เปิดข้อท้าทายสื่อพลเมืองในอนาคต นักวิชาการและคนแวดวงสื่อพลเมืองชี้ภูมิศาสตร์ด้านการสื่อสารเปลี่ยนแปลง พื้นที่สื่อสารไม่ใช่ข้อจำกัด แต่โจทย์ท้าทายคือจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ต้องปรับรูปแบบให้สื่อสารถึงเป้าหมาย บทเรียนจากนักข่าวพลเมืองและสื่อชายแดนใต้ชี้คนในลุกขึ้นสื่อสารสร้างวาทกรรมให้เป็นบทสนทนาในสังคมให้มากกว่าเพียงเปล่งเสียง
ในงานประชุมเครือข่ายสื่อพลเมือง ประจำปี 2555 “พลังสื่อ…มือสมัครใจ” ซึ่งสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) จัดขึ้นในวันที่ 25-26 ส.ค.2555 มีตัวแทนเครือข่ายสื่อพลเมืองทั่วประเทศ สถาบันการศึกษา เยาวชนนักสื่อสารเพื่อชุมชน และบุคคลทั่วไปร่วมงาน ในการเสวนาหัวข้อ “สื่อพลเมืองกับอนาคตที่ท้าทาย” ดำเนินรายการโดยอ.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยากรหลากหลายที่มีข้อสังเกตความท้าทายต่อสื่อพลเมืองในอนาคต
โจทย์สำคัญสื่อเพื่อเปลี่ยนได้อย่างไร
ดร.มานะ ตรียาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่สื่อพลเมืองและสื่อต่างๆ จะต้องเผชิญในมิติตขิงภูมิศาสตร์ด้านการสื่อสารหรือ media landscape เปลี่ยนแปลงไปว่า หากย้อนหลังกลับไปในอดีต เวลาชุมชนมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ว่าลักษณะใด สิ่งที่ชุมชนวิตกคือสื่อกระแสหลักจะนำเสนอแบบไหน เพราะปกติสื่อกระแสหลักเวลาเสนอเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน มักจะใช้ข้อมูลอ้างอิงจากราชการและผู้มีอำนาจเป็นหลัก มองเสียงชาวบ้านน้อยมาก ชาวบ้านจึงต้องสร้างกิจกรรมดึงความสนใจผู้สื่อข่าวด้วยลักษณะที่แปลกๆ เพื่อชิงพื้นที่ข่าว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้นเพราะช่องทางของพลเมืองมีน้อย แต่ต่อให้มีกิจกรรมที่ดึงความสนใจได้ก็ใช่ว่าจะตีความหรือนำเสนอได้ตรงตามข้อเท็จจริง หลายครั้งถูกมองไปยังเรื่องความแปลก ความรุนแรง การมีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปเสียอีก
แต่ 5-10 ปี เทคโนโลยีเปลี่ยน มีช่องทางให้เสียงของพลเมืองมากขึ้นทั่วโลก ปัญหาของชุมชนต่างๆ เมื่อมีสื่อและช่องทางใหม่มากขึ้นก็ถูกนำเสนอมากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปคือภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลง นั่นคือ คนเป็นสื่อมวลชนที่เป็นเหมือนผู้รักษาประตู และกลั่นกรองข่าวสารเปลี่ยนไป เมื่อมีประตูจำนวนมากเปิดขึ้น เพราะพลเมืองที่รับสารก็ตื่นตัว ไม่ต้องรอนักข่าว แต่มีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้เวลานี้คนในวิชาชีพสื่อคุยกันว่าไม่สามารถเป็นผู้ดูแลประตูได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าใครเข้าประตูไหนอีกบ้าง และมองหาข้อมูลเนื้อหาจากพลเมืองและชุมชนที่ลุกขึ้นมาสื่อสาร ข้อดีคือฟังเสียงจากพลเมืองมากขึ้น แต่ข้อเสียคือไม่รู้จักประเมินข่าวสาร นำเสนอเพียงปรากฏการณ์หวือหวา ไม่ตั้งคำถามถึงสาเหตุและผลที่ตามมา
