ฟังเสียงประเทศไทย : “ทิศทางราง ทิศทางอุตรดิตถ์”

ฟังเสียงประเทศไทย : “ทิศทางราง ทิศทางอุตรดิตถ์”

ฟังเสียงประเทศไทยตอนนี้พานั่งรถไฟสายเหนือและเเวะคุยกันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ …จังหวัดอุตรดิตถ์คือหนึ่งในหมุดหมายของโครงการ ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือเฟสที่ 2  ซึ่งแน่นอนว่าการขยายแนวทางบางจุดอาจจะประชิดชุมชนที่อยู่ในเขตทาง แล้วคนอุตรดิตถ์จะเอายังไง เพราะการมาครั้งมี มีทั้งโอกาส ข้อท้าทาย พร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่นี้

ที่ผ่านมาจังหวัดอุตรดิตถ์เคยเป็นชุมทางสำคัญของรถไฟตั้งแต่อดีต เพราะที่นี่คือที่ราบที่กว้างใหญ่และเป็นจุดแวะพักก่อนที่รถไฟจะไต่เขาขึ้นเหนือ ซึ่งขณะนี้ผ่านมาหลายทศวรรษ อุตรดิตถ์กำลังกลับมาเป็นจุดสำคัญของชุมทางรถไฟอีกครั้ง โดยโครงการ ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือเฟสที่ 2 ที่จะมี  7 ชุมชน ย่านเก่าสำคัญของอุตรดิตถ์ ที่กำลังต้องเปลี่ยน จากการขยายแนวร่าง หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนท่าสัก ชุมชนตลาดเก่ามากไปด้วยเรื่องเล่ากว่าร้อยปี Thai PBS ฟังเสียงประเทศไทย ชวน “ฟัง” ให้ได้ยิน “เสียง” ของคนท่าสัก และคนอุตรดิตถ์ เพราะโจทย์สำคัญ คนในพื้นที่ต้องร่วมออกแบบ และนำไปสู่การร่วมตัดสินใจ ว่าจะพาชุมชนไปในทิศทางไหน เมื่อเรากำลัง“เชื่อมโลกด้วยราง รถไฟมาแน่” ทำให้เห็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจาก 3 ฉากทัศน์หรือภาพความน่าจะเป็นที่ใกล้เคียงมากที่สุด ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่หลายปัจจัย

1. “ศูนย์ระบบโลจิสติกส์กลางคอนเทรนเนอร์ยาร์ด” ภาครัฐและท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อย่างก้าวกระโดด มีการลงทุนจากภายในและภายนอกประเทศอย่างคึกคัก มีแรงงานจากหลากหลายชาติเข้ามารับจ้างทั้งในภาคการเกษตรและภาคการบริการ เกิดการกว้านซื้อ/เช่าที่ดินจากคนนอกพื้นที่และต่างชาติ ขณะที่ชุมชนริมรางได้รับการเยียวยา และต้องย้ายออกจากพื้นที่อาศัยดั้งเดิมเพื่อเปิดทางให้แก่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คุณค่าท่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมถูกละเลย

2. “พัฒนาเอกลักษณ์ท้องถิ่น เชิดชูเมืองท่องเที่ยวเก่า” ภาครัฐและท้องถิ่นใส่ใจต่อผลกระทบที่ชุมชนริมรางจะได้รับจากโครงการ และพยายามเยียวยาในระดับหนึ่ง คนกลับคืนถิ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น เกิดธุรกิจประกอบการที่หลากหลายทันสมัย ทว่าคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่เชื่อมั่นในภาครัฐ ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโลกด้วยราง เกิดการระดมพลังมวลชนในการสร้างคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของพื้นที่

3. “คนและรางต่างโตไปด้วยกัน” ภาครัฐและท้องถิ่นให้ความสำคัญและใส่ใจต่อผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่มีต่อชุมชนริมรางและคนในพื้นที่อย่างจริงจังและจริงใจ เกิดโครงการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก คนคืนถิ่นและคนย้ายถิ่นเข้ามาสร้างความคึกคักและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณค่าทางประวัติศาสตร์    อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้รับความสนใจ และกลายเป็นจุดดึงดูดของการท่องเที่ยว

ชุมชนตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ คือ 1ใน 7 ชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ที่ มีเส้นทางรถไฟผ่านกลางชุมชนโดยที่ดินของคนในชุมชน บางส่วนมีเอกสารสิทธิถูกต้อง  ส่วนตลาดย่านเก่าแก่ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินการรถไฟ ส่วนที่ดินติดริมน้ำเป็นที่ดินเอกชนและบางส่วนที่ดูแลโดยกรมเจ้าท่า

โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่ เป็นชาวจีนอพยพ เชื่อว่ามาพร้อม ๆกับการเข้ามาของทางรถไฟ ที่เปิดใช้สถานีรถไฟท่าสักอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2462 และต่อมาพัฒนาไปสู่การค้าขาย  มีการสร้างบ้านเรือนลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น จนเป็นย่านสำคัญในยุคนั้น

