10 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน และเครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร รวมตัวยื่นหนังสือขอถอดถอน ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร โดยมีนายสุพิศ สามารถ ปลัดป้องกันจังหวัด เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
หนังสือดังกล่าวระบุ เหตุผล 7 ข้อที่ สนช. จะต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ที่กรมทรัพยากรน้ำจะนำเสนอ ดังนี้
1.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นกับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของชาวบ้านลุ่มน้ำผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.ตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ มาตรา 6 “ให้รัฐมีอำนาจบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะบนพื้นฐานความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายแหล่งน้ำได้นั้น” โดยรัฐยังมีอำนาจรวมศูนย์ในการจัดการน้ำหรือสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่รัฐสามารถที่จะกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่ประชาชนคนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างรัฐกับชุมชน
3.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ไม่ได้ยึดโยงอำนาจประชนชนคนลุ่มน้ำผ่านการกระจายอำนาจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ เห็นได้ชัดจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา
4.สัดส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนแทบจะไม่มีพื้นที่เลย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือกรรมการนโยบายควรมีบทบาทหน้าที่ในประเด็นการร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …เพียงแค่การติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนองค์กร ภาคประชาชนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
5.กระบวนการกำหนดนโยบายและแผนงานตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … เป็นการกำหนดจากส่วนบนลงล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐต่อภาคประชาชนคนลุ่มน้ำ
6.การกำหนดให้มีผู้เสนอนแนะตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …ที่กำหนดให้ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ความรู้ ความเชี่ยวชาญนั้น ย่อมหมายถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำ แต่บุคลากรเหล่านี้จะไม่เข้าใจระบบนิเวศในแหล่งน้ำที่มีความซับซ้อน
7.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ฉบับนี้ มุ่งสรรหาประเด็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำ โดยที่ไม่ได้ระบุหรือมุ่งเน้นการบูรณาการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศน้ำ
นอกจากนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน มีข้อเสนอต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้
1.ให้ประธาน สนช. ถอดถอนร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ของกรมทรัพยากรน้ำออกจากการพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น
2.กระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนลุ่มน้ำ รัฐจะต้องจัดให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย
3.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … เป็นร่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนลุ่มน้ำโดยแท้จริง
4.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … จะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนร่าง
ที่10/2559 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานจังหวัดยโสธร 10 มิถุนายน 2559 เรื่อง ให้ถอดถอนร่าง พ.ร.บ.น้ำ เรียน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา บริบทการพัฒนาของสังคมไทยดำเนินมาภายใต้แนวคิดการทำให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากร ได้ส่งผลให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมหาศาล ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขาดแคลนและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม และปัญหาความขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งทวีความซับซ้อนและความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณานโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา พบว่ามุ่งเน้นการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในลักษณะการพัฒนาแบบอเนกประสงค์เพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค การผลิตพลังงาน การคมนาคม และการรักษาระบบนิเวศ เป็นต้น ความต้องการใช้น้ำมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่น้ำต้นทุนมีปริมาณคงที่ และมีแนวโน้มลดลง อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบุกรุกทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำ อีกทั้งศักยภาพในการขยายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมยังมีข้อจำกัดทางกายภาพของสภาพพื้นที่ ตลอดจนปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนจากการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมและการจัดการน้ำเพื่อสนองตอบต่อความต้องการใช้น้ำทำได้ยากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความพยายามของรัฐที่จะสร้างเครื่องมือนโยบายใหม่เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอประการหนึ่ง ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้น้ำโดยการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากลักษณะภูมิประเทศที่พบอยู่โดยทั่วไปในบริเวณแอ่งที่ราบภาคอีสานมี 2 ลักษณะ คือ 1.ภูมิประเทศแบบโคกสลับแอ่งและ 2.ภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งภูมิประเทศแบบโคกสลับแอ่ง เป็นลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏเป็นบริเวณกว้างในภาคอีสานคือ มีเนินดินเตี้ยๆ ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “โคก” “โพน” “โนน” “เนิน” สลับกับแอ่งที่ลุ่ม ซึ่งมีน้ำขังอยู่หรือไม่มีก็ได้ ภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งเกิดจากการกัดเซาะและการทับถมของตะกอนแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม และ ลำห้วยต่างๆ บริเวณที่ราบลุ่มบางแห่งมีน้ำเอ่อท่วมเป็นประจำในฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขง ภูมิประเทศข้างต้นทำให้รูปแบบการจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ต้องมีความแตกต่างหลากหลายกันไป หลังจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปรับปรุงพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ให้เกิดความรอบคอบ อันก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน และลดข้อขัดแย้งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเร็ววัน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน มีความเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ที่กรมทรัพยากรน้ำจะนำเสนอด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นกับร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของชาวบ้านลุ่มน้ำผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน 2.ตามร่าง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มาตรา 6 “ให้รัฐมีอำนาจบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะบนพื้นฐานความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายแหล่งน้ำได้นั้น” โดยรัฐยังมีอำนาจรวมศูนย์ในการจัดการน้ำหรือสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่รัฐสามารถที่จะกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่ประชาชนคนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างรัฐกับชุมชน 3.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ไม่ได้ยึดโยงอำนาจประชนชนคนลุ่มน้ำผ่านการกระจายอำนาจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ เห็นได้ชัดจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา 4.สัดส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนแทบจะไม่มีพื้นที่เลย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือกรรมการนโยบายควรมีบทบาทหน้าที่ในประเด็นการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …เพียงแค่การติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนองค์กร ภาคประชาชนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 5.กระบวนการกำหนดนโยบายและแผนงานตามร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … เป็นการกำหนดจากส่วนบนลงล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐต่อภาคประชาชนคนลุ่มน้ำ 6.การกำหนดให้มีผู้เสนอนแนะตามร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …ที่กำหนดให้ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ความรู้ ความเชี่ยวชาญนั้น ย่อมหมายถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำ แต่บุคลากรเหล่านี้จะไม่เข้าใจระบบนิเวศในแหล่งน้ำที่มีความซับซ้อน 7.ร่าง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ฉบับนี้ มุ่งสรรหาประเด็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำ โดยที่ไม่ได้ระบุหรือมุ่งเน้นการบูรณาการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศน้ำ ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. ข้างต้น ดังนี้ 1.ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ… ของกรมทรัพยากรน้ำออกจากการพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น 2.กระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนลุ่มน้ำ รัฐจะต้องจัดให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย 3.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….เป็นร่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนลุ่มน้ำโดยแท้จริง 4.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….จะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนร่าง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ (นายสิริศักดิ์ สะดวก)
(นายนิมิต หาระพันธ์) |