‘คลองโยง’ กับการต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิชุมชน จากโครงการพัฒนา

‘คลองโยง’ กับการต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิชุมชน จากโครงการพัฒนา

ชุมชนคลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่มานานกว่า 200 ปี และได้ขึ้นชื่อว่าเป็น โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันมานาน กว่าที่พื้นที่แห่งนี้จะมีการจัดตั้งสหกรณ์ และจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านได้เช่า เพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เนื่องจาก จ.นครปฐม เป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ทำให้ได้รับความสนใจจากนายทุน และโครงการพัฒนาต่าง ๆ จำนวนมาก 

โดยล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงคมนาคมได้วางแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในจังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ทั้งหมด 3 โครงการ ระยะทางรวม 28.83 กิโลเมตร และยังมี แผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต จำนวน 5 โครงการ ระยะทางรวม 49,844 กม. ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท มีโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2566 มีจำนวน 30 โครงการ และเตรียมขอรับสนับสนุนงบประมาณปี 67 รวม 40 โครงการ

 

ซึ่งโครงข่ายทางหลวงชนบทกลายมาเป็นปัญหาร้อนของชุมชน เนื่องจากโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์–ศาลายา จ.นนทบุรีและนครปฐม เป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร งบประมาณ 4,432 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม เสริมประสิทธิภาพเส้นทางคมนาคม พร้อมแก้ไขการจราจรติดขัดพื้นที่โซนตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยที่โครงการดังกล่าวจะพาดผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศ 

นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยเราเดินทางไปที่ชุมชนคลองโยง เพื่อชวนชาวบ้านในพื้นที่ และคุณผู้ชมทางบ้านรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างรอบด้าน เพื่อหาจุดสมดุลการไปต่อ ระหว่างความเจริญจากโครงการพัฒนา และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนคลองโยง

000 ถนน คน ชีวิต กับอนาคตคลองโยงที่วาดฝัน 000

โชติ สายยืนยง กรรมการสหกรณ์บ้านคลองโยง กล่าวว่า ถ้าถนนเข้ามาวิถีชีวิตเปลี่ยน  เพราะถ้าถนนผ่านก็จะแยกพื้นที่ที่ชาวบ้านเขาถือคลองประโยชน์อยู่ออกเป็นสองส่วน สหกรณ์มีโอกาสล่มสลายสูง เพราะไม่สามารถรวมตัวกันได้เหมือนเดิม ตอนที่เราได้โฉนดชุมชนมา มีเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือ ให้ทำเกษตรแบบยั่งยืน เราก็ดำเนินการและยึดถือมาตลอดระยะเวลา 10 ปี  ที่ผ่านมา เราอยู่ด้วยความสงบพอเพียงในแบบที่ชาวบ้านพอใจ พอถนนเข้ามา วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยน บางคนต้องย้ายที่อยู่ เวนคืนไม่ได้ อันนี้เป็นผลกระทบรอบที่ 2  ผลกระทบรอบแรกที่เราเจอ คือ เรื่องภาษี เพราะสหกรณ์เป็นองค์กร เวลาเก็บภาษีก็จะต้องเก็บกับองค์กร ซึ่งพื้นที่ค่อนข้างมากเป็นพันไร่ ตอนนี้ชาวบ้านต้องเฉลี่ยกันคนละ 600 บาทต่อไร่  มาตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน เดี๋ยวปีใหม่จะต้องเสียเต็มร้อย ตรงนี้คือสิ่งที่เขาจะอยู่อย่างไร บางคนไม่มีที่ไปก็เครียด เรียกได้ว่าเป็นมรสุมของชุมชนก็ว่าได้      

วันนี้พวกเราที่ได้รับเชิญจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หรือเครือข่าย และสหกรณ์จังหวัดที่มาร่วมเวที เราถือว่าเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีทั้งผู้ใหญ่ทั้ง 4 คน เป็นคนให้ความรู้ให้ข้อมูลกับพวกเรา เราเดือดร้อนส่วนมากเราจะคุยกันในบ้านมันไม่ไปไหนแต่ วันนี้ผมไม่อยากให้เวทีที่จัดที่พื้นที่นี้เสียของอยากให้เข้าส่วนประสาทของแต่ละคนที่มีอำนาจในการพิจารณา เพราะวันนี้ทุกภาคส่วนที่ลงมามาเห็นของจริงได้รู้ว่าพื้นที่นี้เป็นอย่างไร รับความเดือดร้อนอย่างไร บางคนอาจจะไม่รู้ข้อมูลว่าก่อนที่จะมาเส้นนี้จริง ๆ แล้วพื้นที่ของเราที่เป็นหน้าด่านในการไปสู่ตำบลต่าง ๆ เขาไม่ได้เลือกเส้นนี้เป็นหลัก แต่ถ้าผมจะเปรียบเทียบให้ฟังก็เปรียบเสมือนว่าพื้นที่ตรงนี้เหมือนกับผู้หญิงคนหนึ่งที่สวย ฝั่งนู้นก็เป็นผู้หญิงที่สวยแต่พ่อตาไม่ให้ ส่วนพื้นที่นี้สวยแต่ราคาถูก0เขาก็ให้ ลักษณะพื้นที่เป็นแบบนี้

หลายคนบอกว่าอย่าไปสู้กับภาครัฐเลยเราสู้ไม่ได้หรอก แต่เราทำให้เห็นแล้วว่าการได้มาโฉนดชุมชนเราฝ่าฟันทุกอย่างมาชาวบ้านพยายามขายพื้นที่กิน เราก็ไม่ยอมแม้จะโดนอย่างอื่นบ้าง เราก็ยอมเจ็บ แต่เวทีนี้เราไม่อยากให้เสียของ อยากให้เสียงนี้ไปถึงผู้มีอำนาจว่าเราไม่เอา

จำลอง ทรัพย์น่วม อยู่คลองโยงมานาน 30 ปี อยากให้คลองโยงเป็นพื้นที่สีเขียว เพราะปลูกอะไรก็เจริญงอกงาม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

นุชนารถ แท่นทอง กลุ่มพีมูฟ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค อยากให้ที่นี่อากาศดี เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าในกรุงเทพฯ เกิดมลพิษ PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่อันตราย เกิดขึ้นทุกปี ถ้าคลองโยงถูกขยายถนนขึ้นไปก็จะมีสภาพไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เราจะไปหาอากาศบริสุทธิ์ได้จากที่ไหน จึงอยากรักษาคลองโยงเอาไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งอาหารที่จะได้กินร่วมกัน จึงคิดว่าที่นี่ควรจะเป็นธรรมชาติแบบนี้ ไม่ควรจะมีถนน 4 เลน หรือ 8 เลนแบบนี้ในพื้นที่ก็จะเกิดมลพิษมากมาย และก็เกิดขยะอีกด้วยจากรถที่สัญจรไปมา

บุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด ผมในฐานะประธานสหกรณ์ ผมคิดว่าคุกคลีกับชาวบ้านมาตั้งแต่เกิดแล้ว ผมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2524 เป็นสมาชิกรุ่นแรก และต่อมาเป็นประธานของสหกรณ์ปี 2547 เป็นคนหนึ่งที่อยู่กับอาจารย์ประภาส และต่อสู้เรื่องภาษีที่ดิน และก็เรื่องที่จะทำโฉนดชุมชน สิ่งที่ผมอยากจะฝาก จากการต่อสู้ ผมคิดว่าหน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานที่มองแล้วโอเค เริ่มตั้งแต่ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่รับปัญหา และแก้ปัญหาให้กับชุมชน เท่านั้นไม่พอยังเอาเทศบาลกับอบต. เข้ามาอีก ในสมัยที่ผมเป็นประธานก็มีชุดทางนายอำเภอผู้ว่ามาช่วย 

แต่การขับเคลื่อนกลายเป็นว่า ต้องเป็นกลุ่มของพวกเราในสมัยนั้น ผมไม่ได้มองอย่างอื่น ผมขับเคลื่อนในฐานะที่ผมเป็นประธานสหกรณ์ ผมขับเคลื่อนเรื่องสิทธิที่เป็นธรรม ตอนนั้นผมต่อสู้ว่าเราจะต้องดำรงเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่ปี 2524 เพราะชาวบ้านเสียเงินทั้งหมด ที่ดินต้องเป็นโฉนดของเรา แต่ลึก ๆ ผมรู้ว่าถ้าเป็นโฉนดของพวกเรามันต้องหลุดมือ ตอนนั้นตรงกับสมัยที่ท่านอภิสิทธิ์บอกเรื่องนี้ต้องเอาเข้า ครม. แต่คุณต้องการเจตนารมณ์หรือไม่ ถ้าตามเจตนารมณ์ผมไม่ทำให้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะล็อคเราอีกทั้ง ๆ ที่เราก็เสียเงิน แต่ก็โอเคไม่เป็นไร งั้นเราก็ให้รัฐโอนให้สหกรณ์ แต่ห้ามสหกรณ์โอนให้สมาชิก

เราอยู่มา 10 ปี แต่ ณ วันที่ผมรับโฉนด ผมบอกกับนายกอภิสิทธิ์ว่า อย่าปล่อยให้ชุมชนเราอยู่เดียวดายเหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่ารัญเอาโฉนดชุมชนมาทิ้งไว้ให้พวกเรา แล้วดูว่าพวกเราอยู่ได้หรือล่มสลาย อันนี้เป็นข้อกังวลที่ผมพูดกับนายกในเวลานั้น แต่แล้ว 15 ปีผ่านไป รัฐไม่เคยมาดูแลพวกเราแล้วยังเอาภาษีมาเล่นพวกเราอีก เรารักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้เพื่อโดนภาษี เท่านั้นยังไม่พอยังเอาโฉนดมาเล่นพวกเราอีก ถามว่ามันล่มสลายเพราะพวกเรา หรือว่าน้ำมือของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดูแลและรักษาเรา 

