ชีวิตนอกกรุง : ปลูกความมั่นคงของชาวลีซูปางสา

ชีวิตนอกกรุง : ปลูกความมั่นคงของชาวลีซูปางสา

“ความมั่นคงด้านอาหารของพี่น้องชาติพันธุ์” ความมั่นคงน่าจะเป็นทิศทางไหนในแนวคิดของพี่สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.)

ผมคิดว่าเรื่องความมั่นคงของพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทย สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ถ้าเขามีความมั่นคงทางอาหารหมายความว่าเขามีอาหารพอเพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้ หลังจากนั้นก็คิดถึงการสร้างรายได้เสริมในครอบครัว สำหรับในชุมชนคิดว่าในเรื่องของการสร้างความมั่นคงของชีวิต นอกจากเน้นความมั่นคงเรื่องอาหารเป็นพื้นฐานแล้วความมั่นคงเรื่องอื่น ๆ อยู่ที่ระบบการจัดการโดยผ่านเรื่องอาหาร สิ่งที่ผมเห็นและก็คิดว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืนก็คือการทำเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเองที่ทำให้คนในชุมชนเรามีความมั่นคงในชีวิต

การนำวิถีดั้งเดิมมาใช้มีความสำคัญอย่างไร

ชุมชนก็เริ่มสนใจมากขึ้น อย่างศูนย์เรียนรู้เองก็พยายามใช้สถานการณ์วิถีความเชื่อของชุมชนมาเสริมเรียกว่ามาจัดงานเพื่อรณรงค์ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มาเห็น และก็พยายามซึมซับเข้าไปโดยผ่านมิติของสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อประเพณีของชนเผ่าเราให้แทรกซึมเข้าไปในความคิด ในจิตวิญญาณของเขา โดยก่อนการทำกิจกรรมเราก็ศึกษาว่ามันมีพิธีกรรมความเชื่ออะไรที่สามารถจูงใจ สร้างเป็นแรงบันดาลใจให้พี่น้อง กลับมาใช้ชีวิตที่สร้างฐานความมั่นคงทางอาหารของตัวเองไว้ เราสร้างเมล็ดพันธุ์ของตัวเองไว้มันมีกิจกรรมเรื่องนี้อยู่ในชุมชน เพราะฉะนั้นมันก็มีความหมายและก็เป็นตัวกระตุ้นมาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในชุมชน แล้วเราก็เชิญเครือข่ายนักวิชาการมายิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่ทำและเชื่อนั่นมันมีความสำคัญมาก ในการสร้างพื้นที่ระบบวนเกษตร สร้างพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมให้คนได้เกิดมาเรียนรู้ และก็สร้างความมั่นคงในชีวิตของตัวเองด้วยตัวของเราเอง

คิดว่าชุมชนปางสามาถูกทางหรือยัง ?

ชาวลีซูที่บ้านปางสาคิดว่ามาถูกทางแล้วและก็พยายามขยายแนวคิดนี้ คนที่ยังไม่มีความเข้าใจก็พยายามเรียนรู้และก็ถ่ายทอดให้คนมีความเข้าใจมากขึ้น ในทิศทางนี้ตัวยืนยันให้เห็นคือตัวผมเองจากกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นบ้านว่ามันเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเราเองก็เรียนรู้ประสบการณ์ชุดความรู้จากที่อื่น ๆ ด้วย มันเป็นทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนเอง ของชุมชน และไปสู่ประเทศด้วย อย่างเช่นในช่วงภัยแล้งของปีที่ผ่านมาในชุมชนไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย แต่ชุมชนสามารถนำพืชพันธุ์อาหารที่ตัวเองเก็บสะสมไว้ใช้ ในยามวิกฤต ในยามที่เกิดภัยพิบัติก็สามารถอยู่อย่างมีอาหารได้ อย่างปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ เราก็ระดมอาหารและเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ส่งไปช่วยพี่น้องที่ถูกน้ำท่วม ก็ยิ่งเห็นคุณค่าว่าอาหารที่ผลิตและสะสมไว้พอเกิดวิกฤตเกิดสถานการณ์แล้วมันสร้างความมั่นคง ถูกต้อง และเดินไปในทิศทางที่ยั่งยืน ล่าสุดที่เกิดวิกฤตโรคโควิด-19 เราก็ระดมความช่วยเหลือเอาพืชพันธุ์ที่ตัวเองได้จากการทำระบบเกษตร วนเกษตร เกษตรพอเพียงไปบริจาค ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นว่ามันถูกต้องแน่นอน ชุมชนก็มีความภาคภูมิใจและก็ยิ่งมั่นใจในแนวทางของการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คิดว่าแนวทางนี้เป็นไปได้จริงขนาดไหน

ผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้อยู่แล้ว แต่ว่าส่วนหนึ่งต้องได้รับอาศัยแรงหนุนจากภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ ด้วย ลำพังให้ชุมชนเราได้ดำเนินชีวิตตามสภาพแบบเดิมอาจจะไม่เพียงพอ ภาครัฐเอง หรือเครือข่ายต่าง ๆ อาจต้องช่วยกันหนุนเสริมให้มีพลังและแสดงศักยภาพของตัวเองให้เต็มศักยภาพมากขึ้น เช่นศักยภาพในการขยายเมล็ดพันธุ์ ศักยภาพในการปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ตามองค์ความรู้ชุมชน โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมี สิ่งแรกที่เราพยายามคุยคือต้องมีปัจจัยตัวอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่ององค์ความรู้หรือศักยภาพของตัวเองอย่างเดียวแต่รัฐต้องมาหนุนเสริมให้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่การเกษตร การใช้ประโยชน์จากป่า คิดว่านโยบายรัฐหรือกฎหมายมันต้องเอื้อให้ชาวบ้านสามารถใช้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ แล้วก็ให้เขาได้สิทธิ์ที่เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าทำอันนี้ไม่ได้อยู่ที่นี่ไม่ได้ มันต้องแสวงหาความร่วมมือจะทำยังไงให้คนกับป่าอยู่ได้ คนสามารถมีที่ดิน สามารถผลิตในอาหาร คนมีพื้นที่ป่าในการไปหาอาหาร เพราะว่าในสังคมชนบทหรือสังคมพี่น้องชาติพันธุ์ ป่าคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของพี่น้องชนเผ่า ตราบใดที่รัฐยังกีดกันไม่ให้สิทธิ์ คนชุมชนจะมีความพยายามมากแค่ไหนมันก็จะได้ไม่เต็มร้อย เพราะฉะนั้นระบบมันต้องบริหารจัดการแบบองค์รวม และเข้าใจวิถีซึ่งกันและกัน

ชุมชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้พื้นที่เต็มศักยภาพมีเยอะขนาดไหน

ชุมชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้พื้นที่เต็มศักยภาพมีเยอะเลยนะครับ มันไม่ใช่แค่พี่น้องลีซูอย่างเดียว เราจะเห็นข่าวหรือสถานการณ์หน้าสื่อต่าง ๆ ว่ามีความขัดแย้ง รัฐไปยึดที่ รัฐไปบุกจับชาวบ้าน มีให้เห็นหลายที่แล้วเพราะว่าพี่น้องชาติพันธุ์เราอยู่ในเขตพื้นที่ต้นน้ำก็จริง แต่ไปดูพื้นที่พี่น้องชาติพันธุ์อยู่มีป่าอุดมสมบูรณ์ มีน้ำอุดมสมบูรณ์ รัฐเขาไม่ค่อยเห็นเรื่องพวกนี้แต่มองงงว่าไปอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ไปอยู่ในพื้นที่ลาดชัน ในเขตป่า กฎหมายอาจต้องเอื้อต่อให้คนสามารถอยู่กับป่าได้ ใช้วัฒนธรรม ใช้องค์ความรู้ของตัวเอง ให้มันเชื่อมโยงกับสังคม เชื่อมโยงกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและมีความยั่งยืน อย่างพี่น้องปกาเกอะญอเขาพยายามเรียกร้องรณรงค์เรื่องของไร่หมุนเวียน ตามวัฒนธรรมความเชื่อของตัวเองเป็นวิถีการอนุรักษ์ดีที่สุด แต่ละชาติพันธุ์ก็มีปัญหาแล้วก็พยายามดึงภูมิปัญญาของตนเองความดีงามของตัวเองมาสื่อสารให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่มาแค่มาบอกว่าคุณห้าม แต่ว่าไม่ได้เสนอทางออกอย่างมีส่วนร่วม อันไหนที่ปรับให้มันสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องปรับ แต่อันไหนที่ดีอยู่แล้ว เราก็ต้องทำให้ดียิ่งขึ้นแล้วก็สร้างเป็นพื้นที่รูปธรรมให้มันมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น พื้นที่ที่บอกว่าคนกับป่าต้องอยู่ด้วยกันได้ มันมีพื้นที่ที่ให้สังคมเข้ามาเรียนรู้แล้วก็ขยายต่อ ชุมชนสังคมชาติพันธุ์เองก็ต้องสร้างพื้นที่รูปธรรมของตัวเองให้มันมากขึ้น แล้วขยายมากขึ้น ไม่ใช่ตามกระแสของสังคมโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เข้าใจ

