จอบแรกที่แพร่ รถไฟสายใหม่โอกาสของเมืองแพร่ ?

จอบแรกที่แพร่ รถไฟสายใหม่โอกาสของเมืองแพร่ ?

ชุดการสื่อสาร North Mega Project #ทิศทางรางทิศทางคนเหนือ

โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตรเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 72,921 ล้านบาทนับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค มีการปรับนโยบายหลายต่อหลายครั้ง  จนถึงปี 2553 –2554 เริ่มศึกษารถไฟแบบทางคู่ แนวเส้นทางล่าสุดที่ศึกษาจึงมีระยะทางรวมประมาณ 323.1กิโลเมตร กำหนดให้มีทั้งหมด 26 สถานี ผ่าน4จังหวัด แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย และสิ้นสุดเส้นทางที่ อ.เชียงของ โดยเส้นทางจะแยกออกมาจาก สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ คาดการณ์แล้วเสร็จเบื้องต้นปี 2571

สำหรับการเวนคืนที่ดินในโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดินใน จ.แพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย รวม 8,665 แปลง ประมาณ 12,076 ไร่ ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน ส.ป.ก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่น ๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ แต่การเวนคืนของโครงการค่อนข้างมีความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาการอุทธรณ์จ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินให้แก่ชาวบ้าน ตามพ.ร.บ.เวนคืนที่ดินฉบับใหม่ มีการจดประเมินราคาที่ดินในราคาถูกตามกรมที่ดิน เพื่อชำระภาษีในราคาถูก ส่งผลให้เมื่อใช้การประเมินราคาที่ดินในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ได้ค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินในราคาที่ยังไม่สมเหตุสมผล เพราะอาจมองว่ายังไม่ยุติธรรม ขณะที่พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินฉบับเก่า ใช้การจดประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาด ทำให้ชาวบ้านได้ค่าทดแทนในราคาที่ดีกว่าและเป็นที่ยอมรับมากกว่าปัญหาการเวนคืนก็ยังมีการแก้ไข  แต่ส่วนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ก็เริ่มหลายพื้นที่ ทีมีการขยับเขยื่อนให้เห็นในบางพื้นที่บ้างแล้ว ในส่วนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเวนคืน

จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟรางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ทำให้คนในจังหวัดแพร่เริ่มกลับมาตื่นตัวอีกครั้งหลังจากได้ยินข่าวของการสร้างรางรถไฟเส้นนี้ มากว่า 60 ปี หลาย ๆ คนและรอบนี้ถือว่ามีความเป็จจริงอย่างแน่นอน

จุดเริ่มต้นของโครงการของรัฐโครงการนี้ อ.เด่นชัย จ.แพร่ โดย อ.เด่นชัย มีสถานีรถไฟที่อยู่ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่แล้ว และถ้ามองย้อนกลับไปหลายสิบปี การใช้ระบบรางในลักษณะต่างๆสถานีเด่นชัยเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปจังหวัดแพร่และน่าน รถไฟรองรับความต้องการในการเดินทางไปยังหัวเมืองใหญ่ๆของคนเมืองแพร่ รวมถึงการใช้รถไฟ รับ-ส่งสินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าเกษตร ไม้สัก เป็นต้น

การค้าในอดีต ของ อ.เด่นชัยคือพื้นที่เศรษฐกิจของคนแพร่ ไม่ว่าระดับเจ้านาย คหบดี ก็จะมีการทำการค้าขายในพื้นที่อำเภอเด่นชัย หลายๆคนเป็นเจ้าของธุรกิจ และที่ดินใน อ.เด่นชัย ไม่น้อย ระบบรางในอดีตมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเมืองแพร่เป็นอย่างมาก มีการจ้างแรงงานไว้สำหรับยกสินค้าขึ้นลงรถไฟ  พอยุคสมัยเริ่มเปลี่ยน ถนนหนทางเริ่มเข้าถึงและตอบโจทย์ของประชาชนมากกว่าทางระบบราง ทำให้ อ.เด่นชัยเริ่มเงียบเหงา เหลือเพียงคลังน้ำมันของ ป.ต.ท. ที่เป็นบริษัทใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ ที่ใช้ระบบรางในการขนส่ง และเจ้าหน้าที่ของรถไฟที่ประจำอยู่ในพื้นที่ เด่นชัยในปัจจุบันมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พียงเท่านั้น