เวทีที่ทำหลายเวทีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะบอกว่าเอาความเจริญมาให้เรา แต่ในใจผมคิดว่าเอาความหายนะมาสู่ชุมชนสหกรณ์มากกว่า มันต้องรับฟังความคิดเห็น แต่เวทีแต่ละเวทีผมเช็คหมด ผมไปทุกเวทีที่อ้างมา ตามหลักแล้วผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เทศบาลต้องเข้าร่วม แต่อันนี้ไม่มีเลยในเวที และถามภาครัฐว่าทำไมภาครัฐถึงไม่ทำเวที เพราะว่าไม่มีรายชื่อที่รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน สุดท้ายภาครัฐไม่ทำ ผมจำเป็นที่จะต้องทำโดยใช้งบสหกรณ์ ทั้งที่จริง ๆ จะต้องเป็นเทศบาลทำ เพื่อรับฟังความคิดเห็นสู้กับรัฐ คำตอบที่ผมได้มาก็คือว่าคุณไปสู้กับรัฐคุณจะสู้ได้หรอ ผมเลยตอบไปว่าสู้ได้ไม่ได้ มันก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ถ้าคุณไม่ทำ ผมทำเอง 

วันที่เราจัดเวทีรับฟังก็มีข้อมูล 250 ครัวเรือนที่มาแสดงความคิดเห็น จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็แสดงความเห็นมา แล้วเราก็ทำรายงานการบันทึกส่ง จะได้หรือไม่ได้เรารักษาพื้นที่ของเรา ซึ่งเรื่องนี้มันจะโยงไปถึงเรื่องผังเมืองด้วย ผังเมืองที่ทำใหม่ให้พวกผมใช้ หรือให้เราใช้ร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน ทุกอย่างมันแลดูดีหมด แต่การปฏิบัติใช้มันเลือกใช้เฉพาะ รัฐควรจะอยู่ในผังเมืองร่วมกับเราหรือให้อยู่ในผังเมืองที่เขากำหนดให้เราอยู่ 

ผมเดือดร้อนครับ บ้านผมปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ โดนหมดเลย ลูกหลานไม่มีที่อยู่ ลึก ๆ ผมไม่อยากได้ถนนผมทำนา ทำการเกษตรอยู่ ซึ่งถ้าถนนมาลูกหลานผมก็จะไม่มีที่อยู่ อยากจะฝากให้ลองมาดูทางนี้เราลำบากกันเยอะ

ผมเป็นคนนครปฐมเหมือนกันแต่ว่าอยู่อำเภอเมืองใกล้ ๆ องค์พระปฐมเจดีย์ ผมอยากชวนคุย 2-3 ประเด็น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เรื่องถนนเราคงจะได้ข้อสรุป ส่วนใหญ่เวลาทางหลวงชนบท หรือกระทรวงคมนาคมอยากจะพัฒนา เขาจะบอกว่า ถนนเข้ามากับความเจริญ ซึ่งผมคิดว่าแนวคิดนี้ต้องถูกตั้งคำถามตั้งแต่แรกว่า ถนนอาจไม่เท่ากับความเจริญ ตอนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงแรมไมด้า เขาพูดว่ามีตัวอย่างหมู่บ้านที่ไปตัดถนนแล้วสามารถขนคนมาโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว นี่คือสะท้อนวิธีคิดของรัฐหรือคนจากส่วนกลางที่คิดว่า ถนนคือทุกอย่าง คือสวรรค์ คือความเจริญ แต่ไม่ได้พูดถึงวงเล็บอีก 5 วงเล็บ เรื่องการกระจายทรัพยากรทางสาธารณสุข คุณหมอ หรือโรงพยาบาลไม่ได้พูดถึงเลย ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับถนนที่ทำให้คนมาหาหมอทัน หรือมันอาจจะเกี่ยวแต่มันมีมิติอื่น ๆ อีกมากที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึง  

นอกจากนั้น ถ้าไปดูงานสำรวจในปัจจุบัน เขารื้อทางด่วนและถนนกันไปหลายประเทศแล้ว ที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เราจะพูดเวลาเราสร้างถนนมาจากกรุงเทพฯ แล้วบอกว่านครปฐมจะกลายเป็น พื้นที่หมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเราได้ยินคำนี้บ่อยมาก และเวลาสร้างถนนจะเลี่ยงหมู่บ้านจัดสรรเสมอ นั่นคือการให้ความสำคัญกับหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งหมู่บ้านจัดสรรในอเมริกา มีงานวิจัยหลายชิ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 บอกว่า การที่เอาคนที่ทำงานในเมืองออกมาอยู่ชนบท แล้วสร้างหมู่บ้านจัดสรร เงินมันไปอยู่แค่ 3 ที่ ก็คือบริษัทจำหน่ายรถยนต์ ปั๊มน้ำมัน แล้วก็ห้างขนาดใหญ่ เพราะคนจากเมืองออกจากบริษัทตัวเอง ขับรถมาแวะห้าง แวะปั๊มน้ำมันเติมน้ำมัน แล้วกลับบ้าน วนอยู่แค่นี้ไม่ได้กระจายเงินสู่คนที่อยู่ในพื้นที่เดิม และมันเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไปทั้งหมด 

ผมอยากจะชวนคิด ถ้าเราคิดว่าหมู่บ้านจัดสรรคือรูปแบบการอยู่อาศัยเดียว เรากำลังผิดทาง 100% เพราะหมู่บ้านจัดสรรมันถูกออกแบบมาให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ทุกคนจะคงจะจินตนาการออกว่า ถ้าอยู่กลางหมู่บ้านแล้วคุณเกิดอุบัติเหตุ หรือมีดบาดจะออกมาหน้าหมู่บ้าน คุณต้องมีรถส่วนตัวเท่านั้น มันกลายเป็นวิธีคิดเดียวในการอยู่อาศัยของเราได้ยังไง เมื่อเป็นวิธีคิดแบบนี้ ถนนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถนนเป็นตัวนำพาเราไปสู่หมู่บ้านจัดสรร ผมคิดว่าหมู่บ้านจัดสรรเป็นคนจากในเมือง ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่เลย และที่สำคัญก็คือเมื่อวิธีคิดการอยู่อาศัยมีแค่แบบเดียว มันสร้างผลประโยชน์และหายนะอีกหลายแบบ เวลาคนจะซื้อทำหมู่บ้านจัดสรรจากนายทุนใหญ่ก็จะมีนายหน้าที่ดินมากว้านซื้อที่จะหมู่บ้าน โดยบอกว่าราคาขึ้น และเขาก็ไปเอาค่าส่วนกลางอีกหลายเท่า สุดท้ายที่ก็จะหลุดลอยไปจากคนที่อยู่ในพื้นที่เดิม อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องคำถามว่า ถนนอาจจะไม่เท่ากับความเจริญซะแล้ว 

และประเด็นสุดท้ายสำคัญ เราต้องคืนอำนาจการกำหนดอนาคตของเราสู่ตัวเรา รัฐไม่สามารถใช้วิธีคิดการพัฒนาแบบเมื่อหลายสิบปีก่อนมาทำได้อีกแล้ว ที่บอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือการต้องคืนอำนาจ การจัดการชีวิตการออกแบบอนาคตของเราที่ตัวเรา โดยที่รัฐไม่ต้องทำตัวเป็นคนรู้ดี นั่นคือวิธีคิดที่ฟีดแล้วก็แช่แข็ง ถือว่าล้าหลังมาก ถ้าเราตั้งต้นตั้งแต่ 101 ถนนอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปมันมีการพัฒนาแบบที่หลายคนพูดก็คือ ราง เรือ

พันเทพ สดมาลัย ชาวบ้านคลองโยง กล่าวว่า ผมเป็นรุ่นที่ 3 ในสหกรณ์นี้ ถ้าถนนเส้นนี้มาครอบครัวผมทุกคนไม่มีที่อยู่ เพราะว่าถนนเส้นนี้ตัดเข้าเต็มบ้าน หน่วยงานทุกหน่วยงานเคยเข้าไปถามผมบ้างไหม ประชุม 16 เวที ผมไปเวทีสุดท้าย เขาไม่ได้เชิญ ผมไปเองด้วย แล้วอยู่ดี ๆ ถนนเข้ามาโดยที่ผมไม่รู้เลยว่ามันมายังไง มีใครเคยถามไหมว่า ถนน 4 เลน สร้างให้ใครวิ่งแทนที่จะทำถนนที่เรามีอยู่ให้คนที่สัญจรไปมาวิ่งดูชุมชนที่เรามีอยู่  เพื่อให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปดีกว่าไหม ถนนเส้นนี้ 4 เลน ถามว่าคุณจะเปิดร้านค้า ร้านหนึ่งความเร็ว 120 ใครจะจอด 

ทุกวันนี้เราได้ยินเสียงนก แต่อนาคตถนนเส้นนี้ เราอาจจะได้ยินเสียงไซเรนแทน อนาคตลูกหลานอาจจะถูกรถชน แล้วสร้างมาเพื่ออะไร ถามว่าช่วยรถติด ยิ่งสร้างก็ยิ่งติด เพราะโครงการนี้คุณสร้างเพื่อระบายคนในหมู่บ้าน แต่คุณสร้างในหมู่บ้านแล้วเข้าท้องไร่ท้องนา ผมอยู่นี่มาตั้งแต่เกิด เห็นวิถีชีวิตของคนที่นี่มา เมื่อก่อนเราไม่มีรถ เราใช้เรือ ไองบประมาณที่ว่าทำลายสวะ ถามว่าเมื่อก่อนที่ใช้เรือ เคยมีสวะไหม คลองเราโดดน้ำเล่นได้ทุกวัน แต่ทุกวันนี้ใครโดดได้บ้าง มีใครเคยดูบ้างไหม สะพานโรงเรียนนี้ผมเรียนมา สะพานทุกสะพานผมโดดน้ำเล่นหมด 

