“YOUNG สืบสาน YOUNG ฮักษา” มหกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

“YOUNG สืบสาน YOUNG ฮักษา” มหกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

อาหาร เป็นปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งอาหารยังเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนถึง เรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ในบริบทของสังคมต่าง ๆ อีกด้วย กล่าวคือ อาหารไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดได้เท่านั้น อาหารจึงเหมือนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับผู้คนบนโลกใบนี้ในทุกมิติ และด้วยระบบบริโภคนิยมในปัจจุบันเมื่อประชากรโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความต้องการอาหารมีมากขึ้น อาหารจึงกลายเป็นสินค้าที่ทำกำไร จนทำให้ระบบอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านการผลิตอาหาร ซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านความปลอดภัยในการบริโภค ความหลากหลายของอาหารมีน้อยลง รวมถึงระบบนิเวศในการผลิตอาหารเปลี่ยนไปหรือถูกทำลาย  ทำให้เรื่องความมั่นคงทางอาหารอาจเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องตระหนักถึง

จุดเริ่มต้นของ Young Food เยาวชนกับอาหาร สร้างสรรค์ชุมชน

สถาบันสื่อเด็ก และเยาวชน(สสย.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) บริษัทอินี่(INI)นวัตกรรมสากล และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้เล็งเห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารกับเด็กเยาวชนและครอบครัว จึงได้ริเริ่มโครงการ Young Food โครงการที่จะส่งต่ออนาคตความมั่นคงทางอาหารสื่อมือคนรุ่นใหม่ เพื่อเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารแบบดั้งเดิมและวัตถุดิบท้องถิ่นในชุมชน เพื่อต่อยอดวัฒนธรรมการกินที่สร้างความมั่นคงให้ระบบอาหาร โดยจะชวนคนรุ่นใหม่พื้นที่ต่าง ๆ จากทุกภูมิภาค มาร่วมกันสร้างกระบวนการ เสนอไอเดีย และนำพลังของเหล่าคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นของตัวเอง

“สสย. ทำงานกับเด็กและเยาวชน เราก็เชื่อในพลังของเยาวชนที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ส่วน มอส. ก็ทำงานกับคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว เมื่อ 2-3 ปีก่อน เราจึงมาร่วมกันทำงานเรื่อง อาหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ concept “young food” ด้วยกัน ก็เลยอยากขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มา ที่ให้คนรุ่นใหม่มาทำงานกับชุมชนที่เขาอยู่ ทำงานกับเด็กเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้เขาได้รู้จักฐานทรัพยากรในชุมชนของตัวเอง” รัตนา ปานกลิ่น ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เล่าถึงที่มาของโครงการ Young Food

6 พื้นที่ปฏิบัติการ สู่งานมหกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร Young สืบสาน Young ฮักษา”

กว่า 1 ปีที่คนรุ่นใหม่ทั้ง 6 พื้นที่ปฏิบัติการ ได้ดำเนินกิจกรรม Young Food ในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งการชวนชุมชนมาฟื้นฐานทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงฟื้นวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษโดยชวนเด็กเยาวชนในพื้นที่มาร่วมเรียนรู้และรักษา ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) และเครือข่าย Young Food จึงร่วมกันจัดงานมหกรรม “Young สืบสาน Young ฮักษา” ณ คาเฟ่บ้านหลังวัด Coffee อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเปิดพื้นที่แรกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนและเรื่องเล่าการทำงานจาก 6 พื้นที่ปฏิบัติการของเครือข่าย Young Food

ซึ่งภายในงานมหกรรม Young สืบสาน Young ฮักษา” ยังมีกิจกรรมมากมายที่ชวนคนในพื้นที่และเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จากพื้นที่ต่าง ๆ มาร่วมเรียนรู้ผ่านกิจกรรม workshop เพื่อสื่อสารการทำงานที่สะท้อนถึงการเชื่อมโยงระหว่างเยาวชนกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นผ่านมิติเรื่องอาหาร ทั้งกิจกรรม “ม่วนนำกัน ปั้นดินแก่งฯ” จาก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิถต์ / กิจกรรม “ใบไม้ใบเดียว leaf มา เค้าย่าน” อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี / กิจกรรม“ดักฝันล้านนา” อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ / กิจกรรม “Memories of KAENG LAWA” อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น / กิจกรรม “มัดย้อม จากสีธรรมชาติ” อ.ภูหลวง จ.เลย / กิจกรรม“หมุนไพร ใครรู้จักม่าง” อ.คุระบุรี จ.พังงา นอกจากนั้นยังมีการ workshop พิเศษจากเครือข่ายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาหนุนเสริมโดยมีการนำวัสดุจากธรรมชาติมาทำงานศิลปะโดยกลุ่มสุรินทร์เหลา และวิธีการจัดการขยะอย่างมีสติ โดยกลุ่ม ผักDone และกลุ่ม AriAround

