ทางรถไฟที่เฝ้ารอ กับฝันร้ายของชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน

ทางรถไฟที่เฝ้ารอ กับฝันร้ายของชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน

“เขาบอกว่าถ้าไม่พอใจราคาประเมินให้ไปอุธรณ์ ไปฟ้องกรมธนารักษ์โน้น กรมธนารักษ์เป็นคนกำหนดราคา ไม่ใช่การรถไฟ”

“ป้าไม่เซ็นสัญญาก็ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรการรถไฟก็จะเอาเงินไปวางไว้ที่ธนาคาร ถ้าเราไม่ไปเอา 10 ปี เขาก็เอาคืน เราก็ไม่ได้อะไร”

“ทางรถไฟผ่านกลางนา เขาจ่ายค่าเวนคืนเฉพาะที่เขาใช้ พื้นที่ด้านข้างเราใช้ประโยชน์ไม่ได้ขอให้เขาซื้อ เขาไม่เอา เขาว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์”

“ค่าเวนคืนที่ได้ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เราเสียไม่ใช่แค่ที่ดินที่เวนคืน แต่คือที่นาที่ทำมาหากิน ที่มรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ เงินที่ได้มาจะเอาไปซื้อใหม่ก็ไม่พอ”

“เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าถ้าจะอุทธรณ์กฎหมายกำหนดไว้ให้เซ็นสัญญาก่อน ไม่งั้นอุทธรณ์ไม่ได้”

“เราจะไปสู้เขาได้อย่างไร กรมธนารักษ์อยู่ไหนก็ไม่รู้ เขาบอกเราว่าสู้ไปก็แพ้”

เสียงแห่งความผิดหวัง ความทุกข์เกิดขึ้นกับผู้คนที่ถูกเวนคืนที่ดินตลอดเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พ.ศ.2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว สถานีอยู่ใกล้บ้าน ลูกหลานจะเดินทางไปมาสะดวก ที่ดินจะมีราคาต่อไปความเจริญที่เฝ้าหวังว่าจะพาดผ่านชุมชน วันนี้ได้มาถึงแล้ว ภาพของเจ้าหน้าที่เรียกชาวบ้านมาทำรังวัด ปักหลักหมุดกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะเวนคืน การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การแจ้งให้ชาวบ้านบางส่วน และผู้นำชุมชนเข้าไปรับฟัง รับทราบสิ่งที่การรถไฟจะดำเนินการภายใต้วาทกรรมรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นเป็นการรับฟังจากเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ มากกว่าการรับฟังเสียงของชาวบ้าน ตามลักษณะของผู้มีอำนาจเหนือกว่าดำเนินการกับผู้ไม่มีอำนาจ

คลิปอัพเดตล่าสุดจากช่อง รถไฟไทยสดใส อัพเดทรถไฟทางคู่ ล่าสุด เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เราจะเห็นทีมากมายที่ถูกเวียนคืนที่ดิน จากการสร้างรถไฟฯ

ย้อนอ่านจุดเริ่มต้นจอบแรกที่แพร่

แต่ทางรถไฟที่เฝ้ารอได้กลับกลายเป็นฝันร้ายของชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน

ในช่วง 2 ปีมานี้ชาวบ้านได้เห็นเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ มาดำเนินการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟต่างได้ทะยอยเข้ามาทำการก่อสร้างทางรถไฟในเขตพื้นที่อำเภอสองกันอย่างมากหลาย ชาวบ้านต่างมีความหวังว่าการมาของผู้คนเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของพื้นที่มีความคึกคักกว่าที่เป็นอยู่ ลูกหลานจะได้มีงานทำ ชาวบ้านหลายรายมีรายได้จากการปล่อยบ้านให้เช่า บ้างก็สร้างห้องเช่าไว้รองรับ ในช่วงปลายปี 2565 ผู้คนในชุมชนทั้งคนหนุ่มสาวและวัยกลางคนเป็นจำนวนมากต่างพากันไปสมัครงานที่บริษัทก่อสร้างทางรถไฟบริษัทหนึ่งเปิดรับ ทุกคนที่สมัครมีความสุขกับจำนวนรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ คนหนุ่มสาวที่ทำงานอยู่ในเมืองหลวงในต่างจังหวัดได้พากันลาออกจากงานหวังจะได้มาทำงานที่บ้านเกิด ต่างเฝ้ารอวันที่จะได้เริ่มงานตามที่แจ้งกำหนดไว้ แล้วโรคเลื่อนก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายเรื่องการรับสมัครงาน การเข้าทำงานกลายเป็นเรื่องหลอกลวงของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเจ็บช้ำ และเสียหายให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก

ส่วนชาวบ้านที่มีที่ดินที่ถูกเวนคืนจากการรถไฟฯ เริ่มได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่การรถไฟให้เข้าไปเซ็นสัญญา โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งทาง “โทรศัพท์” ให้ทราบถึงจำนวนพื้นที่ที่ถูกเวนคืน จำนวนเงินที่จะได้รับจากการเวนคืน และกำหนดวันเวลาให้เข้าไปเซ็นสัญญาที่สำนักงานชั่วคราวซึ่งเป็นสำนักงานของบริษัทผู้รับเหมา โดยมีลูกจ้างของบริษัทอิตาเลี่ยนไทยเป็นผู้นำเอกสารมาอธิบายให้ชาวบ้านฟัง หากมีคำถามเกี่ยวกับราคาประเมินที่กำหนดมาน้อยนิดกว่าที่ชาวบ้านคาดหวัง หรือคำถามถึงการชดเชยความเสียหายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ก็จะตอบได้เฉพาะเพียงข้อความที่มีอยู่ในเอกสาร หรือบอกให้ชาวบ้านไปอุทธรณ์ หรือไปสอบถามกับกรมธนารักษ์เอง โดยอ้างว่าการรถไฟฯ ไม่ใช่ผู้กำหนดราคาประเมินที่ดิน และให้ชาวบ้านไปติดต่อกับสำนักงานที่ดินอำเภอสอง หรือกรมธนารักษ์เอง การพูดคุยกับลูกจ้างของบริษัทรับเหมาที่ได้รับมอบหมายให้มาทำสัญญากับชาวบ้านนั้น เป็นเสมือนทางตัน เพราะไม่มีคำตอบต่อคำถามที่เกิดขึ้น ทุกเรื่องผลักภาระให้ชาวบ้านไปดำเนินการเอง สุดท้ายชาวบ้านหลายรายได้กลับมาเซ็นสัญญาด้วยภาวะจำยอม

การเรียกเข้าทำสัญญาด้วยวาจาผ่านการโทรศัพท์ การมอบหมายให้ลูกจ้างบริษัทรับเหมามาเป็นผู้ทำสัญญา เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นกับชาวบ้านหรือไม่ การทำแบบนี้มีนัยยะอย่างไร ?

การรับรู้ข้อกฎหมาย และข้อมูลเรื่องที่สำคัญ เป็นสิทธิ์ที่ชาวบ้านพึงจะได้รับ แต่การเข้ามาเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟฯ ในครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามมากมายต่อการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม คำถามคือชาวบ้านทั้งที่เซ็นสัญญาไปแล้ว และยังไม่ได้เซ็นแต่คงยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมนั้นทราบหรือไม่ว่า

1. การกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟฯ ของคณะกรรมการกำหนดราคาฯ ใช้ข้อมูลอะไรประกอบการพิจารณาบ้าง กฎหมายกำหนดให้ทำอย่างไร และที่ผ่านมาได้ตรวจสอบราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์กันหรือไม่ว่าเป็นอย่างไร

การรถไฟฯ รู้หรือไม่ คณะกรรมการการกำหนดราคาฯ รู้ด้วยไหม และกรมธนารักษ์จะรู้เห็นเป็นใจหรือเป็นเรื่องสมคบคิดกันทั้งระบบในภาครัฐด้วยหรืออย่างไร สุดที่ชาวบ้านจะรู้ได้ ว่าการกำหนดราคาประเมินที่ดินที่การรถไฟฯ อ้างถึง และกล่าวโยนไปยังกรมธนารักษ์ทุกครั้งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงหลายครั้งในรอบบัญชี ปี พ.ศ. 2559 – 2562 อย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่ดินแปลงหนึ่งเจ้าของได้ไปขอทำการประเมินราคาจากสำนักงานที่ดินสาขาอำเภอสอง จังหวัดแพร่

