14 มีนาคม วันหยุดเขื่อนโลก ภาคประชาชนประสานเสียงไม่เอาเขื่อน

14 มีนาคม วันหยุดเขื่อนโลก ภาคประชาชนประสานเสียงไม่เอาเขื่อน

20141203153118.jpg

รณรงค์กันคึกคัก “วันหยุดเขื่อนโลก” ภาคประชาชนประสานเสียงไม่เอา “เขื่อน” นักลงทุนแห่ผุดโครงการกั้นโขง-สาละวิน-น้ำอู ทุ่มเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท-ทำแม่น้ำเป็นขั้นบันได

ในวันที่ 14 มีนาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนโลก ในปีนี้เครือข่ายภาคประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำสาละวิน ต่างจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านเขื่อนกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันชุมชนในหลายพื้นที่ที่ได้จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ต่างก็พร้อมใจกันจัดกิจกรรมคัดค้านเขื่อนเช่นเดียวกัน

สำหรับพื้นที่มีการจัดกิจกรรมคัดค้านเขื่อนในประเทศไทยและแนวชายแดนเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกประกอบด้วยชุมชนริมแม่น้ำโขง 4 แห่งคือที่อำเภอชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอเมืองและอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในประเทศลาว อาทิ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนฮูสะโฮง

ส่วนลุ่มน้ำสาละวิน จุดที่ทำกิจกรรมสร้างเขื่อนคือที่บริเวณศูนย์อพยพอินตุท่า ตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนเว่ยจีและดา-กวิน และบริเวณจุดสร้างเขื่อนฮัตจี ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง 47 กิโลเมตร ขณะเดียวกันที่เมืองมะละแห่งซึ่งเป็นปากแม่น้ำสาละวิน เครือข่ายภาคประชาชนในพม่าก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมด้วยเช่นกัน

นายธีระพงศ์ โพธิ์มั่น ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและตัวแทนกองเลขาธิการเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายและประชาชนผู้สนใจในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันจัดกิจกรรม “นิเวศศึกษา เดินป่าลุ่มน้ำขานจากบ้านสบลานถึงบ้านแม่ขนิลใต้”อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางรวมกันประมาณ 27 กิโลเมตร เพื่อรณรงค์ต่อต้านเขื่อนและต่อต้านโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภาพใต้งบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก ( International Day of Action against Dams ) และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจบทบาทของชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำ ที่มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน อันจะเป็นจุดเริ่มของการรวมตัวในภาคประชาชนเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรน้ำและกฎหมายที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น อีไอเอ อีเอชไอเอ

“จริงๆแล้วการต่อต้านเขื่อนนั้น เชื่อว่าทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างให้ความสำคัญอย่างมาก เพียงแต่รูปแบบการจัดกิจกรรมนั้นอาจกระจายอยู่ตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ แต่เหตุผลที่ คปน.จัดนิเวศศึกษา เพราะเห็นว่าภาคเหนือคือแหล่งต้นน้ำและมีแผนการสร้างเขื่อนมากที่สุดในงบเงินกู้ 3.5 แสนล้าน โดยกิจกรรมดังกล่าวเน้นการเก็บข้อมูลเรื่องวัฒนธรรมชุมชนกับการจัดการน้ำ เพื่อเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปการจัดการน้ำ” นายธีระพงศ์ กล่าว

20141203152743.jpg

ด้านนายตาแย๊ะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ หรือ “พะตีตาแย๊ะ” ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน กล่าวว่า ระหว่างทางเดินศึกษาระบบธรรมชาติ จะมีชาวบ้านที่มาจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนห้วยตั้ง เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแก่งเสือเต้นและคนอื่นจากทั่วประเทศ โดยจะได้ฟังการบรรยายธรรมชาติรอบๆ ป่าไม้ เช่นกรณีเรื่องเล่าแห่งตำนานภูเขามหาอำนาจและภูเขาศักดิ์สิทธิที่ปกาเกอะญอรู้จักในชื่อ “รูโจ๊ะ” ริมห้วยลู อันเป็นภูเขาเก่าแก่ของชุมชนรอบๆ แม่น้ำแม่ขาน ที่มีพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะบูชาของชุมชน และเรียนรู้ประเพณีเลี้ยงผี ที่ปกาเกอะญอเชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าป่า-เจ้าเขา ทำให้ชุมชนอยู่ดีกินดีและรักษาพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ชาวปกาเกอะญอดำรงชีวิต

พะตีตาแย๊ะ กล่าวว่าเด็กรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักวิถีวิฒนธรรมดั้งเดิม ดังนั้นในการเดินป่าครั้งนี้ เป็นการเดินเรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นไปแค่การคัดค้านเขื่อนในวันสำคัญ แต่เป็นการฝึกให้คนรุ่นใหม่เข้าใจหลักการ เหตุผลของคนที่อยู่กับป่า