ดร.มานะกล่าวด้วยว่า ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้สื่อพลเมืองจะพัฒนาคุณภาพของเสียงเราให้ดังมากขึ้นได้อย่างไร ให้เสียงของเราเชื่อมประสานมีพลังมากขึ้นและเข้าถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เข้าสู่ใจคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ไม่น่าห่วงเรื่องเนื้อหาที่พลเมืองมี แต่จะพูดอย่างไรให้มีพลังและคนทั้งประเทศฟัง เป็นสิ่งที่สื่อพลเมืองจะก้าวต่อไป เครื่องมือสื่อใหม่เป็นเพียงช่องทาง พลเมืองยังคงต้องใช้สื่ออื่นที่มีให้หลากหลายที่เคยมีให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด คือสิ่งที่ท้าทายคนทำสื่อในยุคนี้มาก
“โจทย์ท้าทายคือสื่อพลเมืองจะเป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร หลายแห่งอาจเริ่มต้นสร้างเครือข่าย พูดคุยมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือจะรู้ว่าเป้าหมายของการสื่อสารจะเปลี่ยนอะไร ใครที่จะเปลี่ยน ถ้าจะเปลี่ยนชุมชนก็จัดเล็ก ถ้าจะเปลี่ยนเชิงโครงสร้างหรือนโยบายก็ต้องพัฒนาคุณภาพในการเล่าเรื่อง จูงใจให้คนทั่วไปเข้าใจเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากกว่าไม่ว่าจะออกไปในสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ก็ตาม”
สื่อมองทิศทางร่วมชุมชนและองค์ความรู้
เคลื่อนวาระให้สังคมเกิดบทสนทนา
คุณรอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เผ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deep South Watch เล่าประสบการณ์การทำงานในอดีตของตนเองจากการเป็นผู้สื่อข่าวทีมข่าวพิเศษในสื่อหลักคือผู้จัดการรายวันที่มีช่องทางนำเสนอหลากหลาย เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาความรุนแรงภาคใต้ที่ห่างไกลออกไป พบข้อจำกัดของสื่อส่วนกลางจนเป็นสาเหตุให้ที่จะต้องเกิดศูนย์ข่าวอิศราขึ้นในปี 2548 คือ เวลาข่าวสารผ่านสื่อส่วนกลางจะพบว่ามองผ่านแว่นและสายตาของผู้สื่อข่าว แต่เมื่อปัญหามันซับซ้อน เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ จะต้องมีความรู้ที่จะเข้าใจเพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ จึงไม่สามารถใช่นักข่าวจากท้องถิ่นหรือส่วนกลางโดยลำพัง จะต้องประสานความร่วมมือกันเพื่อดึงประเด็นจากท้องถิ่นมาย่อยให้คนทั้งประเทศเข้าใจ และทำให้เสียงของชาวบ้านที่ไม่ค่อยปรากฏนักในสถานการณ์ภาคใต้ได้ถูกสื่อสารมากขึ้นด้วย เนื่องจากในสถานการณ์ซับซ้อนมาก ผู้สื่อข่าวจะยึดแหล่งข่าวทางการเป็นหลัก ตำรวจ ทหาร พนักงานสอบสวน เพื่อสามารถอ้างถึงที่มาของข้อมูลได้ ทำให้สิ่งที่ขาดหายไปคือเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ที่เผชิญหน้าความรุนแรงหลากหลาย ทำให้หน้าที่ของทีมข่าวอิสราคือเติมเต็มเรื่องเหล่านี้ว่าคนอยู่อย่างไรท่ามกลางความรุนแรงผ่านช่องทางเว๊ปไซด์ของศูนย์อิสระ และพื้นที่สื่อหลักในสังกัดของตนเอง และเพื่อน
ข้อจำกัดอีกอย่างคือประเทศไทยมีสถานการณ์ข่าวหลายด้าน เช่นความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่วนกลางทำให้ขาดผู้สื่อข่าวที่จะลงไปในพื้นที่ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นภายในว่าจำเป็นต้องสื่อสารเอง และจะสะท้อนเสียงคนมลายูมุสลิมได้อย่างไร อีกประการคือมองว่าการเสนอของสื่อไทยมีปัญหาในเชิงวิธีคิดด้วย ทำให้การสื่อสารภาคพลเมืองในชายแดนใต้เติบโตขึ้นไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่คนพยายามสะท้อนเสียงมากขึ้นรวมทั้งพยายามฝึกคนรุ่นใหม่เพื่อจัดการด้านการสื่อสารด้วยตนเอง
กรณีของ DSW ค้นพบว่าประเด็นที่จะสื่อคืออะไรแน่ โดยเฉพาะประเด็นที่ซับซ้อน หลากแง่มุม เช่นมิติชาติพันธ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องมีความรู้ และทำงานมากขึ้นกับนักวิชาการในพื้นที่ เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่เดิมจัดวางเขาไว้ในฐานะแหล่งข่าวมาเป็นการทำงานร่วมกันจนวางทิศทางการทำงานร่วมกัน เป็นจุดกำเนิดของ DSW วางอยู่บน 3 ขาคือ สื่อ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ดังนั้นการดำรงตนเป็นกลางหรือผู้เฝ้าประตูข่าวสารอย่างเดียวเริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นถ้ามองเห็นทิศทางที่เป็นทางออกต้องชี้ให้เห็น
คุณรอมฎอนยังกล่าวถึงบางเรื่องในพื้นที่สนามสีแดงพูดยาก แต่เมื่อภูมิทัศน์ด้านการสื่อสารเปลี่ยนทำให้คนพูดง่ายขึ้น เช่นกรณีการผลักดันเรื่องเขตปกครองพิเศษ ที่ก่อนหน้านี้เทียบเท่าการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นเรื่องต้องห้าม แต่พอมีงานวิจัยและงานวิชาการที่ระบุว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งลักษณะเดียวกันสามารถจัดการได้ด้วยการแบ่งปันอำนาจ และเราพบว่าคนในพื้นที่เอง ต้องการการจัดการชีวิตของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ลองโยนข้อเสนอไปในสนามให้คนได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ทำให้คนตั้งคำถามว่าถึงที่สุดความขัดแย้งกันที่เป็นอยู่เป็นเรื่องอะไรกันแน่
