ฟังเสียงประเทศไทย : น้ำมันรั่วกับอนาคตทะเลตะวันออก ภายใต้เงา EEC

ฟังเสียงประเทศไทย : น้ำมันรั่วกับอนาคตทะเลตะวันออก ภายใต้เงา EEC

หากพูดถึง ‘ทะเล’ สถานที่ที่ผู้คนนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งทานอาหารทะเลอร่อย ๆ และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับเมืองหลวงของประเทศ หลายคนน่าจะนึกถึงชายหาดบางแสน ชายหาดพัทยา หรือไม่ก็ 

ชายหาดทางแทบจังหวัดระยอง 

ซึ่งถือเป็นโซนที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาตินิยมไปพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทะเลที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ เดินทางสะดวก รวดเร็ว มีเวลาน้อยก็สามารถท่องเที่ยวได้ นอกเหนือจากนั้น ทะเลแทบตะวันออก อย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ยังเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการลงทุนด้านอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวที่ภาครัฐพยายามผลักดัน 

โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หนึ่งในความหวังที่จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ GDP ไทยเติบโตขึ้น แต่หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก และอาจจะเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งให้โครงการนี้ไปสู่จุดหมายได้ไม่เต็มเป้า ก็คือ ปัญหาเรื่องของน้ำมันรั่ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโซนทะเลตะวันออก เนื่องจากเป็นโซนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็๋น ‘นิคมอุตสาหกรรมของประเทศ’ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน และปิโตรเคมี ที่มีมากอยู่ในแทบภาคตะวันออก 

ปัญหานี้ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่อาจตีมูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยเราจัดวงพูดคุย พร้อมทั้งเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจังหวัด และตัวแทนชาวประมงชายฝั่งทะเลตะวันออกกว่า 30 คน มาร่วมพูดคุยกันถึงภาพอนาคตทะเลตะวันออก ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อนอย่าง EEC

– อนาคตทะเลภาคตะวันออกที่อยากให้เห็น –

ทะเลบ้านเราตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยที่ผมมาอยู่ศรีราชาใหม่ ๆ ว่าง ๆ ก็ถือไฟฉาย ตะเกียงแก๊สลงไปส่องหาปู หากุ้งแชบ๊วย สมัยนี้หาจนสว่างก็แทบจะไม่เจอ เมื่อก่อนปูคลานตามท้องทะเลชายหาด 

แต่ตอนนี้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและทางทะเล การขนถ่ายสินค้าหลาย ๆ ประเภทอยู่หน้าอ่าวศรีราชาเยอะมาก เพราะว่ามันสะสมไว้นาน มันหล่นไปในกองในท้องทะเล พอมีลม หรือมีคลื่นก็ตีเข้าฝั่ง และพอเกิดสารเคมีน้ำมันรั่วผสมลงไปอีก ก็กลายเป็นทะเลเน่า ชาวบ้านเลี้ยงปู เลี้ยงหอยก็ตายหมด ไม่รู้จะไปร้องขอความช่วยเหลือจากใคร รอเยียวยาก็ไม่รู้จะจบกันเมื่อไหร่

ความสมดุลมีเป็นร้อยปีแล้ว เริ่มมาไม่สมดุล เพราะการพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านความสมดุลก็เลยหายไป และคำว่าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษนั้น พิเศษใคร ความสมดุลจะอยู่ไหม ความสมดุลมีมานาน แต่คนทำลายคือมนุษย์ เหมือนระยองทางกายภาพสมดุลที่สุด แหล่งความลึกไตร่ระดับ เป็นแห่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้ดีมาก แต่กำลังถูกทำลายด้วยความไม่สมดุล จากโครงการต่อขยาย ดังนั้นความสมดุลกำลังถูกทำลายทุกวัน

อยากให้สมบูรณ์ อย่างเกาะสีชังเราหากินกันตามฤดูกาล อย่างเดือนนี้เราหากินด้วยการวางกุ้ง วางปู อย่างที่ผ่านมาก็ข่าวคราบน้ำมัน ทำให้สินค้าทางเกาะสีชังที่ส่งข้ามฝั่งมาขาย พอข่าวนี้ออกไปคนเกาะขายของไม่ได้  อาจเป็นเพาะสารปนเปื้อนจากสารเคมี ตอนนี้ก็เลยแย่ตาม ๆ กันไป อยากให้ความสมดุลกลับมา  