  • วันที่ 6 มิถุนายน 2559 ราคาประเมินอ้างอิงของกรมธนารักษ์รอบบัญชี 2559 – 2562  ณ วันนั้นอยู่ที่ ตารางวาละ 550 บาท
  • วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ได้ทำการประเมินราคาที่ดินแปลงเดียวกันนี้อีกครั้งจากสำนักงานที่ดินสาขาอำเภอสอง ราคาประเมิน ในรอบบัญชี พ.ศ. 2559 – 2562 ณ วันนี้อยู่ที่ ตารางวาละ 150 บาท
  • วันที่ 15 กันยายน 2565 ที่ดินแปลงเดิม (แต่ได้แยกโฉนดในส่วนที่จะถูกเวนคืนออกมา 2 ไร่) ได้รับการประเมินราคาตามเอกสารที่ได้รับจากการรถไฟ เป็นเอกสารประกอบรายงานการคำนวณค่าทดแทนที่ดิน ที่ยังคงอ้างอิงราคาประเมินของกรมธนารักษ์ รอบบัญชี พ.ศ. 2559 – 2562 อยู่ ราคาประเมินอยู่ที่ ตารางวางละ 475 บาท
  • นอกจากราคาที่ขึ้นลงอย่างยากจะเข้าใจถึงเหตุผลแล้ว น่าแปลกใจว่า ยังพบว่ามีการกำหนดราคาของที่ดินแปลงใกล้กัน อยู่ตรงกันข้ามกันสภาพที่ดินเป็นที่นาเหมือนกันเพียงแต่มีถนนขนาด 3 เมตรกั้นกลางเท่านั้น ทำไมราคาประเมินถึงได้แตกต่างห่างกันถึงสามเท่ากว่า ตามเอกสารของการรถไฟโดยอ้างอิงราคาประเมินของกรมธนารักษ์ รอบบัญชี พ.ศ. 2559 – 2562 มาประกอบการคำนวณค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 โดยมีราคาประเมินอยู่ที่ ตารางวาละ 150 บาท (ในส่วนแปลงที่อยู่ตรงกันข้ามราคา 475 บาท)

การที่กรมธนารักษ์ประกาศราคาประเมินที่ดินหลายครั้งในรอบบัญชีเดียวทำได้อย่างไร พ.ร.บ. การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.  ๒๕๖๒ มาตรา ๑๘ กำหนดให้ประกาศบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่จัดทำตามมาตรา  ๑๘  ทุกรอบสี่ปี มิใช่หรือ

ลองมาดู พระราชบัญญัติ การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.  ๒๕๖๒ ในส่วนที่ชวนสงสัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับการกำหนดราคาในรอบบัญชีนี้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. การประเมินฯ กำหนดหรือไม่…

มาตรา ๖ การประเมินราคาทรัพย์สินต้องยึดหลักการ  ดังต่อไปนี้

(๑) วิธีการประเมินราคาทรัพย์สินต้องเหมาะสมกับประเภทและลักษณะของทรัพย์สิน

(๒) การกำหนดราคาทรัพย์สินต้องเป็นไปตามหลักการพื้นฐานทางด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน และหลักเศรษฐศาสตร์ (๓) กระบวนการประเมินราคาทรัพย์สินต้องมีความชัดเจนและโปร่งใส

มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการประจำจังหวัดกำหนดราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัด  พร้อมทั้งจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง  และแผนที่ประกอบ การประเมินราคาที่ดินดังกล่าว การกำหนดราคาประเมิน  การจัดทำบัญชีราคาประเมิน  และแผนที่ประกอบตามวรรคหนึ่ง   ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการประจำจังหวัดประกาศบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่จัดทำตามมาตรา  ๑๘  ทุกรอบสี่ปี  โดยต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันเริ่มใช้บัญชีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า สามสิบวัน  

นอกจากคำถามต่อราคาประเมินของกรมธนารักษ์ต่อแปลงที่ได้เล่าไว้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงอยู่หลายครั้งในรอบบัญชีเดียวกันนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีใครรู้เห็นเป็นใจ และเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเกิดกับที่ดินทุกแปลงที่ถูกการรถไฟฯ เวนคืนหรือไม่

2. การพิจารณากำหนดราคาประเมินของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นต่อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนมีความโปร่งใส เท่าเทียมและเป็นธรรมหรือไม่ และได้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องในการพิจารณาหรือไม่