การมาโรงเรียนผมมาด้วยการเดิน และที่นี่น้ำท่วมทุกปี เมื่อปี 2554 ผมเสียบ้านหลังหนึ่งแล้วหน่วยงานรัฐไม่เคยเข้ามาดู ผมเก็บเงินเพื่อปลูกบ้านหลังใหม่ จะเกิดเหตุการณ์อีกแล้วโดยที่ครั้งนี้ผมจะเสียบ้านทั้งหลังกับ 6 คนที่ดูแลอยู่ ผมฝากฟังเสียงเล็ก ๆ ของผมด้วย เขาอาจจะไม่เห็นก็ได้ เพราะคำว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมคิดว่าคงไม่ได้ทิ้งข้างหลัง แต่เป็นการทิ้งอยู่ข้างทางแล้วไม่เหลียวแล พวกผมอาจจะเป็นขยะ

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ผมพึ่งมาจากเมืองศรีวิไลแถวบางนา ฝนตก รถติด น้ำท่วม ไฟฟ้าดับ 3 ชั่วโมง อันนี้เป็นเมืองศิวิไลที่เราวาดฝันไว้ แต่ผมมาเจอเมืองสวรรค์อยู่ตรงนี้ คือ คลองโยง ได้มาสูดอากาศ มาเห็นภาพบรรยากาศทุ่งนา ทุ่งรวงทองที่เราใฝ่ฝัน 

ผมเห็นว่าโครงการของโครงโยงคือโครงการแรก ซึ่งเราต้องปกป้องช่วยกัน ผมคิดว่าพี่น้อง คลองโยงส่วนใหญ่ และผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนพี่น้อง แต่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยความเป็นข้าราชการ และมองว่าถ้าครองโยงโฉนดชุมชนแห่งแรกของชุมชนถูกทำลาย ถามว่าอีก 500 โครงการที่ผมทำอยู่ จะอยู่อย่างไร อันนี้คือความเสียหายเพราะว่าโฉนดชุมชนไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง เป็นนโยบายของภาคประชาชนที่คิดการอยู่อาศัยแบบแปลงรวม อันนี้คือสุดยอดของความคิดและถูกอนุมัติ ถูกดูแลมาแบบนี้ 

ส่วนเรื่องภาษีที่คลองโยงโดน ไม่สมควรด้วยซ้ำ อีกทั้งยังตามด้วยโครงการถนน เป็นไปได้ยังไงที่จะมาลงที่คลองโยงพร้อม ๆ กัน และรัฐก็รับปากว่าจะแก้ปัญหา แต่ปล่อยทิ้งมาถึงขนาดนี้ ผมเชื่อว่าพี่น้องของโยงคิดว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นเมืองสวรรค์ เราต้องปิดประตูนรกให้ได้ ด้วยการช่วยกันและลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ตรงนี้ ผมเชื่อว่าทุกหน่วยงานทุกภาคประชาชนกำลังช่วยพี่น้อง แต่พี่น้องต้องช่วยตัวเองให้เต็มที่ก่อน ไม่มีใครนิ่งดูดายกับพี่น้องคลองโยงทั้งนั้น ความหวังของพี่น้องอย่าคิดว่าทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อลูกหลานในอนาคต เราทำให้เมืองนี้เป็นสวรรค์ให้ได้ และสืบทอดให้กับลูกหลานต่อไป

สมภพ พร้อมพอชื่นบุญ ที่ปรึกษารองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ผมลงที่นี่มาตอนปี 2547 ตอนนั้นเป็นอาจารย์พาเด็ก ๆ มาจับ GPS ณ วันที่สหกรณ์มอบที่ดินให้กับธนารักษ์ และเขามาเรียกเก็บค่าเช่าเราแบบแพงมหาโหด อาจารย์เขาชวนมาตอนนั้นผมทำเรื่องโปรแกรม JAS เลยพาเด็กมาจับพิกัด GPS และทำการสำรวจ ผมจำภาพของการมาประชุมที่บ้านคุณลุงสักคน เราไปค้นกำปั่นตู้เหล็กที่เก็บเอกสาร เราไปค้นเอกสารเช่าซื้อในสมัยก่อนกัน แล้วก็ใบเสร็จต่าง ๆ มาช่วยกำจัด แล้วก็ดีใจว่าสุดท้ายตอนปี 2553 เราได้โฉนดชุมชนมา ซึ่งเป็นความหวังของคนคลองโยงที่จะอยู่และวางแผน 

แต่พอมาถึงวันนี้ ผมนั่งฟังแล้วผมรู้สึกวตั้งคำถามว่า ถนนเส้นนี้มันจำเป็นจริง ๆ หรอ แล้วถ้าคนที่บอกว่าจำเป็น มันจำเป็นสำหรับใคร ในฐานะคนนอกให้มานั่งฟังผมรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ แล้วถ้ารถติดที่กรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ควรต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนปัญหากลับมาให้คนที่เขาอยู่ดีของเขาแล้วมาสร้างปัญหาให้เขาอีก 

แต่ก็ต้องเรียนตามตรงว่า ท่านผู้ว่าชัชชาติ ก็มีแนวนโยบายให้การจราจรกรุงเทพฯ ติดน้อยลง โดยใช้เส้นเลือดฝอยให้เกิดการเดินทางในระบบสาธารณะ ถ้าเมื่อไหร่เราสร้างระบบ การขนส่งโดยสาธารณะมากเท่าไหร่ ปริมาณรถจะใช้น้อยลงเท่านั้น ถ้าลดน้อยลงเท่าไหร่ก็จะทำให้การจราจรติดขัดน้อยลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นนโยบายของท่านผู้ว่าชัชชาติเขาจะทำเส้นเลือดฝอยให้ดี เพื่อลดพื้นที่การใช้

ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น หรือว่าประเทศอื่น ๆ เขาเจอปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน ก็คือการสร้างพื้นที่ถนนไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการจราจร ถ้าเอารถที่มีอยู่ทั้งหมดไปวิ่งอยู่บนถนนกรุงเทพมหานครไม่พอหรอก ต่อให้สร้างอีก 1 เท่า ก็ไม่พอ ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาการจราจรได้สิ่งสำคัญก็คือ การสร้างขนส่งสาธารณะ ท่านผู้ว่าชัชชาติมีแนวนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน โดยเฉพาะเส้นเลือดฝอยที่จะทำให้การขนส่งโดยระบบสาธารณะเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ที่นี่คือสวรรค์ ผมมาเมื่อตอนปี 2547 ดอกบัวเต็มทุ่ง อาหารปลอดสารเต็มข้างทาง มาถึงอาจารย์อบปลามาให้กิน บางทีผมคิดว่าเรื่องการทำผลกระทบอะไรทั้งหลาย ปัญหาอยู่ที่ว่าคน 77% ที่บอกว่าเห็นด้วย ผมตั้งคำถามว่ามันมาจากไหน เฉพาะคนครองโยง ถ้ารวมกันจริง ๆ ก็คือ 50% ของโครงการ พี่ไก่ข้าง ๆ ผมบอกว่ามีที่ดินอยู่ 7 ไร่ ถนนมาก็จะเหลืออยู่สามเหลี่ยมนิดนึง อันนี้คือผลกระทบ 100% ของพี่ไก่ จะบอกว่าให้พี่ไก่เสียสละให้กับคนกรุงเทพฯ รวมทั้งคนนครปฐมที่จะใช้ถนนเส้นนี้ ถ้าเกิดขึ้นต้องให้พี่ไก่เสียสละชีวิต 100% หรือต้องให้พี่โก๋ที่มีครอบครัวอยู่ 6 คนเสียสละ เพื่อให้ถนนเส้นนี้กับใครก็ไม่รู้ที่จะวิ่งผ่านหน้าบ้านเขาจริง ๆ หรอ ผมตั้งคำถามว่าถนนเส้นนี้จำเป็นจริงหรอ 

อีกเรื่องที่ผมอยากเสนอก็คือ ไม่มีทางที่บริษัทที่ทำการศึกษาจะบอกว่าไม่เห็นด้วย เมื่อไหร่ที่ระบบการเงิน รับเงินการศึกษามาจากเจ้าของที่จะสร้าง เคยมีที่ไหนที่รับเงินมาแล้วบอกว่า ที่นี่ไม่เหมาะสม ดังนั้นผมเสนอว่ารัฐบาลต้องตั้งกองทุนที่เป็นกลางมีหลายฝ่าย ถ้าใครจะทำผลกระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่าไปเอาเงินกับคนที่คิดโครงการ ต้องมาเอากับรัฐบาลกลางที่มีกองทุนการศึกษาและศึกษาด้วยความเป็นกลางจริง ๆ 

เพราะก่อนหน้านี้มีบริษัทในประเทศไทยไปทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือน้ำลึก ที่ทวาย ประเทศพม่า น่าเศร้ามากตอนไปทำการศึกษาที่นั่น พอดีเขาให้ผมไปช่วยสังเกตการณ์ ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญา เขามีเทียนไข 1 เล่ม สบู่ 2 ก้อน ยาสระผมหนึ่งกล่อง และไปนั่งทำการศึกษาผลกระทบลุ่มน้ำ พูดอธิบายเสร็จ พูดเป็นภาษาไทยด้วยในประเทศพม่า แล้วไม่มีใครพูดโต้ตอบอะไรเลย ผลสรุปออกมาเป็นสมควรสร้าง 

สุดท้ายผมเป็นกำลังใจให้ ผมอยากเห็นประชาชนมีสิทธิที่จะเลือก มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจที่จะดำรงชีวิตของตัวเองเหมือนกับคนคลองโยง ผมอยากเห็นพี่โก๋ พี่ไก่ มีบ้านที่อบอุ่น มีอาชีพที่เหมาะสมกับการเลือกตัดสินใจตัวของตัวเอง

000 4 มุมมอง อนาคตโฉนดชุมชนคลองโยงกับโครงการพัฒนา 000

เริ่มต้นกันที่ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิจัยพันธมิตร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาที่ไปของโฉนดชุมชนคลองโยงกับโครงการถนนตัดใหม่ที่กำลังทำการศึกษาว่า ปกติเวทีของบริษัทที่ศึกษาจัด เราได้พูดน้อยมาก 77% ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องไปสำรวจ สำรวจ คนแบบบ้านเราพวกเรายกมือกัน 100% ว่าไม่เอาถนน เหมือนเวลาสร้างเขื่อนปากมูล แล้วไปถามคนในจังหวัดอุบลราชธานี หรือจังหวัดศรีสะเกษ ทุกคนยกมือเห็นด้วยหมด เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าเสียงส่วนใหญ่นับแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ได้มีหลักการพื้นฐานอะไร โดยเฉพาะประเด็นที่เราคุยกันแบบนี้ 

