21 มิ.ย. 2559 ในวาระที่นางออง ซาน ซู จี (H.E. Daw Aung San Suu Kyi) ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย. 2559 พร้อมด้วยรัฐมนตรีสำคัญ ประกอบด้วยนายเต็ง ส่วย (H.E. U Thein Swe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร นายจ่อ วิน (H.E. U Kyaw Win) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการคลัง และนายจ่อ ติน (H.E. U Kyaw Tin) รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศเมียนมา
องค์กรภาคประชาสังคม 19 องค์กรได้ร่วมลงนามแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและชะลอโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากไทย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเขื่อนสาละวิน รายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ต่อผู้นำรัฐบาลพม่าในวาระเยือนไทย 21 มิถุนายน 2559 ในวาระที่นางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพม่าและที่ปรึกษาแห่งรัฐจะมาเยือนไทย พวกเรา ภาคประชาสังคมและชุมชนที่ทำงานติดตามประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมระหว่างไทย-พม่า ขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาและทบทวนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทย-พม่า ซึ่งเป็นแผนการลงทุนของไทยในพม่า โดยเฉพาะโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งต่างมีการวางแผนและผลักดันมาเป็นเวลานับสิบปีแต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่คาดว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมามาหารือกับท่านในการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ได้เคยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-พม่า ในการศึกษาและพัฒนา 5 โครงการบนแม่น้ำสาละวิน และ 1 โครงการบนแม่น้ำตะนาวศรี จนปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พยายามผลักดัน 2 โครงการ ได้แก่ เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์) ในรัฐกะเหรี่ยง และเขื่อนเมืองโต๋น (7,100 เมกะวัตต์) ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ได้รับการคัดค้านมาตลอดเนื่องจากความไม่พร้อมและข้อกังวลหลักดังนี้ 1 จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประชาชนชาติพันธุ์ทั้งในรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง ได้อพยพหนีภัยความตายมายังชายแดนตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน เนื่องจากนโยบายกวาดล้างและการสู้รบกับกองกำลัง ประชาชนหลายแสนคนถูกถอนรากถอนโคน โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ หัวงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จนบัดนี้ประชาชนใหญ่ยังคงไม่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นฐาน และอาจเป็นผู้ลี้ภัยถาวรหากบ้านต้องจมลงใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน 2 โครงการจะสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้าย ๆ ของโลกที่ยังคงไหลอย่างอิสระ มีธรรมชาติและระบบนิเวศที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ยากจะหาสายน้ำอื่นเทียบได้ ความห่างไกลและเหตุผลด้านการเมืองทำให้แม่น้ำสาละวินยังมีการศึกษาน้อยมาก แต่กลับจะถูกทำลายโดยที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ 3 จะเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพที่ท่านกำลังดำเนินอยู่ในพม่า โครงการเขื่อนจะทำให้ปัญหาการสู้รบรุนแรงมากยิ่งขึ้นและสร้างความไม่มั่นใจ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 196.5 ตร.กม. (ใหญ่กว่าเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของไทยถึง 8 เท่า) ที่ผ่านมา ทางสมาคมพัฒนาทวายทำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย โดยได้ประมาณการณ์ว่าชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน (ประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000-43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากที่ตั้งโครงการ นอกจากนี้การตรวจสอบโครงการของทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยยังพบว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ก่อผลกระทบต่อชาวบ้านแล้ว โดยเฉพาะประเด็นความไม่โปร่งใสและไร้มาตรฐาน ชาวบ้านต้องทนทุกข์ยากกับการถูกยึดที่ดิน ต้องสูญเสียวิถีชีวิตและรายได้ โดยไม่ได้รับการชี้แจงล่วงหน้าใด ๆ และไม่มีการปรึกษาหารือที่มีความหมาย อีกทั้งกระบวนการชดเชยก็พบความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ พวกเขาได้ร้องเรียนเรื่องราวความไม่เป็นธรรมเหล่านี้หลายต่อหลายครั้งต่อเจ้าหน้าที่และบริษัท แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาดำเนินการตามรายงานผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะนโยบาย เรื่องสิทธิชุมชน กรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาโครงการดังกล่าว ที่มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวทวาย ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้สรุปผลการพิจารณา ดำเนินการตามรายงานดังกล่าว โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในต่างประเทศ และกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ร่างขอบเขตงาน (Terms of reference) ของสัญญาหรือข้อตกลงที่จะมีขึ้นในอนาคต กลไกกำกับดูแลหรือสนับสนุนภาคเอกชนในการเคารพหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน การผลักดันมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง พวกเรามีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าการลงนามใด ๆ ในโครงการขนาดใหญ่ระหว่างไทยและพม่าในขณะนี้ จะเกิดขึ้นบนบรรยากาศที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ ขาดข้อมูลที่เพียงพอในการประกอบการตัดสินใจ ขาดความโปร่งใส โครงการเหล่านี้รวมถึงโครงการอื่น ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด เป็นต้น ในฐานะผู้นำของรัฐบาลพม่า พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ท่านชะลอโครงการต่าง ๆ ไว้ จนกว่าจะมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และเมื่อประชาชนจะสามารถตัดสินใจได้เอง (informed decision) เพื่อให้เกิดการลงทุนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝั่งอย่างยั่งยืน ลงนามโดยองค์กร 1. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Center
|