สิ้นสุดการรอคอย 3 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ เหมืองหินดงมะไฟ กับ 11 ปี ในกระบวนการยุติธรรม

สิ้นสุดการรอคอย 3 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ เหมืองหินดงมะไฟ กับ 11 ปี ในกระบวนการยุติธรรม

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และประทานบัตรเหมืองหินปูนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้ำชัดอีไอเอ เกิน 10 ปี ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงของชุมชนและไม่สามารถปกป้องสิทธิประชาชนได้ ชาวบ้านประกาศชัยชนะเตรียมดันดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอารยธรรมและโบราณคดีต่อ

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินและโรงโม่ พื้นที่ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในนามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จำนวนกว่า 100 คน พร้อมใจกันใส่เสื้อเขียวเป็นสัญลักษณ์ เดินทางจากภูมิลำเนาโดยรถยนต์ 6 ล้อรับจ้าง และรถกระบะพร้อมติดป้ายผ้ามีข้อความคัดค้านโครงการฯ มาที่ศาลปกครองอุดรธานี ซึ่งรวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เพื่อรับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่า มีหลายคนได้นำเอารูปบุพการี สามีภรรยา หรือญาติพี่น้อง ที่เคยร่วมต่อสู้คัดค้านโครงการฯ มานานเกือบ 30 ปี จนเสียชีวิตลง มาร่วมฟังคำตัดสินของศาลในวันนี้ด้วย

ความเดิม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได จำนวน 78 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และประทานบัตรเหมือนแร่หินปูนของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด หลังจากได้ทราบว่าบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรรอบที่ 2 เป็นระยะเวลา 10 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2553 ถึง 24 กันยายน 2563

ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ว่า

“ให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน และเพิกถอนคำสั่งต่ออายุประทานบัตร โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา”

ทว่าคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดคดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ในเวลาต่อมาทางกลุ่มฯ ก็ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ยุติกระบวนการทำเหมืองแร่หินปูนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ศาลไม่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว จึงส่งผลให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการระเบิดภูผาฮวก และทำเหมืองหินและโรงโม่ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 กระทั่งหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และประทานบัตรรอบที่ 2 หมดอายุลงไปเอง ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็มีความพยายามที่จะยื่นขอใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติฯ และดำเนินการต่อใบอนุญาตดังกล่าว ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านมาโดยตลอด

ที่ห้องพิจารณาคดี 1 เริ่มเวลาประมาณ 10.00 น. ตุลาการขึ้นบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยมีคู่ความทั้งสองฝ่าย ทนายความ และชาวบ้านผู้มีรายชื่อฟ้องประมาณ 20 คน เข้าร่วมรับฟังในห้อง ขณะที่บริเวณด้านหน้านอกห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้จัดเตรียมเก้าอี้และมีการถ่ายทอดสดสัญญาณผ่านจอแอลอีดี ให้กลุ่มชาวบ้านและผู้ที่สนใจได้ร่วมรับฟัง ลุ้นอย่างใจจดใจจ่อไปตามกัน

ส่วนประเด็นในการพิจารณา มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรกหนังสืออนุญาตตามแบบ ป.ส.23 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2554 เพื่ออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อีก 10 ปี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าหลังออกหนังสือฉบับดังกล่าว มีการคัดค้านจากราษฎรในพื้นที่และตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้านเรื่อยมาโดยไม่มีการแก้ไข การออกหนังสืออนุญาตจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 8 (5) ของระเบียบป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 อีกทั้งมติขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต.ดงมะไฟ ในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าดังกล่าวก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว

และในประเด็นที่ 2 การได้มาของประทานบัตร ศาลเห็นว่าเมื่อใบอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถูกเพิกถอน ในส่วนของประทานบัตรที่มีการใช้ใบอนุญาตดังกล่าวที่เป็นเอกสารแนบย่อมถูกเพิกถอนไปตามกัน อีกทั้งรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ของบริษัทฯ ทำไว้เมื่อปี 2543 ไม่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ดังนั้น การใช้ EIA ฉบับเก่าในการต่ออายุประทานบัตรย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อสิ้นเสียงอ่านคำพิพากษาของตุลาการ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที กลุ่มชาวบ้านต่างพากันตบมือโห่ร้องด้วยความยินดี บ้างก็โอบกอดกัน และร้องไห้ด้วยความตื้นตันต่อความสมหวังในครั้งนี้

นางบัวรอง นาทา ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เปิดเผยความรู้สึกทั้งน้ำตาว่า ตนรู้สึกตื้นตันและดีใจมากกับคำพิพากษาของศาลปกครองในวันนี้ และขอขอบคุณที่พี่น้องในกลุ่มฯ ร่วมจับมือกันต่อสู้อย่างหนักแน่นสามัคคีมาเกือบ 30 ปี

“ที่ผ่านมาพวกเราได้ทำการปิดเหมืองด้วยสองเท้าสองมือของเรา วันนี้หลังฟังคำพิพากษาก็ทราบมาว่าบริษัทฯ จะดำเนินการต่ออายุประทานบัตรเพื่อทำเหมืองอีกครั้ง แต่พวกเราขอยืนยันว่าจะไม่ให้มีการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินในพื้นที่อีกอย่างแน่นอน” บัวรองกล่าว พร้อมเอามือปาดน้ำตาที่สองแก้ม

บัวรอง ยังกล่าวต่อว่า เราจะทำการยกเลิกเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองออกจากพื้นที่นี้ เพราะเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมแก่การเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และที่สำคัญยังเป็นแหล่งน้ำซับซึม และแหล่งโบราณคดี ซึ่งขัดกับ มาตรา 17 วรรคสี่ ตามพ.ร.บ.แร่ 2560

“พื้นที่บ้านเราควรจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชน ดังนั้นพวกเราจะทำการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามข้อเรียกร้องของพวกเรา” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายสุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ซึ่งเป็นทนายความของกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีกับชัยชนะกับชาวบ้านที่ต่อสู้กันมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาที่ยืนยันสิ่งที่ชาวบ้านต่อสู้มา รวมถึงได้รับทราบถึงพลังของชุมชนในการใช้สิทธิการต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน

“ศาลได้ยืนยันความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกใบอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเก่ากลอยและป่านากลาง รวมถึงการไม่ชอบด้วยกฎหมายของการต่ออายุประทานบัตร โดยให้เหตุผลมุมมองเดียวกับศาลปกครองชั้นต้นว่าเป็นกรณีที่ยังมีเหตุความขัดแย้งกับชุมชนซึ่งไม่คลี่คลายจนถึงปัจจุบัน และมีเหตุที่ไม่น่าเชื่อว่ามีมติของอบต. เข้ามารับรองการทำเหมืองอย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ชาวบ้านต่อสู้มาได้พิสูจน์โดยคำพิพากษาของศาลในวันนี้อย่างชัดเจน”

สุรชัย ยังกล่าวต่อว่า ถ้าได้อ่านคำพิพากษาจะเห็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอายุกว่า 10 ปี ความเห็นของตุลาการศาลปกครองสูงสุดยืนยันว่ารายงานดังกล่าวน่าจะไม่สอดคล้องหรือว่าสามารถคุ้มครองหรือปกป้องสิทธิประชาชนได้

“คิดว่าจะส่งผลอย่างมากว่าการจะนำเอา อีไอเอ ฉบับนี้มาใช้อีกไม่ได้แล้ว ต้องทบทวนถ้าการต่ออนุญาตครั้งก่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะสามารถต่อใบอนุญาตได้อีกหรือไม่” ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว

ขณะที่ นางสาวจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ และที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้กล่าวว่า จากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษากรณีดงมะไฟ สิ่งที่เป็นข้อดีแล้วก็เป็นประโยชน์กับประชาชนก็คือ ศาลได้พิจารณาอย่างชัดเจนในส่วนของกระบวนการมีส่วนร่วมถึงข้อขัดแย้งของราษฎร ตามระเบียบของการใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำเหมือง ซึ่งเมื่อปรากฏว่ามีการร้องเรียนจริงในพื้นที่โดยมีกลุ่มคนจำนวนมากร้องเรียนต่อเรื่องดังกล่าว ศาลก็ได้หยิบยกเรื่องนี้มาให้ความสำคัญ เพราะว่าตามระเบียบของป่าไม้ก็ให้ความชัดเจนว่าตามข้อ 8 (5) ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนต้องไม่มีความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่

“แต่อีกส่วนหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้อีกก็คือในส่วนที่ศาลได้พิจารณาให้เห็นถึงความสำคัญของรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งศาลก็ได้ย้ำชัดถึงเจตนารมย์ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ว่าการพิจารณารายงานอีไอเอ ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของชุมชนและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันให้มากที่สุด”  จุฑามาสกล่าว

หลังจากฟังคำพิพากษากลุ่มชาวบ้าน ได้ทำพิธีผูกข้อมือทีมทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจที่ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน รวมถึงได้เดินทางต่อไปอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อขอพรที่ศาลสมเด็จพระนเรศวร และอ่านคำประกาศ ‘ 29 ปี แห่งการต่อสู้สู่ทศวรรษที่ 3 แห่งการพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี’ และทำการรณรงค์รอบบริเวณสนามสมเด็จพระนเรศวร เพื่อประกาศชัยชนะการต่อสู้ในกระบวนการชั้นศาล

พร้อมย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. ปิดเหมืองหินและโรงโม่ 2. ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ 3. พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอารยธรรมและโบราณคดี

ข้อมูลและภาพประกอบจากเพจ เหมืองแร่หนองบัว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