—ระหว่างความเชื่อกับข้อเท็จจริง—- การช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพหลังจากเหตุภัยพิบัติ : ประส

—ระหว่างความเชื่อกับข้อเท็จจริง—- การช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพหลังจากเหตุภัยพิบัติ : ประส

                                —ระหว่างความเชื่อกับข้อเท็จจริง—-
    การช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพหลังจากเหตุภัยพิบัติ : ประสบการณ์จากสินามิ

ได้รับข้อมูลน่าสนใจมากจาก คุณหมอท็อป ดร. นพ. วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย
รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ซึ่งเป็นอาจารย์ หน่วยระบาดวิทยา คณะเเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
   เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ “การช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ”
ซึ่งเรียบเรียงโดยหน่วยระบาดวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
   รายละเอียดเป็นการถอดประสบการณ์ความช่วยเหลือในพิบัติภัยครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยเผชิญ คือเหตุการณ์สินามิถล่มภาคใต้  คนทำงานได้พยายามเก็บรายละเอียดด้านการช่วยเหลือได้อย่างน่าสนใจ  โดยเฉพาะด้านการจัดการหลังเกิดเหตุการณ์พิบัติภัยซึ่งเต็มไปด้วยผู้ที่จะมีจิตอาสามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย  ดิฉันเห็นว่ารายละเอียดบางอย่างน่าจะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

   สิ่งที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจมากคือหลักคิด ระหว่าง “ความเชื่อ” กับ “ข้อเท็จจริง” (Myth and Reality)  และ กรณีพิบัติภัยสึนามิมีความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามามากมาย กรณีของน้ำท่วมประเทศไทยและต่างกำลังพยายามช่วยเหลือกันอยู่ ความเชื่อและข้อเท็จจริงนี้น่าจะชวนคิดได้  นี่คือตัวอย่างของความเชื่อและข้อเท็จจรงนั้น

ความเชื่อ: ต้องการความช่วยเหลือด้านบุคลากรทางการแพทย์จากต่างชาติเสมอ
ความจริง : ปกติแล้วประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว  เพียงแต่ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ ในบางกรณีอาจจะขาดบุคลาการ  ทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก

ความเชื่อ: ต้องการความช่วยเหลือจากต่างชาติทุกชนิดและต้องการทันที
ความจริง : ความช่วยเหลือที่ไม่ได้มีพื้นฐานมากจากการประเมินสภาพที่แท้จริง จะก่อให้เกิดความสับสนอย่างมาก ควรจะรอให้ได้ข้อมูลก่อน จึงจะขอความช่วยเหลือ

ความเชื่อ: มักเกิดโรคระบาดเสมอหลังเกิดภัยพิบัติ
ความจริง : การเกิดและการระบาดของโรคไม่ได้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ  ถ้าดูแลเรื่องการกิน อยู่ ขับถ่าย หลับนอนให้ถูกสุขลักษณะ และให้ความรู้ในการป้องกัน ก็จะช่วยไม่ให้เกิดโรคและการระบาดของโรค

ความเชื่อ: ผู้ที่ประสบภัยมักจะตกใจและอ่อนแอเกินกว่าที่จะรับผิดชอบตัวเองได้
ความจริง : ตรงกันข้าม ผู้คนอีกมากมายที่พบว่าตนเองเข้มแข็งขึ้นเมื่อประสบภัย

ความเชื่อ: คนบาดเจ็บล้มตายไม่เลือกจากภัยพิบัติ
ความจริง : คนที่อ่อนแอเช่นผู้หญิง เด็ก และคนแก่ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย มากที่สุด

ความเชื่อ: …เดี๋ยวก็ฟื้นเหมือนเดิม…
ความจริง : ผลกระทบจะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว เช่น สถานะทางการเงิน ทรัพยากรสิ่งของที่ เสียไป จะใช้เวลาในการฟื้นตัว

น่าคิดไหมคะ ??

         ข้อมูลเกี่ยวกับ “การช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ” ดังกล่าวยังระบุว่างานแรกที่ต้องทำทันทีหลังจากเกิดภัยพิบัติ  คือ
การ “ประเมินสภาพความต้องการ”  โดยจำนวนผู้ประสบภัย ควรจำแนกเป็นกลุ่ม เช่น เพศ ครอบครัว ผู้บาดเจ็บ  และความต้องการของกลุ่มเหล่านั้น เช่นที่พัก อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค  ของใช้ประจำวัน
สิ่งที่ต้องกระทำก่อนที่จะกระจายความช่วยเหลือ คือ “การลงทะเบียน”
   -เพื่อให้ได้จำนวนของผู้รับ
   -จัดกลุ่มตามความต้องการ (needs)
   -สะดวกต่อการติดตามตรวจสอบควบคุม
   -ทำให้น่าเชื่อถือ
   
