3 พ.ค. 2559 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวการตั้งศูนย์ฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า พร้อมเปิดตัว ‘ชุดปฏิบัติการพญาเสือ’ โดยมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ทำหน้าที่หัวหน้า และนายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว เป็นรองหัวหน้า นอกจากนี้ได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่พิกัดจีพีเอส และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักอุทยานทั่วประเทศมาร่วมทีม รวมทั้งหมด 21 นาย
ชุดปฏิบัติการพญาเสือ เป็นหน่วยเฉพาะกิจของศูนย์ฏิบัติการพิเศษฯ ทำหน้าที่ปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พลิกฟื้นผืนป่าจากการบุกรุกให้ได้ตามเป้าหมาย สอดคล้องนโยบายรัฐบาล คาดว่าจะออกปฏิบัติการได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีผลงานการเข้าจับกุม ผู้กระทำผิดรายใหญ่และเป็นผู้มีอิทธิพลไม่ต่ำกว่า 2 คดีต่อเดือน นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการล่าและค้าสัตว์ป่าด้วย
ในวันเดียวกัน (3 พ.ค. 2559) เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม 25 องค์กร ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ประท้วงกรณีดังกล่าว และพร้อมระบุเตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย Universal Periodical Review (UPR) ในวันที่ 11 พ.ค. 2559 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งและแนวนโยบายที่ยอมให้บุคคลกรที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองรับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า
แถลงการณ์ระบุว่า การตัดสินใจให้นายชัยวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งที่มีหน้าที่ปราบปรามการลักลอบทำลายป่าอุทยานทั่วประเทศในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้มีแนวโน้มว่าภารกิจปกป้องผืนป่าที่เข้มข้นขึ้นของกรมอุทยานฯ นั้นอาจมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ เผ่าทำลาย การคุมคามนักต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นต้น อีกทั้งการที่นายชัยวัฒน์ฯ อ้างว่าคดีความทั้งทางปกครองและอาญาต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง
การที่เครือข่ายองค์กรฯ จะร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) เนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2559 แต่ไม่มีการตอบรับ และกลับมีการแต่งตั้งนายชัยวัฒน์ในวันนี้ (คลิกอ่าน: ’22 องค์กร’ ยื่นจดหมายอธิบดีกรมอุทยานฯ ขอความเป็นธรรมกรณี ‘บิลลี่’ หายตัวไป)
ภาพ: 7 เม.ย. 2559 ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ตัวแทน 22 องค์กรเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับครอบครัวบิลลี่
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า นายชัยวัฒน์ มีคดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาและสอบสวน 7 เรื่อง ดังนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ศาลจังหวัดเพชรบุรี 1 คดี รวม 3 คดี มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน 3 เรื่องซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีอาญาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 2 เรื่อง และการยื่นหนังสือฉบับเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2559 ต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ฉบับ ในห้วงเวลาที่ครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ภายหลังการจับกุมของนายชัยวัฒน์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557
ทั้งนี้ เนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์ร่วม เครือข่ายสิทธิฯ เตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) ในเวที UPR กรณีตั้งผู้ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหัวหน้าชุด “พญาเสือ” คุมอุทยานทั่วประเทศ ยุติแนวโน้มการใช้ความรุนแรงในการรักษาพื้นที่ป่า จากการที่วันนี้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวชุดเฉพาะกิจพญาเสือ แก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ เน้นทำงานเชิงรุก และขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยกำหนดให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญาเสือ” ที่ทำหน้าที่ปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดในพื้นที่อุทยานฯ ได้ทั่วประเทศ โดยรับคำสั่งและขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ และไม่ต้องขึ้นตรงกับผู้อำนวยการส่วนพื้นที่เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวสนองนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลปัจจุบันเพื่อให้ได้พื้นที่ป่าเพิ่ม เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่างนี้ขอประท้วงและเตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย Universal Periodical Review (UPR) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งและแนวนโยบายที่ยอมให้บุคคลกรที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองรับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานจนเป็นสาเหตุให้มีการฟ้องร้องคดีปกครองเรียกร้องค่าเสียหาย การตัดสินใจให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรได้รับการแต่งตั้งที่มีหน้าที่ปราบปรามการลักลอบทำลายป่าอุทยานทั่วประเทศในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้มีแนวโน้มว่าภารกิจปกป้องผืนป่าที่เข้มข้นขึ้นของกรมอุทยานฯ นั้นอาจมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ เผ่าทำลาย การคุมคามนักต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นต้น อีกทั้งการที่นายชัยวัฒน์ฯ อ้างว่าคดีความทั้งทางปกครองและอาญาต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง เครือข่ายองค์กรตามรายนามด้านล่างนี้เห็นว่างานด้านการอนุรักษ์ป่าและการปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามีหลายมิติและมีความอ่อนไหว แม้ว่าจะอ้างถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพลแต่ในสถานการณ์จริงมีกลุ่มประชากรที่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยานทั่วประเทศ เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและอธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณายกเลิกคำสั่งที่มอบให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรรับหน้าที่สำคัญนี้และขอให้คัดเลือกบุคคลกรที่มีแนวทางการทำงานบนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและในการพิทักษ์รักษาป่า รวมทั้งมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธีเป็นกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีการอำนวยความเป็นธรรม ต่อประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่ยั่งยืน การที่เครือข่ายองค์กรฯ จะร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) เนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 แต่ไม่มีการตอบรับและกลับมีการแต่งตั้งนายชัยวัฒน์ ในวันนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ มีดังนี้ คือขอเรียกร้องให้ทางอุทยานแห่งชาติโดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการ สอบสวน หรือพิจารณาหรือผลแห่งคดีในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เนื่องจากถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรงต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกสอบสวน ซึ่งเป็นคดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ศาลจังหวัดเพชรบุรี 1 คดี รวม 3 คดี มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน 3 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีอาญาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 2 เรื่อง และการยื่นหนังสือฉบับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ฉบับ ในห้วงเวลาที่ครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ภายหลังการจับกุมของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งรวมทั้งสิ้น 7 เรื่องในขณะนี้ ดังนี้การที่นายชัยวัฒน์ฯ อ้างว่าคดีความต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง ในหนังสือฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2559 ดังกล่าวที่ยื่นต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ นั้นอ้างถึงเหตุผลทั้งความจำเป็นที่จะคงไว้ซึ่งหลักการด้านการอำนวยความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อนโยบายและการบริหารจัดการบุคคลกรของรัฐ โดยเฉพาะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติให้เป็นสมบัติของชาติและของโลก และในขณะเดียวกันเป็นต้องเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้หลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกำลังถูกเสนอชื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติภายใต้กรอบของยูเนสโกอันเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยอย่างสมภาคภูมิ องค์กรร่วมลงนาม |