แถลงการณ์เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารสนับสนุนให้มีการตรวจสอบ สสส. อย่างเปิดเผย โปร่งใส ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด
21 ต.ค. 2558 14 องค์กรเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร ร่วมลงนามในแถลงการณ์ สนับสนุนให้มีการตรวจสอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างเปิดเผย โปร่งใส ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด
เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุถึงจุดยืนและข้อเสนอ 5 ข้อ ต่อกรณีที่รัฐบาล โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ และให้มีการแก้ไขกฎระเบียบของ สสส.
แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร สนับสนุนให้มีการตรวจสอบ สสส. อย่างเปิดเผย โปร่งใส ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด ตามที่รัฐบาล โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และกลไกการตรวจสอบหลัก 2 องค์กรคือ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ และให้มีการแก้ไขกฎระเบียบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น 1) ขอสนับสนุนให้มีกระบวนการตรวจสอบการดำเนินการของ สสส. อย่างเปิดเผย โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้ผู้ถูกตรวจสอบมีโอกาสได้ชี้แจง และสังคมได้มีส่วนร่วม โดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่โน้มเอียงตามแรงผลักดันจากกิจการหรือหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่โดยชอบของ สสส. 2) การวินิจฉัยว่า สสส.ได้ใช้จ่ายงบประมาณว่าผิดประเภทหรือวัตถุประสงค์หรือไม่ ต้องยึดถือตาม “พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544” ที่ได้นิยามความหมายของการสร้างเสริมสุขภาพว่า หมายถึง “การใดๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี” และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ 6 ข้อตามที่กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติ 3) เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารเห็นว่า การเกิดขึ้นของสสส.เป็นตัวอย่างการปฏิรูปการบริหารงานราชการ ที่สร้างรูปแบบ “หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” แต่เป็นองค์กรอิสระที่มีกลไกการทำงานที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยง บูรณาการ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนเข้าด้วยกัน ความสำเร็จดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่องค์การระหว่างประเทศนำไปเป็นแบบอย่าง และควรที่สังคมไทยจะได้ขยายบทเรียนและความสำเร็จนี้ไปใช้กับการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น การเกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น 4) ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาล สื่อ และประชาชนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับบทบาทและการดำเนินงานของ สสส.นั้น เราขอสนับสนุนให้ สสส.ได้นำเอาข้อคิดเห็นและเสนอแนะจากทุกฝ่าย นำไปพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อสังคมมากขึ้น กระจายการใช้งบประมาณโดยคำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนต่อสุขภาพของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับประชาชนที่ด้อยโอกาส เพิ่มบทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานของ สสส.ที่ไม่ใช่บุคคลากรจากสายสาธารณสุขในสัดส่วนที่เหมาะสม ปรับปรุงระบบการประเมินผล การแต่งตั้งคณะกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยข้อมูลการสนับสนุนแผนงานและโครงการ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย กระบวนการดำเนินการ และตรวจสอบการดำเนินการมากขึ้น เป็นต้น 5) เราเห็นว่าการปฏิรูปประเทศต้องมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน การกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ และการเคารพประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเกี่ยวกับ สสส.และอีกหลายกรณี กลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม คำแถลงนี้มิได้เรียกร้องต่อรัฐบาลชั่วคราว แต่เรียกร้องต่อเครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้ผนึกกำลังร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้งบประมาณของรัฐโดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด เนื่องจากการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงต้องมาจากการมีส่วนร่วมและได้รับความเห็นชอบจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างสังคมที่มีสิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ซึ่งเป็นสังคมสุขภาวะที่แท้จริง 21 ตุลาคม 2558 มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิข้าวขวัญ สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน จ.เชียงใหม่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย) กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ครัวใบโหนด และโครงการฟื้นฟูคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา โครงการสร้างหลักประกันทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา โครงการวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า จ.นครปฐม โครงการสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองโดยชุมชน จ.นครสวรรค์ โครงการสื่อละครชุมชนสำหรับเด็ก-เยาวชน จ.เชียงใหม่ โครงการข้าวปลา อาหาร อีสาน มั่นยืน จ.อุบลราชธานี โครงการกินดีมีสุข จ.พัทลุง โครงการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์และสร้างเครือข่ายตลาดทางเลือก จ.นครศรีธรรมราช |