‘6 ประเด็น’ ห่วงใยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ภาคประชาสังคมแถลงต่อ UN เร่งคืน ปชต.

‘6 ประเด็น’ ห่วงใยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ภาคประชาสังคมแถลงต่อ UN เร่งคืน ปชต.

ภาคประชาสังคมไทยแถลงด้วยวาจาในเวทีทบทวนรายงานสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม องค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สรุป 6 ประเด็นห่วงใยในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แผนแม่บทป่าไม้-ความรุนแรงต่อผู้สู้เพื่อสิทธิในที่ดิน

2 มิ.ย. 2558 องค์การภาคประชาสังคม จากประเทศไทยกว่า 10 องค์กร แถลงการณ์ร่วมกัน ต่อคณะกรรมการสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม องค์การสหประชาชาติ ในการการประชุมทบทวนรายงาน ความก้าวหน้าของประเทศไทย ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2558 โดยนางสาวณัฐาศิริ เบริก์แมน และนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์สรุปถึงประเด็นห่วงใยในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ดังนี้

ประเด็นที่ 1 แผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่ยากจนเพราะทหารและเจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ได้ขับไล่ชาวบ้านที่ยากจนออกจากที่ดินที่พวกเขาทำมาหากิน ระหว่างวันที่ 22พ.ค.2557 ถึงวันที่ 1 เม.ย. 2558 กฎอัยการศึกถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติการคุกคามประชาชนโดยพลการในการจัดการคืนผืนป่า และจนกระทั่งปัจจุบันประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่มีใครได้รับการชดเชยเยียวยาแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 สิทธิในที่ดิน ตั้งแต่ปี 2546 มีนักกิจรรมด้านสิทธิที่ดินจำนวนกว่า 60 คนถูกฆ่าสังหารในประเทศไทยและมีนักกิจกรรมอื่นอีกจำนวนมากรวมทั้งครอบครัวที่ทุกข์ทรมานจากการบังคับให้สูญหาย ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในเอเชียหากพวกเราลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดิน

“เราขอให้คณะกรรมการให้ความสนใจอย่างยิ่งกับการฟ้องคดีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเนื่องจากการทำงานที่ชอบธรรมของพวกเราในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลต้องยุติการปฏิรูปโดยการออกกฎหมายใดใดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่ปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยและตัวแทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง” แถลงการณ์ระบุ

ประเด็นที่ 3 รัฐบาลทหารได้ดำเนินการปฏิรูปสถาบันด้านสิทธิมนุษยชน โดยการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแห่งรัฐสภา

ประเด็นที่ 4 องค์กรร่วมภาคประชาสังคมมีความกังวลในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบจากการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐบางนาย สถานการณ์ความรุนแรงต่อกรณีชาวโรฮิงญาต้องการการทำงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อสร้างให้เกิดการปกป้องคุ้มครองชาวโรฮิงญาระยะสั้นโดยทันที และระยะยาว

ประเด็นที่ 5 ความรุนแรงและการคุกคามกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยการทำลายปัจจัยหลักของวิถีชีวิต 

ประเด็นที่ 6 การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม เราต้องการให้คณะกรรมการฯ แสดงความสนใจและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการกำหนดระบบการศึกษาที่เคารพต่อระบบคิดที่เคารพสิทธิพื้นฐานตามหลักการของ UNESCO และจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อทุกคนในประเทศไทย

“ในประเด็นต่างๆ ที่ระบุนี้ องค์กรภาคประชาสังคมขอเรียกร้องให้มีกระบวนการประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลที่ยุติธรรม ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบให้ได้โอกาสในการมีส่วนร่วมในสถาบันระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และโดยเฉพาะการกำหนดอนาคตและตัดสินใจด้วยตนเอง ในประเด็นที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของตนเองและชุมชนของพวกเรา” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1-5 มิ.ย. 2558 องค์การภาคประชาสังคมไทย จำนวน 18 คน จาก 14 องค์กร ประกอบด้วย 1.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) 2.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF 3.เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง (IEN) 4.มูลนิธิศักยภาพชุมชน 5.มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (JPF) 6.ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) 7.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น 8.ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) 9.เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย (NIPT) 10.มูลนิธิประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย (AIPP) 11.Protection International 12.Franciscans International 13.Forum Asia และ 14.คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) เข้าร่วมการทบทวนรายงานความก้าวหน้าของประเทศไทย

องค์การภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งในกลุ่มดังกล่าวได้แถลงด้วยวาจาในประเด็นเรื่องการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในประเทศไทย เนื่องด้วยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2542 รัฐภาคีจะต้องเสนอรายงานภายในปีแรก โดย เมื่อปี 2557 รัฐบาลไทยได้จัดส่งรายงานฉบับแรกหลังการให้สัตยาบันไปแล้วเป็นเวลา 16 ปี และจะมีการทบทวนรายงาน ความก้าวหน้าของประเทศ ไทย ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ 4-5 มิ.ย. ปี 2558

การเขียนรายงานของภาครัฐนั้น จะครอบคลุมผลการดำเนินงานเพื่อให้เป็นตามพันธกรณีของไทยว่าด้วยการส่งเสริมคุ้มครองและปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ส่วนการจัดทำรายงานคู่ขนาน (shadow report) และการเดินทางมาร่วมประชุมรับฟังความเห็นในเวทีการทบทวนรายงานขององค์กรสหประชาชาติ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างตัวแทนของภาครัฐและองค์กรประชาสังคมทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพราะจะช่วยให้การจัดทำรายงานมีความสมบูรณ์ครอบคลุมทั้งเนื้อหาที่เป็นสถานการณ์ปัญหา 

ประเด็นที่พูดคุยครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิในที่ดิน สิทธิในการพัฒนา การศึกษาวัฒนธรรม แรงงานข้ามชาติ สิทธิสตรี สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ สิทธิเด็ก รวมทั้งสถานการณ์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเศรษฐกิจสังคมใน ประเทศไทย การเรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการจัดทำรายงาน และการได้ข้อเสนอที่ตรงประเด็นนำไปปฏิบัติได้เพื่อการขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม 

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

20150306150642.jpg

20150306012726.jpg

20150306012737.jpg

หมายเหตุ: มีการแก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2558 เนื่องจาก ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ว่ามีความเข้าใจผิดระหว่าง NGOs ไทย ในเรื่ององค์กรที่ออกแถลงการณ์ร่วม โดย ICJ และสำนักงานใหญ่ยังไม่ได้ตรวจแถลงการณ์นี้ จึงขอให้ลบชื่อ/Logo ICJ ออกจากเนื้อข่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