“ช่องทางที่เพิ่ม บทสนทนาที่เพิ่ม ทำให้สิ่งที่รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ สามารถเกิดขึ้นได้ และปรากฏในเชิงนโยบายขึ้นได้ กลายเป็นไม่ใช่เพียงการสะท้อนเสียงที่ไม่เคยได้ยิน แต่ยังเป็นที่ถกเถียงในสังคม ซึ่งเป็นข้อท้าทายนักสื่อสาสาธารณะว่า ถ้าเราจะเปล่งเสียง ไม่ใช่เพียงบอกว่าเราต้องการอะไร แต่เราต้องสร้างบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะผลักดัน แม้บทสนทนานั้นอาจไม่เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ ตั้งคำถามหรือบ่อนทำลายเรา แต่บทสนทนานั้นปรากฏอยู่ในสังคม และยิ่งปรากฏใน ThaiPBS ถือเป็นก้าวกระโดด เป็นประโยนช์ต่อการสร้างข้อเสนอให้มีชีวิตขึ้น และการมีส่วนผสมของสื่อ ความรู้ และเครือข่ายทำให้สร้างความมั่นใจที่ว่า มีความรู้รองรับ มีเครือข่ายช่วยดัน แม้จะไม่เห็นพ้องทั้งหมดแต่เชื่อไปในทิศทางเดียวกัน เราเรียกมันว่าควงซึ่งกันและกัน หนุนเสริมถ่ายทอดกัน ใช้กันและกันอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรทิ้งสื่อทุกกระแส ทุกช่องทาง บางเรื่องที่เราไม่เห็นในวันนี้ แต่อาจเห็นในระยะต่อไปข้างหน้าได้
คุณรอมฎอนกล่าวด้วยว่าสิ่งที่สำคัญคือการรักษาสมดุลย์ในการสื่อสารที่จะทำให้เป็นมือสมัครใจ คือไม่ใช่มืออาชีพอย่างเดียว หรือมือสมัครเล่น โดยแต่ละเครือข่ายและพื้นที่ต่างกัน เช่นภาคใต้จะเผชิญความอ่อนไหว สุ่มเสี่ยง แต่สื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร ซึ่งก็ต้องดัดแปลงสิ่งที่ตนเองอยากพูดอย่างเดียวมาสนใจว่าคนฟังรับอะไรได้บ้าง ภายใต้พื้นฐานว่าเรามีสิทธิสื่อสารแต่ไม่อาจสื่อสารได้ทั้งหมดหลายเรื่องในสังคมไทยเป็นเรื่องต้องห้าม แต่เพดานในการพูดคุยกำลังไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องหาสมดุลย์ให้ได้ ไม่มีอะไรที่ไปทางใดทางหนึ่งทั้งหมด
สื่อสารเพื่อให้เข้าใจชุมชน
คุณปัญญา คำลาภ กลุ่มสื่อเสียงคนอิสาน เล่าประสบการณ์ว่าได้เริ่มเรียนรู้ทักษะการสื่อสารจากการทำข่าวพลเมือง แต่แนวคิดเริ่มต้นคืออยากใช้สื่อทางเลือกเพื่อให้มีข้อมูลที่แตกต่างจากสื่อหลักและมีทางเลือกเสพข่าวที่ไม่มีในสังคม ประกอบกับการสื่อสารเมื่ออยู่ส่วนกลางก็สามารถสร้างคนดีหรือคนชั่วผ่านสื่อได้ เมื่อเริ่มเป็นนักข่าวพลเมืองในพื้นที่ก็เกิดความต้องการสื่อสาร คนในพื้นที่มีทั้งให้ตนไปทำข่าว และให้ฝึกอบรมให้ ล่าสุดได้มีความร่วมมือกับม.มหาสารคาม กับ ThaiPBS ที่ร่วมอบรมนักข่าวพลเมืองให้กับเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งหลังจากอบรมแล้ว ก็ได้ชวนนักเรียนไปทำข่าว ในตอนแรกไม่มีคนสนใจ แต่เมื่อลงไปในพื้นที่เรียนรู้การถ่ายภาพและเล่าเรื่อง จนเด็กๆ รู้สึกชอบและได้เรียนรู้ชุมชน
