“การทำคดีถ้าไม่มีการเคลื่อนทางสังคมยังไงมันก็เงียบ แต่ถ้ามันไปด้วยกันทั้งสองทางมันจะมีพลังมาก”
การเพิกถอนประทานบัตร ก็ต้องเพิกถอนมันออกไปเลย ไม่ใช่เพิกถอนเพื่อให้มันย้อนกลับมาทำใหม่แล้วเดินหน้าโครงการต่อ แต่ว่าเราจะออกแบบมันยังไงมันก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อมูลด้วย รวมทั้งบวกกับกระบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้องในพื้นที่เป็นแรงหลักหนุนเสริมกัน
วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม แห่งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้ซึ่งเป็นทนายความรับผิดชอบคดี ได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เนื่องจากตรวจสอบพบรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน เลขที่ 1/2547-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในบทบาทของการทำงานทนายความ คุณได้เข้ามาติดตามคดีนี้ได้อย่างไร
ผมเข้ามาช่วงที่มันมีกระบวนการต่อสู้ของพี่น้องมาแล้วกว่า 10 ปี ในบทบาทของทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านเขากำลังหารือกันจะดำเนินการฟ้องเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรายงานไต่สวน หลังจากบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรทั้งหมด 4 แปลง แล้วก็เริ่มจัดทำรายงานใบไต่สวน เพื่อที่จะยื่นประกอบคำขอประทานบัตร
ตามกฎหมายแร่เก่า ได้แก่ พ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ.2510 เมื่อบริษัทได้ยื่นขอประทานบัตร กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. จะต้องดำเนินการรังวัดจัดทำขอบเขตเหมือง เมื่อได้ขอบเขตเหมืองแล้ว ก็ต้องทำรายงานใบไต่สวน เพื่อสำรวจว่าประทานบัตรแต่ละแปลง มันมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง
ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เป็นกลุ่มชาวบ้านซึ่งมีใต้ถุนอยู่ในขอบเขตเหมืองแร่ใต้ดิน จากการรังวัดขึ้นรูปแผนที่ของกพร. บนเนื้อที่จำนวน 26,446 ไร่ ได้หอบเอกสารและหลักฐาน จำนวน 8 ชุด ยื่นฟ้อง 8 หน่วยงานรัฐ ซึ่งประกอบด้วย 1.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 2.) อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี 3.) กำนันตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี 4.) กำนันตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 5.) กำนันตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 6.) กำนันตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 7.) นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองโนนสูง – น้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และ 8.) กำนันตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ตามลำดับ
“รายงานในใบไต่สวนเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำไปประกอบการขออนุญาตประทานบัตร ซึ่งผู้ถูกฟ้องทั้งหมดได้ดำเนินการจัดทำและลงชื่อรับรองในรายงานใบไต่สวนคำขอประทานบัตร โดยที่ข้อมูลไม่ถูกต้องตามสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่โครงการฯ จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเสียหายจากใบไต่สวนดังกล่าว”
รายงานในใบไต่สวนมันมีความสำคัญอะไร และศาลมีคำพิพากษาเป็นอย่างไร ในกรณีนี้
เมื่อเราประชุมชาวบ้านเขาก็ได้สรุปว่าจะฟ้องเพิกถอนรายงานใบไต่สวน เพราะประทานบัตรยังไม่ออก แต่ตามขั้นตอนจะมีการทำรายงานใบไต่สวน การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละพื้นที่ และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงเรื่องของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งจะเห็นว่ากระบวนการพวกนี้ต่อเนื่องจากรายงานใบไต่สวนที่ไม่น่าจะถูกต้อง
วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ชาวบ้านเลยตัดสินใจใช้กลไกทางศาลในการฟ้องคดีเป็นคดีปกครอง หลังจากยื่นฟ้องไป มันก็มีกระบวนการหรือ process ของคดี ก็คือว่าเรายื่นฟ้องไป เมื่อศาลรับคำฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ส 2/2556 คดีหมายเลขดำ ส 2/2556 กระบวนการต่อไปก็คือศาลได้ส่งเอกสารคำฟ้องให้กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 หน่วยงาน ดังกล่าวข้างต้น หลังจากนั้นก็โต้แย้งข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายกันไปมาระหว่างเราผู้ฟ้องกับผู้ถูกฟ้อง