– ทำความรู้จักชายฝั่งทะเลตะวันออก –

ภาคตะวันออกประกอบไปด้วย 7 จังหวัด สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เนื้อที่ประมาณ 34,380 ตารางกิโลเมตร แม้เป็นภูมิภาคที่มีขนาดเล็กที่สุดของไทย แต่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีความสมบูรณ์ทั้งป่าเขา มีแม่น้ำสายสำคัญหลายสายที่ไหลลงสู่อ่าวไทย และมี 5 จังหวัดที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ทำให้ภาคตะวันออกดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามา สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ด้านการท่องเที่ยว

ภาคตะวันออก มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น หาดบางแสน จ.ชลบุรี หาดพัทยา เกาะช้าง จ.ตราด เกาะล้าน จ.ชลบุรี และเกาะเสม็ด จ.ระยอง

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า 7 จังหวัดภาคตะวันออก มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ประมาณ 38 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 361,000 ล้านบาท แต่กว่า 3 ใน 4 กระจุกตัวอยู่ในชลบุรี เนื่องจากเป็นจังหวัดติดทะเล และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวแบบไปกลับได้ รวมถึงสามารถรองรับการพักค้างคืนจากธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวที่อำนวยความสะดวก

อย่างไรก็ตามรายได้ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกมาจากภาคอุตสาหกรรม รองลงมาคือ ภาคบริการ และเกษตรกรรม สำหรับ 3 จังหวัดที่อยู่ในแถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย อย่าง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ยังนับเป็นเป็นพื้นที่สำคัญที่ถูกวางไว้ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อการพัฒนาเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกด้วย

ด้านเศรษฐกิจ

กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมกลุ่มจังหวัด (GPCP) มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยปี 2563 อยู่ที่ 2,095,357 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ

หากจำแนกเป็นรายจังหวัด จะพบว่า จังหวัดชลบุรี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด 892,062 ล้านบาท ซึ่งอยู่ลำดับที่ 1 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก  และเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร 

ส่วนจังหวัดระยอง มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด 857,191 ล้านบาท จัดอยู่ลำดับที่ 2 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก และลำดับที่ 3 ของประเทศ และจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ลำดับที่ 3 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก และลำดับที่ 9 ของประเทศ

ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP per capita) หรือ ความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัดเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน  ภาคตะวันออกก็จัดอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับสูงสุด โดยระยอง มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงสุดที่ 831,734 บาทต่อคนต่อปี สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 

ต้องยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรม คือภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของของภาคตะวันออก จนได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย” ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี ล้วนตั้งอยู่ที่นี่ จากจำนวนนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการ 68 นิคมฯ กระจายอยู่ใน 16 จังหวัด กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 

การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด EEC มีเป้าหมาย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ที่จะเป็นพื้นที่ “เศรษฐกิจชั้นนำระดับอาเซียน พัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน บนพื้นฐานสังคมเป็นสุข” โดยมุ่งพัฒนา 5 ด้าน คือ

  • การพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม มุ่งสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ดีและทันสมัย
  • ส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานและมีมูลค่าสูง
  • ส่งเสริมและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า และการบริการด้านการท่องเที่ยว
  • ส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต

‘น้ำมันรั่ว’ โจทย์ใหญ่ที่ไม่อาจประเมินค่าความเสียหายได้ 

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาพื้นที่ยังมีโจทย์ใหญ่และข้อท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข คือ กรณีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน งบประมาณของรัฐ รวมไปถึงความเชื่อมั่นในการจัดการปัญหา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 21.00 น. เกิดเหตุน้ำมันดิบปริมาณ 45,000 ลิตร รั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันขณะขนถ่ายน้ำมันดิบ บริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งประมาณการรั่วไหลของน้ำมันดิบ อยู่ในระดับที่ 2 (Tier II)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุสถิติน้ำมันรั่วไหลลงทะเลไทยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึง 2563 ว่ามีการพบน้ำมันรั่วไหลมากว่า 101 ครั้ง เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 28 ครั้ง และจากการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 73 ครั้ง