 “เราอยากให้ชุมชนกลับมาเห็นความสำคัญของทรัพยากรของตัวเอง อันนี่เราอยากให้ชุมชนเห็นคนค่าของตัวเองผ่านการเอาคนนอกมาเรียนรู้กับคนใน ซึ่งพอคนในเขาเห็นว่าทรัพยากรของเขามาสามารถสร้างการเรียน และการเปลี่ยนแปลงได้ เขาก็น่าจะอยากลุกขึ้นมาสร้างกระบวนการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนในพื้นที่ของตัวเอง และมันก็จะทำให้ชุมชนของเขามีความเข้มแข็ง และมั่นคง ทั้งด้านอาหาร และทรัพยากร รวมถึงบริบทของสังคมชุมชนเขา ส่วนคนนอกที่เขามาเรียนรู้ เขาก็จะได้เห็นไอเดีย แนวคิด หรือวิถีที่แตกต่าง ที่เขาจะเอาไปต่อยอกในพื้นที่ของตัวเองได้ มันจึงเกิดเป็นงานนี้ขึ้นที่แก่งละว้า” รัตนา ปานกลิ่น ย้ำถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน “Young สืบสาน Young ฮักษา”

อาหารเชื่อมโยงพื้นที่ ฟื้นวิถีแห่งภูมิปัญญา เพื่อ ฮักษา และ สืบสาน

หนึ่งพื้นที่ปฏิบัติการที่เข้าร่วมงานมหกรรม “Young สืบสาน Young ฮักษา” ครั้งนี้คือ ชุมชนบ้านห้วยหูด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่ง แซ็ค สุกฤต ปิ่นเพชร คือคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนงาน Young Food ในพื้นที่ โดยแซ็คเล่าว่า ชุมชนบ้านห้วยหูดนั้นเดิมเป็นคนไทลาวที่อพยพมาจากหลวงพระบางเข้ามาอาศัยในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งจะมีวิถีชีวิตที่คล้ายกับคนอีสานแต่ยังมีความเฉพาะตัว โดยเฉพาะเรื่องวิถีการกินการอยู่ แต่ปัจจุบันวิถีเหล่านั้นแทบจะสูญหายไปจากพื้นที่แล้ว และคิดว่าการมางานมหกรรม “Young สืบสาน Young ฮักษา” ครั้งนี้นอกจากสร้างความตื่นตัวให้กับคนในพื้นที่แก่งละว้าซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้แล้วนั้น ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เขากลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย

“ชุมชนบ้านผมมันยังเป็นชุมชนที่ยังไม่ค่อยมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม พอวัฒนธรรมจากส่วนกลางหรือจากสื่อเข้ามามันทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้อาหารบางอย่าง วิถีบางอย่างมันหายไป อย่างการทำปลาร้าที่บ้านเราไม่มีใครทำเองแล้วเพราะซื้อปลาร้าขวดมันง่ายกว่า แต่พอมาอีสานได้เห็นวิธีการทำปลาร้ามันทำให้เราอยากกลับไปรื้อฟื้นอะไรพวกนี้ หรืออย่างเมื่อก่อนที่ชุมชนของเรามีการต้มเกลือ มีบ่อเกลือสินเธาว์เหมือนกับที่อีสาน แต่ตอนนี้มันหายไปแล้ว เหลือเพียงทำหน้าที่ในลักษณะของการเป็นบ่อเกลือศักดิ์สิทธิ์ หรือต้มเพื่อให้ลูกหลานเก็บไว้เป็นสิริมงคล แต่มันไม่ได้มีหน้าที่เป็นเกลือสำหรับการปรุงอาหารเหมือนเมื่อก่อน ทำให้วิธีต่าง ๆ มันหายไป แต่พอมาเรียนรู้พื้นที่อื่นอย่างแก่งละว้าเราได้เห็นของจริง เหมือนได้ย้อนรอยบรรพบุรุษ ทำให้เราอยากกลับไปรื้อฟื้นสิ่งต่าง ๆ ที่มันเคยมีในชุมชนให้กลับมา มันเหมือนเราได้เห็นภาพจริงว่าถ้ามันยังคงอยู่มันงดงามขนาดไหน” สุกฤต ปิ่นเพชร