ก่อนที่จะไปที่สาระสำคัญคำพิพากษา ผมจะให้ไปดูคำขอที่เราขอให้ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกันในคำพิพากษา คือคำขอของเราที่ให้ศาลมีคำพิพากษา คำขอที่หนึ่ง ก็คือให้รายงานไต่สวนประทานบัตรที่ 1 / 2547 – ที่ 4/2547 ทั้ง 4 ฉบับเป็นรายงานที่ไม่ชอบของกฎหมาย และให้เพิกถอนรายงานดังกล่าว และสองก็คือ เพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการต่อเนื่องจากรายงานตามข้อหนึ่ง คือรายงานการไต่สวนเพิกถอนทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงความคิดเห็น การทำรายงานอีไอเอ ต่อจากรายงานการไต่สวนให้เพิกถอนทั้งหมดเลยอันนี้คือคำขอของเรา
กระทั่ง วันที่ 30 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานี ได้มีคำพิพากษา โดยเนื้อหาสาระสำคัญก็คือ ศาลมองว่าเรื่องของการไต่สวนข้อมูลพร้อมด้วยแผนที่รังวัดขอบเขตการขอประทานบัตร ตามกฎหมายแร่ปี 2510 ระบุว่า ในการสำรวจต้องมีกำนันตำบลท้องที่เข้าร่วมในการเดินสำรวจพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของกพร. กับอุตสาหกรรมจังหวัดด้วย เพราะฉะนั้นการไต่สวนคำขอประทานบัตรทำเหมือนใต้ดินพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จะต้องจัดทำขึ้นโดยร่วมกับผู้ขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินและกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ร่วมกัน
เพื่อให้ได้รายละเอียดลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน ลำธาร ลำห้วย แหล่งน้ำซับซึม รวมทั้งคูคลอง หนอง และบึง สิ่งปลูกสร้าง บ้าน วัด สำนักสงฆ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และปูชนียสถาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญและส่งผลต่อการจัดทำรายงานอีไอเอ และการเสนอข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมาย รวมทั้งในขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป เนื่องจากการทราบรายละเอียดดังกล่าวย่อมให้เกิดผลดีในการวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นกับการทำเหมืองใต้ดินได้อย่างรอบด้านแล้วถูกต้องยิ่งขึ้น การจัดทำรายงานไต่สวนจึงต้องกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ตัวแทนของราษฎรในพื้นที่กฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งย่อมรู้สภาพพื้นที่เป็นอย่างดี
จากนั้นเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องถิ่นจะได้นำคำขอ และรายละเอียดคำขอประกอบทำประทานบัตรเหมืองใต้ดินที่ได้จากการไต่สวนประกอบคำขอ และแผนผังแนวเขตประทานบัตร แล้วปิดประกาศให้กับผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องต่อไป ดังนั้น การจัดทำรายงานไต่สวนประกอบประทานบัตรเหมืองแร่ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่กระบวนการเบื้องต้นของการขออนุญาตเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการเริ่มแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะแสดงให้เห็นถึงข้อมูลรายละเอียดภูมิประเทศให้ได้ละเอียดมากที่สุด
การที่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ได้ไปร่วมกับเจ้าหน้าที่การรางวัดและผู้ยื่นคำขอดำเนินการไต่สวนออกไปพื้นที่จริงตามระเบียบของ กพร. จึงทำให้การจัดทำรายงานไต่สวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็คือสำนักงานอุตสาหกรรมไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และย่อมทำให้รายงานการไต่สวนคำขอที่ 1/2547 – 4/2547 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี อันนี้สำคัญ ดังนั้น การนำข้อมูลจากการรายงานการไต่สวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในกระบวนการอื่นที่ต่อเนื่องมาย่อมเป็นผลให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
สรุปก็คือพูดถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ก็คือ กพร.และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี จึงไม่อาจนำรายงานการไต่สวนและกระบวนการต่อเนื่องดังกล่าวไปใช้ประกอบพิจารณาออกประทานบัตร ทำเหมืองทั้ง 4 แปลง ให้แก่บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ คือศาลวิเคราะห์ 2 อย่าง คือวิเคราะห์ใบไต่สวนมันไม่ชอบโดยรายงานใบไต่สวนมันเป็นสาระสำคัญที่สำคัญมากและเป็นกระบวนการที่สำคัญมากด้วย ที่จะทำให้รู้สภาพพื้นที่จริงเพื่อจะให้ได้ข้อมูลอันที่เป็นจริงไปใช้ประกอบ อันที่ 2 อันที่ 3 พิจารณาเอารายงานไต่สวนที่ไม่ชอบไปทำกระบวนการที่ต่อเนื่อง จากนั้นทำให้กระบวนการเหล่านั้นไม่ชอบไปด้วย
