ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคต ‘โฉนดชุมชนคลองโยง’ กับโครงการพัฒนา

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคต ‘โฉนดชุมชนคลองโยง’ กับโครงการพัฒนา

‘ส้มโอนครชัยศรี’ ‘แหล่งเกษตรปลอดสารพิษ’ พูดแบบนี้ใคร ๆ ก็จะต้องนึกถึงจังหวัดนครปฐมก่อนเป็นอันดับแรก เพราะพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของที่นั่นคือพื้นที่เกษตร จนทำให้ถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงปากท้องของผู้คนโดยเฉพาะในภาคกลางและกรุงเทพฯ

สำหรับชุมชนคลองโยง หนึ่งในชุมชนที่อยู่ใน อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ชุมชนที่ถือเป็นต้นแบบของการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ กว่า 20 ชนิด โดยที่ชุมชนนี้เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรที่ต่อสู้เพื่อรักษาพื้นทำกินที่ตกทอดมายาวนานกว่า 200 ปี ไว้ให้กับลูกหลาน จนได้รับการรับรองในฐานเป็นพื้นที่ “โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย” ที่สมาชิกสหกรณ์ใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน

การต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่เกษตร ที่เป็นทั้งที่ทำกิน และอยู่อาศัย นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านต้องเจอกับข้อท้าทายที่เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าการขยายตัวของเมืองและบ้านจัดสรร ภาษีที่ดินที่มีมูลค่าต้องจ่ายมหาศาล อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับโครงการพัฒนาถนนหนทางวางเป้าหมายต้องการพาดผ่านพื้นที่โฉนดชุมชน ทำให้คนในพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิชุมชน และหาทางออกให้กับเรื่องนี้ 


นี่จึงเป็นโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย เดินทางไปที่ชุมชนคลองโยง ชวนตัวแทนนักวิชาการ  กรรมการสิทธิมนุษยชน และชาวบ้านในพื้นที่ กว่า 60 คน มาร่วมชวนกันคิด ช่วยกันมอง และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกให้กับคนในพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน

000

– ทำความรู้จักชุมชนคลองโยง –

จังหวัดนครปฐมตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า แม่น้ำนครชัยศรี  มีพื้นที่ 2,168.327 ตารางกิโลเมตร  นับเป็นอันดับที่ 66 จาก 77 จังหวัด แต่มีจำนวนประชากรรวม เป็นอันดับที่ 19  ขณะที่ความหนาแน่นประชากร เป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ

จังหวัดปริมณฑลแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเป็นชุมทางการขนส่งมายาวนาน ด้วยความได้เปรียบทางด้านทําเลที่ตั้งซึ่งติดกับหลายจังหวัดโดยรอบ และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปตามเส้นทางถนนเพชรเกษมเพียง 56 กิโลเมตร หรือตามเส้นทางถนนบรมราชชนนี 51 กิโลเมตร และตามเส้นทางรถไฟ 62 กิโลเมตร

ปัจจุบัน ความเจริญจากการลงทุนโครงพื้นฐานของรัฐ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยออกมายังชานเมืองฝั่งตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มราคาที่ดินปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

000

– การพัฒนาพื้นที่ จ.นครปฐม –

ตามแผนโครงการสำคัญในการพัฒนาด้านคมนาคม ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในพื้นที่ จ.นครปฐม ที่เปิดเผยเมื่อต้นปี 2566 

ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ ระยะทางรวม 28.83 กิโลเมตร และยังมี แผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต จำนวน 5 โครงการ ระยะทางรวม 49,844 กม.

ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท มีโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2566 จำนวน 30 โครงการ และเตรียมขอรับสนับสนุนงบประมาณปี 67 รวม 40 โครงการ สำหรับ โครงข่ายทางหลวงชนบทที่กลายมาเป็นปัญหาร้อนของชุมชน ในขณะนี้ คือ โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ – ศาลายา จ.นนทบุรี และนครปฐม เป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร งบประมาณ 4,432 ล้านบาท

มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม เสริมประสิทธิภาพเส้นทางคมนาคม พร้อมแก้ไขการจราจรติดขัดพื้นที่โซนตะวันตกของกรุงเทพฯ ปัจจุบันโครงการล้าช้าลง เนื่องจากต้องรอจัดสรรงบประมาณเวนคืนที่ดิน ปี 2567 จากรัฐบาลใหม่

และล่าสุด อยู่ระหว่างดำเนินงาน โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา–นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโครงการในระยะที่ 2 สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท ออกมาระบุว่า ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จำนวน 4 ครั้ง รวม 16 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,339 คน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ 77.60% เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาโครงการที่นำเสนอ

000

– การต่อสู้เพื่อโฉนดชุมชนแห่งแรก –

แต่ชาวบ้านกลุ่มสหกรณ์บ้านคลองโยง ในพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศ และกำลังจะถูกถนนเส้นนี้พาดผ่าน กลับลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด 

ย้อนทำความรู้จัก การต่อสู้เรื่องที่ดินของคนคลองโยง ในอดีต บ้านคลองโยง หรือชุมชนคลองโยง เป็นหมู่บ้านหนึ่งใน ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล 

เดิมทีคลองโยงเป็นคลองเล็ก ๆ กว้างประมาณ 5 เมตร เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) และแม่น้ำเจ้าพระยา มีชาวบ้านอาศัยในบริเวณนี้มากกว่า 250 ครัวเรือน จนทางราชการเห็นความสำคัญ จึงมีการขุดคลองมหาสวัสดิ์ สมัยรัชการที่ 4 และให้เจ้านายจับจองออกโฉนดในที่ดิน ในปี 2460 ทำให้ชาวนาที่เคยอยู่เดิมต้องกลายสถานะมาเป็นผู้เช่า ในที่ดินจำนวนประมาณ 1,803 ไร่  เจ้าของที่ดินคือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ก่อนจะตกเป็นมรดกของเจ้านายวังดิสกุล และมีการซื้อขายกันต่อมา

  • จนกระทั่งปี 2518 ชาวนาผู้เช่าที่ดินได้ร้องขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำเงินกองทุน เพื่อจัดที่ดินให้เกษตรกร พ.ศ. 2514 ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2513 ตามโครงการกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกร เพื่อให้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
  • ปี 2523 ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง จำกัด แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเช่าซื้อที่ดินตามเจตนารมณ์เดิมของการซื้อที่ดินภายใต้กองทุนจัดหาที่ดินช่วยเหลือชาวนา 
  • ปี 2545 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งมอบที่ดินคืนแก่กรมธนารักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จึงมีการเสนอแนวทางในการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสหกรณ์โดยราษฎร สมาชิกใช้ประโยชน์ร่วมกัน และไม่ต้องการให้ที่ดินถูกโอนไปอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ เพราะกลัวว่าเสียค่าเช่าแพง และที่ดินอาจถูกนำไปใช้หาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพราะมีนายทุนเข้ามาแสดงความสนใจจำนวนมาก
  • จนกระทั้ง 25 มี.ค. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมธนารักษ์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 1,803 ไร่ ให้แก่สหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง ไปบริหารจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรสมาชิก ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ 

หลัง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 บังคับใช้ ทำให้พื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงซึ่งเป็นที่ดินแปลงรวม ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเสียภาษีนับล้านบาท จนเกิดคำถามต่อความพยายามในการรักษาพื้นที่

และในตอนนี้ โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอีกครั้ง จากโครงการพัฒนาของภาครัฐ อย่างโครงการถนนเชื่อมถนนนครอิทร์ ช่วงที่ 2 ศาลายา – นครชัยศรี ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิชุมชน ความพยายามในการรักษาพื้นที่เกษตรกรรม และเป้าหมายที่จะเป็นตลาดข้าวอินทรีย์และผักปลอดสารเคมีสำหรับคนเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค

000

– ความท้าทายที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญ —

ด้านการเกษตร

ที่ผ่านมา แม้จังหวัดนครปฐมจะมีศักยภาพการพัฒนาด้านการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่เกษตรกรกลับต้องเจอปัญหาดินเสื่อมโทรม และหลายพื้นที่มักประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง 

รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยมากขึ้น รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากกรุงเทพฯ ขณะที่แรงผลักดันทางเศรษฐกิจทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของที่นากลายเป็นผู้เช่า หรือเป็นเพียงลูกจ้างในภาคเกษตร

ด้านเศรษฐกิจ

จังหวัดนครปฐม มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาทั้งทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว และบริการ 

โครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ โดยในปี 2563 ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดนครปฐมมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 52.21 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด โดยอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 41.96 ส่วนใหญ่เป็นการค้าและการขนส่ง สำหรับภาคเกษตรมีสัดส่วนแค่ร้อยละ 5.82 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตพืช

ขณะที่แผนพัฒนาจังหวัดนครปฐม 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระบุเป้าหมายของการพัฒนาจังหวัดไว้ว่า นครปฐมจะมุ่งมั่นเป็น “เมืองอัจฉริยะที่รู้จัก เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยื่น” (Well-known sustainability and balanced Smart City)

โดยมีประเด็นการพัฒนาจังหวัดด้วยกัน 3 ข้อ 

  1. พัฒนานครปฐมให้เป็นเมืองเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ประตูเศรษฐกิจภาคกลางและภาคตะวันตก ด้วยการสร้างความเข้มแข็ง กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัด ด้วยเทคโนโลยี 
  1. สร้างความแข็งแกร่งระดับพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมืองหลวงและปริมณฑล (Smart Living) ด้วยการพัฒนาพื้นที่รองรับความเจริญ การเดินทางและการขนส่ง เชื่อมต่อสิ่งอำนวยความสะดวกกับเทคโนโลยี ให้นครปฐมมั่นคง ปลอดภัย 
  1. พัฒนาประชาชนให้ร่วมสร้างสังคมอัจฉริยะ (Smart Society) ด้วยการพัฒนาพลเมืองอัจฉริยะ พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจ

000

– 4 มุมมอง แนวทางการพัฒนาที่ยึดโยงกับชุมชน –

จากชุดข้อมูลขั้นต้น ทางรายการเรามี ชวนทุกคนร่วมมองสถานการณ์ และรับฟังข้อมูล เพื่อหาทางออกไปพร้อมกันกับแขกรับเชิญทั้ง 4 ท่าน

  • ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษา คณะกรรมการผังเมืองรวม จ.นครปฐม
  • ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  • ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  • รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิจัยพันธมิตร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า ชาวบ้านในที่นี่ยกมือกัน 100% ว่าไม่เอาถนน แต่ถ้าถามคนในเมืองทุกคนยกมือเห็นด้วยหมด 

ซึ่งคนจะไม่รู้จักคลองโยงมากนัก แต่ถ้าคนกินต้มยำแล้ว เจอผักชี แสดงว่ามาจากที่นี่ คนไหว้พระก็จะรู้ว่าดอกบัวมาจากที่นี่ พื้นที่นี่ยังเป็นความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในเมือง คนในชุมชน เราพยายามคุยกับบริษัทที่เขาปรึกษา เขาบอกว่า มาตรงนี้เวนคืนง่าย มีแต่ท้องนา ที่ราคาถูก การทำมาหากินในลักษณะของชุมชนเกษตรแบบนี้ ไม่เคยอยู่ในจินตนาการ หรือไม่ถูกนับเป็นต้นทุนในการคำนวณของบริษัทที่ปรึกษา มันมีทางเลือกการพัฒนาหลายรูปแบบด้วยกันควรจะอยู่แบบสอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำกินของผู้คน

ด้าน ประเชิญ คนเทศ กล่าวว่า ถ้ามองย้อนไปในอดีตที่นี่มันมีความลุ่มรวยของตัวมันเอง เพราะช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านเปิดการค้าข้าว ค้าน้ำตาลของโลก แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่นี่ ดังนั้นจะหาแผ่นดินไทยที่ไหนที่ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ โดยที่ไม่ต้องย้ายไปไหน 