สำหรับสถานการณ์ปีงบประมาณ 2564 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 44 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 17 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 27 ครั้ง

การติดตามตรวจสอบสถานการณ์น้ำมันรั่วของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเล ซึ่งเกิดเหตุการณ์บ่อยครั้ง เนื่องจากมีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ได้แก่ การเดินเรือเข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว

อีกทั้ง บริเวณชายฝั่งจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมันทำให้มีการเดินเรือเข้าออกเพื่อขนส่งน้ำมัน รวมทั้งมีระบบท่อขนส่งน้ำมันในทะเล

4 สาเหตุ น้ำมันรั่วไหล

1. กิจกรรมของอุตสาหกรรมน้ำมัน และปิโตรเลียม ได้แก่ โรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ โรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การขนถ่ายน้ำมัน โดยบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลมากที่สุด คือ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียม และบริเวณใกล้เคียงที่มีโรงงานกลั่น กักเก็บน้ำมัน รวมทั้งกระบวนการขนถ่ายน้ำมันในทะเล

2. อุบัติเหตุการเฉี่ยวชนกันของเรือเดินทะเลชนิดต่าง ๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อ ปี 2545 คือ  เรือบรรทุกน้ำมัน EASTERN FORTITUDE เกิดอุบัติเหตุชนหิน บริเวณช่องแสมสาร จ.ชลบุรี และเรือ KOTA WIJAYA ชนกับเรือ SKY ACE บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

3. การลักลอบถ่ายเทน้ำมัน หรือของเสียที่เกิดจากการชะล้าง โดยไม่มีการบำบัด แล้วเกิดปฏิกิริยาจนเปลี่ยนเป็นก้อนน้ำมันตามชายฝั่งทะเล ที่เรียกว่า ก้อนน้ำมัน (Tar ball)

4. กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เช่น การขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล

ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ตามมาหลังจากน้ำมันรั่วไหลลงทะเล คือ น้ำมันจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ น้ำมันบางส่วนระเหยไป น้ำมันที่เหลือจะเปลี่ยนสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะของชนิดน้ำมันนั้น ๆ โดยมีปัจจัยต่าง  ๆ เช่น แสงแดด กระแสน้ำ อุณหภูมิ เป็นตัวทำให้เปลี่ยนสภาพ

คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่ผู้ผลิต อย่าง แพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่าง เพราะคราบน้ำมันจะทำการปิดกั้นการสังเคราะห์แสง ส่งผลถึงผู้บริโภคขั้นต้น อย่าง  ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง จนมาถึงมนุษย์ ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย

เนื่องจาก น้ำมันดิบ ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดที่อาจส่งผลต่อ สุขภาพมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ละอองน้ำมัน  ฝุ่นละออง  สารอินทรีย์ระเหยง่าย สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก อย่างสารปรอท สารหนู และตะกั่ว ซึ่งเมื่อหายใจรับเอาสารเหล่านี้เข้าไป  อาจทําให้หายใจลําบาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือโรคระบบทางเดินหายใจ และหากได้รับสัมผัสในปริมาณมากอาจทําให้เกิดอาการปอดอักเสบจากสารเคมี  หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

ส่วนผลกระทบในระยะยาว เมื่อได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณมาก ๆ สารเหล่านี้จะทำลายระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ไต ตับ ระบบทางเดินหายใจ ระบบสืบพันธุ์ ระบบไหวเวียนเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท รวมถึงหากมีการรับประทานสารปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไป อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอดเป็นต้น

นอกจากนี้ คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมง และการเพาะลี้ยงชายฝั่ง เช่น สัตว์น้ำตายจากคราบน้ำมัน ขาดออกซิเจน ชายหาดสกปรกจากคราบน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพ มีกลิ่นเหม็น ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวและพักผ่อน ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศ

ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล จะขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมัน ปริมาณที่รั่วไหล สภาพภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เกิดรั่วไหล กระแสน้ำ กระแสลม การขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรรอบๆบริเวณนั้น

แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล

สำหรับแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ โดยน้ำมันแห่งชาติ จำแนกปริมาณน้ำมันรั่วไหลเป็น 3 ระดับ (Tier) ได้แก่

1. ระดับที่ 1 (Tier I)   ปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 20 ตันลิตร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน และ/หรือได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน

2. ระดับที่ 2 (Tier II)   รั่วไหลมากกว่า 20 – 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากเรือโดนกัน การขจัดคราบน้ำมันต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน หากเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

3. ระดับที่ 3 (Tier III)  ปริมาณรั่วไหลมากกว่า 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง การขจัดคราบน้ำมันในระดับนี้ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆในประเทศ และต้องอาศัยความช่วยเหลือระดับนานาชาติ

ส่วน ในทางวิชาการมีการระบุถึงสิ่งที่ต้องรีบทำเมื่อเกิด กรณีน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล คือ

1. หยุดการรั่วไหลของน้ำมันให้ได้โดยเร็วที่สุด (Stopping)

2. แจ้งเตือนและให้ข้อมูลกับภาคส่วนต่าง ๆ (Information) ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ 

3. เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ (Sampling and Analysis) ทั้งปริมาณ ความเข้มข้นและอัตราการไหลของน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล / คุณภาพแหล่งน้ำ และลักษณะของสัตว์น้ำ เพื่อประเมินผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตในระยะสั้น ระยะยาว / รวมทั้งข้อมูลด้านกายภาพ สภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ ความเร็วลม ลักษณะคลื่น อุณหภูมิ เพื่อออกแบบแนวทางการจัดการ

4. ควบคุมและจำกัดพื้นที่ของการปนเปื้อนน้ำมัน (Contamination area Control)  คราบน้ำมันถูกควบคุมโดยการใช้ทุ่นลอยน้ำ (Floating) หรือทุ่นกักน้ำมัน (Boom) 

5. แยกน้ำมันปนเปื้อน (Oil Separation) อุปกรณ์สกิมเมอร์ (Skimmer) เพื่อทำการเก็บคราบน้ำมันขึ้นไปเก็บไว้บนเรือ

6. การบำบัดและกำจัด (Treatment and Disposal) มี 4 วิธี คือ

6.1. การกระจายน้ำมัน (Oil dispersion method) โดยสารเคมีจำพวกสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) และสารกระจาย (Dispersant) ให้น้ำมันแตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กและสามารถย่อยสลายได้ง่ายด้วยจุลินทรีย์ วิธีการนี้ควรใช้จัดการกับความเข้มข้นน้ำมันปนเปื้อนที่ค่อนข้างต่ำและมีพื้นที่ปนเปื้อนของคราบน้ำมันในวงกว้าง รวมไปถึงอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว อย่างเช่น ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว หรือฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนักวิจัยหลายคนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของสารเคมีนี้ทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

6.2. ดูดซับน้ำมันและตกตะกอน (Adsorption and Sedimentation method) อาศัยกลไกการดูดซับอนุภาคน้ำมันให้มาเกาะติดอยู่ที่ตัวกลางดูดซับน้ำมัน จากนั้นปล่อยตัวกลางดังกล่าวตกตะกอนลงสู่พื้นทะเล เพื่อรอให้เกิดการย่อยสลายอนุภาคน้ำมันทางธรรมชาติ (Bio-degradable) ด้วยจุลินทรีย์ วิธีการนี้มักใช้จัดการกับความเข้มข้นน้ำมันปนเปื้อนที่ค่อนข้างต่ำ และมีพื้นที่ปนเปื้อนของคราบน้ำมันในวงกว้าง รวมไปถึงอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เช่น ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว หรือฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรคำนวณและควบคุมปริมาณสารดูดซับที่จำเป็นต้องใช้อย่างเหมาะสม เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในทะเล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโดยรวม

6.3. สูบส่งและบำบัด (Onsite pump and treat method)  มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การทำลายเสถียรภาพของอิมัลชัน ในกรณีที่มีการปนเปื้อนด้วยสารลดแรงตึงผิวหรือในกรณีที่มีเสถียรถาพของอิมัลชันสูง 2) การบำบัดหรือแยกเฟสน้ำและน้ำมันออกจากกันด้วยกระบวนการกายภาพ 3) การบำบัดน้ำมันที่ละลายได้ในน้ำเสียและส่วนน้ำใสที่ได้จากการบำบัดด้วยวิธีทางกายภาพ และ 4) การจัดการส่วนที่เป็นน้ำมันเข้มข้น เพื่อนำน้ำมันส่วนดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิธีการนี้มักใช้จัดการกับความเข้มข้นน้ำมันปนเปื้อนและมีพื้นที่ปนเปื้อนของคราบน้ำมันปานกลาง รวมไปถึงอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว

6.4. การเผาทำลาย (Combustion method) อาศัยกลไกการเผาไหม้เพื่อเปลี่ยนรูปของอนุภาคน้ำมันที่ปนเปื้อนในเฟสน้ำให้กลายเป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) แต่ต้องระวัง ผลจากก๊าซ CO2 ที่ได้จากการเผาไหม้เป็นปัจจัยหลักต่อการเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate change)

7. ติดตามตรวจสอบ (Monitoring) คือ การตรวจสอบอุปกรณ์และระบบ (Equipment and System) ที่นำมาใช้งาน โดยทั่วไป มักจะถูกใช้งานเป็นระยะเวลาค่อนข้างนานและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน ขึ้นกับสภาพอากาศ คนหรือเจ้าหน้าที่ และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

8. ฟื้นฟูสภาพ (Remediation) การดำเนินการในขั้นตอนนี้ต้องการความร่วมมือจำนวนมากจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต้นเหตุของปัญหา หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงภาคประชาชนที่ต้องช่วยกัน โดยการจัดการกับพื้นที่บริเวณชายฝั่ง จัดการกับตะกอนน้ำมันที่พื้นทะเล จัดอบรมและให้ความรู้ (Training) กับภาคส่วนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการของไทย ยังคงมีคำถามถึงมาตราการในการจัดการปัญหาซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมาต่อระบบนิเวศของทองทะเลในระยะยาว การฟื้นฟูฐานทรัพยากร รวมทั้งมาตรการรูปธรรมการควบคุมป้องกันปัญหา

3 ฉากทัศน์ อนาคตทะเลตะวันออก

หลังจากได้อ่านชุดข้อมูลสถานการณ์น้ำมันรั่ว และการพัฒนาพื้นที่ทะเลชายฝั่งภาคตะวันออกแล้ว ทางรายการเรามี 3 ฉากทัศน์ ที่เป็นเสมือนตุ๊กตาตั้งต้นของการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทุกคนได้ลองมาเลือกกัน ว่าคุณวาดฝันภาพอนาคตของทะเลตะวันออกแบบไหนกันบ้าง สามารถกดโหวตเลือกที่ด้านล่างได้เลย

ฉากทัศน์ที่ 1 เมืองอุตสาหกรรมผู้นำการพัฒนา

EEC เสริมสร้างให้ไทยเป็นผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถ ราง เรือและอากาศ ภายใต้การลงทุนของรัฐและเอกชน ชายทะเลตะวันออกเป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึก และแหล่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เจริญก้าวหน้า

ธุรกิจการลงทุนจำนวนมากอยู่ในมือทุนใหญ่จากต่างชาติ ขณะที่รัฐยังคงมีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ไม่กระจายอำนาจ ความเป็นเมืองเติบโต ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามา เศรษฐกิจภายใต้ EEC พัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่อาจต้องแลกด้วยปัญหาเมืองในหลายด้าน ทั้งมลพิษ ขยะ น้ำเสีย การจราจรติดขัด สุขภาพอนามัยที่ทรุดโทรม รวมทั้งปัญหาทางสังคมต่างๆ

การจัดการผลกระทบจากกิจการอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อมมีรัฐเป็นหลักในการวางมาตราการกำกับ โดยใช้กฎหมายควบคุม และทำหน้าที่เยียวยาฟื้นฟู รวมไปถึงการควบคุมป้องกันและวางระเบียบในการเอาผิดกับผู้ก่อผลกระทบอย่างเข้มข้น แต่การจัดการแบบรวมศูนย์อาจมีความล่าช้าและไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ในพื้นที่ รัฐต้องเหนื่อยหนักในการแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่น เพราะภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นยังฝังรากลึก