ตามที่ได้รับทราบข้อมูลว่าที่ดินบางแปลงที่ถูกเวนคืนได้ถูกตัดสิทธิในการพิจารณาชดเชยในส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และจากเอกสารของการรถไฟ บันทึกข้อความเลขที่ รฟ.กส. 1600/1068/2566 ลงวันที่ 4 เมษายน 2566 ศูนย์โครงการก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง เรื่อง ลงนามในประกาศคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนสำหรับก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แล้วชวนสงสัยในความโปร่งใส เท่าเทียม และเป็นธรรมของการกำหนดราคาชดเชยการเวนคืนจริง ๆ

การใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาพิจารณาตัดสิทธิในการจ่ายค่าชดเชยในที่ดินที่เสียประโยชน์ จากการก่อสร้างทางรถไฟของเจ้าหน้าที่เวนคืน ให้แก่ผู้ถูกเวนคืนของที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่อยู่จำนวน 2 ไร่ การรถไฟฯ ได้ระบุพื้นที่จะเวนคืนลงในสัญญาซื้อขายจำนวน 3 งาน 51 ตรว. ราคาประเมินอยู่ที่ ตรว. 475 บาท  และการรถไฟฯ ได้กำหนดราคาให้ 3.03 เท่า (3.03 เท่า เป็นตัวเลขที่นำราคาที่แจ้งไว้ในสัญญามาหารกับราคาประเมินตามเอกสารที่การรถไฟกำหนด) ทำให้ได้ราคาที่ ตรว. ละ 1,439.52 บาท ที่ดินแปลงนี้ถูกเวนคืนตัดกลางแปลง และทางรถไฟจะทำรั้วกั้นพื้นที่ของตนเองทำให้พื้นที่ด้านข้างที่เหลืออยู่ทั้ง 2 ข้างไม่สามารถทำประโยชน์ได้ เจ้าของขอให้การรถไฟซื้อพื้นที่ด้านข้างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่เจ้าหน้าที่และอ้างว่าเกินขอบเขตอำนาจของเขาที่จะทำได้ เพราะพื้นที่นั้นเกิน 25 ตรว. ซึ่งเจ้าหน้าที่เวนคืน ได้อ้างมาตรา ๓๔ เฉพาะส่วนที่ว่าที่ดินเหลืออยู่มากกว่า  25 ตารางวา ทำให้ไม่สามารถซื้อได้

ต่อมาเจ้าของที่ดินพบว่าเจ้าหน้าที่เวนคืน และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้มาทำสัญญาไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะมาตรา 34 ยังกำหนดไว้ว่า “หรือที่ดินที่เหลืออยู่ด้านใดด้านหนึ่งมีความยาวน้อยกว่าห้าวา แม้จะมีเนื้อที่ เหลืออยู่มากกว่ายี่สิบห้าตารางวาแต่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยหรือใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเจ้าของ ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วย” รวมทั้งได้ดูแผนที่ที่ดินที่จะถูกเวนคืนของที่ดินแปลงนี้ที่การรถไฟฯ จัดทำขึ้น พบว่า แผนที่ที่ใช้ในการพิจารณาเป็นแผนที่ที่ทำขึ้นมาของการรถไฟที่ได้ทำการรังวัดที่กำหนดเวนคืนพื้นที่ไว้ที่ 3 งาน 41.1 ตรว. และมีพื้นที่ด้านหนึ่งกว้าง 11 เมตร ซึ่งขนาดของพื้นที่จากแผนที่ที่นำมาประกอบการพิจารณาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สำนักงานที่ดินได้ทำรังวัดซ้ำไว้ และที่การรถไฟเองก็ได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย ที่ 3 งาน 51 ตรว. เจ้าของที่ดินจึงได้เขียนคำร้องให้การรถไฟทำรังวัดพื้นที่ใหม่ แต่การรถไฟฯเพิกเฉย และผลักภาระการทำรังวัดให้กับเจ้าของที่ดิน

รวมถึงได้ให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มากดดันเจ้าของที่ดินแปลงนี้โดยอ้างการใช้กฎหมายในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่เซ็นสัญญาก็จะดำเนินการตามกฎหมายโดยการจะทำเรื่องถึงผู้ว่าการรถไฟเพื่อขออนุมัติขอวางทรัพย์ และจะขอออก พ.ร.บ. เร่งด่วนเพื่อเวนคืนที่ดิน ซึ่งนั้นนำมาสู่การทำหนังสือแจ้งให้มาทำความตกลงสิทธิและทำสัญญาเพื่อรับเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นการรถไฟฯ ได้ใช้วิธีการแจ้งเข้าทำสัญญาด้วยการโทรศัพท์มาแจ้งโดยตลอด