ปัจจุบันช่องทางการตลาดปลี่ยนไป เรามองแนวทางตัวเองย่างไร

จริงๆอันนี้ต้องบอกว่าขณะที่เราพัฒนาส่งเสริมต้นทางก็คือผู้ผลิตให้มีความเข้าใจ ให้มีสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองต่อผู้บริโภคต่อสิ่งแวดล้อม อีกฝั่งเราก็ต้องพัฒนาผู้บริโภคด้วยโดยให้เขามีทัศนคติที่ดี แล้วก็มามีส่วนร่วมและก็ส่งเสริมว่าถ้าสินค้าตัวไหนที่มันมีอะไรที่ดีงามปลอดภัยก็ต้องช่วยกันส่งเสริม ช่วยกันขยายให้ผู้บริโภคเนี่ย มามีทางเลือกมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น การสื่อสารการขายทางออนไลน์ก็เป็นตัวหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถดีลโดยตรงกับผู้ผลิต อันนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องทางที่สร้างความเข้าใจแล้วก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายมากขึ้น ไม่ใช่ไปส่งเสริมฝ่ายผลิตอย่างเดียวขณะที่ผู้บริโภคไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ก็ต้องไปทั้ง 2 ทาง

แรงบันดาลใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

เราก็สร้างในความเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมด้วย เวลาเราสื่อสารออกไป เช่นเมนูอาหารชนิดนี้มาจากป่ามาจากไร่ที่ทำโดยภูมิปัญญาของพี่น้องชาติพันธุ์แล้วมันไม่มีการทำลายป่า เราก็ต้องมีรูปธรรมให้คนเห็น เพื่อให้สังคมเข้าใจว่า มันไม่ใช่พูดอย่างเดียว มันมีรูปธรรมที่ชัดเจน จับต้องได้ด้วยถามว่ายากมั๊ย ยากในระดับนึง เพราะว่ามันต้องไปสอดคล้องกับนโยบายหรือทิศทางการพัฒนาของประเทศที่ยังเน้นการพัฒนาในเชิงที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่ พืชเชิงเดี่ยวอยู่ ซึ่งอันนี้ก็พยายามต่อสู้ พยายามสร้างความเข้าใจร่วมกัน โชคดีนะผมเกิดมาที่นี่ที่หมู่บ้านปางสา พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 ได้เคยเสด็จมาที่นี่และก็ได้มีกระแสพระราชดำริให้ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทำวนเกษตร การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อมาทำเกษตรมากขึ้น จริง ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้กลับมาทำงานที่ชุมชนที่นี่โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นี่ใช่เลยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เราต้องใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วก็พยายามศึกษาว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่แค่ให้คนเนี่ยมีกินมีใช้แบ่งปันอย่างเดียวแต่มันมีเรื่องของความรักนะครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