ช่วงโควิดนครปฐมเรามีความมั่นคงทางอาหารไม่ได้หวั่นไหวแต่ทั่วโลกหวั่นไหว เพราะเขาไม่มีอาหาร เรากำลังจะป้องกันยามภัยพิบัติ ยังไงอาหารที่นี่ก็พอเลี้ยงคนกรุงเทพฯ ทำให้ไม่ต้องไปไหนไกล อยากได้ข้าวปลาอาหารที่นี่มีให้หมด ทำไมเราถึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำผังเมืองรวม

ถ้าเป็นฝั่งตะวันออกของคลองโยงติดบางกรวย ตรงนั้นให้เป็นเมืองการค้า หรือเมืองพาณิชย์ แต่ทางฝั่งนี้ให้เป็นเมืองของความมั่นคงทางอาหาร และบริเวณหน้ามหาลัยมหิดลให้เป็นเมือง Smart City และระบบรางไม่มีถนนเส้นนี้อยู่ เป็นเส้นอุบัติที่เกิดขึ้นมา

รัฐบาลชุดใหม่ประกาศว่า การจัดการทรัพยากร ประชาชนต้องมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมต้องฟังจากหัวใจ และเราเชื่อว่าต้องทำตามนั้น

ศยามล ไกยูรวงศ์ มองประเด็นนี้ว่า ทุกโครงการร่วมทั้งถนน เป็นแค่ปรากฏการณ์เชิงรูปธรรม แต่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นโครงสร้างเพราะว่า เราไม่มีกฎหมายหรือนโยบายที่ออกแบบให้เจ้าของโครงการมองอิงกับแผนพัฒนาพื้นที่ เราจะต้องรู้ว่าบ้านเราในอนาคต 10 – 20 ปีข้างหน้า เราจะพัฒนาอะไร ถ้าอุตสาหกรรมเกิดเราต้องดูแลคนที่เป็นมะเร็งใน 30-50 ปีข้างหน้าด้วย ซึ่งสภาพัฒน์พยายามทำมาโดยตลอดให้คนมีส่วนร่วม แต่คนไทยไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่จริง ๆ ในช่วงที่เรามีการพัฒนาเศรษฐกิจเราจำเป็นต้องสนใจเรื่องนี้ 

โครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ยังไปไม่ถึงขั้นเวนคืน อันนี้ยังไม่ได้พูดถึงตัวโครงการ เพราะยังไม่ถึงกระบวนการตรวจสอบ  ถ้าโจทย์ตั้งว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจร เขาต้องมีข้อมูลของรถที่วิ่งตลอดสาย ไม่ใช่มีแค่ของรถที่วิ่งจากนครอินทร์-ศาลายา และไปนครชัยศรี ต้องดูภาพรวมทั้งกรุงเทพมหานครและในนครปฐมมีเส้นทางการเดินรถแบบไหนอย่างไร บริษัทที่ปรึกษาต้องตอบเราให้ได้ทั้งหมด เพราะเขาจะต้องเสนอทางเลือกหลาย ๆ ทาง ซึ่งเขามี 3 ทางเลือก แล้วทางเลือกนั้นจำเป็นไหม

อีกอย่างก่อนจะไปถึงถนน ผังเมืองตรงนั้นเป็นสีอะไร เพราะทุกโครงการต้องดูที่ผังเมืองก่อน ผังเมืองตรงนี้เป็นขาวทะแยงเขียว เป็นพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและอนุรักษ์ชนบท และเมื่อคนนครปฐมเลือกแล้วว่าจะพัฒนาเมืองเป็นสีเขียวอัจฉริยะเราควรจะเคารพการตัดสินใจของเขาให้พัฒนาแบบนั้น