แต่อนาคตสถานีรถไฟเด่นชัยมีแนวโน้มสูงที่จะยกระดับจากสถานีเด่นชัยเป็นชุมทางเด่นชัยในอนาคต เนื่องจากอำเภอเด่นชัย จ.แพร่ เป็นพื้นที่อยู่ในโครงการระบบรางของรัฐ 3 โครงการ คือ

โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตรเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 72,921 ล้านบาทนับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค มีการปรับนโยบายหลายต่อหลายครั้ง  จนถึงปี 2553 –2554 เริ่มศึกษารถไฟแบบทางคู่  แนวเส้นทางล่าสุดที่ศึกษาจึงมีระยะทางรวมประมาณ 323.1กิโลเมตร กำหนดให้มีทั้งหมด 26 สถานี ผ่าน4จังหวัด แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย และสิ้นสุดเส้นทางที่ อ.เชียงของ โดยเส้นทางจะแยกออกมาจาก สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง คาดการณ์แล้วเสร็จเบื้องต้นปี 2571

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีระยะทาง 281 กม. งบประมาณ 5.9 หมื่นล้านผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์ และแพร่ เพื่อขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งทางรางในพื้นที่ภาคเหนือแล เชื่อมทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่  ระยะทาง 189 กม. งบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาท  ส่งผลให้เส้นทางรถไฟสายเหนือมีการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สมบูรณ์มากขึ้น ยกระดับเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวการค้า และการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ  โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่  จะเปิดให้บริการพร้อมกันกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ในปี 2570

เมื่อมีการเข้ามาของโครงการของรัฐเข้ามาถึง 3 โครงการในพื้นที่ แม้ในพื้นที่เริ่มมีการเวนคืนพื้นที่และเริ่มถมดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ให้เห็น แต่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับรู้ถึงความสำคัญไม่มีการตื่นตัวสักเท่าไหร่คนในพื้นที่ยังไม่มีการวางแผนอนาคต เพราะคนในพื้นที่เห็นว่าเดิมมีสถานีรถไฟเด่นชัยอยู่แล้วและที่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงของ  แต่ในมุมของคนพื้นที่ที่สนใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐมองเห็นว่าการมาของโครงการอาจทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชนท้องถิ่น เพราะว่าเด่นชัยจะเป็น 3 แยกของระบบรางและระบบรางสายเด่นชัย-เชียงของที่มีวัตถุประสงค์หนึ่งที่เป็นเรื่องของการค้าชายแดน ลาว พม่า และจีน  อ.เด่นชัยในอนาคตมีความเป็นไปได้เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ ที่นี่อาจเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในระบบโลจิสติกส์หลัก  การลงทุนของนักลงทุนอาจเห็นโอกาสของเด่นชัยและมาลงทุนในพื้นที่ตรงนี้ เห็นได้จากราคาที่ดินบางพื้นที่มีการขยับขึ้นอย่างชัดเจนเกือบ 3เท่าตัว   การซื้อขายที่ดินพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรทำให้การเกษตรในพื้นที่น้อยลง และเข้าสู่พื้นที่สังคมเมืองอีกในรูปแบบหนึ่ง สิ่งสำคัญเมื่อเมืองมีการพัฒนาก็จะมีคนจากหลากหลายพื้นที่เข้ามาอยู่เพื่อประกอบอาชีพต่างๆในเด่นชัยมากขึ้นคงปฎิเสธการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อย่างแน่นอน วิถีเดิมคนของที่อยู่ที่นี่อาจกระทบในส่วนชีวิตประจำวัน กิจวัตร และอาจกระทบถึงวัฒนธรรมก็เป็นไปได้ นั่นคือส่วนที่อาจเกิดผลกระทบเมื่อเมืองพัฒนาและหวังเพื่อหวังในเศรษฐกิจ แต่มุมในการหวังเศรษฐกิจในพื้นมราให้กลับมาเหมื่อหลายสิบปีก่อนแต่พัฒนาให้เกิดผลก็ขึ้นอยู่ว่า การสนับสนุนพื้นที่ อ.เด่นชัย ทั้งภาครัฐและเอกชน หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจากโครงการใหญ่  สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองรวมถึงยกระดับจังหวัด แม้ติดเงื่อนไขเรื่องของผังเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา แต่ปัญหานี้มีทางแก้ไขไม่ยากซักเท่าไหร่