คำถามต่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น

หากดูจากบันทึกข้อความ เลขที่ รฟ.กส. 1600/1068/2566 ลงวันที่ 4 เมษายน 2566 เรื่อง ลงนามในประกาศคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินเบื้องต้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนฯ ชวนให้ตั้งคำถามต่อการกำหนดราคาประเมิน ราคาชดเชยสิ่งก่อสร้างที่บางแปลงต่ำเตี้ยเรื่อดิน บางแปลงสูงจนเกิดคำถามต่อการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยโรงเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช่ระบบปิดและไม่ได้ใช้งานแล้วจำนวนหลายหลังที่ได้กำหนดจ่ายค่าชดเชยหลังละ 3 ล้านกว่าบาทนั้นว่า ราคาตอนสร้างใหม่กับที่ได้รับชดเชยอย่างไหนจะสูงกว่ากัน หรือการกำหนดราคาชดเชยค่าบ้านแต่ละหลังที่บอกขนาดและลักษณะใกล้เคียงกันแต่ราคาต่างกันจนน่าแปลกใจ ใครสงสัยอยากดูว่าเป็นอย่างไรก็ไปขอดูข้อมูลกันได้ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 อาจพบเรื่องชวนสงสัยอีกหลายรายการ

จะเห็นได้ว่าการเวนคืนที่ดินของประเทศไทย รัฐจะจ่ายค่าทดแทนแก่ประชาชนต่ำๆ และ ใช้กฎหมาย รังแกประชาชนอย่างเช่น การกำหนดราคาประเมินของกรมธนารักษ์ที่ขึ้นลงหลายครั้งในรอบบัญชีเดียวกัน และการที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างถึงการใช้อำนาจของรัฐมนตรีมาออกประกาศการเข้าใช้พื้นที่โดยไม่รอให้มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ไม่แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่ การที่ประชาชนไม่เซ็นสัญญานั้นเหตุมาจากการกำหนดราคาประเมินที่ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม ตลอดจนถึงการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ การเจตนาใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นสำหรับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง การกำหนดสิทธิประโยชน์ใดๆ ให้แก่ผู้ถูกเวนคืน แม้จะได้รับการทักท้วงและร้องขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องแต่ยังเพิกเฉย

จากสิ่งที่เฝ้ารอนานนับ 10 ปีจนกลายมาเป็นฝันร้ายและความเจ็บซ้ำที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนที่ดิน การประกาศราคาประเมินที่ดินที่บิดเบี้ยวเปลี่ยนไปมาหลายครั้งของกรมธนารักษ์เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาจ่ายค่าเวนคืนในที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่กลับดำเนินการโดยใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาพิจารณาแทนนั้น เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินคนอื่นๆ ด้วยหรือไม่

โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พ.ศ.2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แม้รัฐจะบอกว่าการเวนคืนเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นการพรากกรรมสิทธิ์จากมือเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ไป รวมถึงอาจกระทบถึงสิทธิชุมชนที่โครงการนั้นเข้าไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้าน และ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และสำหรับผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดิน หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบก็ควรได้รับการค่าชดเชยจากการเวนคืนที่เป็นธรรม และการเยียวยาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

ประชาชนทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบให้การใช้งบประมาณให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า และเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และกับพวกเราทุกคน

การตั้งคำถาม การใช้สิทธิให้ซื้อที่ดิน หรืออื่นใดเพื่อรักษาประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้าน เป็นเรื่องที่สามารถทำได้และหน่วยงานรัฐต้องตอบหรือดำเนินการภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด การจะกระทำหรือไม่ดำเนินการอะไรต้องมีเหตุผลทางกฎหมายอธิบายได้ เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ถูกกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปกับการเวนคืนสามารถทำได้ และควรต้องทำ เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และได้รู้สึกถึงการได้รับการเคารพในสิทธิของเรา

เขียน : “เพียงดิน”

ภาพ : องศาเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