ปรีดา คงแป้น กล่าวว่า ที่นี่เป็นโฉนดชุมชนนำร่อง รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญ ชาวบ้านพยายามจะสร้างโมเดล สร้างพื้นที่ที่จะทำให้เกษตรกรและชาวบ้านสามารถถือครองที่ดินไว้ได้ ถ้าเราพูดถึงเรื่องนี้มันจะโยงเรื่องโครงสร้างการถือครองที่ดินของประเทศนี้ที่เหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เรายังไม่มีกฎหมายการจำกัดการถือครองที่ดิน แล้วก็กฎหมายภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าที่เครือข่ายประชาชนพยายามเสนอก็ยังไปไม่ถึงไหน 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าตกใจก็คือได้ข้อมูลจากชาวบ้านว่าสหกรณ์คลองโยงเสียภาษีที่ดินมากดิฉันคิดว่ากรรมการสิทธิ์เห็นว่าเป็นความผิดฝาผิดตัวของกฎหมาย หน้าที่ของกรรมการสิทธิก็มีหน้าที่ที่จะต้องเสนอแนะว่ากฎหมายไหนละเมิดสิทธิชุมชน มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเปล่า อันนี้เราก็ต้องไปดู

ประเชิญ คนเทศ เสริมต่อเรื่องของผังเมืองรวมว่า ในผังเมืองรวมเล่มหนาแล้วความคิดว่ามันมีหลักคิดฐานคิดว่าเราจะมองไปอย่างไรเขายังเห็นเรื่องของการพัฒนาสมดุลกับการอนุรักษ์ มันมีข้อ 2 อยู่ว่าส่งเสริมควบคุมพัฒนาการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง คำว่าควบคุม คือปล่อยให้ทำตามอำเภอใจไม่ได้และคำว่าพัฒนาคือการพัฒนาให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้โดยเฉพาะระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องสอดของกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจังหวัดนครปฐม 

ส่วนข้อที่ 6 ต้องปักหมุดเอาไว้ตรงนี้เลย เรื่องการอนุรักษ์พื้นที่เกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบระบายน้ำ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองรวมตามจำแนกผังเมืองและโครงการคมนาคมขนส่ง ที่สำคัญที่สุดจะมีตัวบอกเลยว่า

ที่สำคัญที่สุดจะมีตัวบอกเลยว่าที่ดินประเภทกรอบขาวทะแยงเขียวหรือสหกรณ์ที่ดินคลองโยงนี้กำหนดไว้ก็คือมีกรอบให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม การพัฒนาเกษตรผสมผสานแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตรและสงวนรักษาทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทเกษตรกรรมจำแนกเป็น อก.

อย่างเช่นถนนนครอินทร์-ศาลายา ที่เป็นทางเลือกที่ 1 แล้วก็มีการแนะนำว่าให้มาเส้นนี้ เพราะว่ายังขยายได้อยู่และยังเชื่อมโยงข้างล่าง ย่านนี้มีความเสี่ยงของน้ำท่วมอยู่ แม้แต่ขาวทแยงเขียวตรงนี้ก็ยังท่วมได้อยู่ เพราะอยู่ใกล้คลอง ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้ถูกคันล้อมทุ่งพระพิมลราชา ถูกคันล้อมจากอยุธยา ล้อมไว้ด้วยหลักการ น้ำเหนือจะไม่หลากมาอีกแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ไม่มีอีกแล้ว แต่มีระบบเครือข่ายคูครอง แต่พื้นที่ตรงนี้จะมีปัญหาถ้าฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทันที 

พื้นที่นาข้าวตรงนี้น้ำท่วมแป๊บนึง เดี๋ยวก็หายไป สามารถสูบเอาได้เวลาน้ำทะเลลง ดังนั้นต้องถามว่าถนนเส้นนี้ยังจำเป็นมากไหมคุณไปศึกษาทางเลือกทางออกของผังเมืองรวมที่เขาหาทางออกของปัญหาคมนาคม เพราะมันเป็นข้อกำหนดอยู่แล้วรศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เสริมต่อว่า ถ้ามองภาพใหญ่เรารับความหายนะมาจากกรุงเทพฯ ที่ผลักมาให้เรา น้ำท่วมริมแม่น้ำท่าจีนเท่ากับปี 2554 ทุกปี เพราะมีถนนยกระดับ และท่วมอยู่

2-3 เดือน ฝั่งคลองมหาสวัสดิก็ยกระดับขึ้นไปอีก 50 เซนติเมตร มีการยกผนังกั้นน้ำคลองมหาสวัสดิ์ตลอด เรากลายเป็นแอ่งน้ำ ถนนก็จะขวางกระทบกับสิ่งเหล่านี้อีก สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกคิดเป็นต้นทุน