คุณปัญญากล่าวว่า กรณีราศีไศล เวลาทำงานสื่อสาร จะคิดประเด็นจากต้นทางว่าในพื้นที่ทำอะไรบ้างที่จะสอดคล้องกับระบบของชุมชน เช่นการปลูกข้าวกับการใช้น้ำชลประทานชุมชน ทำให้ค้นพบคำตอบว่าการทำสื่อต้องทำให้หลากหลายเช่นทั้งหน้าจอ สื่อวิทยุ สื่อบุคคลด้วย
“เราเคยเก็บข้อมูลน้ำท่วมทั้งระบบรอบราศีไศลทั้งระบบ 3 จังหวัด นอกจากส่งThaiPBS เขียนขึ้นเว็บ และยังนำมาจัดเวทีในพื้นที่เพื่อหาแนวทางว่าน้ำท่วมจะต้องเจาะในพื้นที่ไหนบ้าง เมื่อเกิดความรู้ชุดนี้ ปีนี้ชลประทานจึงลงไปเจาะโดยใช้ข้อมูลจากทีมงานของราศีไศล”
คุณปัญญากล่าวด้วยว่าในอนาคต ก็จะต้องมองดูว่าจะสื่อพลเมืองจะยืนด้วยตนเองได้อย่างไรด้วย หากจะขยายและจะยืนหยัดอย่างไรได้ด้วย
สื่อพลเมืองยังต้องลองผิดลองถูกแต่หัวใจคืออิสระ
คุณสุเทพ วิไลเลิศ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปฏิรูปสื่อ คือปฏิรูปโครงสร้างสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะอยู่ภายใต้รัฐ แต่หลายครั้งเราพูดมานานตั้งแต่ปี 2540 รัฐบาลมาภายหลังหยิบไปพูดแต่เนื้อหาสาระเปลี่นไปมาก เป็นสิ่งที่น่าตรวจสอบติดตาม
เมื่อเราพูดถึงสื่อพลเมืองทุกลักษณะ หัวใจสำคัญคือความเป็นอิสระที่จะสื่อสารให้สาธารณะรับรู้ ส่วนจะผ่านช่องทางใดก็แล้วแต่ เนื่องจากมีสื่อใหม่ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ส่วนอนาคตที่ท้าทายกับสื่อพลเมืองนั้น กรณีการมีส่วนร่วม ของ ThaiPBS มีความชัดเจนว่าสามารถเสนอวาระจากท้องถิ่น ชุมชนมาได้ แต่ก็อาจเกิดคำถามว่าสื่อสารได้ทั้งหมดหรือไม่
ส่วนกลไกกำกับเมื่อมีกสทช.เกิดขึ้น วิทยุขนาดเล็กจากหลากหลายกลุ่มก็จะต้องจัดแยกกำกับประเภทและมีสิทธิขอประกอบกิจการเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นช่องทางใหม่ๆ ในท้องถิ่นเพราะคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 12-15 ล้านคน ดังนั้นทีวีวิทยุท้องถินเป็นช่องทางหนึ่งที่สื่อพลเมืองจะใช้ในการทำงานหรือปล่อยของได้ กรณีจัดสรรคลื่นความถี่ กลุ่มรายใหม่อาจอยู่ระหว่างทดลองประกอบกิจการต่อไปอยู่ เพราะว่รต้องเคลียร์คลื่นความถีรายเดิมที่ถืออยู่ว่าใช้ประโยชน์อย่างไร ลักษณะใด ให้สัมปทานเอกชนหากินถึงปี 2563 หรือไม่เช่นโทรทัศน์บางช่อง จะต้องจัดเคลียร์คลื่นความถี่เพื่อให้เกิดการประกอบกิจกรรมกับวิทยุและโทรทัศน์รายใหม่ ซึ่งอาจะเกิดรายใหม่ๆ รวมทั้งโทรทัศน์สาธารณะขึ้นมาอีกก็ได้ โดยเกิดมาพร้อมกัการเกิดดิจิตอล ที่ซอยช่องย่อยมากขึ้น ปัญหาเรื่องพื้นที่หรือช่อทางไม่ใช่ปัญหาสำคัญอีกต่อไปก็ได้ แต่โจทย์ที่ท้าทายที่สุด ใน สื่อพลเมืองมีอิสระ มีสนับสนุน ถูกคาดหวังมากไหน กรณีทำงานร่วมกับ ThaiPBS จะต้องหาเส้นแบ่งให้ชัดเจน