อยากจะให้เข้าใจ พื้นที่นี้บุกเบิกมาหลังสัญญาเบาว์ริง ปี 2398  เราจะรู้จักคลองรังสิต ว่าปลูกข้าวเพื่อการส่งออก แต่ปี 2400 ขุดคลองมหาสวัสดิ์ และพัฒนาทุ่งย่านนี้ เป็นทุ่งปลูกข้าว อย่างพี่น้องบอกว่าดินดี น้ำชุ่ม ซึ่งคนจะไม่รู้จักคลองโยงมากนัก แต่ถ้าคนกินต้นยำแล้ว เจอผักชี แสดงว่ามาจากที่นี่ คนไหว้พระก็จะรู้ว่าดอกบัวมาจากที่นี่ ขับรถมาก็จะเห็น มันคือพื้นที่เกษตรกรรมบุกเบิกตั้งแต่แรก และพัฒนาต่อเนื่องมา มีระบบคูคลองที่สมบูรณ์ที่สุด และสามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งสำหรับผลิตอาหารของคนเมือง และเป็นฐานดำรงชีพของพี่น้องที่นี้ เฉพาะโฉนดชุมขน 1800 ไร่ ตอนแรกมีประมาณ 83 ครัวเรือน ตอนนี้ผ่านมา 3 รุ่นคน  ปัจจุบันมีประมาณ 250 ครัวเรือน พื้นที่เล็กลง แต่ฐานเกษตรยังเป็นฐานเดิม เพราะพื้นที่นี้จัดตั้งมาเป็นนิคมสหกรณ์ เราใช้ พรบ.จัดรูปที่ดินปี 2512 โดยยืมเงินกองทุนมาใช้ จนสืบทอดมาเป็นลักษณะโฉนดชุมชนแบบที่เห็นในปัจจุบัน       

โดยภาพรวมทุ่งนี้ยังไม่หายนะเหมือนทุ่งรังสิต ซึ่งมีโครงการพัฒนาเมือง ทุ่งบางปะกง บางน้ำเปรี้ยวหายนะไปแล้ว แต่่ทุ่งนี้ยังอุดมสมบูรณ์ แต่ก็เริ่มมีแล้ว เลยตรงนี้ไปมีทางด่วนบางใหญ่ อาจจะเป็นคำถามด้วยว่าจะสร้างขึ้นมาทำอะไร ผมอยากชี้ให้เห็นว่า พื้นที่นี้ยังเป็นความมั่นคงทางอาหารให้คนเมืองและชุมชน ซึ่งดำรงชีพมาชั่วอายุคน พึ่งพิงเกษตร เราพยายามคุยกับบริษัทที่มาทำการศึกษาว่า พวกคุณไม่เคยเห็นหัวพวกเราเลยนะ เขาบอกว่ามาตรงนี้เวนคืนง่าย ที่นาราคาถูก เคยเห็นหัวพวกเราบ้างไหม คนที่อยู่มากว่าร้อยปี มีความสัมพันธ์กับชุมชน สร้างถนน 4 เลน มีแบริเออร์โพล่ขึ้นมาตรงกลาง ผมยังไม่รู้ว่าการทำมาหากินระบบคูคลองจะพินาศไปถึงไหน การศึกษาผลกระทบ หรือ EIA ก็ไม่มี ผมคิดว่าการทำมาหากินของเกษตรไม่ถูกนับเป็นต้นทุนของการคำนวณของบริษัทที่ปรึกษา นี่ยังไม่นับถึงต้นทุน ผลกระทบที่ตามมาจากบ้านจัดสรร เราจะทำมาหากินอย่างไร แค่ตอนนี้เราก็ทำมาหากินลำบากมากขึ้นแล้ว        

การพัฒนาควรจะให้คนในพื้นที่สร้างแผนของจังหวัดเรา ซึ่งแผนของจังหวัดก็มีที่พูดถึง ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อัจฉริยะ ผมก็ไม่่รู้ว่าทำไมช่างขัดแย้งกันซะเหลือเกิน เราไม่ได้เรียกร้องว่าจะไม่เอาถนน แต่ผมคิดว่ามันมีทางเลือกการพัฒนาหลายรูปแบบด้วยกัน ถนน รถยนต์ การขนส่งคมนาคม หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว หรือพูดง่าย ๆ ว่า พลังงานฟอสซิลของยกเลิกไปหมดแล้ว ที่จริงเราพูดถึงการพัฒนาระบบราง พัฒนาคูคลองมหาสวัสดิ์ คลองโยง ให้กลายเป็นขนส่ง ซึ่งเราสามารถทำให้เมืองไม่มารุกรานพื้นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำกินของผู้คน        

ด้าน ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษาคณะกรรมการผังเมืองรวม จ.นครปฐม กล่าวถึงพื้นที่คลองโยงในอดีตว่า ถ้าเราย้อนไปในอดีตปี 2547 ชมรมเรารักษ์แม่น้ำท่าจีนเราทำวิจัยโดยได้ทุนกับ สวรส. เรื่องของแม่น้ำท่าจีนกับคนที่ต้องการจัดการน้ำเอง เราพบว่าพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ตรงนี้ ก่อนที่จะมาเป็นตัวเอกสารผังเมือง มีความลุ่มรวยของตัวมันเอง เรียกว่าเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของคนกรุงเทพฯ เพราะช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านเปิดการค้าข้าว ค่าน้ำตาลของโลก แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่นี่ทำให้ข้าวดีดราคา จากบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเอกสารขอมหิดลพบว่าชาวกรุงเทพฯมีความหวั่นไหวว่าข้าวราคากระโดดอย่างแรงมาก ดังนั้นเพื่อความมั่นคงของคนกรุงเทพฯพื้นที่พุทธมณฑลเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุด และมีความสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากเป็นแนวระนาบ 

ถ้ามองย้อนกลับไปราวพันกว่าปียุคทวารวดี พื้นที่ตรงนี้เป็นทะเลมาก่อน ถ้ามองจาก จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท จ.แพร่ และ ข.ศรีราชา น้ำมันหลากลงมาความอุดมสมบูรณ์ของบางเลน และพุทธมณฑลตอนต้นเป็นตะกอนน้ำจืด แล้วช่วงคลองโยงลงไปข้างล่างจนถึงสมุทรสาคร เป็นตะกอนน้ำจืดและน้ำเค็ม ดังนั้นจะหาแผ่นดินไทยที่ไหนที่ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ โดยที่ไม่ต้องย้ายไปไหน 

ดังนั้นจากการที่สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้มาตรวจราชการจนถึงสุพรรณบุรี และได้ค้นพบว่าโรงสีข้าวอุดมสมบูรณ์มาก  เคี้ยวน้ำตาลก็สมบูรณ์มาก เพราะเราค้าข้าว ค้าน้ำตาล ดังนั้นเมื่อมาเชื่อมโยงถึงแผนผังเล่มนี้ อันนี้จะระบุชัดว่าผืนดินอันสมบูรณ์อยู่ที่ตรงนี้ดังนั้นกระบวนการของการค้าข้าวพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ของความมั่นคงของข้าวและน้ำตาล แต่ความมั่นคงของข้าวและน้ำตาลนั้นเป็นแค่ตัวหลัก ตัวรองลงมาคือปลาจากปากน้ำโพ ปลาจากแม่กลอง ชีวิตของพวกเราหากินกับปลา ที่นี่เป็นความมั่นคงทางอาหาร จะหาแผ่นดินที่ไหนในโลกมีแม่น้ำ 5 สายไหลลงทะเลและมีกุ้งก้ามกรามที่งมได้จากข้างทาง แต่พอยุคที่ญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงของโอซาก้า อิไตอิไตบุกเข้ามา แคดเมียม ตะกั่วเข้ามา เจอความกดดันย้ายฐานมาอยู่ท่าจีน ตั้งแต่นครชัยศรีตียาวไปสมุทรสาครพื้นที่ตรงนั้นคือโอซาก้า พื้นที่ตรงนี้น่าจะเป็นพื้นที่มรดกโลกที่เป็นวิถีไลฟ์สไตล์ที่มีสตอรี่ยาวนาน ซึ่งไม่ใช่แค่รัชกาลที่ 4 แต่เชื่อมโยงไปถึงยุคทวารวดี 

ย่านนครชัยศรี ถ้าทางรถไฟไม่เอาหมุดหมอน หรืออิฐของเราไปทำสะพานปลากรุงเทพฯ กับทางรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 เราจะมีแหล่งโบราณสถาน นี่คือการบันทึกจากเอกสารที่เราเก็บเอาไว้ ถ้าพูดถึงเรื่องของคลองโยงในฐานะที่ตัวเองศึกษาแล้วก็คลุกคลีอยู่ที่นี่ ปี 2553 ผมทำโครงการกับอาจารย์ประภาส เรื่อง คลองโยงความเข้มแข็งของชุมชนคนคลองข้าว แล้วเรากล้าพูดว่าเราเป็นคนที่ไปพลิกเรื่องเกษตรอินทรีย์ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด เน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์ บ้านเราพูดเรื่องนี้ 

ผมอยู่ที่นครปฐมมาตั้งแต่ปี 2517 เราพบว่านครปฐมโชคดีที่มีที่ว่างมหาศาล แต่ก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะว่าใครเห็นก็น้ำลายหกแ อย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้ความน้ำลายหกเริ่มไหลเข้ามาความมั่นคงของคนนครปฐม ผมมีโอกาสได้ร่วมงานวิจัยโครงการท่าจีน แม่กลอง กับมหิดล ถ้าไปอ่านตรงนั้นจะพบจิตวิญญาณของคนที่อยู่ที่นี่ รักสงบ และอยากจะอยู่เมืองสวรรค์ มองเห็นที่นี่แล้วใครจะโชคดีเท่าฉัน อากาศก็ดี น้ำก็ดี ทุกอย่างดีหมด แต่เมื่อเมืองกำลังลุกเข้ามาตามถนน ถ้าเปิดเพจหรือว่าYouTube ดู จะเห็นว่าเขาพูดว่าถนนไปทางไหนที่ดินก็จะแพง บอกว่านครปฐมถ้าไปอย่างนี้ก็จะบูมแบบนี้ ไม่เคยมีใครบอกว่านครปฐมเป็นเมืองอาหารที่ทำอาหารเลี้ยงคนกรุงเทพฯเลย