อีกมุมหนึ่ง หนุ่มน้อยช่างตีเหล็กแห่งแก่งละว้า เอิร์ธ ธรรมรัฐ มูลสาร เครือข่าย Young Food พื้นที่แก่งละว้า ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ในการจัดงานครั้งนี้ และเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สร้างการบวนการดูและและฟื้นฟูฐานทรัพยากรในพื้นที่แก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผ่านมิติของอาหาร อย่าง เล่าถึงการจัดงานมหกรรม “Young สืบสาน Young ฮักษา” กับสิ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองว่า

“งานนี้คืองานที่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร และมีหลายพื้นที่มาร่วมกัน ซึ่งต่างคนต่างหลายไอเดีย และในงานมหกรรมอาหารมันก็ไม่ได้พูดแค่เรื่องอาหารอย่างเดียวเท่านั้น มันยังมีเรื่องนวัตกรรม แนวคิด หรือวิธีการที่เกี่ยวกับอาหารและไม่เกี่ยวกับอาหารเลย ซึ่งผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับฐานทรัพยากรในท้องถิ่นของเราได้ คนในพื้นที่ที่มาร่วมงานอาจจะเห็นไอเดียว วิธีการใหม่ ๆ ให้เขาไปต่อยอดกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ หรืออาจจะทำให้คนที่ชุมชนของผม ที่บ้านของผมเกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยาการที่มีอยู่” ธรรมรัฐ มูลสาร กล่าวเสริม

Young Food ส่งต่ออนาคตอาหารสู่คนรุ่นใหม่ ที่มากกว่าแค่ อาหาร

กระบวนการ Young food ไม่ได้พูดแค่เรื่องอาหารแต่เป็นการสืบทอด ส่งต่อภูมิปัญญาทางด้านอาหาร การแปรรูปอาหาร กินอย่างรู้ที่มา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และทั้ง 6 พื้นที่ปฏิบัติการ Young food คือจุดเริ่มต้นหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อส่งต่อสู่อนาคตให้กับเยาวชนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของพวกเขา ทำให้การเรียนรู้ฐานทรัพยากรในชุมชนผ่านอาหาร สร้างความตระหนัก และความภาคภูมอใจในท้องถิ่นของตัวเอง

“มันทำให้พื้นที่พูดถึงอาหารประจำถิ่นเพิ่มขึ้น เกิดความภูมิใจในอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่มีในพื้นที่ และทำให้คนในพื้นที่กลับมาสนใจอาหารประจำถิ่น พร้อมถ่ายทอดภูมิปัญญาให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อ และมีความหวังว่าจะมีชื่ออาหารในการนำเสนอพื้นที่ของเรานอกจากแหล่งท่องเที่ยว” สุจินันท์ ใจแก้ว เครือข่าย Young Food บ้านนาสนาม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและความคาดหวังจากการทำกิจกรรม Young Food ในพื้นที่บ้านเกิดของเขา

“Young Food มันเป็นเครื่องมือหรือวิธีการทำงานกับชุมชน ผ่านประเด็นอาหารหรือความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าพอพูดเรื่องอาหารมันเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าเรามองลึกลงไปมันมีความลึกซึ้ง เราจะมองมันเป็นอะไรได้หมดเลย ทั้งการต่อสู้ ความเป็นอยู่ ความรัก  ศิลปะ หรืออะไรต่าง ๆ เพราะอาหารมันเป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวในวิถีชีวิตของเรา ซึ่งการพูดเรื่องอาหารของเรามันเป็นแค่อีกหนึ่งเสียงที่จะบอกว่าทรัพยากรในท้องถิ่นมันมีมีความสำคัญขนาดไหน ที่คนในท้องถิ่นต้องรักษาไว้เพื่อนให้เกิดความมั่นคง แล้วก็ไม่ได้บอกว่าให้คนกลับมาหวงแหน เพียงแค่บอกว่าเรามีอะไรและเราจะต่อยอดหรือรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ได้แบบไหน” นราธิป ใจเด็จ ผู้ประสานงานโครงการอาสาคืนถิ่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวย้ำถึงโครงการYoung Food และงานมหกรรม “Young สืบสาน Young ฮักษา”

“หนึ่งจานอาหาร” มีผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะอาหารมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งอาหารชนิดไหนที่ผู้คนยังกินอยู่ ผู้คนก็จะให้ความสำคัญกับมัน หากมันกำลังจะหายไปผู้คนก็ทำอะไรบ้างอย่างเพื่อรักษามันให้อยู่ต่อไป แต่อาหารชนิดไหนที่ผู้คนไม่สนใจ หรือคนรุ่นใหม่ไม่กินมันแล้ว มันจะค่อย ๆ หายไป นั่นหมายความว่า ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งกำเนิดอาหารของเราก็จะหายไปด้วย ดังนั้นการพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จึงไม่ได้เล่าแค่เรื่องอาหารเท่านั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