ส่วนประชากรเปราะบางที่หวังพึ่งพารัฐ อาจไม่สามารถรับมือกับการพัฒนาที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและยาวนานได้ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาชีพเพื่อความอยู่รอด

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

EEC พัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ทำให้การเดินทางสะดวก สบาย และรวดเร็วขึ้น เอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาสให้กับพื้นที่ชายทะเลตะวันออกซึ่งเดิมก็มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ทำให้สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวที่ทันสมัยและครบวงจร รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการอยู่อาศัย

ภาคท่องเที่ยวกลับมาเฟื่องฟู แต่ยังเน้นการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ชายหาดสวย น้ำใส อาหารทะเลมีคุณภาพราคาถูก คือสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้นการรักษาภาพลักษณ์และความเชื่อมันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

รัฐและเอกชนร่วมมือป้องกันอุบัติภัยทางทะเล จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อนักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือทรัพยากรทางทะเลและนิเวศชายฝั่ง เน้นการใช้เทคโนโลยีและงบประมาณที่คุ้มค่า และรวดเร็วในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า เพราะทุกนาทีของสถานการณ์ที่ยืดเยื้อคือรายได้ที่ต้องสูญเสียไป แต่อาจไม่ได้มองถึงผลกระทบระยะยาว

มูลค่าของการท่องเที่ยวที่สูง เป็นแรงจูงใจให้ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม และควบคุมไม่ให้อุตสาหกรรมก่อผลกระทบ มีระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพื่อรับมืออุบัติภัยต่าง ๆ หากเกิดความเสียหายผู้ก่อมลพิษต้องเร่งรับผิดชอบ

ฉากทัศน์ที่ 3 เมืองสิ่งแวดล้อมยกระดับคุณภาพชีวิต

ชายทะเลตะวันออกเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของประเทศและแหล่งอาหารทะเลคุณภาพใกล้เมือง EEC พัฒนาโดยคำนึงถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต่อทรัพยากรของท้องถิ่น และพยายามสร้างความสุมดุล ส่งเสริมให้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นคงความหลากหลาย โดยพัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมทันสมัย

รัฐลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งส่งเสริมด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ขณะที่ท้องถิ่นและประชาชนหนุนช่วยกัน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แบ่งปัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ผลสัมฤทธิ์ต้องอาศัยระยะเวลานาน

ด้านการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐและเอกชนสนับสนุนให้ท้องถิ่นเป็นแกนกลาง มีประชาชนในพื้นที่ สถาบันวิชาการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าร่วม โดยอาจสนับสนุนในรูปแบบของกองทุนฟื้นฟูเยียวยาความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ทรัพยากร และผลกระทบที่เกิดกับประชาชน

มีแผนการทำงานในระดับท้องถิ่น เติมความรู้ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง และงบประมาณ ให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวังดูแลทรัพยากร ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการปัญหา และมีมาตรการป้องกันเพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเล

4 มุมมอง แก้ปัญหาน้ำมันรั่ว สร้างสมดุลควบคู่กับการพัฒนา –

ชวนทุกท่านอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาทางออกของเรื่องนี้ ไปพร้อม ๆ กับวิทยากรทั้ง 4 ท่าน 

  • ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  • รศ. ดร.เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
  • อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จังหวัดชลบุรี
  • นริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี

เริ่มต้นที่ อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ว่า ในพื้นที่วิกฤต ชาวบ้านพยายามฟื้นฟู แต่มิติที่ขาดหายไปคือเรื่องของการดูแลจากหน่วยงานรัฐ  ที่ควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ไม่เน้นที่ภาคใดภาคหนึ่ง 

3 มิติที่เราเห็น จากฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉาก เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยต้องร่วมกันออกแบบ แต่สุดท้ายชาวประมง คนในพื้นที่มักจะถูกลืม เราต้องสะท้อนปัญหาขึ้นไปหาหน่วยงานของรัฐเสมอ แม้ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ในรอบ 2 เดือน เราเจอเหตุการณ์น้ำมันรั่ว 3 ครั้งแล้ว 