ช่วงโควิดนครปฐมเรามีความมั่นคงทางอาหารไม่ได้หวั่นไหวแต่ทั่วโลกหวั่นไหวเพราะเขาไม่มีอาหารเงินทองเป็นของมายาแต่ข้าวปลาอยู่ที่นครปฐมทำไมเราถึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำผังเมืองรวม อุทิศตนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการทุกขั้นตอน ผมถามที่ปรึกษาว่าคุณใช้ข้อมูลจากผังไหน บอกว่าใช้ผังเมืองรวมปี 2558 แต่ผังเมืองรวมปี 2558 มีช่องว่าง เขาไม่ผิดนะ เพราะว่าเขาไม่รู้ 

และพื้นที่ของโฉนดชุมชนขาวทะแยงเขียว แต่เดิมไม่มี เป็นพื้นที่ อก. ผังเมืองตัวนี้ออกมาว่า ถ้าเป็นฝั่งตะวันออกของคลองโยงติดบางกรวย ตรงนั้นให้เป็นเมืองการค้า หรือเมืองพาณิชย์ แต่ทางฝั่งนี้ให้เป็นเมืองของความมั่นคงทางอาหาร และบริเวณหน้ามหาลัยมหิดลให้เป็นเมือง Smart City และระบบรางไม่มีถนนเส้นนี้อยู่ เป็นเส้นอุบัติที่เกิดขึ้นมาโดยยุทธศาสตร์งูเหลือมกินลูกควายแต่กินหางก่อนกินนครอินทร์ศาลายาโดยอ้างว่าจะช่วยระบายรถ ตอนนั้นผมอยู่ในเวทีผมก็ว่าดีแต่พอหลายปีต่อมา เริ่มกินกลางตัว ผ่ามาโฉนดชุมชนเลยและกำลังจะกินหัวที่นครชัยศรี  ทางหลวงเอาไปทางโน้นทางหลวงชนบทเอามาทางนี้ทางด่วนเอาไปทางโน้นแบ่งกันเป็นท่อนแล้วก็อ้างไปเรื่อยถ้าคุณแฟร์โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกนี่คือผังเมืองของพวกเราเรากำลังจะป้องกันไม่ให้คนกรุงเทพฯยามภัยพิบัติแล้วอาหารที่นี่ก็ยังพอเลี้ยงคุณคุณไม่ต้องไปที่ไหนไกลอยากได้ข้าวอยากได้บัวอยากได้ผักหรือปลาที่นี่มีให้หมด เพราะเป็นระบบเครือข่ายร่วมกัน มันมีอะไรหลายอย่างที่ที่ปรึกษาไม่กล้าบอกเราถ้าบอก ความจริงก็คือจบ 

ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือคัดค้าน ผมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมผมทำงานเหนือความขัดแย้ง ทำงานอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงซึ่งมันมีอยู่ในนี้ว่าข้อเท็จจริงมันคืออะไร เพราะฉะนั้นความใจกว้างหรือความมั่นคงที่ปรึกษาจะต้องไม่สอดไส้หรือปรุงอาหารแบบที่ข้างนอกสวยข้างในไม่ได้ประโยชน์ ตรงนี้ไม่ได้ว่า แต่ต้องแฟร์กับพื้นที่โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ประกาศว่าการจัดการทรัพยากรกับการพัฒนาการจัดการทรัพยากรประชาชนต้องมีส่วนร่วมการมีส่วนร่วมต้องร่วมแบบนี้ฟังแบบหัวใจไม่ใช่ว่าเราให้ความคิดเห็นแต่พอไปอ่านในรายงานไม่มีความคิดเห็นของเราเพียงแค่เราไม่ได้ตอบแบบสอบถาม แต่เราพูดแล้วคมกว่า่แบบสอบถาม 

เราชื่นชมว่าท่านประกาศมาและเราเชื่อมั่นว่าท่านจะทำตามนั้นเพราะการมีส่วนร่วมต่อไปนี้ต้องสำคัญหากไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สมัยนี้อะไรก็ถูกล่วงลับได้หมด ผีเสื้อขยับปีกกลายเป็นพายุหมุนได้ 

000 การพัฒนาที่เข้ามา ทำลายสิทธิชุมชนให้หายไป 000

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วทุกโครงการร่วมทั้งถนน เป็นแค่ปรากฏการณ์เชิงรูปธรรม แต่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะนครปฐมมีแผนการพัฒนาของจังหวัด กศ.ม.เลยมีการผลักดันให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า SEA เป็นแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ 

ตอนนี้การทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์เป็นความสมัครใจ เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่สภาพัฒน์ดูแล ไม่ได้เป็นเงื่อนไขบังคับในพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พี่น้องประชาชนเห็นภาพ เพราะถ้าเป็นเงื่อนไขบังคับสิ่งแวดล้อมจำเป็นจะต้องดูแผนพัฒนาพื้นที่ พอไม่เป็นเงื่อนไขของกฎหมายเจ้าของโครงการ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนก็จะเสนอเป็นลักษณะวัตถุประสงค์ ว่าถ้าสร้างถนนจะสร้างถนนให้ได้อย่างไร ถ้าจะประเมินผลกระทบก็ถนนมีผลกระทบอย่างไร ถ้าจะแก้ไขปัญหาการเวนคืนที่ดิน การชดเชยความสมัครใจ ก็จะมองแต่เรื่องของถนนไม่ได้มองบริบทของการพัฒนาพื้นที่ อันนี้เป็นโครงสร้างเพราะว่า เราไม่มีกฎหมายหรือนโยบายที่ออกแบบให้เจ้าของโครงการมองอิงกับแผนพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้คนไทยเวลากำหนดอนาคตตัวเองตามสิทธิเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม หรือรัฐธรรมนูญสิทธิชุมชน 

เราจะต้องรู้ว่าบ้านเราในอนาคต 10 – 20 ปีข้างหน้า เราจะพัฒนาอะไร ซึ่งสภาพัฒน์พยายามทำมาตลอด โดยให้มีแผนพัฒนาจังหวัดอย่างในคลิปวีดีโอ แต่ส่วนใหญ่คนไทยไม่ค่อยสนใจในช่วงที่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจเราจำเป็นต้องสนใจเรื่องนี้ เราไม่สามารถสนใจแค่บ้านของตัวเองได้แล้วถ้าเราทำการเกษตรเราต้องรู้ว่าเราจะส่งออกข้าวอย่างไร ตลาดต่างประเทศมีข้อจำกัดในการส่งออกอย่างไร อันนี้เราต้องมีบทบาทในการมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่เขาต้องปรับตัวกับระบบการพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อรัฐบาลบอกว่าไปคุยในเวทีสหประชาชาติต้องทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอันนี้เป็นหลักที่กสม. จะตรวจสอบ แล้วเราจะดูแผนพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดนครปฐม ถ้าคุณต้องการให้เป็นพื้นที่สีเขียวอัจฉริยะคุณก็ต้องดูว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของคุณพัฒนาเป็นสีเขียวอย่างไร  อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ 

ที่สำคัญหลักสิทธิชุมชน หรือสิทธิการมีส่วนร่วม ต้องถามคนที่ได้รับผลกระทบเป็นด่านแรก คนที่ได้ประโยชน์เป็นด่านท้าย ๆ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบ หมายความว่า รัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายดูแลเขา กสม.ตรวจสอบเรื่องโครงการถนนหลายโครงการในลักษณะที่เป็นถนน 4 เลน ชาวบ้านจะเจอปัญหา คนที่ติดถนนอาจจะได้ราคาดี แต่ถ้าเป็นที่ดินของรัฐราคาจะตก เพราะเขาไม่ได้จ่ายตามราคาซื้อขายของตลาดที่ดิน และบางทีสร้างสะพานลอย พอสร้างแล้วมันตัดขาดความสัมพันธ์ของชุมชนทันที 

สำหรับที่ดินคลองโยง ตามกฎหมายเวนคืนของอสังหาริมทรัพย์หรือรัฐธรรมนูญเวนคืนได้ ถ้าเป็นเพื่อสาธารณะประโยชน์   แต่ที่สำคัญ โครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ยังไปไม่ถึงขั้นของการเวนคืน  จริง ๆ มีหลายโครงการที่ กสม.ตรวจสอบ ที่ประกาศเวนคืนแล้วก็สามารถหยุดได้ อย่างเช่น สะพานเกียกกาย ที่ข้ามจากรัฐสภามา ด้วยข้อมูลที่สำคัญคือ ไม่มีความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการจราจร   ถ้าโจทย์ตั้งว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจร เขาต้องมีข้อมูลของรถที่วิ่งตลอดสาย ไม่ใช่มีแค่ของรถที่วิ่งจากนครอินทร์-ศาลายา และไปนครชัยศรี แต่ต้องดูภาพรวมทั้งกรุงเทพมหานครและในนครปฐมมีเส้นทางการเดินรถแบบไหนอย่างไร ต้องดูองค์รวมทั้งหมด ดูว่าจำเป็นไหม ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาต้องตอบเราให้ได้ทั้งหมด  และก่อนจะไปถึงถนนต้องดูว่าผังเมืองสีอะไร เพราะทุกโครงการต้องดูที่ผังเมืองก่อน ผังเมืองนี้เป็นขาวทะแยงเขียว เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม 