ด้าน ประเชิญ คนเทศ เสริมต่อประเด็นเรื่องน้ำท่วมนครปฐมว่า นครชัยศรี หรือพุทธมณฑล จะกลายเป็นไข่แดงของปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นพื้นที่ตรงนี้จะทำอย่างไร เขาบอกว่าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำเอาไว้ เพื่อไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ ถามว่าเมื่อก่อนน้ำท่วมเรามีปัญหาไหม เราไม่มีปัญหาเพราะว่ามันไม่มีคันล้อม น้ำมามันก็แบ่งกันไป 

จังหวัดนครปฐมก็มี SDGs เราเลือกหมุดหมายไว้ 6 หมุดหมาย คือ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรกรรมแปรรูปสูงค่า การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพประตูการค้า และการลงทุนโลจิสติกส์  ที่สำคัญไม่มีใครมาเขียนโครงการถนน พัฒนาลำน้ำจากลำพญา มามหาสวัสดิ์ ถ้าเกิดมาแบบนี้มาก ๆ นครปฐมจะมีแต่ปูนอยู่เหนือหัว จะเป็นสวรรค์ของคนนครปฐมได้อย่างไร  

ปรีดา คงแป้น อธิบายถึงสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านกับโครงการพัฒนาที่กำลังจะเข้ามาว่า ชาวบ้านมีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ปกป้องพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารนิเวศน์วัฒนธรรมตรงนี้ไว้ เพื่อรองรับปัญหาอื่นๆของคนเมืองโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ  ที่ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ชาวบ้านมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะปกป้อง 

ปิดท้ายที่ ศยามล ไกยูรวงศ์ การจัดรูปที่ดินสหกรณ์คลองโยงเป็นเรื่องที่ดี เราไม่ควรดูแค่โครงการ เราต้องดูภาพรวม คนนอกย่อมไม่รู้ดีเท่าคนในชุมชน ให้ตัวเจ้าของโครงการมีมุมมองมิติของแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัด อาข้อมูลนี้เข้าไปในรายงานการศึกษาความเหมาะสม และมาตรการผลกระทบที่คุณจะต้องแก้ตามชุมชนขอมา 

ถ้ากระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ก็จะไปต่อเลย พอมีการจัดเวที กสม. ก็จะไปตรวจสอบว่าข้อมูลที่คุณเผยแพร่เป็นยังไง ข้อมูลการนำเข้าในรายงานเป็นอย่างไร และชาวบ้านมีความเห็นแบบนี้ มีการใส่เข้าไปในรายงานไหม เพื่อดูว่าคุณรับฟังเขาครบถ้วนสมบูรณ์ไหม อันนี้เป็นสิทธิเชิงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสิทธิการมีส่วนร่วม เมื่อเราศึกษาอย่างรอบด้านแล้วความจำเป็นของโครงการอาจจะมีหรือไม่มีก็จะบอกไปทางรัฐบาล ให้เอาข้อมูลนี้ไปตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ หรือไม่เดินหน้าต่อ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ‘คลองโยง’ กับการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิชุมชน จากโครงการพัฒนา

000

– 3 ฉากทัศน์ อนาคตคลองโยง –

เมื่อได้อ่านข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว ทางรายการเรามี 3 ฉากทัศน์ ที่เป็นเสมือนตุ๊กตาตั้งต้นในการชวนมองภาพอนาคตการไปต่อของชุมชมคลองโยงมาให้ทุกคนได้เลือกกัน ลองดูว่าฉากทัศน์ไหนที่อยากจะให้เกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 1 ทองกวางหน้าหนาว

รัฐกำหนดทิศทางการพัฒนา กระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ชุมชนรอบเมืองฝั่งตะวันตก ด้วยโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตัดถนนเชื่อมโครงข่ายจราจร เพื่อเสริมประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ปริมณฑลลงสู่ภาคใต้ และช่วยลดปัญหาการจราจรที่คับคั่งของเมือง

