิดเหมืองทองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อย่างถาวร และฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจนสามารถกลับคืนชีวิตปกติสุข

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา นาย นายสุระศักดิ์ ดวงจำปา ส.อบต.บ้านนาซำแซง หมู่ 6 และเลขานุการสภาฯ นำ ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบนจำนวนหนึ่งเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ผ่าน พล.ต.ชัยวิน ผูกพันธ์ ผบ.มทบ.28 โดยหนังสือดังกล่าวมีใจความโดยสรุปว่า ประชาชนในท้องที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง และตำบลนาโป่ง อ.เมือง มีความต้องการที่จะให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำต่อไป

ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนล่างจำนวนหนึ่งเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการร้องเรียนเท็จ จึงได้นัดหมายกันมายื่นหนังสือในวันที่ 1 ส.ค. 2559 เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง และร้องเรียนให้ปิดเหมืองทองของบริษัทฯ อย่างถาวร และฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ดังกล่าว

ทั้งนี้ ใจความในหนังสือร้องเรียนของ ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนล่าง มีดังนี้ 1. ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2548 หมวดที่ 2 หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพป่า ข้อ 8 ระบุไว้ว่า “พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่”  

แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ทำการฟ้องคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อชาวบ้านหลายคดี และปรากฎชัดเจนว่าพื้นที่ประทานบัตรทำเหมืองทองคำที่นี่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนนำมาซึ่งการขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อนเมื่อคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ซึ่งศาลได้พิพากษาชั้นต้นแก่จำเลยผู้บงการไว้แล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2559 ตัดสินจำคุก 2 ปี 12 เดือน แก่จำเลยที่ 1 คือ พันโทปรมินทร์ ป้อมนาค ผู้เป็นลูกซึ่งยังรับราชการอยู่ และจำคุก 1 ปี 12 เดือน แก่จำเลยที่ 2 คือ พลโทปรเมษฐ์ ป้อมนาค ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการ และให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ทั้ง 9 ราย รวมทั้งหมด 165,600 บาท ภายใน 15 วัน

2. ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบนจำนวนหนึ่งที่นำโดยนายสุระศักดิ์ ดวงจำปา ได้ดำเนินการฟ้องคดีชาวบ้าน 6 ราย โดยกล่าวหาว่าร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยร่วมกระทำความผิดนั้นตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้ผู้อื่นกลัว หรือตกใจโดยการขู่เข็ญ หลังมีเหตุปะทะกับกลุ่มชาวบ้าน 

กรณีดังกล่าวชาวบ้านเห็นว่า ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบน มีความพยายามผลัดดันให้มีการพิจารณาวาระให้ความเห็นชอบการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ไปใช้ประโยชน์เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ โดยไม่คำนึงถึงว่าการพิจารณาวาระดังกล่าวเป็นการข้ามขั้นตอนการประชาคมหมู่บ้าน เพื่อรับฟังและแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงตามระเบียบกรมป่าไม้ฯ ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่
 
3. ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบนจำนวนหนึ่งได้ยื่นหนังสือร้องเรียน โดยอ้างว่าการขอต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก เพื่อทำเมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ได้มีการสอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 3,234 คน และประชาชนในเขต ต.นาโป่ง อ.เมืองเลย จ.เลย จำนวน 4,393 คน มีความต้องการที่จะให้บริษัทฯ กลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำนั้น เป็นการได้รายชื่อมาด้วยการล่ารายชื่อที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของการทำประชาคมหมู่บ้านแต่อย่างใด

จึงสมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า รายชื่อที่ได้มาเป็นการล่ารายชื่อด้วยอามิสสินจ้างรางวัลและขู่เข็ญ บังคับ ล่อลวงประชาชนหรือไม่ ประการใด

4. การทำเหมืองทองคำแห่งนี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่รอบเหมือง โดยได้รับผลกระทบในระดับต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขั้นเจ็บป่วยรุนแรงจากสารพิษในร่างกาย และขั้นเริ่มต้นที่เกิดอาการหวั่นวิตกต่อการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและเรียบง่าย แต่บริษัทฯ ก็ปฏิเสธเรื่อยมาว่าความเดือดร้อนรำคาญและผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของเหมือง

ดังนั้น จึงสมควรที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่พยายามปกปิดและบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทฯดำเนินกิจการที่ทำร้ายชีวิตประชาชนและสภาพแวดล้อมต่อไป

5. ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบนจำนวนหนึ่ง ได้ถูกร้องเรียนจาก ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนล่างอีกจำนวนหนึ่ง โดยกล่าวโทษว่า ภายหลังจากประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงได้สั่งปิดการประชุมสภา สมัยสามัญสมัยที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2559 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบนจำนวนหนึ่ง นำโดยนายสุระศักดิ์ ดวงจำปา ได้มีมติแต่งตั้งประธานสภาฯ ชั่วคราวและดำเนินการประชุมสภาต่อไปเพื่อมีมติในเรื่องการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ของบริษัทฯ โดยไม่พิจารณาเรื่องแผนพัฒนา 3 ปี (พ.ศ. 2560 – 2562) การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (โอนตั้งจ่ายใหม่) และเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการสภาท้องถิ่น

การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนในชุมชน จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสอบสวนในเรื่องนี้ ปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ เป็นประจักษ์พยานได้ดีว่า ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนบนที่นำโดยนายสุระศักดิ์ ดวงจำปา มีพฤติกรรมเยี่ยงไร

ดังนั้น จึงสมควรที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดต่อสาธารณชน

หนังสือร้องเรียนของ ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนล่าง ระบุด้วยว่า ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด จึงขอให้ปิดเหมืองทองคำอย่างถาวรและฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจนสามารถกลับคืนชีวิตปกติสุข และขออย่าได้เชื่อถือในถ้อยคำสำนวนและหนังสือของ ส.อบต.เขาหลวงกลุ่มดังกล่าว แต่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสิ่งที่ร้องเรียนมาทั้งหมดให้กระจ่างชัด และลงโทษหรือเอาผิดทางวินัยและอาญาอย่างรุนแรงต่อผู้ให้ข้อมูลเท็จ

ด้านตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยจากศูนย์ดำรงธรรมได้มารับหนังสือจาก ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนล่าง เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. และรับปากว่าจะนำเรื่องเสนอต่อผู้ว่าฯเพื่อดำเนินการตามข้อร้องเรียนต่อไป

20160108235212.jpg

ภาพ: ยื่นหนังสือกับ พล.ต.ชัยวิน ผูกพันธ์ ผบ.มทบ.28 ณ มณฑลทหารบกที่ 28 จังหวัดเลย

ส่วนที่มณฑลทหารบกที่ 28 จังหวัดเลย พล.ต.ชัยวิน ผูกพันธ์ ผบ.มทบ.28 ได้ลงมารับหนังสือด้วยตนเอง และนั่งพูดคุยกับ ส.อบต.เขาหลวงในเขตโซนล่างอย่างเป็นกันเอง พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายว่า 

“ขอให้พวกท่านยึดมติ ครม. (มติ ครม. 10 พ.ค. 2559 ที่สั่งให้ปิดเหมืองทองพิจิตรและหยุดสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ) เป็นหลัก ถ้าพวกเขาอยากเอาเข้าก็ให้เอาเข้าไปเลย แต่อำนาจก็อยู่ที่ประธานสภาว่าจะเอาเข้าหรือไม่เอาเข้าก็ได้” ผบ.มทบ.28 กล่าวทิ้งท้ายก่อนแยกย้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