“บ้านเรามีบ้านร้างหลายพื้นที่นะ พอเจ้าบ้านตายไป เขาก็ทิ้งที่ดินให้คนอยู่ใช้เลี้ยงควาย ปลูกผัก ไม่มีใครซื้อขายที่ดินอะไรมากมาย คนที่ไม่มีลูกหลานเขาก็ปล่อยที่ไว้เป็นของสาธารณะ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ความมีน้ำใจของชุมชน ของคนที่อยู่ป่า ทำให้พวกเราไม่อด ไม่อยาก ต่างจากเขื่อนที่มาสร้างปุ๊บ เราจะกลายเป็นส่วนเกินของพื้นที่ทันที” พะตีตาแย๊ะกล่าว

ด้านนางสาว พุทธพร ชำนาญยนต์ ชาวบ้านป่าพลู ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ตัวแทนผู้คัดค้านเขื่อนห้วยตั้ง กล่าวว่า รัฐบาลไม่ค่อยฟังอะไรมากนัก แต่กิจกรรมนิเวศศึกษาฯ จะสะท้อนถึงความมีหลักการ เหตุผลของคนที่อยู่ป่าได้ถ่ายทอดประสบการณการจัดการแหล่งน้ำได้อย่างไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่ และสะท้อนวัฒนธรรมชุมชนว่าพวกเขามีศักยภาพในการบริหารทรัพยากรเองโดยไม่ต้องอาศัยโครงการจากภาครัฐที่ส่งเสริมคนเป็นหนี้ และการดำเนินการของภาคประชาชนในวันต่อต้านเขื่อนโลกครั้งนี้จะเป็นเสียงสะท้อนว่า ทุกการเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ใช่เพื่อต่อต้านรัฐบาลแต่ละฝ่าย ไม่ได้โจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นการสะท้อนมุมมองของท้องถิ่นที่จัดการป่าไม้ แม่น้ำอย่างฉลาดและไม่เสียงบประมาณประเทศมากมาย ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่สำคัญคือเป็นกิจกรรมที่เป็นไปอย่างสันติที่ผู้บริหารประเทศไม่ว่าฝ่ายใดควรฟังและยุติแผนสร้างเขื่อน

“วัฒนธรรมชุมชนเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นของปกาเกอะญอ แม่แจ่ม บ้านสบลานเชียงใหม่ หรือชุมชนประวัติศาสตร์อย่างป่าพลู ลำพูน ที่ไหนๆ หากมันเกิดขึ้นกลายเป็นอารยธรรมของประเทศแล้ว เมื่อทำลายไป สร้างใหม่มันจะไม่มีอะไรแทนที่ หรือเทียบเท่าได้ เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน หรือย้ายชาวบ้านไปอยู่ที่อื่น แล้วกู้อารยธรรมขึ้นมาใหม่ ตรงกันข้ามหากปล่อยชาวบ้านจัดการน้ำ จัดการป่า และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ ย่อมจะยิ่งต่ออายุวัฒนธรรมเก่าให้ยาวนานขึ้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมภาคการปกครองประเทศไม่ยอมเรียนรู้สิ่งนี้ ดังนั้นนิเวศศึกษาฯครั้งนี้” นางสาวพุทธพร กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ระบุว่า แม่น้ำในปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกรุกรานอย่างหนักจากนักลงทุนสร้างเขื่อนจากทั้งภาครัฐและเอกชนสัญชาติจีน ไทย มาเลย์ เวียดนาม โดยในแม่น้ำโขงตอนบนได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อน 14 โครงการโดยสร้างไปแล้ว 6 เขื่อนในจีน ส่วนทางตอนล่างในลาว พรมแดนไทย-ลาว และในกัมพูชามีอีก 12 โครงการเขื่อน โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างคือเขื่อนไซยะบุรี ขณะที่แม่น้ำอูซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของลาว มีแผนก่อสร้าง 7 เขื่อนซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ 2 เขื่อนโดยบริษัทจีน ส่วนแม่น้ำสาละวินมีโครงการเขื่อนอย่างน้อย 35 โครงการตลอดลุ่มน้ำในจีน พม่า และชายแดนไทย-พม่า โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีการก่อสร้าง ที่น่าสนใจคือการสร้างเขื่อนท่าซางหรือมายตงในรัฐฉาน ประเทศพม่าซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างเขื่อนกับบริษัทจีนและพม่า มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท

โครงการ

มูลค่าลงทุน (ล้านบาท)

หมายเหตุ

เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ในแผนของกบอ. (เขื่อนแม่แจ่ม ห้วยตั้ง แม่ขาน ยมบน-ยมล่าง ฯลฯ)

49,000

กักเก็บน้ำรวม 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนไซยะบุรี (แม่น้ำโขง)

115,000

กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์

เขื่อนดอนสะโฮง (แม่น้ำโขง)

22,880

กำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกกะวัตต์

เขื่อนฮัตจี (แม่น้ำสาละวิน)

44,000

มูลค่าเมื่อปี 2549

กำลังผลิตติดตั้ง 1,360 เมกกะวัตต์

เขื่อนท่าซาง หรือเขื่อนมายตง (แม่น้ำสาละวิน)

360,000

กำลังผลิตติดตั้ง 7,110 เมกะวัตต์

รวบรวม ณ เดือนมีนาคม 2557

ที่มา: คนชายข่าว คนชายขอบ transbordernews.org

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