เมืองที่ขยายตัว มีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางให้เจริญมากขึ้น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรอบ แต่ต้องแลกมาด้วยความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต่อระบบนิเวศของท้องทุ่งนครชัยศรี และวิถีชีวิตของชุมชนชาวนาดั้งเดิมในพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศ และนั่นส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูกแหล่งอาหารที่ถูกและสะอาดของคนกรุงเทพฯ ให้ยิ่งลดจำนวนลง พื้นที่สาธารณะสีเขียวซึ่งเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวอาจสูญหายไปจากการพัฒนา ที่ดินถูกเปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรสู่ที่อยู่อาศัย ราคาที่ดินพู่งสูงกลายเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนมือ

นำมาสู่การปรับเปลี่ยนและวางแผนในการพัฒนาผังเมืองและการใช้ประโยชน์พื้นที่ใหม่ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ของเมืองที่จะตามมา อย่างน้ำท่วม การจัดการขยะ และปัญหามลพิษต่าง ๆ

ฉากทัศน์ที่ 2 มะพร้าวสู้ลม

รัฐปรับเปลี่ยนเส้นทางโครงข่ายการจราจรที่เชื่อมโยงพื้นที่นครปฐมกับกรุงเทพฯ จากความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาไว้ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรม และสิทธิชุมชนของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง 

แต่เกษตรกรยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในความเปลี่ยนแปลงของกึ่งเมืองกึ่งชนบท เพราะ อ.พุทธมณฑลที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ แบบไร้รอยต่อนั้นเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของบ้านจัดสรร และพัฒนาศักยภาพรองรับเมืองอยู่อาศัย จึงยังคงมีการขยายจำนวนเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง 

ถนนทำให้การเดินทางข้ามเมืองคล่องตัวขึ้น ส่งเสริมทั้งการขนส่งสินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวของคนเมืองไปสู่ปลายทางอื่นๆ ที่ไกลขึ้นภายในเวลาที่รวดเร็วขึ้น ทำให้ จ.นครปฐมอาจกลายเป็นเพียงเมืองทางผ่าน ผู้คนจึงต้องปรับตัว พัฒนาสินค้าและการบริการให้มีมูลค่าและคุณค่ามากขึ้น

ในขณะที่เกษตรกรต้องจัดการตัวเอง พัฒนาศักยภาพ และพึ่งพาพลังของชุมชนให้ได้ เพื่อยืนหยัดในการดำรงอยู่ของพื้นที่แหล่งอาหารปลอดภัยที่สำคัญของเมือง

ฉากทัศน์ที่ 3 ชะอมริมรั้ว

รัฐส่วนกลางร่วมสร้างความยั่งยืนในการรักษาพื้นที่ท้องทุ่งที่ได้รับการพัฒนาระบบชลประทานจนมีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงผู้คนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ยังคงอยู่ในมือของเกษตรกร และร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพในการผลิตให้อยู่รอดได้ ท่ามกลางความผันผวนของกลไกลราคาตลาด 

การดำรงวิถีชีวิตด้านการเกษตรในพื้นที่ใกล้เมือง ต้องเผชิญกับเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ ทั้งค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำรงชีวิต การศึกษาของสมาชิกครอบครัว และต้นทุนในการผลิตที่สูง ขณะที่รายได้แทบจะไม่เพียงพอต่อการต่อยอดและเสริมศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกษตรกรกลายเป็นอาชีพที่นับวันยิ่งถดถอย

ในพื้นที่โฉนดชุมชนเองต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่การขยายตัวของครอบครัวเกษตรกร จากรุ่นสู่รุ่น แต่ต้องอยู่ในพื้นที่กรรมสิทธิร่วมที่จำกัด ทำให้ต้องปรับลดพื้นที่ทำกินลงเพื่อจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย

เพื่อความอยู่รอด เกษตรกรต้องร่วมกับรัฐ และท้องถิ่น รวมทั้งสถาบันการศึกษา พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนให้การเพาะปลูกและสินค้าเกษตรมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

000

– ชวนโหวต ฉากทัศน์อนาคตคลองโยง –

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