4 มี.ค. 2559 เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อน องค์กรภาคประชาสังคม และนักสิ่งแวดล้อม จากประเทศไทย กว่า 25 รายชื่อ ร่วมออกแถลงการณ์ประณามการฆาตกรรม เบอร์ตา คาเซเรส (Berta Cáceres) หญิงชนพื้นเมือง นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมชาวฮอนดูรัส
เบอร์ตา คาเซเรส เจ้าของรางวัล “โกลด์แมนไพรซ์” ถูกคนร้ายบุกเข้าสังหารเธอที่บ้านในเมือง ลา เอสเปอเรนซา เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 มี.ค.2559)
เบอร์ตา คาเซเรส ถูกยิงเสียชีวิต ขณะที่พี่ชายของเธอได้รับบาดเจ็บ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ว่าอาจเป็นกรณีปล้นทรัพย์ ขณะที่แม่ของเธอเชื่อมั่นว่าเป็นเพราะการต่อสู้ปกป้องชาวพื้นเมืองและต่อต้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่
ชมวิดีโอเรื่องราวการต่อสู้ของเธอและกลุ่มชาติพันธุ์เลนกา ได้ใน ‘Mother of All Rivers’ ตามลิงค์ https://vimeo.com/132559974
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนในลุ่มน้ำต่างๆ และเหมืองแร่ ในประเทศไทย องค์กรภาคประชาสังคม และบุคลลที่ร่วมลงชื่อได้ประณามการกระทำการอันป่าเถื่อนนี้ และเรียกร้องใหรัฐบาลฮอนดูรัสสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำความผิดทันที และดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม
แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์จากเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อน องค์กรภาคประชาสังคม และนักสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย ประณามการฆาตกรรมนักสิทธิมนุษยชนชาวฮอนดูรัส 4 มีนาคม 2559 เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 2 มีนาคม 2559 เวลาท้องถิ่นประเทศฮอนดูรัส คนร้าย 2 คนได้บุกเข้ามาในบ้านของนักสิทธิและสิ่งแวดล้อมสาวชาวฮอนดูรัส เบอรร์ตา คาเซอเรส ทำให้เธอเสียชีวิตและพี่ชายได้รับบาดเจ็บ เบอร์ตา เป็นนักอนุรักษ์ชาติพันธุ์เลนกา เธอร่วมก่อตั้งสภาประชาชนและองค์กรชาติพันธุ์แห่งฮอนดูรัส (National Council of Popular and Indigenous Organizations of Honduras) ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่จะเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน Aqua Zarca Dam บนแม่น้ำ Gualcarque ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองชาวเลนกา โดยเธอทำงานในหลายรูปแบบทั้งการใช้กฎหมาย ยื่นฟ้องศาล จัดประชุมกับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ให้ความรู้และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภูมิภาคอเมริกากลาง เป็นต้น และเมื่อปี 2558 เธอได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ซึ่งเป็นรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลก ข่าวจากนิวยอร์คไทมส์รายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภูมิภาคอเมริกากลาง ได้สั่งให้มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่เธอ แต่ในวันเกิดเหตุกลับไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ด้วย สิ่งที่เธอทำ คือการเรียกร้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกของชุมชน ที่สืบทอดกันมากว่า 500 ปี เธอและเครือข่ายได้คัดค้านการสร้างเขื่อน โดยเรียกร้องสิทธิเพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการปรึกษาหรือก่อนที่จะตัดสินใจก่อสร้างโครงการ นับตั้งแต่การรัฐประหารที่ฮอนดูรัสในปี 2552 รัฐบาลทหารได้ให้สัมปทานทั้งเขื่อน เหมืองแร่ และโครงการอื่นๆ แก่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นการยึดเอาทรัพยากรของชุมชนมาค้ากำไร โครงการเขื่อนที่เธอต่อต้านนั้นรัฐบาลทหารได้ให้สัมปทานแก่บริษัทจีน Sinohydro แต่หลังจากการประท้วงอย่างต่อเนื่องของชุมชนทำให้บริษัทจีนจำเป็นต้องถอนตัวออกไป พวกเราบางคนได้เคยพบและรู้จักเธอในครั้งที่มีการประชุมผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลก ที่เขื่อนราษีไศล ลุ่มน้ำมูน ในปี 2546 (Rivers for Life 2003) เรารู้ดีว่าการที่ชุมชนถูกกระทำ และเสียงของชุมชนไม่เคยได้ยิน ไม่มีโอกาสใดๆ ในกระบวนการตัดสินใจ เป็นอย่างไร เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนในลุ่มน้ำต่างๆ และเหมืองแร่ ในประเทศไทยและองค์กรภาคประชาสังคมที่ลงชื่อด้านท้ายนี้ ขอประณามใครก็ตามที่กระทำการอันป่าเถื่อนนี้ เราเรียกร้องรัฐบาลฮอนดูรัส ให้สอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำความผิดทันที และดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม ร่วมลงลงนามโดย 1 ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา Karen Studies and Development Center ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ Chainarong Sretthachau มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |