ฅนรักษ์บ้านเกิดเลยชนะคดีชั้นต้น! รายงานไต่สวนคำขอประทานบัตรแปลงภูเหล็กไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฅนรักษ์บ้านเกิดเลยชนะคดีชั้นต้น! รายงานไต่สวนคำขอประทานบัตรแปลงภูเหล็กไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองอุดรธานีพิพากษาคดีฟ้องเพิกถอนรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แปลงภูเหล็ก ชี้ทั้งรายงานไต่สวนฯ – การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องไปจัดทำใหม่ ชาวบ้านคาดมีการอุทธรณ์สู้คดีต่อ

วันนี้ (17 พ.ย. 2560) เวลา 10.00น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เดินทางไปที่ศาลปกครองอุดรธานี เพื่อร่วมฟังคำพิพากษาในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฏหมาย เป็นคดีดำที่ ส.8/2557 คดีแดงที่ ส.5/2557 ระหว่างนางไหม่ รามศิริ กับพวกรวม 17 คน ฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กับพวกคือ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และกำนัน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย รวม 3 คน ต่อมามีบริษัท ทุ่งคำ จำกัดเข้ามาเป้นจำเลยร่วมด้วย โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในเวลา 14.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที โดยมีคำพิพากษา ดังนี้

1. การทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เลขที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศาลเห็นว่าการทำรายงานการไต่สวนฯ กำนันไม่ได้ร่วมเดินสำรวจ ถือว่าไม่ชอบ เนื้อหารายงานการไต่สวนฯ ทั้ง 2 ครั้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คือ ครั้งที่ 1 ระบุว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A 1B เต็มแปลง ครั้งที่ 2 ระบุว่าเป็นบางส่วน ซึ่งการทำเหมืองต้องมีการขออนุญาตจากรัฐมนตรีก่อนการทำเหมืองแร่ ส่วนทางน้ำและทางสาธารณะเมื่อพิจารณาจากแผนที่ทหารมีสัญลักษณ์แหล่งน้ำใกล้กับพื้นที่รายงานการไต่สวนฯ การไม่ระบุจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ทำรายงานการไต่สวนฯ ใหม่

2. การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น Public scoping ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศาลเห็นว่าต้องมีการแจ้งสาธารณชนล่วงหน้า 1 เดือน เผยแพร่ข้อมูลล่วงหน้า 15 วัน ต้องมีจดหมายเชิญไปยังบ้านผู้มีส่วนได้เสีย ทำสรุปข้อมูลส่งให้หัวหน้ากลุ่ม การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมารักษาความปลอดภัย ใช้รั้วหนามลวดเหล็กปิดล้อม เอารถบรรทุกกีดขวาง เป็นการขัดขวางผู้มีส่วนได้เสีย และจำนวนผู้มีส่วนได้เสียมีจำนวนน้อยไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะมีพนักงานเหมืองมาฟัง 719 คน การจัดเวทีดังกล่าวเป็นประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดี ข้อมูลรายงานการไต่สวนฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและนำมาใช้ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจึงทำให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1 หรือ Public scooping ใหม่

ส่วนเรื่องที่ขอให้ศาลกำหนดเขตพื้นที่แปลงคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ คำขอที่ 104/2538 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นแหล่งต้นน้ำและป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศนั้น ศาลไม่อาจก้าวล่วงฝ่ายบริหารได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีดังกล่าวกลุ่มชาวบ้านฟ้องคดีต่อศาลปกครองตั้งแต่ปี 2557 ตัวแทนชาวบ้านคาดว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการอุทธรณ์คดีต่อไป อย่างไรก็ตามหากชนะคดีไปจนถึงชั้นศาลปกครองสูงสุดจะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถได้ประทานบัตรเพื่อเข้าไปทำเหมืองทองในพื้นที่แปลงภูเหล็กได้

ข้อมูลพื้นที่

แปลงภูเหล็กตามคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ คำขอที่ 104/2538 มีเนื้อที่ตามคำขอประทานบัตร 290 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา เป็นคำขอฯ 1 ใน 106 แปลงที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จับจองไว้ตาม ‘สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง’ ระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยคำขอฯ แต่ละแปลงมีขนาด 100 กว่าไร่ไปจนถึง 300 ไร่ รวมกันประมาณ 30,000 ไร่

ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ประทานบัตรทำเหมืองทองคำแล้ว 6 แปลง คือ ประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า และประทานบัตรที่ 26973/15560 ตั้งอยู่ภูซำป่าบอน บ้านนาหนองบง หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย รวมเป็นพื้นที่ 1,291 ไร่ ถ้ารวมพื้นที่ที่เป็นโรงประกอบโลหกรรม (แต่งแร่และถลุงแร่) และบ่อกักเก็บกากแร่ (บ่อไซยาไนด์) ในบริเวณพื้นที่ประทานบัตรดังกล่าว จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 ไร่

ส่วนคำขอที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) อยู่ติดกับแปลงประทานบัตรบนภูทับฟ้าทางทิศใต้

ข้อมูลคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาและประกอบอาชีพอยู่ในท้องที่บ้านนาหนองบง บ้านกกสะทอน บ้านภูทับฟ้า บ้านห้วยผุก บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านแก่งหิน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ร่วมกับชาวบ้าน 6 บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น อีกทั้งติดตามการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่และโครงการอื่นใดที่อาจจะมีผบกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้านดังกล่าว

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยมีข้อเท็จจริงสืบเนื่องจากพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนครอบครองทำประโยชน์ส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิในการสำรวจและประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งนับตั้งแต่บริษัทดังกล่าวได้รับสิทธิและทำเหมืองแร่ตามคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เลขที่ 62/2538 ถึงเลขที่ 66/2538 ได้รับใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ได้รับความยินยอมให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และได้รับความยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายก่อปัญหามลพิษและทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของสภาพพื้นที่ดั่งเดิม ทั้งเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิในการดำรงชีวิตของผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่มีสาระสำคัญไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยไม่ระบุรายละเอียดของสถานที่ที่เป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์อย่างครบถ้วนแท้จริง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนในการไต่สวน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในฐานะผู้ปกครองท้องที่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมในการเดินสำรวจเพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 แต่กลับลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว

นอกจากนี้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังได้ยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ 104/2538 ซึ่งในการดำเนินการไต่สวนและการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าว ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับคำขอประทานบัตรเหมืองแร่เลขที่ 62/2538 ถึงเลขที่ 66/2538 และแม้ว่าเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2555 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้จัดเวทีรับฟัง

ความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่ทองคำ แปลงคำขอประทานบัตรเลขที่ 104/2538 ที่ศาลากลางจังหวัดเลย แต่ก็มีการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวทีโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฏา 2552) ปิดทางเข้าศาลากลางจังหวัดพร้อมทั้งใช้ลวดหนามวางไว้ที่แผงกั้นเหล็กในลักษณะปิดกั้นบริเวณที่เปิดทางให้เข้าไปร่วมเวที และมีรถบรรทุกของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จอดกีดขวางทางสาธารณะเพื่อไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าไปในบริเวณศาลากลางจังหวัดได้

กระบวนการทั้งหมดดังกล่าวจึงผิดระเบียบและไม่ชอบด้วยกฏหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนจีงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและคัดค้านการกระทำดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 แต่มิได้มีการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง ดำเนินการทางวินัยข้าราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือดำเนินการเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าว แต่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการออกประทานบัตรตลอดมาจนเสร็จสิ้นกระบวนการโดยให้ประทานบัตรในแปลงคำขอเลขที่ 62/2538 ถึงเลขที่ 66/2538 ส่วนแปลงคำขอเลขที่ 104/2538 ยังอยู่ในการบวนการและขั้นตอนที่ใกล้จะเสร็จสิ้น

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 มิได้บันทึกรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในพื้นที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย นำไปสู่กระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สุขภาพ และทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนไม่มีหนทางอันใดที่จะบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฏหมายจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้

1. เพิกถอนรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เลขที่ 104/2538 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 บันทึกให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ขอประทานบัตร

2. เพิกถอนรายงานการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เลขที่ 104/2538 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

3. กำหนดเขตพื้นที่แปลงคำขอประทานบัตรเหมืองแร่เลขที่ 104/2538 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นแหล่งต้นน้ำและป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศเพียงประการเดียว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