เพราะฉะนั้นคุณไม่อาจที่จะเอารายงานใบไต่สวน และกระบวนการต่อเนื่องไปใช้ประกอบ เพื่อออกประทานบัตรให้กับบริษัทฯ นี้ได้เลย คุณต้องกลับไปทำใหม่ ศาลมองอย่างนั้น แต่พอให้กลับไปทำใหม่ ปรากฏว่ากฎหมายแร่ปี 2510 ถูกยกเลิกแล้ว ซึ่งคุณก็ต้องไปทำตามกฎหมายแร่ใหม่ คือพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ. 2560 มันก็จะมีขั้นตอนที่เพิ่มมาคุณก็จะต้องไปทำให้ครบ ก็คือเหมือนทำใหม่แล้วก็ทำตามขั้นตอนให้มันครบ
ดูเหมือนว่าบริษัทฯ และหน่วยงานผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ที่จะต้องกลับไปดำเนินการในขั้นตอนประทานบัตรให้ถูกต้องตามพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2560 ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไฟเขียว อนุมัติให้ทำเหมืองโปแตชอุดรธานี
หลังจากที่ศาลปกครองอุดรธานี ได้มีคำพิพากษา ผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่จู่ๆ เมื่อกลางปีที่แล้ว รัฐบาล “ประยุทธ์” กลับมีมติครม. ให้เดินหน้าโครงการฯ และมีการอนุญาตประทานบัตรอย่างที่เราทราบกัน ทว่าจากการตรวจสอบของเรา พบว่าไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2560 คือ เขาใช้ข้อมูลเก่าทั้งสิ้น ไม่มีการจัดทำใหม่ เขาใช้ฐานข้อมูลเดิม รายงานอีไอเอเดิม กพร. ไม่มีการเข้ามารังวัดแนวเขตใหม่ และจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ ไม่มีขั้นตอนประกาศใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นคัดค้านตามกฎหมายแร่ใหม่ รวมทั้งไม่มีการกันพื้นที่ที่ห้ามทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรค 4 ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเลย
ตอนนี้ประทานบัตรออกแล้ว กระบวนการที่เขาทำเพิ่มก็แค่เรื่องของการที่จะจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนเท่านั้น ที่เขาต้องทำให้เสร็จ ก็เพื่อที่จะเดินหน้าประกอบกิจการ นี่คือข้อสังเกตที่จะนำไปสู่เรื่องที่เราจะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนประทานบัตร
แม้ว่าคดียังค้างคากันอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด แต่ตอนนี้การอนุมัติประทานบัตรได้เกิดขึ้นแล้ว คุณมองเรื่องความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรบ้าง
ผมมองว่า ในเมื่อกระบวนการขั้นตอนเริ่มแรกมันไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการเร่งรัดออกประทานบัตร ให้แก่บริษัทฯ ได้ประกอบกิจการเหมืองแร่เหมือนเป็นการพยายามที่จะให้โครงการเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เราคือมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ปรึกษาหารือกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงตกลงกันว่าจะต้องฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง เพื่อให้มีการเพิกถอนประทานบัตร
“การฟ้องเพิกถอนประทานบัตร มันมีหลายประเด็นมาก ทั้งประเด็นในเรื่องของรายงานอีไอเอ ขั้นตอนการรังวัดกำหนดเขตเหมือง การสำรวจข้อมูล การกันพื้นที่ และการรับฟังความคิดเห็น ที่เราจะต้องฟ้อง เพราะขั้นตอนเหล่านี้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องนำไปพิจารณาเพื่อออกประทานบัตร มันไม่ใช่แค่รายงานใบไต่สวนแล้ว”
นอกจากการฟ้องศาลแล้ว มันมีแนวทางอื่นอีกไหม
คือผมมองอย่างนี้ ตอนนี้ รัฐบาลและกพร. เองไฟเขียวให้ทำเหมืองถูกต้องใช่ไหมครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองเขาปล่อยไฟเขียวหมดแล้ว ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้นอกจากการฟ้องศาลก็คือ การเคลื่อนไหวในพื้นที่ในชุมชนเองเพื่อที่จะให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ใหม่ แต่ถ้าเราไปพึ่งหน่วยงานราชการมันคงไม่ได้ผลอะไร
แล้วมีความหวังกับการฟ้องครั้งใหม่นี้อย่างไรบ้าง
โครงการนี้มันจะหยุดได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่การฟ้องคดีเท่านั้น คือการฟ้องคดีเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้นเองที่จะเอามาหนุนเสริมพลังชุมชน การที่จะโครงการจะเกิดหรือไม่เกิด จะเดินหน้าต่อหรือจะหยุด ฟันเฟืองหรือกลไกสำคัญก็คือกระบวนการต่อสู้ของพี่น้องชาวบ้านเป็นหลัก เพราะนี่คือแรงขับเคลื่อนหรือกำลังหลักที่แท้จริง ผมหรือทนายก็เป็นช่องทางหรืออาวุธอย่างหนึ่ง ที่ให้ชาวบ้านได้ใช้ในการต่อสู้ ดังนั้น การทำคดีแบบนี้ หัวใจสำคัญคือทุกคนจะต้องแลกเปลี่ยนและตัดสินใจร่วมกัน แล้วก็ยึดมติของพี่น้องเป็นหลัก โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน
“ตราบใดที่เรายังสู้ก็ยังมีความหวังสู่ชัยชนะ”