คุณสุเทพ กล่าวว่าสื่อพลเมืองที่เกิดขึ้นกรณีเงื่อนไขใบอนุญาตจะให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุธุรกิจวิทยุชุมชน โทรทัศน์ อื่นๆ ก็ตาม การจะเสนอให้องค์กรกำกับเปิดพื้นที่ช่องทางใหม่ๆ เป็นหลักประกันก็เป็นไปได้ อยู่ที่จะรวมตัวกันและมองทิศทางนี้อย่างไร กรณีมาตรา 85 ตาม พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ เขียนว่าระหว่างยังไม่มีการประกาศแผนดิจิตอล กสทช.ก็ต้องัดสรรคลื่นความถี่ในพื้นที่ที่พอเพียงก็เป็นอีกช่องทาง แม้การตั้งต้นสถานีอาจยุ่งยากแต่ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ท้าทาย
อย่างไรก็ตาม ส่วนของเนื้อหาสาระ เป็นหัวใจสำคัญที่สุด เราควรมีแนวทางบางอย่างพิจารณา เช่นผู้ถูกยิงเรื่องจำนำข้าว น้ำท่วม กรณีป่าสักทองย้อนกลับมาเป็นข่าวหลายครั้ง หรือกรณี น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ที่ขยายตัวในภาคใต้สัมพันธ์กับสถานการณ์รุนแรงที่ถูกรักษาไว้ หรือสัมพันธ์กับประมาณรัฐเพิ่มขึ้นอย่างไร สื่อพลเมืองต้องลึกและแตกต่าง เพื่อให้เกิดมุมมองที่ลึกมากขึ้นในการเชื่อมโยงเพื่อสื่อสารดังนั้นรูปแบบของสื่อพลเมืองไม่จำเป็นต้องปรากฏหน้าตาเช่นปัจจุบัน ถ้าต้องสื่อวาระที่ซับซ้อนแต่ต้องมีหลักประกันให้ปกป้องว่าเป็นแหล่งข่าวระดับหนึ่งเหมือนกัน เพราะในพื้นที่ก็มีอำนาจเชิงการเมืองครอบงำอยู่จริง
“สื่อพลเมืองยังจำเป็นต้องลองผิดลองถูก ไม่มีใครบอกว่าสื่อพลเมืองคืออะไร แต่การทำงานสะท้อนจากพื้นที่ต่างหากจะบอกว่าคืออะไร การรวมกลุ่มเป็นผู้ผลิตอิสระอาจทำให้เป็นตัวตนมีพื้นที่ต่อรอกับสื่อต่างๆ หรือทำงานกับเครือข่ายร่วมกัน ขยายการอบรมเพื่อให้เกิดพลเมืองสามารถมาสื่อสารในวาระและประเด็นของตนเอง โจทย์ของคนในพื้นที่คือ เมื่อมีพืนที่ช่องทางที่จะสื่อสารแล้ว รากเหง้า ปูมหลังของสิ่งที่จะสื่อสารคือเสียงจากท้องถิ่นที่เป็นอิสระ”
ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คุณภาวิณี ชัยพักตร์ จากกลุ่มหมีดหม้อสีขาว อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการสื่อสารก็เหมือนพื้นที่อื่นว่าเรื่องของเราไม่ได้ถูกให้ค่าในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพราะมีปัญหาเรื่องโรงแยกก๊าซ ท่าเรือน้ำลึก การสื่อสารที่ใช้ในพื้นที่คือความตระหนักว่าเมื่อเดินไปสื่อสารกับเพื่อนก็สร้างการพูดคุยได้ และถือกล้องไปด้วยก็จะทำให้การพูดคุยตื่นเต้นมากขึ้น การใช้สื่อไปเดินทางและพูดคุยเป็นวงกว้างมากขึ้น แม้จะไม่ได้มีมุมมองเดียวกัน ก็ได้เกิดการพูดคุย ระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเกิดการพูดคุยร่วมกันถึงอนาคตมากขึ้น