ปี 2512 มีการสร้างถนนหลวงหมายเลข 11 พิษณุโลก-เด่นชัย เชื่อมเมืองอุตรดิตถ์ ตรอน มาจนถึงอำเภอพิชัย ก็ทำให้เส้นทางรถไฟและการขนส่งทางน้ำเริ่มลดความสำคัญลง เขตการค้าเริ่มถูกตัดตอน โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ก็ทยอยปิด โรงเลื่อยก็เปลี่ยนเจ้าของและย้ายออกไปจากพื้นที่ ธุรกิจในพื้นที่เริ่มย้ายฐานออกไปในพื้นที่ตำบลพิชัย และเข้าไปอยู่ในมืองอุตรดิตถ์มาขึ้น

แต่โจทย์สำคัญ ของการพัฒนาระบบร่างของที่นี่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่เห็นภาพรวมในการพัฒนาจังหวัดของตนเอง และการเชื่อมต่อกับการพัฒนาระดับอาเซียน ร่วมถึงยังไม่มีข้อมูล Master Plan ในการขยายสถานีรถไฟ

พร้อมกับสถานการณ์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นผู้สูงอายุ วัยแรงงานกระจุกตัวอยู่ในเมือง

ในขณะที่คาดการณ์โอกาสที่อาจจะขึ้นจากเดิมชุมชนริมทางรถไฟมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ บางชุมชนเช่นท่าสักมีต้นทุนทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถเชื่อมรถไฟเข้ากับเส้นทางการท่องเที่ยว Train Trip ได้ตั้งแต่จากเมืองเก่าสุโขทัย หรือ One Day Train Trip จากสถานีต่าง ๆ ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พิชัย บ้านดารา ท่าสัก

ร่วมถึง พัฒนาเป็นเส้นทางการขนส่งทางรถไฟ  เชื่อมต่อการขนส่งทางราง (Container Yard) ด้วยตู้คอนเทรนเนอร์สถานีรถไฟศิลาอาสน์ไปท่าเรือคลองเตย และ แหลมฉบังโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3  และเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลําไย และต่อไปยังจีน

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิมช่วงที่มีปัญหาความคับคั่งของการเดินรถ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและสำหรับขบวนรถไฟท้องถิ่นให้ได้มีประสิทธิ์ภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีโครงข่ายเชื่อมการเดินทาง ระยะทาง 2,476 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งอุตรดิตถ์ คือหนึ่งในพื้นที่โครงการ

เพื่อผลักดันให้อุตรดิตถ์เป็นตัวเชื่อมเส้นทางและศูนย์กระจายสินค้าของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่1 (พิษณุโลก  อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์  สุโขทัย ตาก) ที่จะประกอบด้วยหนึ่งเส้นทางรถยนต์ เชื่อมต่อทางราง ด้วยรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ เชื่อมต่อการค้าการขนส่งระหว่าง ไทย ลาว เมียนมาและจีน มีแนว เส้นทางเชื่อมโยงจากรัฐกระเหรี่ยงและรัฐมอญของประเทศเมียนมา ผ่านด่านพรมแดนแม่สอด

อ.แม่สอด จ.ตาก และผ่าน จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ของไทย และเชื่อมโยงเข้าสู่แขวงไซยะบุลีและแขวง หลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ผ่านทางด่านพรมแดนภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์

ไม่เพียงแต่ด้านการขนส่ง แต่จะมีการเชื่อมต่อการท่องเที่ยวเข้ากับระบบราง เชื่อมอาณาจักรล้านนา กับล้านช้าง อย่างเส้นทาง เชียงใหม่-หลวงพระบาง  ระทางพียง700 กิโลเมตร //เชื่อมเมืองมรดกโลกหลวงพระบางกับเมืองมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ระยะทาง 600 กิโลเมตร

ซึ่งสถานโครงการล่าสุด จะต้องดำเนินการภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี คือเสร็จสิ้นในปี 2570 โครงการอยู่ในระหว่างขออนุมัติ แต่ส่วน EIA ผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้ว โดยแผน จะมีการขยายไปด้านซ้ายและขวาจากศูนย์กลางทางรถไฟเดิม 40 เมตร รวมเป็น 80 เมตร พร้อมมีรั้วกั้น

นี่คือที่มา ที่ #ฟังเสียงประเทศไทย เดินทางมาฟังเสียงคนอุตรดิตถ์ เพื่อชวนคนในพื้นที่ลองจินตนาการ คิดภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ จากที่ทีมงานไทยพีบีเอส ตั้งต้น 3 ฉากทัศน์ หรือภาพเเทนความน่าจะเป็น เป็นสารตั้งต้น พูดคุยกัน

ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการพูดคุย แลกเปลี่ยนกัน พร้อมกับเติมเต็มข้อมูลให้กัน อย่างรอบด้าน ภายใต้เวลาอันจำกัด….  ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ยังไม่ใช่ข้อมูลและคำตอบสุดท้ายในการออกแบบชุมชนของคนที่นี้ เพราะยังรอความชัดเจนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องอยู่

ซึ่งคุณผู้อ่าน สามารถร่วมโหวตภาพความน่าจะเป็น ร่วมกันกับคนอุตรดิตถ์ ชาวท่าสักได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