เป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือ  “เพื่อให้ครอบครัวฟื้นฟูสภาพและสามารถใช้ชีวิต
อย่างตามปกติเหมือนเดิมเร็วที่สุด”   และเด็ก ผู้สูงอายุควร และผู้ด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

             หลักการกระจายความช่วยเหลือ
            1.ความปลอดภัย ทั้งผู้ให้และผู้รับ รอดพ้นจากการแย่งชิง ทำร้ายและอันตรายจากของที่แจกจ่าย     
           2.การให้และเข้ารับบริการต้องสะดวก ศูนย์กระจายความช่วยเหลือต่างๆควรอยู่ศูนย์กลางเข้าถึง   สะดวก ใช้เวลาน้อย     
         3.สื่อสารแบบเปิด (open communication) ควรให้ข้อมูลโดยตรงแก่ผู้ประสบภัย เพื่อให้เจ้าตัวทราบ เข้าใจ มีส่วนร่วมระบบการกระจายความช่วยเหลือ     
         4.รับตามความธรรมชาติคือ “ครอบครัว” แต่อาจจะแจกโดยแบ่งหน่วยรับแบบอื่นๆเช่น  กลุ่มคน คนงาน นักเรียน 
         5. กระจายการแจกจ่ายอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงเพื่อสร้างความมั่นใจและลดปัญหา
 
สิ่งที่ควรกระทำหลังจากประสบกับภัยพิบัติจากสึนามิ
ข้อมูลควรเปิดเผย ชัดเจน ควรให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งของบรรเทาทุกข์ การกระจาย ความช่วยเหลือ ระบบการจัดการของการกระจายความช่วยเหลือ และการขนส่ง
อย่าตื่นเต้นกับรายงานจากสื่อมวลชนจนเกินไป  ควร รอให้มีการประมวลข้อมูล มองเห็นภาพรวมทั้งหมด และมีการเสนอความช่วยเหลือจากผู้รับผิดชอบ

สิ่งของที่ไม่ควรส่งช่วยเหลือ
ของใช้แล้วเช่นเสื้อผ้า รองเท้า เพราะโดยทั่วไปแล้วจัดหาภายในพื้นที่จะสะดวก สะอาด และมีประสิทธิภาพมากกว่า  หลีกเลี่ยงการบริจาคอาหารข้ามชาติ ถ้าจำเป็นควรเป็นอาหารแห้ง มีป้ายชัดเจน และคำนึงถึง วัฒนธรรมของผู้บริโภคในแถบนั้นด้วย   ยาประจำบ้าน ส่วนใหญ่ไม่เหมาะ ขาดการติดสลาก ผู้รับไม่มีความรู้ในการใช้ จัดเป็นระบบได้ยาก ดังนั้นไม่ควรรับบริจาค

การจัดทำคู่มือรับหายนะภัย…
ไม่จำเป็นต้องคิดใหม่ ทำใหม่เสมอ ควรนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสิ่งที่เรามี…ที่เรา เป็น…

ที่จริงในข้อมูลชุดนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในรายละเอียดอยู่อีก แต่คิดว่าจะนำมาเสนอในหมวดที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทิ้งท้าย ด้วยข้อคิดที่ถอดจาก From the Pan-American Health Organiหation…ในข้อมูลชุดเดียวกันนี้

            " Thanks to modern communications, word of these tragedies reached the international community within minutes, and in some cases, relief was mobilized in a matter of hours. This outpouring of assistance can greatly help a disaster-stricken country if it meets real needs. However, it can just as quickly become a burden when the assistance has not been requested or donor institutions or individuals have misperceptions of what the needs are.”

…..การสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้นานาชาติรับทราบหายนะภัยได้ภายในไม่กี่นาที   การระดมความช่วยเหลือ ทำได้ภายในกี่ชั่วโมง ซึ่งช่วยบรรเทาทุกข์ได้ทันท่วงที  …..แต่ก็อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามจนกลายเป็นภาระ ถ้าผู้บริจาคไม่เข้าใจสถานการณ์และมีแนวคิดไม่ถูกต้อง…..

"Messages received from both the press and the aid community focus attention on the most visible health effects of natural disasters. … disaster workers continue to be overwhelmed with donations, the large majority of which are unsolicited medicines, food, clothing, blankets, and other low priority items."

…..พิจารณาจากสื่อ บางครั้งทำให้ผู้ปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์ต้องแบกรับภาระสิ่งบริจาคที่มีความจำเป็นน้อย 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