จังหวัดนครปฐมเป็นเมืองที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนยุคอู่ทอง เพราะติดแม่น้ำ และติดกับทะเล ซึ่งกรุงเทพมหานคร ตอนแรกตั้งเป็นเมืองที่เหมาะกับการทำการเกษตร ประเทศไทยเราจะย้ายเมืองหลวงอยู่แล้ว แต่ย้ายไม่ได้ เพราะมันไม่เหมาะสม มันเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อเมืองอยุธยา รอบ ๆ รังสิตถูกทำลายหมดแล้ว คิดว่าถ้าเรายังมีพื้นที่แหล่งอาหารเหลืออยู่ และคนนครปฐมเลือกแล้วว่าจะพัฒนาเมืองเป็นสีเขียวอัจฉริยะเราควรจะเคารพการตัดสินใจของเขาให้พัฒนาแบบนั้น ถ้าเราจำเป็นต้องสร้างถนนเราต้องดูความจำเป็นของโครงข่ายถนน มันมีทางเลือกหลายทาง 

แต่เนื่องจากรายงานความเหมาะสมเขายังไม่เสร็จ ซึ่งเขาจะต้องเสนอทางเลือกหลาย ๆ ทาง ซึ่งเขามี 3 ทางเลือก แล้วทางเลือกนั้นจำเป็นไหม ถ้าไม่แก้ปัญหาจราจรก็ไม่ควรจะสร้างตั้งแต่เริ่มแรก ถ้าจำเป็นจราจรติดขัดมาก มี 3 เส้นทาง เส้นทางไหนก็ต้องเลือกเส้นทางที่ประหยัดที่สุด ไม่ใช่อ้อมไปอ้อมมา ไม่คุ้มทุน และไม่ใช่เลือกเพราะเกษตรกรเป็นต้นทุนต่ำ รัฐต้องดูงบประมาณแผ่นดิน เพราะเป็นภาษีประชาชน  เราต้องดูงบประมาณประกอบว่าคุณใช้งบประมาณอย่างไรและที่สำคัญคุณมีมาตรการป้องกันผลกระทบอย่างไรโดยส่วนใหญ่เจ้าของโครงการจะไม่เอาต้นทุน ที่จ่ายผลกระทบไปให้เจ้าของโครงการรับผิดชอบรัฐบาลไทยก็แก้ปัญหาด้วยการเอาภาษีประชาชนไปแก้ทีละนิดทีละหน่อยจริงๆไม่คุ้มทุนต้องมองภาพใหญ่ตั้งแต่การป้องกันผลกระทบ 

โดยส่วนใหญ่เจ้าของโครงการไม่ค่อยประเมินผลกระทบทางสังคม ถ้าสุขภาพมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นรัฐต้องจ่ายอย่างไร ซึ่งจริง ๆ ถ้าอุตสาหกรรมเกิดเราต้องดูแลคนที่เป็นมะเร็งใน 30-50 ปีข้างหน้าด้วย  ส่วนใหญ่ไม่ค่อยศึกษาเรื่องนี้ ถ้าเป็นพื้นที่ที่เป็นวัฒนธรรมเขาจะไปประเมินผลกระทบทางสังคม แต่เราไม่มีเครื่องมือทางวัฒนธรรม กลุ่มของผู้ที่ศึกษาเรื่องโบราณคดีพยายามต่อสู้เรื่องนี้อยู่ และ กสม. มีแผนที่จะผลักดันสิทธิในสิ่งแวดล้อมเข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะในต่างประเทศเขาทำอยู่แล้ว เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องมองเรื่องนี้ด้วยซึ่งจริง ๆ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและแหล่งอาหาร สิ่งนี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน แต่เรายังไม่ค่อยใส่ใจกับการศึกษาในส่วนนี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นหน้าที่ของรัฐเวลาดูรายงานการศึกษาความเหมาะสมจะต้องดูให้รอบด้านตรงนี้ กสม. กำลังตรวจสอบเรื่องนี้

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เสริมต่อประเด็นเรื่องการคำนวณต้นทุน ตอนนี้เป็นที่ชัดเจน เขาคำนวณจากค่าเวนคืนกับผลประโยชน์ที่ตอบแทน เขาคิดว่ารถวิ่งได้เร็ว น้ำมันได้คันละกี่บาทต่อวัน 10 ปีได้กี่ล้านคัน คุ้มทุนอย่างไร เขาไม่เคยเห็นหัวพวกเรา ไม่เคยเห็นชุมชน ไม่คิดเรื่องพวกนี้เป็นต้นทุน ผมพยายามเรียกร้องเขาไม่ยอมฟัง และเรื่องนี้ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในรายงานการศึกษาที่ส่งมา

ด้านปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองเรื่องของสิทธิชุมชนในประเด็นนี้ว่า สิทธิมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญเราควรจะให้น้ำหนักเป็นอย่างยิ่ง มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่ามนุษย์มีหัวใจและความรู้สึก เราจะเห็นว่ามันสวนทางกับโครงการพัฒนาที่สั่งตรงมาจากส่วนกลางที่ Top Down ลงมาแต่เรื่องนี้กรรมการสิทธิ์ให้ความสำคัญเอาถึงมาฟังแล้วก็ลงพื้นที่กับชาวบ้านถ้าเราจะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมเราต้องใส่ใจเรื่องนี้ กรรมการสิทธิ์ลงพื้นที่เกือบทุกพื้นที่เจอโครงการที่พูดถึงการมีส่วนร่วม และเรามักจะได้รับรายงานเรื่องของการมีส่วนร่วมในรายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง เหมือนที่คุณศยามลบอก เราพยายามเสนอแนะ เพื่อที่จะแก้ไขเรื่อง EIA เรื่องการมีส่วนร่วมเป็นภาระหนักของกรรมการเกษตรเป็น 10 ฉบับที่กรรมการสิทธิจะต้องดูเรื่องรายละเอียดบางทีเราก็เห็นว่ามีจุดอ่อนอยู่อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องขอบคุณรายการนี้ที่ทำให้เราได้ข้อมูลอย่างรอบด้านมากขึ้น 

ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่ร้องเรียนกับกรรมการสิทธิแล้ว เรากำลังรวบรวมข้อมูลตรวจสอบ เพราะเรื่องสิทธิชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสิทธิชุมชนดั้งเดิม เราเริ่มได้ข้อมูลแล้วว่าที่นี่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะทรัพยากรที่ชาวบ้านต้องพึ่งพิง ซึ่งไม่ใช่แค่ที่นี่สิทธิชุมชนที่อยู่กับผืนป่าและสิทธิอื่น ๆ อีกมากมายที่ร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมามี 400-500 โครงการเลยที่ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิชุมชน ดิฉันคิดว่าเรื่องสิทธิชุมชนไม่ควรที่จะมีใครมาพรากไปจากประชาชนได้ 

เรารู้ว่าที่นี่อยู่มาถึง 3 รุ่น แล้วพยายามจะรักษาที่ดินเอาไว้ และที่สำคัญก็คือที่นี่เป็นโฉนดชุมชนนำร่อง รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญ เพราะว่าที่นี่เป็นพื้นที่นำร่องที่ชาวบ้านพยายามจะสร้างโมเดล สร้างพื้นที่ที่จะทำให้เกษตรกรและชาวบ้านสามารถถือครองที่ดินไว้ได้ และสร้างความมั่นคงเป็นหลังพิงของชาวบ้าน อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะถูกลบเลือน เพราะว่าเป็นนโยบายที่ชัดเจน คณะกรรมการประสานงานให้เกิดโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรีตอนนี้ก็ยังมีอยู่ แล้วยังมีชาวบ้านรออยู่อีกกว่า 400-500 ชุมชน 

ดิฉันคิดว่ารัฐบาลนี้ควรจะให้ความสนใจ และเดินหน้าต่อ เรื่องนี้กรรมการสิทธิก็กำลังดูอยู่ การรักษาที่ดินของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าเราพูดถึงเรื่องนี้มันจะโยงเรื่องโครงสร้างการถือครองที่ดินของประเทศนี้ที่เหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง แต่ที่รู้กันว่าที่ดินอยู่ในมือของคนแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ถือครองที่ดิน อันนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่เป็นธรรมและเห็นอยู่ว่าเรายังไม่มีกฎหมายการจำกัดการถือครองที่ดิน แล้วก็กฎหมายภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าที่เครือข่ายประชาชนพยายามเสนอก็ยังไปไม่ถึงไหน อันนี้เป็นประเด็นที่คิดว่าน่าจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าตกใจก็คือได้ข้อมูลจากชาวบ้านว่าสหกรณ์คลองโยงเสียภาษีที่ดินมากดิฉันคิดว่ากรรมการสิทธิ์เห็นว่าเป็นความผิดฝาผิดตัวของกฎหมาย หน้าที่ของกรรมการสิทธิก็มีหน้าที่ที่จะต้องเสนอแนะว่ากฎหมายไหนละเมิดสิทธิชุมชน กฎหมายไหนมีช่องว่างที่เราจะต้องแก้ไข เพราะว่าอันนี้เราก็เห็นแล้วว่ามันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนพัฒนาต้องเป็นแผนพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานไหนมีหน้าที่ที่จะไปจิ้มพัฒนาตรงไหนก็ได้ อันนี้จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านแน่นอน 

คลองโยงอยู่ภายใต้โฉนดชุมชนมีสิทธิชุมชนอยู่ภายใต้นั้นด้วย ใครที่จะต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ คิดว่าสำนักนายกรัฐมนตรีเพราะว่าสำนักงานที่ทำการประสานให้เกิดโฉนดชุมชนคือสำนักนายกรัฐมนตรี และมีคณะกรรมการร่วมระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่ชาวบ้านจะต้องผลักดันต่อ เพราะเรื่องของความมั่นคงในเรื่องของที่อยู่อาศัย ที่ดินของชาวบ้านเป็นหัวใจสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคมนี้