ต้องมามองมิติของกฎหมายที่มาบังคับใช้ สามารถใช้ได้ผลจริงหรือไม่ หลักการทำงานของผู้ประกอบการใช้ได้จริงหรือเปล่า ถึงเวลาที่เราต้องเข้มงวดเรื่องพวกนี้ อย่าหย่อนยาน เพราะตอนนี้ทั้งหย่อนยานและละเลยพวกมาตราการต่าง ๆ ส่งผลให้ทะเลเกิดความเสียหาย 

ดังนั้นการบริหารจัดการของงหน่วยงานรัฐ ต้องกระจายอำนาจก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดความสมดุล ปัญหาตอนนี้ต้องยอมรับทุกมิติมีปัญหา ถ้ารัฐยังคงรวมศูนย์ การแก้ปัญหามันก็จะช้า กว่าจะลงมาถึงท้องถิ่นก็ช้า ผลกระทบก็จะตกอยู่กับจังหวัดนั้น ๆ 

ด้าน นริศ นิรามัยวงศ์ กล่าวว่า กรณีน้ำมันรั่วล่าสุด ทางจังหวัดมีการขับเคลื่อนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 มีการตั้งศูนย์บัญชาการจนถึงวันที่ 6 กันยายน 2566 

ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2566 ก็การดำเนินการเรื่องควบคุมคราบน้ำมัน หลังจากวันที่ 6 กันยายน 2566 ทางจังหวัดก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่หน้าหาดทั้งหมดไปเร่งทำการสำรวจพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบ แจ้งพี่น้องประชาชนที่คิดว่าได้รับผลกระทบตรงนี้ไปลงรายชื่อ หลังจากนั้นทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เป็นคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว ขณะนี้มีการประชุมไปแล้วโดยมอบให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปคุยกับทางไทยออยล์ในการกำหนดขอบเขตตรงนี้ขึ้นมา 

ดร.สนธิ คชวัฒน์ กล่าวถึงแนวทางการป้องกัน เพื่อลดผลกระทบ เนื่องจากประมงอยู่ติดกับท่าเรือ เพราะเราไม่ขีดโซนนิ่ง เวลาเกิดผลกระทบขึ้นมา ทุกคนก็ได้รับผลกระทบหมด ดังนั้นต้องดูเรื่องกฎหมายในการดูแลป้องกันหรือว่าควบคุมว่าเคร่งครัดแค่ไหน 

ยกตัวอย่าง ท่าเรือ หรือแท่นขุดเจาะน้ำมัน อุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหลายต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในนั้นต้องมีการคาดการณ์ว่าจะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร และจะติดตามตรวจสอบอย่างไร ถ้ามีแล้วทำไมมันยังเกิด ก็ต้องตรวจสอบว่าได้ทำตามครบหรือเปล่า 

รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้มงวดไปติดตามตรงนั้นไหม ขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนก็ต้องเป็นคนช่วยเฝ้าระวังด้วย ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นตรงไหน ต้องรีบแจ้ง เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันให้ได้เร็วยิ่งขึ้น 

ปิดท้ายที่ รศ. ดร.เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล เพิ่มเติมถึงการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า นอกจากปัญหานี้จะขึ้นกับหน่วยงาน อำนาจต่าง ๆ ยังขึ้นกับหน่วยงานที่จะบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากโครงสร้าง ระบบราชการของเรา ถ้าฝ่ายปฏิบัติไม่ก้าวข้ามไปเป็นฝ่ายบริหารก็จะไม่โต อีกทั้งเรายังลดจำนวนฝ่ายปฏิบัติลงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เหมือน สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือหน่วยงานสิ่งแวดล้อมประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นแล็ปทดลองใหญ่โต มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง มีศักยภาพสูงมาก 

แต่ประเทศไทย มีแต่กรณีที่ไม่บังคับใช้กฎหมายที่แนบท้าย EIA อันนี้เป็นปัญหาหลัก รวมถึงโครงสร้างองค์กรของเรามีคนไม่เพียงพอที่จะทำ ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงการใหญ่ของประเทศ อย่างโครงการ EEC มีคณะกรรมการพิเศษแยกต่างหาก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกี่ยวกับการเมือง


ท่านสามารถติดตามบทสนทนาย้อนหลังจากวิทยากรทั้ง 4 ท่านแบบเต็ม ๆ ได้ที่คลิปด้านล่าง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