เครือข่ายสลัมสี่ภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์กรประชาชน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ริมรางรถไฟเมืองย่าโม เร่งลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่-ความเร็วสูง เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาคนจนถูกไล่รื้อ โดยไม่มีที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
นางถนอม กล้าหาญ ชุมชนหลังจวนผู้ว่าฯ เล่าว่า ตั้งแต่รู้ข่าวว่ารัฐบาลอนุมัติให้มีการสร้างทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ก็รับรู้จากข่าวด้วยความกังวลใจ เพราะมีการไล่รื้อคนจนที่อยู่อาศัยบนที่ดินการรถไฟฯ เป็นจำนวนมากมาเป็นระยะๆ โดยไม่มีการหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ไว้รองรับ “พวกเราขอเช่าที่ดินรถไฟมาตั้งแต่ปี 2547 แต่เขาไม่ให้เช่า เราก็อยู่อย่างกังวลมาตลอดว่าจะถูกไล่รื้อเมื่อไหร่ ในชุมชนก็เป็นคนจนกันทั้งนั้น หลายบ้านมีแต่ผู้สูงอายุ ถ้าถูกไล่ออกแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน จะดูแลเราอย่างไรให้เราอยู่รอดต่อไปได้” นางถนอม กล่าว
ชุมชนหลังจวนผู้ว่าฯ เป็นหนึ่งในหลายชุมชนบุกเบิกที่ดินรถไฟในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา และเคยพยายามขอเช่าที่กับการรถไฟฯ เพื่อให้อยู่อาศัยในที่ดินได้อย่างถูกกฎหมาย มาตั้งแต่ปี 2544-2547 แต่ไม่สามารถเช่าที่ดินได้ หากจะมีการไล่รื้อชุมชนเพื่อสร้างทางรถไฟทั้งสองสาย ชุมชนริมรางทั้งหมดในเขตเมืองมากกว่า 20 ชุมชน และชุมชนในเขตรางทั้งหมดในจังหวัดอีกเป็นจำนวนมาก จะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาตามกฎหมาย และจะกลายเป็น “คนไร้บ้าน”
ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลทยอยอนุมัติให้มีการก่อสร้างมาเป็นช่วง ๆ ทำให้เกิดการไล่รื้อคนจนมาตามแนวก่อสร้าง ขบวนองค์กรประชาชนได้ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาไล่รื้อคนจนที่กำลังขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ ในที่สุดนำมาสู่การแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 และ คณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563
อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีตัวเลขผู้ได้รับกระทบจากโครงการทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าใด เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่กว้างขวางทั้งประเทศ แต่ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการสำรวจที่ผ่านมาก็ชี้ว่า อย่างน้อยจะมีผู้ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศมากกว่า 6 หมื่น ครัวเรือน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในภาคอีสาน เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจน การสำรวจจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนภายในเดือนนี้ของคณะทำงานขบวนภาคประชาชน เพื่อชะลอการไล่รื้อและการบังคับใช้กฎหมายกับคนจน และผลักดันให้ การรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีแนวทางหรือออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนจนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างเหมาะสม
จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบบนที่ดินการรถไฟฯ ในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ชุมชนจำนวนมากยังไม่รับรู้ข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ไม่เคยได้รับแจ้งให้เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น หลายชุมชนไม่รู้ว่าชุมชนที่อยู่อาศัยจะถูกไล่รื้อหรือไม่ ไม่มีข้อมูลมาตรการรองรับผู้ได้รับผลกระทบ และชาวบ้านที่ให้ข้อมูลหลายคนกำลังอยู่ในความวิตกกังวลเพราะไม่มีที่จะอยู่อาศัย ทั้งนี้ หลังจากสำรวจข้อมูลแล้วเสร็จ คณะทำงานฯ จะเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทันกับสถานการณ์ก่อนจะมีการก่อสร้างโครงการในช่วงต่อไป