000 ภาษีที่ดิน ข้อท้าทายของโฉนดชุมชนคลองโยงที่ต้องรีบแก้ 000

ศยามล ไกยูรวงศ์ เสริมต่อเรื่องภาษีที่ดิน มรสุมแรกของคลองโยงที่ยังไม่มีทางออกว่า เรื่องภาษี กสม. หยิบยกขึ้นมาทำข้อเสนอนโยบายที่ดินทั้งหมด เราได้คุยกับสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ที่เป็นคนดูแลโฉนดชุมชน เราได้มีข้อเสนอไปแล้วว่า เนื่องจากตรงนี้เป็นโฉนดชุมชนแปลงแรก จะต้องมีการแก้ไข ซึ่งจะต้องไปแก้กับกรมสรรพากร เป็นกฎกระทรวงในเรื่องของการจ่ายภาษี เราต้องตามไปที่ คทช. เพราะเรื่องนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องไปคุยกับหน่วยงานที่เก็บภาษี เวลาเขาประเมินเขาประเมินตามโฉนดที่ดินซึ่งสหกรณ์มันเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ไม่เหมือนกับโฉนดทั่ว ๆ ไป มีเงื่อนไขมีประวัติที่มา อันนี้เป็นสิ่งที่ คทช. ที่จะต้องริเริ่มทำ 

ด้าน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวเสริมว่า ความจริงเราทั้งผลักดัน ร้องเรียน ร้องทุกข์ ร้องขอมา 2 ปี ทุกหน่วยงานเราไปหมด มีคณะกรรมาธิการ ทั้งสภา วุฒิสภามาจัดประชุมที่นี่ กระทรวงการคลังก็มี ทุกคนเห็นด้วยว่าไม่ควรเก็บแปลงใหญ่ แต่ไม่มีใครทำ รองวิษณุ เครืองามเซ็นลงนาม อดีตนายกคนก่อนก็ลงนามว่าจะต้องแก้ไข เอาเข้า ครม. แต่มีการยุบสภาก่อน อันนี้เป็นปัญหา ซึ่งมันจะคาราคาซัง เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ที่เดียว บ้านมั่นคงของพี่น้องคนจนเมืองที่ถือครองในรูปแบบสหกรณ์ก็เหมือนกัน เจอแบบเดียวกัน โฉนดชุมชนนำร่องที่รัฐบาลสมัยคุณอภิสิทธิ์อนุมัติไว้ 5 แห่ง ก็จะต้องเสียภาษีแบบนี้เหมือนกัน ตอนนี้ยังไม่มีที่ไหนแก้ไขได้สักแห่ง อันนี้เป็นปัญหาร่วมที่จะต้องแก้ไข และไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเราผลักดันทุกคนเห็นหมด

000 ความสำคัญของผังเมืองรวม กับการแบ่งโซนพัฒนาพื้นที่ 000

ประเชิญ คนเทศ อธิบายในเรื่องของผังเมืองรวมว่า ผมอาจเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ในผังเมืองรวมเล่มหนาแล้วความคิดว่ามันมีหลักคิดฐานคิดว่าเราจะมองไปอย่างไรเขายังเห็นเรื่องของการพัฒนาสมดุลกับการอนุรักษ์ซึ่งมันมีข้อ 2 อยู่ว่าส่งเสริมควบคุมพัฒนาการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งไม่ใช่ว่าไม่ให้ทำถนนแต่ส่งเสริม คำว่าควบคุม คือปล่อยให้ทำตามอำเภอใจไม่ได้และคำว่าพัฒนาคือการพัฒนาให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้โดยเฉพาะระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องสอดของกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจังหวัดนครปฐม ต้องไปดูว่าเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐมคืออะไรไม่ใช่เศรษฐกิจความมั่นคงของบ้านจัดสรรเราไม่ได้ปฏิเสธว่าจัดสรรไม่ให้มาแต่จะมาอย่างไรต้องพัฒนาร่วมกันและการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียงของภาคกลางภาคตะวันตกของประเทศไทยที่นี่ไม่ใช่แค่มองเรื่องของการจะเอาอะไรมาจากสายแต่ต้องมองเป็นระบบของภาคตะวันตกด้วยเรากำลังจะกลายเป็นภาคตะวันตกที่เรืองรองผ่องใส

ส่วนข้อที่ 6 ต้องปักหมุดเอาไว้ตรงนี้เลย เรื่องการอนุรักษ์พื้นที่เกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบระบายน้ำ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองรวมตามจำแนกผังเมืองและโครงการคมนาคมขนส่ง ที่สำคัญที่สุดจะมีตัวบอกเลยว่าที่ดินประเภทอกคือขาวทะแยงเขียวหรือสหกรณ์ที่ดินคลองโยงนี้กำหนดไว้ก็คือมีกรอบให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม การพัฒนาเกษตรผสมผสานแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตรและสงวนรักษาทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทเกษตรกรรมจำแนกเป็น อก.

เราจะเห็นว่ามีสีชมพูแดงตรงนี้ เป็นพื้นที่พาณิชย์ที่อยู่อาศัยหนาแน่นได้ เป็นพื้นที่พัฒนาแบบ smart City ส่วนสีส้มให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยปานกลาง ส่วนสีเหลืองก็คือที่อยู่เล็กน้อย จะเห็นได้ว่าสีเขียวอยู่ฝั่งซ้ายมือตรงนี้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ตรงนี้มีส้มโอนครชัยศรีอร่อยที่สุด ส่วนขาวทแยงเขียวก็คือพื้นที่ที่ถนนจะผ่ากลางมา ตรงนี้มีหัวจิตหัวใจมีเจตนารมณ์ของตัวเอง ดังนั้นจะต้องส่งเสริมควบคุม และพัฒนา 

ถามว่าควบคุมอะไร เราจะเห็นว่าผังละเอียดมาก วาดถนนแต่ละถนนมีหน้าตัดเท่าไหร่ มีการศึกษาว่ารถแน่นอย่างไร และมีข้อเสนอการแก้ไข อย่างเช่นถนนนครอินทร์-ศาลายา ที่เป็นทางเลือกที่ 1 แล้วก็มีการแนะนำว่าให้มาเส้นนี้ เพราะว่ายังขยายได้อยู่และยังเชื่อมโยงข้างล่าง ส่วนความหนาแน่นข้างล่างเราใช้เส้นอื่นเชื่อมโยงกันได้ นี่คือสิ่งที่ประกาศเอาไว้ ท้ายกฎกระทรวงของมหาดไทย ซึ่งปรากฏอยู่ในผังเมืองไม่มีเส้นผ่าเมืองอกแตกของขาวทะแยงเขียว 

ที่สำคัญที่สุดเราทำผังภูมิสังคมโดยมหาดไทยให้ทำเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อศึกษาผังภูมิสังคมตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราต้องเข้าใจภูมิสังคม เราต้องเข้าใจภูมิเวศ เราต้องเข้าใจภูมิวัฒนธรรม ที่ถูกกำหนดออกมา เธอจะเห็นว่าย่านนี้มีความเสี่ยงของน้ำท่วมอยู่ แม้แต่ขาวทแยงเขียวตรงนี้ก็ยังท่วมได้อยู่ เพราะอยู่ใกล้คลอง ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้ถูกคันล้อมทุ่งพระพิมลราชา ถูกคันล้อมจากอยุธยา ล้อมไว้ด้วยหลักการ น้ำเหนือจะไม่หลากมาอีกแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ไม่มีอีกแล้ว แต่มีระบบเครือข่ายคูครอง แต่พื้นที่ตรงนี้จะมีปัญหาถ้าฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทันที

ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ถ้าจะต้องมีน้ำหลากเข้ามา พื้นที่นาข้าวตรงนี้น้ำท่วมแป๊บนึง เดี๋ยวก็หายไป สามารถสูบเอาได้เวลาน้ำทะเลลง ดังนั้นต้องถามว่าถนนเส้นนี้ยังจำเป็นมากไหมคุณไปศึกษาทางเลือกทางออกของผังเมืองรวมที่เขาหาทางออกของปัญหาคมนาคม เพราะมันเป็นข้อกำหนดอยู่แล้ว จะทำผังเมืองรวมมันต้องมีผังด้านการคมนาคมและขนส่ง เขาออกหาทางออกไว้อยู่แล้ว 

000 ถนนสายใหม่ ปิดกั้นทางน้ำ ชุมชนกลายเป็นแอ่งรับน้ำ 000

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อธิบายว่า พื้นที่คลองโยง 1,800 ไร่ ถนนจะผ่านประมาณ 2.5 กิโลเมตร หรือที่ดินประมาณ 75 ไร่ ซึ่งที่ดินนี้เราจัดรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดิน ในรูปแบบนิคมสหกรณ์ ก่อนที่จะมาเป็นแปรงแบบนี้รอเช่าเจ้านายมาก่อนแล้วพอเราจัดเป็นรูปแบบนิคมสหกรณ์แบบเช่าซื้อเราแบ่งเป็นครัวเรือนละ 20 ไร่ แต่ระหว่างแปลงจะมีถนนและคลองสลับขั้นกันอยู่ การจัดรูปที่ดินหรือปฏิรูปที่ดินต้องมีการพัฒนาที่ดินอันนี้ถือเป็นต้นทุน TDRI มีการคำนวณไว้ว่ามีการลงทุนของรัฐในระบบชลประทานหรือการพัฒนาไร่หนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 ล้านโดยประมาณสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกคิดเป็นต้นทุน

ที่นี่มีคลองอยู่ประมาณ 6 คลอง ผมถามบริษัทที่ปรึกษาเขาบอกว่าจะทำท่อลอด ซึ่งมันมีปัญหามากและแปลงไหนที่ถูกเฉี่ยวไปบางส่วนมันถูกแบ่ง 2 ข้าง จะไปทำมาหากินอย่างไร ทุกวันนี้รถไถข้ามไปมาก็ปวดหัวแล้ว อันนี้ยังไม่พูดถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ The Active ได้ล่องเรือดูสะพานแม่น้ำท่าจีนตอนนี้มีอยู่ 20 สะพาน และสะพานนี้จะเป็นสะพานที่ 21 เพราะฉะนั้นแม่น้ำท่าจีน ถ้ามองภาพใหญ่เรารับความหายนะมาจากกรุงเทพฯ ที่ผลักมาให้เรา น้ำท่วมริมแม่น้ำท่าจีนเท่ากับปี 2554 ทุกปี และท่วมอยู่ 2-3 เดือน เพราะว่ามีถนนยกระดับ ทางด้านคลองมหาสวัสดิ์ก็ยกระดับรถไฟขึ้นไปอีก 50 เซนติเมตร มีการยกผนังกั้นน้ำคลองมหาสวัสดิ์ตลอด เรากลายเป็นแอ่งน้ำ ถนนก็จะขวางกระทบกับสิ่งเหล่านี้อีก สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกคิดเป็นต้นทุน

