“เราช่วยกันอยู่นะ เป็นขบวนเดียวกัน ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนประชาธิปไตย ส่งข่าวสารว่าเรายังช่วยกันอยู่ เป็นขบวนเดียวกัน เราเห็นความสำคัญ แม้จะเป็นชาวบ้าน แต่เราก็รู้เรื่องนี้เหมือนกัน เราก็อยากบอกกับรัฐบาลว่า ขอให้ส่งสิทธิเสรีภาพคืนแก่ประชาชน คืนแก่ชุมชนได้ไหม” สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว
ในวาระวันครบรอบ 83 ปี 24 มิถุนายน 2475 วันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยไทย ในวันนี้ (24 มิ.ย. 2558) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ราว 50 คน ร่วมกันทำกิจกรรมแสดงจุดยืน “ขอร่วมทวงคืนสิทธิ และเสรีภาพของชุมชน” ประกาศให้กำลังใจเครือข่ายชาวบ้านและนักศึกษาที่ร่วมกันทำงานเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย
สุรพันธ์ กล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชนกับเรื่องประชาธิปไตย เป็นเรื่องเดียวกัน สิทธิชุมชนหากมองเรื่องโครงสร้างจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องขั้วอำนาจที่อยู่ข้างบน ผู้มีอำนาจที่ยึดอำนาจไปทั้งหมด ควรต้องให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนคืน
“เราเองในกลุ่มเหมืองทองก็เคลื่อนไหวเรื่องนี้ ไม่เอาเหมือง ในระบบปกติเราเคลื่อนไหวได้อยู่ แต่พอมาระบบนี้เราเคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ เราจึงขอทวงคืน” แกนนำชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว
ในส่วนผลกระทบต่อชาวบ้านจากการเมืองในช่วงรัฐประหาร สุรพันธ์กล่าวว่า ถ้ามองเรื่องผลกระทบทางสังคมก็เรื่องพี่น้องแตกแยกหลายกลุ่มหลายพวก ตั้งแต่มีเหมืองเข้ามา ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็น เรื่องเสรีภาพพวกนี้มันเริ่มหายไป มันเป็นการส่งข้อมูลจริงๆ ส่งต่อข้อมูลให้กับพี่น้องรู้ เมื่อก่อนที่ยังไม่เป็นระบบที่เรียกว่าเผด็จการ เราสามารถบอกพี่น้องให้รู้ ตอนนี้ทำการแบบนั้นไม่ค่อยได้
“ถ้าเราทำเหมือนเดิม เราก็ถูกต่อต้าน โดยระบบรัฐเอง เราก็เห็นอยู่ว่าสภาพผู้ใหญ่เองก็โดนกดดันจากข้างบนลงมาไม่ให้มีการเคลื่อนไหว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร แน่ใจได้อย่างไรว่า คุณจะหยุดเหมืองให้เรา เรายืนยันว่าเราจะหยุดเหมือง มันมีความจำเป็นที่พี่น้องต้องแสดงออก เราก็ทำได้แค่นี้ เราเลือกแนวทางสันติวิธีตลอด” สุรพันธ์กล่าว
แกนนำชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวถึงปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.แร่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ในการอนุมัติอนุญาตเรื่อง พ.ร.บ.แร่ การสื่อสารมันค่อนข้างยุ่งยากกว่ากระบวนการอื่นเพราะเป็นเรื่องเทคนิค เรื่องอีไอเอ หลายเรื่องที่คุยกัน แม้แต่เรื่องในการเอาพื้นที่ป่าเข้าพิจารณาในสภาฯ เราควรมีส่วนร่วม หรือจะตัดสินที่สภาฯ เพียงแค่ 26 คนแทนพี่น้อง
สิ่งสำคัญต้องสื่อสาร เพราะในระบบปกติจริงๆ พี่น้องต้องไปแล้ว ในเรื่องการทำประชาคม แต่จะโดนล็อคว่า สภาฯ จะลงคะแนนเพียง 26 คนเอง หมายความคือว่า เขากำลังทำลายระบบประชาธิปไตยที่ชาวบ้านเขาทำมาก่อนแล้ว และมีการสั่งการกับชาวบ้านว่า “อย่าไปเคลื่อนไหวนะ เป็นหน้าที่ของสภาเป็นหน้าที่ของผู้แทนพวกเรา” ซึ่งก็ไม่ถูกทั้งหมด ถามว่าผู้ใหญ่บ้านมีความรู้เพียงพอไหม ก็ไม่แน่ใจว่า จะสามารถตัดสินใจเหมือนพี่น้องที่ไม่เอาเหมืองเหมือนกัน คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากๆ พี่น้องรู้ดี รู้ดีกว่าคนที่นั่งในห้องแอร์กรุงเทพฯ แล้วมาสั่งการ พี่น้องเขารู้ดีว่าล่องน้ำอยู่ตรงไหน ถนนอยู่ตรงไหน คือระบบนิเวศน์ที่เราเถียงกันว่า บ่อเก็บกักของเสียมันทับเส้นน้ำไหม ต้องถามผู้เฒ่าเพราะมันทับจริงๆ ไม่ใช่มาเขียนอีไอเอทับเส้น นี่คือระบบที่ชาวบ้านเขารู้ว่า นักวิชาการชาวบ้านนี่จริงๆ ถ้าเราเข้าไปศึกษาจริงๆ ต้องเอาประเด็นพวกนี้ขึ้นสู่เวทีการเมืองเข้าสู่เวทีวิชาการ จริงๆ ถ้าเป็นไปได้ เราทำลายล่องน้ำยังไง ผมว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่จะอนุมัติพื้นที่ทั้งหมด
“พี่น้องต้องอยู่ที่นี่เกิดที่นี่และตายที่นี่ ไม่ใช่อนุมัติแล้วปล่อยปะละเลย เหมืองแร่เองก็เหมือนกัน หลังจากประกอบการแล้วจะฟื้นฟูอย่างไร เขาคิดไปไกล เขายืนยันว่าต้องอยู่ที่นี่ ไม่ใช่คุณมาตัดสิน วาระแค่ 5 ปี แล้วก็ออก” สุรพันธ์กล่าวทิ้งท้าย
ขอร่วมทวงคืนสิทธิ และเสรีภาพของชุมชนคืนฟ้าวๆ เด้อ จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย*คืนฟ้าวๆ เด้อ (3 จบ)
Posted by เหมืองแร่ เมืองเลย V2 on Wednesday, June 24, 2015
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ได้เดินทางมาร่วมงาน ‘บายศรีสู่ขวัญรับขวัญประชาธิปไตย’ และร่วมอ่านคำประกาศขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (Neo Democracy Movement) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นกับกลุ่มนักศึกษาหลายสถาบันจากทั่วประเทศ และชาวบ้านกรณีปัญหาต่างๆ ในภาคอีสาน จนเป็นเหตุให้หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม พื้นที่นี้ก็ยังเป็นที่พักพิงของกลุ่มนักศึกษาดาวดิน 7 คน หลังจากที่ไม่ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาจากการจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2558