ทั้งนี้เส้นทางรถไฟสายใหม่ที่จุดเริ่มต้นที่นี่ และผ่านจังหวัดแพร่กว่า 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี, หนองเสี้ยว, สอง แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 2 สถานี คือสถานีเด่นชัย สถานีแพร่   สถานีขนาดเล็ก 2 สถานีสถานีสูงเม่น สถานีสอง  และป้ายหยุดรถ 2 สถานี สถานีแม่คำมี และสถานีหนองเสี้ยว  การมีระบบขนส่งทางรางเกิดขึ้น ทั้งด้านการขนส่งมวลชนหรือการขนส่งสินค้าประเภทขนาดต่างๆ ไม่ว่า เฟอร์นิเจอร์ ไม้สัก ของอำเภอสูงเม่น สุราท้องถิ่น อำเภอสอง และสินค้าเกษตรที่มีหลายอำเภอ แม้การสร้างโอกาสของการท่องเที่ยว  ทำให้การคาดหวังว่าระบบรางจะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ในอนาคตเมื่อโครงการรถไฟรางคู่แล้วเสร็จ จังหวัดเล็กๆที่หลายคนในพื้นที่มองเป็นแค่เมืองผ่านจะแก้โจทย์เศรษฐกิจที่เปราะบางอย่างไรเนื่องจาก เพราะจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มีปัญหาภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจ โดยประชากรเมืองแพร่ส่วนใหญ่เป็นประชากรผู้สูงอายุ 28 % ติดอันดับ1ใน5ที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศ  จำนวนประชากรมีจำนวนที่ลดลงทุกปีต่อเนื่องกัน ส่วนประชากรในวัยทำงาน ส่วนใหญ่ก็จะออกหางานทำในต่างจังหวัดต่างๆ ทำให้นักลงทุนไม่มองการลงทุนขนาดใหญ่ระดับนิคมอุตสาหกรรม เพราะนักลงทุนกลัวปัญหาเรื่องแรงงานในพื้นที่มีผลต่อธุรกิจของนักลงทุน

การสร้างโครงการรถไฟผ่านจังหวัดแพร่ กว่า 77.20 กิโลเมตร เป็นโครงการที่รัฐกำหนดเส้นทางและกำหนดพื้นที่แม้แต่ตำแหน่งสถานีโดยระยะการเวนคืนส่วนใหญ่จะพยายามเวนคืนที่หลีกเลี่ยงชุมชนเน้นเส้นทางตามทางการเกษตรจึงลดปัญหาการเวนคืนที่ในชุมชน เมื่อรัฐเป็นผู้กำหนดของแผนพัฒนาของระบบราง แต่ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริบทของเมืองสังคมเมือง ที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะแพร่เป็นเมืองเล็กๆและเงี่ยบสงบ มีจุดขายในด้านการท่องเที่ยว แม้ยังไม่เท่ากับจังหวัดใหญ่ๆจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยว ในภาคเหนือ  เช่นเดียวการเลือกพื้นที่ Container Yard ที่การทางรถไฟวางแผนกำหนดพื้นที่ไว้ในทุกๆจังหวัดเพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้ารองรับและสร้างโอกาสให้จังหวัดแพร่ หรือจังหวัดใกล้เคียงเช่น จังหวัดน่าน แม้อยู่ใกล้ถนนสายหลักแต่สภาพความแออัดของการจราจร และประเภทของรถ  ที่มาใช้บริการที่สถานีแพร่  พูดถึงรัศมีโดยรอบกว่า 10 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ชุมชน ทั้งตัวเมืองแพร่และชุมชนน้อยใหญ่ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแพร่  

ดังนั้นการมาของ Container Yard  อาจจะต้องพิจารณาในมุมที่กระทบสังคมและศึกษาผลกระทบโดยรวม และเลือกพื้นที่ๆเหมาะสมต่อการพัฒนาเมืองที่หลายๆคนคาดหวัง  แม้ในวันนี้ยังไม่เห็นภาพของปัญหา แต่การปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขในปัญหาต่างๆในอนาคต อาจต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขไม่เป็นผลดีต่อการนำมาใช้ที่ซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองภาษี

รถไฟผ่าน จ.แพร่ เป็นโจทย์ให้หลายภาคส่วนในจังหวัดแพร่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องวางแผน  หาโอกาสในด้านเศรษฐกิจและการแก้เงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องบางอย่าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวจังหวัดแพร่มากที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