นายกยกพูดว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน BCG แล้วก็พูดถึงโคกหนองนาว่าจะเป็นโมเดลการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน ประทาน UN ก็พูดว่ามนุษย์กำลังเปิดประตูสู่นรก ถนนนี้ช่วยแง้มประตูให้กว้างขึ้น ชัดเจนว่านรกกำลังจะมาถึง พวกนี้ทำลายสิ่งแวดล้อมฐานทรัพยากร ฐานดำรงชีพชุมชนเกษตรที่อยู่กันมา 200 ปี นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยถูกคำนวณเป็นต้นทุน อันนี้ยังไม่รวมต้นทุนทางสังคมที่มีอีกมากมาย ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่จะต้องฟังเสียงคนในพื้นที่ ไม่ใช่ฟังเสียงคนที่อยากจะวิ่งรถเร็ว ๆ ให้ผ่านหัวพวกเราไป

ด้านประเชิญ คนเทศ เสริมต่อเรื่องน้ำท่วมว่า ตอนปี 2554 ผมร่วมหัวจมท้ายไปกลับพี่น้อง เราล่องเรือกันมา ที่นี่เป็นที่พักพิง ซึ่งเราพบว่า นครชัยศรี หรือพุทธมณฑลเอง จะกลายเป็นไข่แดงของปัญหาน้ำท่วมในอนาคต เหนือหัวไปอยุธยามี 12 ทุ่งรับน้ำ พอเวลาน้ำมา 3,500 ลูกบาศก์เมตรที่บางไทร เขาไม่เข้ากรุงเทพฯ เขาผลักออกมาทางแม่น้ำน้อย และทุ่งเจ้าเจ็ดก็ผลักมาทางนี้ เนื่องจากไทรน้อยมีนิคมอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร เขาไม่ให้ไปอยู่แล้ว จึงมีการถอดเอาทุ่งพญาบันลือออก ซึ่งทุ่งเจ้าเจ็ดแต่เดิมแล้วรับได้ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันยกถนนจนสามารถรับได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อการกักน้ำ 1 ครั้ง 

แต่พอมีปัญหามากถูกตีโอบลงมาจากทุ่งสองพี่น้องยัดใส่ลงมา อย่างปี 2566 นี้ มา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตีเข้าฝั่งตะวันตกทำให้นครชัยศรีเป็นตัวแจ็คพอต แล้วเวลากรุงเทพฯหวั่นไหว วันที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ มาที่วัดชัยพฤกษ์ผมบอกว่าอย่าเอาน้ำใส่ผมนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่รับน้ำ แต่คุณต้องดูว่าข้างล่างเรารับได้เท่าไหร่ 

ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้ ผมเคยถามปลัดกระทรวงทรัพย์ท่านหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เขาไม่ได้เป็นแล้ว ผมถามว่าในกรณีที่คันล้อมที่ตีโอบล้อมเรายกสูงกว่าน้ำท่วมปี 2554 ประมาณ 50 เซนติเมตร ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นพื้นที่ตรงนี้จะทำอย่างไร เขาบอกว่าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำเอาไว้ เพื่อไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ นั่นหมายความว่าพื้นที่ตรงนี้ ถ้าน้ำหลากมา หรือมันเกิดอุบัติเหตุ ไม่สามารถควบคุมได้ ที่นี่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทันที นี่คือความเสี่ยง ถามว่าเมื่อก่อนน้ำท่วมเรามีปัญหาไหม เราไม่มีปัญหาเพราะว่ามันไม่มีคันล้อม น้ำมามันก็แบ่งกันไป

จังหวัดนครปฐมก็มี SDGs เราเลือกหมุดหมายไว้ 6 หมุดหมาย คือ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรกรรมแปรรูปสูงค่า การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพประตูการค้า และการลงทุนโลจิสติกส์ ซึ่งในโลจิสติกส์ระบุชัดว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้ารางคู่ และระบบรถไฟฟ้าเชื่อมโยง ที่สำคัญไม่มีใครมาเขียนโครงการถนน พัฒนาลำน้ำจากลำพญา มามหาสวัสดิ์ ถ้าพัฒนาตรงนี้เป็นโลจิสติกส์ทางน้ำได้เราจะมีขนส่งทางน้ำ แต่ไม่มีใครทำ เพราะฉะนั้นขนส่งสาธารณะเป็นคีย์เวิร์ด ขนส่งไฟฟ้าขนส่งแบบสมาร์ทพยายามให้ใช้ลดน้อยๆถามว่าถนนเกิดขึ้นมาพอกับรถในประเทศนี้ไหมเคยเจอไหมทางด่วนกรุงเทพฯรถยังติดเพราะเราไม่ได้ปรับ Mindset ถ้าเกิดมาแบบนี้มากๆนครปฐมจะมีแต่ปูนอยู่เหนือหัว จะเป็นสวรรค์ของคนนครปฐมได้อย่างไร 

000 สิทธิชุมชน กับการปกป้องพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน 000

ปรีดา คงแป้น กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ของตัวเองอย่างเต็มที่วันนี้ถ้าฟังข้อมูลจะเห็นว่าการปกป้องพื้นที่ของชาวบ้านในวันนี้ไม่ได้ปกป้องเพื่อตัวเองเท่านั้นแต่ปกป้องพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารนิเวศน์วัฒนธรรมตรงนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาอื่นๆของคนเมืองโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯที่ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญชาวบ้านมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะปกป้องในฐานะกรรมการสิทธิ์ขอยืนยันตรงนี้ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ร้องเรียนกรรมการเสร็จแล้วกรรมการสิทธิ์จะฟังข้อมูลจากทุกด้านและจะศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากทุกด้านและจะออกเป็นรายงานมา

ปิดท้ายที่ ศยามล ไกยูรวงศ์ เสริมต่อว่า ที่จริงการจัดรูปที่ดินสหกรณ์คลองโยงเป็นเรื่องที่ดี เพราะเคยไปศึกษาแถวอยุธยา นครนายกมีหลายแปลง การจัดรูปที่ดินเป็นยุคแรกเริ่ม ตอนเราพัฒนา 2507 เป็นต้นมา มีการเวนคืนทำถนนโครงสร้างพื้นฐาน และพอนครนายกร้องเรียนมาให้มีการจัดรูปที่ดินหน่วยงานบอกว่า ต้นทุนสูงมาก เพราะต้องทำเรื่องงบประมาณ เลยคิดว่าเรื่องนี้เป็นต้นทุนที่สำคัญที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

เวลาไปตรวจสอบโครงการพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนเป็นประเด็นสำคัญ เพราะถ้าได้นักวิชาการหรือภาคสังคมเข้ามาทำการศึกษาวิจัยช่วยชาวบ้าน กสม. จะใช้วิจัยเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบมาดู เราไม่ควรดูแค่โครงการ เราต้องดูภาพรวม เวลาบริษัทที่ปรึกษาให้ข้อมูลโครงการ จะไม่ให้ข้อมูลว่าคนในชุมชนมีองค์ความรู้อย่างไร หรือว่าลักษณะภูมิประเทศเขาเป็นยังไง การจัดการทรัพยากรเขาเป็นยังไง ตรงนี้เป็นข้อมูลนำเข้าที่จะส่งมาในรายงานการศึกษาความเหมาะสม เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขของการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ได้ตัดพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำชั้น 2 หรือเป็นแหล่งโบราณสถาน แต่ที่บอกว่าประกาศกระทรวงทรัพยากรยังมีข้อจำกัด เพราะว่าเวลาพูดถึงแหล่งโบราณสถาน เขานึกถึงแต่กรมศิลปากรประกาศเป็นแหล่งโบราณคดีแต่จะมีแหล่งองค์ความรู้จากชุมชนเหล่านี้ ที่กรมศิลปากรยังไม่รองรับ กรมสรรพากรยังไม่ประกาศเราอาจจะต้องมีข้อเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรม เวลามองต้องมององค์ความรู้เหล่านี้เข้าไปในเงื่อนไขในประกาศกระทรวงทรัพยากร เพราะประกาศกระทรวงทรัพยากรเป็นแค่ประกาศที่แก้ได้ระดับรัฐมนตรี อันนี้เป็นข้อกฎหมายที่ กสม. จะต้องเสนอแก้

อีกอันนึงจะต้องให้ตัวเจ้าของโครงการมีมุมมองมิติของแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัด เอาข้อมูลนี้เข้าไปในรายงานการศึกษาความเหมาะสม และมาตรการผลกระทบที่คุณจะต้องแก้ตามชุมชนขอมา ว่ามีผลกระทบหลายอย่างจากองค์ความรู้ จะต้องใส่ลงไปในรายงานการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งมันจะอ่อนกว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะถ้ามีการศึกษาปุ๊บ กระทรวงคมนาคมเห็นชอบก็จะไปต่อเลย อันนี้พอมีการจัดเวที กสม. ก็จะไปตรวจสอบว่าข้อมูลที่คุณเผยแพร่เป็นยังไง ข้อมูลการนำเข้าในรายงานเป็นอย่างไร และชาวบ้านมีความเห็นแบบนี้ มีการใส่เข้าไปในรายงานไหม เพื่อดูว่าคุณรับฟังเขาครบถ้วนสมบูรณ์ไหม อันนี้เป็นสิทธิเชิงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสิทธิการมีส่วนร่วม ซึ่งอันนี้จะมีผลแล้ว กสม. ก็จะมีผลข้อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมว่าเมื่อเราศึกษาอย่างรอบด้านแล้วความจำเป็นของโครงการอาจจะมีหรือไม่มีก็จะบอกไปทางรัฐบาล 


รับชมเสวนารายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน อนาคต ‘โฉนดชุมชนคลองโยง’ กับโครงการพัฒนา แบบเต็มๆ ได้ที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