19 พ.ค. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดแถลงข่าว ไทยแพนเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง กรมวิชาการเกษตรละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรณีพบการตกค้างของสารเคมีเกินมาตรฐานในผักและผลไม้ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรอง (certify) ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
ที่มา: เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากโครงการกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า เราดำเนินการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้มาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่าน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารให้สังคมได้รับรู้ หลายหน่วยงาน รวมทั้งตำรวจแนะนำว่า ควรกล่าวโทษร้องทุกข์ เพื่อหาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าไม่ควรจะแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีๆ แบบนี้ แต่เป็นปัญหาในเชิงระบบ อย่างน้อยให้สารเคมีอันตรายหมดไปจากอาหารที่เรากินบ้าง ควรสร้างทางเลือกให้สังคมเข้ามีส่วนร่วม สร้างปฏิบัติการเพื่อแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วแก่ผู้บริโภค
แต่ตนรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของหัวหน้าหน่วยงานราชการที่กล่าวหาไทยแพน ว่า ตรวจผักผลไม้ตามเทศกาลเพื่อสร้างกระแสหวังรับเงินจากต่างชาติ แต่คงไม่ฟ้องร้องหมิ่นประมาทใดๆ กลับ เพราะคิดว่าไม่เป็นประโยชน์กับใคร แต่เลือกวิธีการฟ้องศาลปกครองให้สามารถนำสืบเพื่อหาช่องโหว่ และความไร้ประสิทธิภาพของระบบมันอยู่ที่ตรงไหน จะเป็นประโยชน์มากกว่า
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน แจ้งเพิ่มเติมว่า ทางไทยแพนได้รับความคืบหน้าจากห้างร้านต่างๆ ว่าได้มีการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลงและบางห้างทราบแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ตลอดระยะเวลา 3ปีที่ผ่านมา ไทยแพนพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐานตกค้างในสินค้าที่แสดงเครื่องหมายคิวมาโดยตลอด ซึ่งหน่วยงานควบคุมตรงนี้ควรมีมาตราการที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและอนาคต และเรื่องที่สำคัญมากคือ เราตรวจพบสารเคมีอันตรายเรียกว่าวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วหรือยังไม่ให้ขึ้นทะเบียน นอกจากไทยแพนแล้ว หน่วยงานในภาครัฐก็มีการเฝ้าระวังและตรวจพบวัตถุอันตรายนี้ด้วยเช่นกัน กรมวิชาการเกษตร ควรมีมาตราการควบคุมที่ชัดเจนเข้มข้น ภายใต้กฎหมายอย่างเข้มงวด
“ไทยแพนมุ่งหวังให้ใช้ข้อมูลเกิดการตรวจสอบภายใต้หลักป้องกันไว้ก่อน ส่วนประเด็นเรื่องการบกพร่องของหน่วยงานในกระบวนการ ก็อยากให้ข้อมูลตรวจสอบที่ประจักษ์ชัดออกมาด้วยเช่นกัน” ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการหนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวทิ้งท้าย
ขณะนี้ไทยแพนกำลังดำเนินการเตรียมคำฟ้องต่อศาลปกครอง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ และนักกฎหมายอิสระที่ประสงค์จะสร้างบรรทัดฐานการทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารของหน่วยงานราชการ ทั้งนี้โดยคาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้