คุณบรี เครือข่ายอาสาสมัครสื่อชายแดนใต้ กล่าวว่าพบสิ่งที่ท้าทายมากในสามจังหวัดชายแดนใต้ หากต้องการนำสันติภาพกลับคืนมา คือเพื่อนสื่อพลเมืองถูกคุกคาม จับกุม ถูกค้นบ้านมาสอบสวนว่าทำไมเสนอข้อมูลด้านเดียวเฉพาะด้านประชาชน มีเบื้องหลังหรือไม่ จึงเห็นว่านักข่าวพลเมืองควรมีเครือข่าย ไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว
คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า หน้าที่ของสื่อพลเมืองไม่ใช่เป็นสายข่าวหรือทำงานให้ ThaiPBS แต่ต้องการมีพื้นที่สื่อสารของตนเอง ในอนาคตจะหลีกไม่พ้นที่จะมีพื้นที่มากกว่า ThaiPBS แต่ตอนนี้เหมือนรอ กสทช.อยู่ แต่อยากชวน ThaiPBS ให้ร่วมผลักดันกับภาคพลเมืองเพิ่มเติมพื้นที่สื่อ สาธารณะเพิ่มเติม เช่นมีพื้นที่ออกอากาศ ประสานเคลื่อนให้เกิดเครื่องส่งในบางพื้นที่ สื่อบางพื้นที่อาจไม่ต้องมีข่าวหรือพื้นที่แลกเปลี่ยน บางพื้นที่อาจต้องการวัฒนธรรมล้วนๆ ก็ได้ เพราะการสื่อมีเป้าหมาย แต่ขณะนี้สื่อใหม่คนเข้าถึงได้จำนวนหนึ่งแต่ไม่หลากหลาย งานพลเมืองจำเป็นต้องเข้าถึงคนรากหญ้า การส่งที่ใช้เครื่องส่งจึงมีความสำคัญกับภาคพลเมือง จึงอยากชวนคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สามารถพื้นที่ให้ภาคประชาชน
ด้านคุณสมชัย สุวรรณบรรณ กล่าวว่าคนทำสื่อต้องการจะนำสิ่งที่อยากสื่อออกไปข้างนอก แต่ประเด็นคือจะมีคนฟัง หรือสนใจในสิ่งที่สื่อสารหรือไม่ จุดนั้นเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา กรณีนักข่าวพลเมือง ThaiPBS ที่มีผู้ประเมินว่าเนื้อหาของนักข่าวพลเมืองเสนอด้านเดียวจำเป็นหรือไม่ที่ออกสื่อกระแสหลัก ซึ่งตนได้ให้ความเห็นเพื่อสร้างความกระจ่างว่า เนื้อหาของนักข่าวพลเมืองส่วนหนึ่งมีด้านเดียวแต่ไม่ทั้งหมด และไม่ได้ผิดจริยธรรมเพราะส่วนของนักข่าวพลเมืองมีการสร้างพื้นที่ไว้ชัดเจนว่าเป็นวาระของประชาชน ที่สร้างความหลากหลาย ไม่ได้เป็นส่วนของข่าว ได้มีกระบวนการที่บอกให้ทราบไว้อย่างชัดเจน
คุณสมชัยกล่าวถึงคำจำกัดความว่า สื่อใหม่ สื่อเก่า โดยเห็นว่าสื่อใหม่หรือเก่าไม่ใช่เรื่องของรูปแบบ แต่ตนเห็นว่าอยู่ที่เนื้อหา กรณีสื่อเลือกข้าง หรือเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังปรากฏในหลายสื่อ แม้สื่อของภาครัฐก็เลือกข้าง เพราะเสนอข่าวด้านเดียวและใช้พื้นที่และอำนาจรัฐไปยังสื่อพาณิชย์ด้วย ประเด็นว่าความเป็นสื่อใหม่หรือสื่อเก่าจะมองที่เนื้อหาหรือรูปแบบ เพราะเนื้อหาที่เก่ามาปรากฏอยู่ในรูปแบบใหม่เช่นกัน
ขอบคุณภาพ จาก Aey Pattaraporn เครือข่ายวิทยุคนเมือเรดิโอ
ชมคลิปค่ะ
“สื่อพลเมืองกับอนาคตที่ท้าทาย”.wmv (Embedding disabled, limit reached)